ช่วงปลายหนาวต้นร้อนของทุกปีสำหรับภาคเหนือ คือช่วงเวลาที่ชาวภาคเหนือต้องประสบกับภัยพิบัติด้านมลพิษอันมาจากฝุ่น PM 2.5 มาตลอด 10 กว่าปี ในบางปีค่าฝุ่นนั้นติดอันดับสูงที่สุดในโลก แต่เหตุใดจึงไม่ได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวของในการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนเสียที? มากไปกว่านั้น ทำไมกรุงเทพฯ ก็ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เช่นกัน แถมออกข่าวเป็นเดือนๆ แต่ภาคเหนือและเชียงใหม่ที่มีฝุ่นทุกปีกลับมีพื้นที่สื่อน้อยมากเสียจนไม่ได้อยู่ในความทรงจำของชาวกรุงเทพฯ หากเทียบกับสถานะของเชียงใหม่ในฐานะเมืองท่องเที่ยว ผู้เขียนจะขออภิปรายสถานการณ์นี้ด้วยการวิพากษ์รัฐราชการรวมศูนย์ (Centralization) ซึ่งเป็นระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทยว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเกี่ยวข้องกับความทรงจำของชาวกรุงเทพฯ ที่มีต่อเชียงใหม่ที่ถูกทำให้เป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยวตามเทศกาลเท่านั้น แต่เหตุใดจึงไม่มีความทรงจำที่เกี่ยวกับประเด็นอื่น ๆ หากพูดถึงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกันกับตอนเด็ก ๆ ที่ครูสั่งให้เราวาดรูปบ้านนอกหรือชนบทในจินตนาการของเรา เราก็จะนึกออกแค่ “ภาพกระท่อมปลายนาตัดด้วยทิวทัศน์ภูเขาและดวงอาทิตย์” เพียงเท่านั้น เช่นเดียวกับเชียงใหม่ในสายตาคนกรุงเทพฯ ที่นึกออกแค่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลหรือช่วงปลายฝนต้นหนาวเพียงเท่านั้น ในฐานะที่ผมเป็นคนภาคกลาง พื้นเพมาจากจังหวัดในเขตปริมณฑล ก็คงมีความทรงจำเกี่ยวกับเชียงใหม่และภาคเหนือไม่ต่างจากคนกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่ เพียงแต่ความคิดของผมในการมองประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากมาอาศัยอยู่เชียงใหม่ ความคิดนั้นคือ “ประเทศไทย ≠ ประเทศกรุงเทพฯ”
รัฐราชการรวมศูนย์ อาณานิคมภายใน กับความล้มเหลวในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขรัฐราชการรวมศูนย์ (Centralization) คือระบบบริหารราชการแผ่นดินที่ยึดหลักการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลางเป็นหลัก มีระบบการบริหารแบบสายการบังคับบัญชา (Hierarchy) ตั้งแต่ระดับสูงสุดในส่วนกลางที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไปจนถึงระดับต่ำสุดที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดในการดำเนินนโยบายจากส่วนกลาง หากจะลงลึกไปถึงประวัติศาสตร์การผนวกดินแดนล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศแล้ว ระบบราชการรวมศูนย์คือกลไกหลักในการบริหารราชการแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้สยามประเทศกลายเป็น “รัฐชาติ” (Nation-state) ตามความเป็นสมัยใหม่แบบยุโรป การที่อาณาจักรรัตนโกสินทร์จะเป็นรัฐชาติได้นั้น ต้องมีการวางกลไกระบบราชการในการจัดเก็บภาษีและทรัพยากรจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่ศูนย์กลางและนำมาบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงการผนวกดินแดนและวัฒนธรรมในพื้นที่หัวเมืองต่าง ๆ ให้ค่อย ๆ กลายเป็นสยาม (Siamization) โดยใช้กลไกระบบราชการเป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับเก็บภาษี การบังคับใช้ตัวอักษรภาษาไทยแทนตัวอักษรธรรมล้านนา (ตั๋วเมือง) การลดอำนาจเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และแทนที่ด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดจากส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งระบบดังกล่าวดูละม้ายคล้ายระบบที่ประเทศเจ้าอาณานิคมบังคับใช้กับดินแดนเมืองขึ้นของตัวเองก็ผิดนัก หรือที่เรียกว่า “อาณานิคมภายใน” (Internal Colonialism) หรือ “อาณานิคมอำพราง” (Crypto-colonialism) เรียกได้ว่า กระบวนทัศน์ของระบบราชการรวมศูนย์ของไทยตั้งแต่แรกเริ่มนั้นคือการ “ควบคุมประชาชน” ไม่ใช่ “รับใช้ประชาชน” และกระบวนทัศน์ดังกล่าวก็ยังคงตกทอดมาในวัฒนธรรมองค์กรของระบบราชการในปัจจุบัน ตัดภาพมาปัจจุบัน เชียงใหม่และภาคเหนือถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในระบบราชการรวมศูนย์ในฐานะส่วนภูมิภาคที่ได้รับการแบ่งอำนาจมาจากส่วนกลาง (Deconcentration) โดยมีกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ ซึ่งแน่นอนว่าระบบราชการรวมศูนย์จะเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้กับประชาชนในพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับอุดมคติที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้มากที่สุดเท่าทีสามารถ แต่ตามโครงสร้างแล้ว เป็นการยากที่จะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ในหลากหลายมิติอันสลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า การเผาซากผลิตผลจากพื้นที่เกษตรกรรม หรือแม้แต่การเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราจะเห็นว่าทุกปีหน่วยงานรัฐจะพยายามประกาศว่าห้ามเผาในช่วงต้นปี แต่ก็ไม่อาจช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดเสียที หากจุดนี้ที่หน่วยงานนี้รับผิดชอบไม่มีการเผา จุดอื่นที่หน่วยงานอื่นรับผิดชอบก็เผาอยู่ดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากระบบราชการรวมศูนย์ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นระบบที่มีขั้นตอนยุ่งยากสลับซับซ้อน ต้องรอการตัดสินใจจากผู้มีอำนาจจากส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งผู้มีอำนาจเหล่านั้นก็ล้วนไม่ใช่คนในพื้นที่ เป็นลักษณะการบริหารราชการที่นอกจากรวมศูนย์แล้ว ยัง “แยกส่วน” ในการทำงานอย่างสิ้นเชิง หรือเรียกอีกอย่างว่า “รวมศูนย์แบบแยกส่วน” ส่งผลให้ไม่เกิดความเป็นเอกภาพในการทำงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถสั่งการได้ทุกหน่วยงาน แต่ทำหน้าที่ได้เป็นแค่ “ผู้ประสานงาน” ส่งผลต่อการทำงานอย่างบูรณาการกับประชาชนในพื้นที่ไม่ตรงจุด ข้าราชการที่มีจิตใจทำงานเพื่อประชาชนอย่างที่สุดก็ทำได้แค่ปลอบประโลมจิตใจของตนว่า “ทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดแล้ว” ภายใต้ระบบราชการรวมศูนย์เช่นนี้ เราจึงเห็นภาพหน่วยงานรัฐเอารถน้ำไปฉีดขึ้นฟ้า โทษประชาชนที่อาศัยอยู่บนเขาว่าเผาป่า และข่าวก็จะออกแค่ไม่กี่วัน ก่อนที่จะค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชนนอกภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นประชาชนต้องดูแลตัวเองตามยถากรรม หน้ากาก N95 ประชาชนก็ต้องเจียดค่าแรงขั้นต่ำอันน้อยนิดเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นมะเร็งไปเสียก่อนส่งลูกเรียนจบปริญญาตรี ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนคือ ต้องเปลี่ยนจากระบบราชการรวมศูนย์เป็นระบบกระจายอำนาจ (Decentralization) ซึ่งเป็นระบบที่ให้อำนาจท้องถิ่นอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ประชาชนในพื้นที่จะไม่ได้มีบทบาทเป็นแค่ “จิตอาสา” ให้หน่วยงานรัฐในการไปดับไฟป่าอีกต่อไป แต่ประชาชนจะมีอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหาเอง ปัญหาที่ส่วนกลางไม่เคยใส่ใจในการลงมาดูแลและทำความเข้าใจกับการแก้ไขปัญหากับประชาชนในพื้นที่ จริง ๆ การแก้ปัญหานี้มันคือปัญหาเดียวกันกับปัญหาการเมืองระดับชาติ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์ของระบบราชการ
ประเทศกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ในจินตนาการของคนกรุงเทพฯหากมองในสายตาของคนกรุงเทพฯ ถ้าพูดถึงเชียงใหม่ ย่อมจินตนาการถึงลมหนาวของภาคเหนือ สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติของเชียงใหม่ วัฒนธรรมประเพณีล้านนาอันงดงาม ผู้คนน่ารัก ฯลฯ แต่เราจะจินตนาการถึงเชียงใหม่ในมุมมองอื่นออกหรือไม่ หากไม่เคยมาอยู่เชียงใหม่จริง ๆ แบบไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยว ผู้อ่านอาจคิดว่าผมอคติกับคนกรุงเทพฯ มากไปรึเปล่า เปล่าเลย ผมกำลังชวนให้ตั้งคำถามว่า “ทำไมเวลาพูดถึงประเทศไทยเราจะนึกออกแค่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นได้แค่สถานที่ท่องเที่ยวช่วงเทศกาล” ก็เพราะว่า การประกอบสร้างความเป็นชาติไทยเราผูกกับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้กับความเป็นชาติ ชุมชนจินตกรรม (Imagined Community) หรือจินตนาการของความเป็นชาติเวลาพูดถึงประเทศไทยจึงนึกถึงส่วนกลางที่เป็นกรุงเทพฯ ที่มีความสำคัญที่สุด ก่อนนึกถึงต่างจังหวัดที่เป็นได้แค่สถานที่ท่องเที่ยวช่วงเทศกาลเสมอโดยที่เราไม่รู้ตัว คนไทยถูกทำให้คิดว่าศูนย์กลางทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศไทยคือกรุงเทพฯ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเจริญด้านวัตถุ โอกาสในชีวิต แม้แต่การเลื่อนชั้นทางสังคม เรียกได้ว่า ความเหลื่อมล้ำมันอยู่ทุกที่ในประเทศแม้แต่การหล่อหลอมตัวตนและการรับรู้ของคนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่เติบโตพร้อมกับระบบสาธารณูปโภคและระบบคมนาคมขั้นพื้นฐานครอบคลุมอย่างทั่วถึง ถึงแม้คุณภาพจะแย่ แต่ก็ถือว่าดีกว่าต่างจังหวัดอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการที่ปัญหาของกรุงเทพฯ คือปัญหาของประเทศ แต่ปัญหาของต่างจังหวัด กลับไม่ใช่ปัญหาของประเทศ ภายใต้การรับรู้ของคนกรุงเทพฯ เวลามีข่าวฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ย่อมมีพื้นที่สื่อมากกว่าข่าวฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่ตลอดมา ต่างจังหวัดจึงเป็นได้แค่สถานที่ท่องเที่ยวช่วงเทศกาลในสายตาชาวกรุงเทพฯ เท่านั้น และการปฏิบัติจากรัฐต่อต่างจังหวัดก็สองมาตรฐาน ไม่ต่างจากประชาชนในดินแดนอาณานิคม ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนชาติเดียวกัน ทางเดียวที่จะแก้การรับรู้ที่ผูกขาดแค่กรุงเทพฯ คือการกระจายอำนาจเท่านั้น ทำให้ทุกจังหวัดมีโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ มีอะไร ต่างจังหวัดต้องมีอย่างนั้น ตำแหน่งงาน โอกาสในชีวิตต้องมีในต่างจังหวัด ไม่ใช่กระจุกตัวแค่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน และแน่นอนว่า สิ่งเดียวที่แก้ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่ผมได้อภิปรายมานั้น คือปัญหาการเมือง ถ้าการเมืองดี รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยสากล สถาบันการเมืองมั่นคงแข็งแรง เห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน การกระจายอำนาจก็แก้ได้ไม่ยาก ความเหลื่อมล้ำทุกมิติทั้งในเชิงวัตถุและในเชิงความคิดก็จะค่อยๆ จางหายไปในที่สุด |
Related Posts
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) : ชีวิต เรื่องราว ความทรงจำ และการเปลี่ยนแปลง
เสียงตึงตัง ตึงตัง ตึงตัง… ทุ่งนา และทิวเขาที่อยู่ไกลออกไป แสงแดดอ่อนๆยามรุ่งสาง สายลมหนาวพัดผ่านเข้ามาทางหน้าต่างของรถไฟชั้นสาม ผู้โดยสารเบาบางลงบ้าง เพราะต่างคนต่างลงตามสถานีปลายทางของตนเอง … เรื่องราวรถไฟยังคงดำเนินต่อไป ย้อนกลับไปสิบกว่าชั่วโมงที่แล้ว ก่อนที่ใบหน้า และร่างกายจะปะทะอุณหภูมิหนาวเย็น ทุกอย่างเริ่มต้นที่ หัวลำโพง ในวันนี้ เรื่องราวของหัวลำโพงกำลังจะเปลี่ยนไป หัวลำโพงยังคงอยู่ แต่บทบาทในทางการเดินทาง อาจกำลังจบลง … หัวลำโพงเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และความหวังมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว เก้าอี้ที่โถงพักคอยของหัวลำโพงรองรับผู้คนที่หลากหลายมานาน แต่ละคนต่างมีจุดมุ่งหมายในการเดินทางแตกต่างกันไปทั้งสิ้น กลุ่มเพื่อนที่นัดกันไปแสวงหาประสบการณ์ชีวิต ชายวัยชราซึ่งเพิ่งเสร็จจากการพบแพทย์กำลังจะกลับภูมิลำเนา คุณพ่อซึ่งเข้าเมืองกรุงเพื่อเยี่ยมลูกชาย หรือแม้กระทั่งพระภิกสุสงฆ์ และอีกมากมาย สถานีรถไฟหัวลำโพงมีความหลากหลายของเรื่องราวและความทรงจำ … ในการทำให้เรื่องราวของแต่ละคนดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด มีผู้อยู่เบื้องหลังมากมาย เพียงแค่เดินเข้ามาในตัวสถานีไปจนถึงตู้รถไฟ สามารถพบเจอได้ตั้งแต่พนักงานจำหน่ายตั๋วซึ่งกำลังตอบคำถามผู้โดยสาร พนักงานทำความสะอาดที่ชานชาลากำลังลากอุปกรณ์คู่ใจ พนักงานซึ่งกำลังเข็นรถเข็นขนผ้าห่ม พนักงานเดินรถกำลังเรียกผู้โดยสารให้ขึ้นรถไฟ และอื่นๆอีกมากมายซึ่งอยู่เบื้องหลัง และล้วนมีส่วนสำคัญ ในวันที่สถานีรถไฟบางซื่อกำลังมีบทบาทมากขึ้น หัวลำโพงกำลังจะเริ่มค่อยๆถอยออกมาให้น้องใหม่ได้เฉิดฉายแทน หากพูดกันในเชิงการคมนาคม การย้ายสถานีหลักไปที่สถานีบางซื่อก็อาจจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าในการคมนาคมที่สะดวก การเปลี่ยนถ่ายรูปแบบของการเดินทางควรเป็นไปอย่างสะดวก กล่าวคือ ควรมีการสร้าง HUB ของการเดินทางขึ้นมา คือที่ๆเดียวสามารถเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทางได้อย่างครอบคลุม ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ […]
พราน มณีรัตน์
December 18, 2021Behind The Scene Editorial Staff
June 7, 2021สรุป พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แบบเข้าใจง่ายที่สุดโดยคนสตาร์ทอัพ เพื่อคนสตาร์ทอัพและเจ้าของธุรกิจ
ธุรกิจขนาดเล็ก กับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่จะมีผู้ประกอบการกี่รายที่ทราบว่า การเก็บข้อมูลพนักงานในธุรกิจของตัวเองก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับ PDPA แล้ว ยิ่งด้วยยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องถามตัวเองว่าจะนำธุรกิจไปในทิศทางใด ถ้าวันนี้คำตอบคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การนำข้อมูลลูกค้าเข้ามาพัฒนาสินค้า และบริการเพื่อให้ตรงความต้องการของลูกค้า ออกแบบประสบการณ์ใหม่ๆให้ลูกค้าประทับใจ สร้างช่องทางการขายบนโลกออนไลน์ โฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย ถ้าคำตอบของคุณตรงกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คุณยิ่งจำเป็นต้องศึกษา PDPA ให้เข้าใจ PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.๒๕๖๒ ให้นิยามข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) ตามที่ได้ให้ความหมายไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ “ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม” ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้นข้อมูลส่วนบุคคลแบ่งได้เป็น 3 ประเภทได้แก่ หนึ่ง-ข้อมูลที่ยืนยันตัวตนได้โดยทันที (Linked Information), สอง-ข้อมูลที่ยืนยันตัวตนได้เมื่อนำข้อมูลมาประกอบกัน (Linkable Information) และสาม-ข้อมูลที่ยืนยันตัวตนไม่ได้ (Non-PII) หรือ Anonymous หลายธุรกิจที่มีเว็บไซต์และทำการตลาดออนไลน์ อาจจะคุ้นกันดีกับ Google Analytics, Facebook Pixel […]