โตโต้ กมลพล: จากเด็กบ้านนอกสู่บาร์เทนเดอร์ผู้มีเมนูซิกเนเจอร์ใน Michelin Guide

กว่าอีกเท่าไหร่ที่คนจะต้องฝ่าฝันแรงเสียดทานทางอารมณ์อันแสนสาหัส ทั้งจากคำพูด การดูถูกเหยียดหยาม การไม่ถูกยอมรับ หรือการสบประมาทจากผู้คน จนก้าวสู่ความสำเร็จที่หอมหวานได้ในที่สุด

คู่สนทนาของฉันไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน แต่เขาบอกว่าตั้งแต่เขาก้าวเข้าสู่ร้านอาหารในแดนด้ามขวานจนถึงวันนี้ร่วมเกือบทศวรรษ เขาจึงลายมาเป็นเป็นบาร์เทนเดอร์ฝีมือดีที่กำลังสนทนากับฉัน

โตโต้-กมลพล ไชยมูล คือชายหนุ่มคนที่ว่า

เขา, บาร์เทนเดอร์หนุ่มฝีมือดีส่งตรงจากเมืองด้ามขวาน ผู้คอยสร้างความสุขให้กับผู้คนผ่านเครื่องดื่มที่มีลวดลายและลีลาการชงอย่างลึกซึ้ง และเขาคือคนเดียวกันกับเด็กหนุ่มผู้ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ต้องทำงานตั้งแต่วัยหนุ่มผู้ฝ่าฟันคำสบประมาท ความกดดัน ต้องกัดฟันสู้ เรียนรู้ และซึมซับองค์ความรู้ให้ได้มากที่สุด กว่าที่จะทำงานในร้านอาหารที่ภูเก็ต ก่อนจะกลายเป็นบาร์เทนเดอร์ผู้มีเมนูแนะนำใน Michelin Guide เว็บไซต์แนะนำร้านอาหารและเมนูที่น่าสนใจอันเป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้ในที่สุด

โตโต้บอกฉันว่า เคล็ดลับที่ทำให้เขาเป็นเขาได้ในทุกวันนี้ คือการต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ถ้ายังงงอยู่ว่าการใฝ่รู้อย่างเข้มข้น เกี่ยวกันยังไงกับการเป็นบาร์เทนเดอร์

หยิบเครื่องดื่มใกล้มือมานั่งใกล้ๆ ฉัน แล้วมาฟังเขาเล่ากันดีกว่า

โดนรับน้องด้วยการดูถูก

โตโต้ในวัยหนุ่มผู้เพิ่งผ่านพ้นการทำบัตรประชาชนใบแรก หลักลาสิกขาบทจากการเป็นเณรที่วัดพระบาทอุดม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จึงย้ายตามพ่อของเขาลงไปอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเริ่มชีวิตใหม่ในการเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง

ชีวิตในร่มกาสาวพัตรที่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และการถือศีลตามหลักศาสนา ต่างกับชีวิตฆราวาสทั่วไปอย่างไร

“ชีวิตมันต่างมากนะครับ แต่ว่ามันคือการเรียนรู้ชีวิตจริงๆ เพราะเราไม่ได้อยู่บ้าน เราไม่ได้ติดกับพ่อแม่แล้ว เราได้ฝึกจิตกใจ ได้ฝึกการเอาตัวรอด เราไม่ได้ใช้เงินของแม่แล้ว เราก็ต้องไปบิณฑบาตเพื่อหาข้าวกินเองนะ ไหนต้องกลับมาเรียนหนังสืออีก ประมาณสัก 11 โมงต้องไปกินข้าว ตอนเย็นก็ต้องดื่มนมเป็นปานะเพื่อกระหายหิว มันเหมือนการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่คนภายนอกไม่สามารถรู้ได้ ก็เหมือนแบบในโรงเรียนประจำ แต่เราใส่ผ้าเหลือง เป็นเณร รอาจายได้ที่เราได้บางทีก็จากไปสวดศพบ้าง ก็คือกิจนิมนต์หลายๆ อย่าง ก็ถือเป็นค่าเทอม เป็นค่าใช้จ่าย มันคือการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งนี่หว่า” โตโต้เล่าถึงชีวิตการบวชเรียนให้ฉันฟัง

เพราะชีวิตที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง การออกจากโลกแห่งศาสนาสู่โลกแห่งความจริงจึงทำให้เขาพบเจอกับบททดสอบแรกที่แสนเจ็บปวด ซึ่งโตโต้ต้องผ่านมันไปให้ได้ นั่นคือ การดูถูกและดูหมิ่นจากเพื่อนร่วมงานบางคนของเขา

“เราเริ่มงานจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟก่อน ความกดดันเยอะมากเลยนะ เพราะเรามาจากบ้านนอก ตัวเล็กๆ ดำๆ ไปทำงานเลย เลยดูเหมือนตัวตลกคนหนึ่ง ยิ่งตอนนั้นภาษาอังกฤษเราไม่ได้เลยนะ ผมพูดคำเมืองเหนือเลย ภาษาไทยกลางยังพูดไม่ได้ ยิ่งเจอภาษาอังกฤษแบบ Streamed Rice (ข้าวสวย) Water (น้ำเปล่า) ผมไม่ได้เลยนะ ครั้งหนึ่งเคยมีเพื่อนมาถามว่าเนื้อหมูเรียกว่าอะไร ผมก็ตอบว่า Pig (สุกร) อย่างนี้ เขาหัวเราะกันทั้งร้านเลย มันเจ็บนะ แต่ว่าเราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องยอม”

นั่นคือจุดที่โตโต้ต้องฮึดสู้และเริ่มเรียนรู้ทั้งระบบการทำงาน และศัพท์ภาษาอังกฤษง่ายๆ เพื่อสื่อสารกับพนักงานและลูกค้า

ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่โตโต้ก็ต้องทำให้ได้

“พอโดนดูถูกเราก็คิดแค่ว่า เดี๋ยววันนึงจะพิสูจน์ให้ดู พอทุกคนเลิกกงานกบับบ้าน ผมจดศัพท์ที่เจอตอนทำงาน อย่างหมูแดดเดียวอะไร ข้าวเหนียวเรียกว่าอะไร อ๋อ ข้าวเปล่าคือ Steamed Rice ข้าวเหนียวคือ Sticky Rice ข้าวกล้องเรียกว่าอะไรนะ อ๋อ Brown Rice นะ ผมต้องมานั่งท่องๆ ทุกวัน

“ปกติที่ร้านจะให้เราทำงานในร้านประมาณหนึ่งอาทิตย์ก่อนไปรับออเดอร์ แต่ของผมนี่เป็นเดือนเลยนะกว่าที่จะกล้าไปรับออเดอร์ ยิ่งเราเคยอยู่บ้านนอกแล้วเจอลูกค้าฝรั่ง เรากลัวมั้ย โคตรกลัวเลยนะครับ แต่แบบมันอยู่กับมันทุกวันแล้วได้ฝึกพูด ฝึกคุยกับลูกค้า ตอนนั้นก็จะมีพี่คนหนึ่งสอนเราตลอด ผมนับถือเขาเหมือนพี่ชายของผมเลย” โตโต้เล่า

คนหลังบาร์

เพราะโตโต้ทำงานในร้านอาหารที่มีบาร์ จึงทำให้เขาเห็นบาร์เทนเดอร์ทำงานในร้านอยู่เสมอ

สำหรับน้องใหม่ในร้านอาหารที่เห็นชายหนุ่มผู้ชงเขย่าเครื่องดื่มให้กับลูกค้า เขามีความเข้าใจว่าอย่างไร

“พอเห็นแล้วผมคิดอยู่อย่างเดียวเลยว่า บาร์เทนเดอร์แม่งเท่เว้ย ดูแลลูกค้าก็ไม่ต้องดู เสิร์ฟอาหารก็ไม่ต้องเสิร์ฟ ไม่ต้องเก็บโต๊ะ ไม่ต้องเหนื่อยอะไร อยู่ในบาร์ เชคเครื่องดื่มหล่อๆ ผมคิดแค่นี้”

เวลาล่วงเลยไปกว่าสามปี โตโต้ที่พัฒนาทักษะจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟจนสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้นจนสามารถทำเครื่องดื่มง่ายๆ ได้ พัฒนาการเหล่านั้นไปเตะตาหัวหน้างานของเขา จนเขาได้เข้าไปอยู่ในบาร์ในที่สุด

แต่จินตนาการหลังบาร์ที่โตโต้วาดฝันไว้ กลับไม่เหมือนอย่างที่เขาคิดแม้แต่น้อย

“สามเดือนแรกผมไม่ได้ชงเครื่องดื่มเลยนะครับ แรกสุดต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเหล้าพื้นฐาน 5 ชนิดคือ จิน รัม ว็อดก้า เตกิล่า และวิสกี้ เหล้าพวกนี้คืออะไร เหล้าแต่ละอย่างหรือ Liqiuour รสชาติไม่เหมือนกัน อาจคล้ายคลึงกันแต่รสชาติไม่เหมือนกัน อย่างน้อยต้องมีความรู้เกี่ยวกับเหล้าบนเชลฟ์ที่อยู่หลังเรา

“ตอนนั้นเรายังเด็กแล้วก็คิดว่า เหล้าแต่ละตัวขวดละเป็นหมื่นๆ เลย เราอยู่ข้างนอกไม่ได้มีโอกาสได้ชิมหรอก แดกแม่งเลย (หัวเราะ) นี่คือความตื่นเต้นมากในตอนนั้น”

ดื่มแรก

“เครื่องดื่มแก้วแรกที่คุณชงคืออะไร” ฉันถาม

“Whisky Sour ครับ เพราะเป็นเครื่องดื่มแก้วแรกที่ผมชิมแล้วผมอยากทำด้วยตัวเอง พี่เชื่อมั้ยว่าพอผมชงให้หัวหน้าผมกินแล้วเขาตอบว่าอะไร” โตโต้ถามฉันกลับ

“อร่อยมาก?”

“มันเหี้ยมากเลย”

ก่อนเราสองคนจะระเบิดหัวเราะออกมาพร้อมกันลั่นบาร์

“มันทั้งคาวไข่ ทั้งเปรี้ยวนำ คือรสชาติมันแย่มาก เฮดของผมเลยแนะนำว่า มึงควรจะลดมะนาวดูนะ มึงใส่มะนาวเยอะเกินไป มึงใส่ทีละนิดก็ได้แล้วก็ชิมเอา ให้อยู่กับความบาลานซ์ ไม่ให้มันหวานหรือเลี่ยนเกินไป รวมถึงเหล้าที่หยิบมาคุณก็ต้องรู้ว่าเหล้าตัวนั้นส่วนผสมคืออะไร อะไรที่เขามาทำ อะไรที่เรียกว่าวิสกี้ ถ้าคุณเอาวิสกี้ตัวนี้กับอีกตัวนึงมาทำ Whisky Sour ไม่อร่อย กับไม่อร่อยเลยก็มี”

นั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของโตโต้ จนเมื่อเขาถูกเคี่ยวกรำจากหัวหน้างานที่สอนแทบจะทุกอย่างในสายงานบาร์เทนเดอร์ สิ่งที่เขาต้องศึกษาเพิ่มเติมยังมีอีกมาก

มากถึงขนาดที่เขาต้องอ่านฉลากข้างขวดเครื่องดื่มทั้งหลายแหล่ แม้กระทั่งการเรียนรู้ความแตกต่างของเครื่องดื่มทุกประเภทให้ได้มากที่สุด ทั้งมีและไม่มีแอลกอฮอลล์

“มันคือศาสตร์ของ Mixology นะ ไม่ใช่แค่เหล้า แต่ถ้าเป็นเบียร์ เป็นไวน์ หรือน้ำผลไม้ล่ะ ก็นับเป็นเครื่องดื่มนะ คุณต้องเข้าใจดีในเครื่องดื่ม มันก็เหมือนเชฟที่ต้องเข้าใจดีในวัตถุดิบอาหาร แต่กับบาร์เทนเดอร์ต้องเข้าใจดีในเครื่องดื่ม

“อย่างเช่นเหล้าที่มีอายุ 12 ปีบ้าง 18 ปีบ้าง แปลว่าคุณกินน้ำที่มีแอลกอฮอลล์ในถังอายุ 18 ปี นั่นคือประวัติศาสตร์นะครับ ถ้าเราศึกษาเกร็ดนิดๆ หน่อยๆ คุณจะอินกับการดื่มคอกเทลมาก ยิ่งมานั่งคุยกับบาร์เทนเดอร์จะยิ่งโคตรอินเลย บางทีวันหยุดเบื่อๆ เซ็งๆ ไปนั่งบาร์ของเพื่อนแล้วสั่งคอกเทลมาหนึ่งแก้ว ผมก็จะคอยถามเค้าตลอด นี่คือประสบการณ์เหมือนกัน บางทีอาจจะเป็นความรู้ใหม่ว่า เหล้าตัวนี้ผสมกับตัวนี้ทำไมมันเข้ากัน บางทีน้ำผลไม้ตัวนี้กับแอลกอฮอลล์ตัวนี้ผสมแล้วเข้ากัน ก็จะมาปรับใช้” โตโต้ขยายความให้ฉันฟัง

บทเรียนอีกหนึ่งเรื่องของโตโต้ที่ตอกย้ำการเรียนรู้เรื่องวัตถุดิบอย่างเข้มข้นของเขาคือ การลงมือทำคอกเทลเมนูที่เป็นลายเซ็นของตัวเอง

ซึ่งพังไม่เป็นท่า

“ตอนนั้นอยากทำคอกเทลที่มีความครีมมี่ อยากได้กลิ่นครัมเบิ้ล ผมก็ต้มน้ำเลย แล้วก็เทครัมเบิ้ลลงไป ครัมเบิ้ลมีความมัน ความหวานอยู่แล้ว พอเติมน้ำตาลลงไปก็นึกได้ว่าครัมเบิ้ลมันเป็นแป้งนี่หว่า ผลออกมาคือของในหม้อมันหนึดมากเลย มันไม่ใช่ไซรัป มันไม่สามารถที่จะเอามาทำอะไรได้ ก็เลยต้องเททิ้งหมด แต่โชคดีที่เฮดบาร์ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร

“เลยต้องกลับมาศึกษาใหม่สิว่าครัมเบิ้ลคืออะไร อ๋อ ครัมเบิ้ลใช้วานิลลานี่หว่า มันมีกลิ่นวานิลลานะ มีความเป็นคาราเมล ต้องดึงเอารสชาติของมันออกมา ก็ต้องใช้กลิ่นวานิลลา กลิ่นคาราเมลมาทำเป็นคอกเทล พอเป็นเครื่องดื่มแล้ว รู้สึกว่ามันไม่เหมือนเราเคี้ยวครัมเบิ้ล แต่ยังรู้สึกว่ากินครัมเบิ้ลมันยังอยู่ ตั้งแต่นั้นมากว่าจะทำอะไรสักอย่างต้องศึกษาให้ดี ไม่ใช่ว่าคุณอยู่ๆ จะไปทำเลยนะ ก็เสียของเลยนะ”

สังคมบันเทิง

ความเข้าใจผิดของงานบาร์เทนเดอร์หนึ่งประการที่ฉันเองก็เข้าใจเหมือนกับหลายคนคือ บาร์เทนเดอร์เป็นงานที่สนุกและได้เจอผู้คนมากมาย

ได้เจอผู้คนมากมายน่ะใช่แล้ว เพราะบาร์เทนเดอร์สำหรับโตโต้ก็คืองานสังคมที่มีเพื่อน พี่ น้องในวงการมากมาย

“ผมว่าบาร์เทนเดอร์มันเป็นงานสังคม ถ้าสมมติถ้าเราทำร้านเอง เราก็อยู่ด้วยตัวเอง อยู่แบบโดดๆ ไปคนเดียว แต่ว่าทุกวันนี้วงการบาร์เชียงใหม่ยังไม่เท่าภูเก็ตนะครับ ในตัวเมืองภูเก็ตจะมีบาร์เด่นๆ อยู่ 5-6 ร้าน แล้วทั้งหมดนี้เป็นบาร์พี่บาร์น้อง ทุกคนรู้จักกันหมด ไม่มีกั๊กลูกค้ากัน สามารถแนะนำกันได้ว่า พี่ไปลองตัวนี้ที่ร้านนี้รึยัง บางทีเหล้าหมดตอน 4 ทุ่ม บางทีลูกค้าจะกิน เราก็ไม่รู้ว่าจะซื้อเหล้าที่ไหนตอน 4 ทุ่ม ผมก็โทรไปหาร้าน แล้วก็วิ่งไปเอา มันเรียกว่าการช่วยเหลือกัน แล้วถ้าทำแบบนี้ ลูกค้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

โตโต้อธิบายให้ฉันฟังอีกว่า เพราะกฎหมายการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่ไม่สามรถทำได้อย่างโจ่งแจ้ง จึงส่งผลให้ร้านบาร์ต่างๆ ได้ผลกระทบไปด้วย การเช็คอินผ่านโลกโซเชียลและการแนะนำบอกต่อกันด้วยปากต่อปาก คือช่องทางในการแนะนำที่ดีที่สุดของบาร์ทั้งหลายแหละ

แต่ความเข้าใจในอาชีพบาร์เทนเดอร์ที่บอกว่าเป็นงานที่สนุก ก็อาจไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องเสมอไป

“ตอนมาทำงานใหม่ๆ จะตื่นเต้นว่าเราได้เห็นเหล้าแต่ละตัวขวดละเป็นหมื่นๆ อยู่ข้างหลังเรา เราอยู่ข้างนอกไม่ได้มีโอกาสได้ชิมหรอก ก็แดกแม่งเลย (หัวเราะ) นี่คือความตื่นเต้นมาก แล้วเราอยู่นานๆ ไปก็จะเริ่มเบื่อแอลกอฮอลล์ เราต้องอยู่กับเหล้า เราต้องชิม วันๆ หนึ่งผมออกคอกเทลมาประมาณ 50 แก้ว ต้องชิมทุกแก้วนะ ถ้ามันไม่อร่อย ผมก็ไม่อยากไปเสิร์ฟ มันก็จะเสียเครดิตเรา เสียชื่อร้านอีก

“บางคนเค้าอาจจะมองว่าบาร์เทนเดอร์ขี้เมา ขี้เหล้า แต่จริงๆ กูไม่ได้ชอบ (หัวเราะ) มันคืองาน ยิ่งวันหยุดนี่โคตรจะเบื่อ เพราะทุกวันเราอยู่บาร์ อยู่ร้านเหล้า ส่วนมากเลยจะไปนั่งร้านกาแฟชิวๆ แบบ พักผ่อนบ้างเถ๊อะ เพราะงานประจำกูกินเหล้าอยู่แล้ว ขอกูกินอย่างอื่นบ้างเถอะ” โตโต้เล่าแกมหัวเราะ

สู่สนามรบแห่งบทเรียนและมิตรภาพ

โตโต้รับมือกับการดูถูก เหยียดหยามมาตลอดการทำงานในวงการร้านอาหารที่ภูเก็ตด้วยการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ จนถึงวันที่เขาอยากพิสูจน์ตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง คือการลงสนามประกวดแข่งขันบาร์เทนเดอร์ ที่แรกๆ เขายังตัดสินใจไม่ตกว่าควรจะลงแข่งดี หรือไม่แข่งดี

จนเขาได้รับคำตอบที่เขาตัดสินใจได้ในทันทีจากรุ่นพี่ที่เขาเคารพคนหนึ่ง

“เมื่อก่อนผมคิดว่า ผมก็ไม่กล้าเที่ยวไปแข่งหรอก เราไม่เก่งหนิ เราไม่อยากที่จะไปอายเขา แล้วพี่บาร์เทนเดอร์ที่ผมเคารพเคยบอกว่า ถ้าคุณคิดว่าคุณพร้อม แล้วตอนไหนคุณคิดว่าคุณจะพร้อม เป็นพี่ พี่จะตอบได้เหรอ ก็ตอบไม่ได้ เขาเลยสอนผมว่า สมมติตอนนี้เราอาจไม่พร้อม แต่เราออกไปหาประสบการณ์ เราจะได้อะไรเยอะมากเลย แต่ถ้าเรารอว่าเราพร้อม พร้อมจริงๆ รึเปล่าก็ไม่รู้ แล้วถ้าคุณไม่ชนะขึ้นมาล่ะ คุณจะโคตรเสียใจเลยนะ เพราะเราคาดหวังไว้เยอะเลยไง แต่ว่าถ้าเราทำตอนนี้คือไปหาประสบการณ์ ไม่ได้หวังว่าจะชนะ ถ้าชนะก็ดี แต่ไม่ชนะก็ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ได้แบบ ได้อะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยเจอ”

สนามแรกของโตโต้คือการแข่งขันพัฒนาเมนูคอกเทลที่นำเสนอความเป็นไทยร่วมกับสุรายี่ห้อหนึ่ง โตโต้เลือกนำเสนอความเป็นไทยผ่านลาบสองรูปแบบ คือลาบภาคเหนือและอีสานที่หลอมรวมด้วยสมุนไพรจากอาหารรสแซ่บชนิดนี้ เมื่อดื่มแล้วจะได้รสสัมผัสจากข้าวคั่วแบบฉบับลาบอีสาน และความสดชื่นของสมุนไพรเฉพาะตัวลาบเหนือ ที่เมนูรอยไทย แก้วนี้สามารถบ่งบอกถึงตัวตนของโตโต้ได้อย่างชัดเจน

น่าเสียดายที่เขาไม่ได้รับเลือกให้เป็นสองผู้ชนะของการประกวด แต่หลังการแข่งขันครั้งนั้น โตโต้ได้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่มากกว่าที่เขาคาดคิดเอาไว้

“มีกรรมการคนหนึ่งแกเดินมาตบไหล่ผมหลังแข่งเสร็จ เขามาชมผม บอกว่า ‘น้องคิดไม่เหมือนคนอื่น แตกต่าง ไม่มีการกั๊ก เสียดายที่น้องนำเสนอออกมาไม่ดี แต่ว่าเครื่องดื่มน้องมันเป็นคอกเทลที่แปลกมาก’ เขาเลยมองเห็นแล้วก็มาปลอบใจเราว่า ‘ไม่เป็นไรนะ น้องพัฒนาแล้วปีหน้าเจอกัน พี่เชื่อว่าน้องอายุแค่นี้ น้องสามารถไปต่อได้อีกไกล’

“วันนั้นเหมือนเราไปปลดปล่อยอะไรสักอย่าง เหมือนเราทนความกดดันมาหลายๆ ปีแล้ว ได้ปล่อยออกมามันโคตรเบาเลย ผมมีความสุขมากๆ ถึงแม้ประกาศผลมาแล้วไม่ชนะ ผมยังยิ้มแล้วหัวเราะกับเพื่อนได้ แล้วยังดื่มกัน ยังหัวเราะกันไม่มีการเศร้ากัน มันก็ย้อนกลับไปในคำพูดของพี่บาร์เทนเดอร์คนนั้นว่า ถ้าคุณคิดว่าคุณยังไม่พร้อม แล้วไปตอนที่คุณยังไม่พร้อม คุณจะไปเจอหลายๆ อย่าง แล้วเอามาปรับปรุงได้”

หลังจากจบการแข่งขัน เมนูรอยไทยของโตโต้บนเวทีในครั้งนั้น ได้รับคัดเลือกให้เผยแพร่บนเว็บไซต์มิชลินไกด์ เขาบอกฉันเพียงว่า เขาดีใจในสิ่งที่เขาพยายามลงมือทำมาตลอด มันสัมฤทธิ์ผลแล้ว แต่บทเรียนในเวทีนั้นยังเป็นสิ่งที่เขารู้สึกขอบคุณเสมอ ที่พาตัวเองก้าวสู่สังเวียนในครั้งนั้น

แก้วต่อไป

เวลาล่วงเลยผ่าน จากผู้เรียนวันนี้โตโต้กลายมาเป็นผู้สอนให้กับน้องใหม่ที่อยากเป็นบาร์เทนเดอร์เช่นเดียวกับเขา สิ่งที่โตโต้พยายามส่งต่อให้กับนักเรียนของเขาคือ การให้ความรู้อย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะให้ได้ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันการถูกดูถูกจากผู้คนรอบข้าง

“ตอนสอนน้องๆ เหมือนเราเห็นตัวเองในวันแรกที่ทำงาน แต่เรารู้แล้วว่าเราเจออะไรมา เราไม่อยากให้เขาเจอเหมือนเรา โดนดูถูก โดนกดดันมา เราไม่อยากให้เขาเจอแบบนั้นไง จริงๆ เขาก็น่าจะเจอแหละ แต่เราจะไม่ทำกับเขาแบบนั้น การสอนของผมไม่เหมือนคนอื่น ผมไม่เรียกว่าสอน ผมเรียกว่าแชร์ประสบการณ์มากกว่า ผมคุยด้วย หัวเราะด้วย เล่นด้วย มันจะทำให้เราเจอคนสอนแบบนี้ เราก็โคตรแฮปปี้เลย”

สิ่งที่โตโต้อยากทำต่อในอนาคตนอกจากชงเครื่องดื่มที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทุกคน คือการเรียนรู้เพื่อต่อยอดทักษะการชงเครื่องดื่มของเขาให้ก้าวกระโดดมากขึ้นกว่าเดิม

“ตอนนี้ที่วางแผนอยู่คืออยากเรียนคหกรรมเพิ่ม อยากทำคอกเทลที่สามารถจับคู่กับอาหารไปเลย ไม่ใช่แค่คุณทานเนื้อแล้วทานกับไวน์แดง ทานของทอดแล้วทานกับเบียร์นะ แต่อยากทำเครื่องดื่มที่ทานคู่กับอาหารแล้วมันเข้ากันได้ดีมาก จริงๆ ก็มีคนทำอยู่นะ แต่ก็ยังไม่โดดเด่นมาก ผมก็ยังไม่รู้ว่าถ้าผมทำแล้วก็ไม่รู้ว่ามันจะดีรึเปล่า แต่มันก็ต้องลอง ซึ่งต้องเริ่มจากเข้าใจวัตถุดิบอาหารก่อน เพราะว่าเราเข้าใจวัตถุดิบของเครื่องดื่มแล้วไง แต่ผมมองว่าต้องรู้จักอาหารให้มากกว่านี้ ถ้าเรารู้รสชาติของอาหารมากพอ รวมกับการที่เราเรารู้อาหาร-เครื่องดื่มที่มากเหมือนกัน มันก็จะจับจุดกันได้ง่าย”

ฉันเห็นแววตาของเขาแล้ว มันคือแววตาของคนที่มีความสุขในสิ่งที่เขาทำ และตั้งใจกับมันที่อยากทำให้ดีกว่าเดิมจริงๆ ฉันก็ได้แต่รอชิมเครื่องดื่มที่ลงตัวกับอาหารจากฝีมือของเขาในสักวันหนึ่ง

แต่สิ่งที่โตโต้ย้ำเสมอตลอดการสนทนาหน้าบาร์ของเราคือ ถ้าอยากเป็นคนเก่ง ต้องไฝ่รู้และศึกษาอยู่เสมอ และรับมือกับแรงเสียดทานที่ทำลายความตั้งใจ ด้วยการลงมือทำอย่างไม่ย่อท้อเท่านั้น

โตโต้ชงเครื่องดื่มให้ฉันแล้ว ขอตัวไปดื่มก่อนนะ

ภาพประกอบ: กมลพล ไชยมูล
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ artsvisual.co : กันยายน 2562

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

บีซัน ตัน

ช่างภาพหุ่นหมี อารมณ์ดี มุกแป๊ก ปัจจุบันเป็นวิดีโอครีเอเตอร์ที่เว็บไซต์ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง