เบื้องหลังความพยายามของ Kevin Khun สู่ Projekt Now คนทำหนังที่เท่และเป็นตัวเองที่สุด

หนึ่งปีที่แล้วในเวลาเกือบทุ่ม ฉันไถโทรศัพท์ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ เพื่อเช็คข่าวอยู่หน้าบูธสำหรับจัดรายการวิทยุ ฉันพบกับโพสต์หนึ่งบนหน้าวอลล์ที่ทำให้ฉันไม่เลื่อนข้ามมันไป และอ่านจนครบทุกตัวอักษร

โพสต์นั้นคือวิดีโอสำหรับส่งประกวดโครงการหนึ่ง ของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจชั้นปีที่ 2 ผู้ต้องการตามหาความฝันการเป็น Videographer (ช่างภาพวิดีโอ) อย่างเต็มตัว โดยมีเดิมพันคือ การยุติเส้นทางชีวิตตามระบบการศึกษาไทยด้วยดรอปเรียน เพื่อลุยบนเส้นทางข้างหน้า ที่เขาไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง

“ให้ตายสิ วิดีโอนั่นมันคืองานระดับสากลเลยนะ”

ฉันนึกอุทานในใจกับตัวเองเมื่อชมวิดีโอขนาด 3 นาทีนั้นจนจบ ก่อนจะกดแชร์ไปที่หน้าไทม์ไลน์ของฉัน และกดเพิ่มเขาเพื่อน เพื่อหวังว่าจะได้ทำความรู้จักกันในเวลาต่อมา

นั่นคือข่าวสุดท้ายที่ฉันได้ยินจากเขา เพราะเขาไม่ได้ตอบรับคำขอเป็นเพื่อนของฉัน

ปัจจุบันฉันทราบภายหลังจากคำบอกเล่าของรุ่นน้องที่ชอบพอกัน ว่าตอนนี้เขาไปได้ไกลมาก

และน่าจะไกลสมใจด้วย เพราะเขาเดินทางทั้งในและต่างประเทศเพื่อทำงานที่เขารักอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง และเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจอย่างที่เขาได้ฝันไว้แล้ว

เขาคนนั้นคือขุน-โชติพงษ์ เอกเสน หรือ Kevin Khun Videographer วัย 22 ปีจากเชียงใหม่

ถ้าพูดถึงวิดีโอที่คุณพอเคยผ่านตา น่าจะเป็นวิดีโอประมวลภาพกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกเผยแพร่บนแฟนเพจทีมมช. หรือรายการท่องเที่ยว Live Right Now! บนแฟนเพจ Projekt Now ซึ่งมียอดไลก์กว่าหมื่นไลก์ และยอดชมวิดีโอนับแสน ไม่นับรวมถึงงานจ้างที่ขุนมีอยู่ตลอดปี ทั้งในและต่างประเทศ

แค่นี้คงเพียงพอแล้ว ว่าเขาเดินทางมาไกลขนาดไหน และเร็วขนาดไหนเมื่อเทียบกับเวลาหนึ่งปีที่ผ่านไป

โชคดีที่ขุนบินกลับมาเชียงใหม่ในช่วงสุดสัปดาห์ ก่อนเขาจะออกเดินทางอีกครั้งที่ญี่ปุ่นในสัปดาห์ถัดไป จึงถือเป็นโอกาสที่พอเหมาะพอดี ที่ฉันจะได้ทำความรู้จักกับคนๆ นี้

อย่างที่ฉันต้องการรู้จักเขาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

วัยเด็ก

“ผมเป็นลูกคนเดียวครับ” ขุนเริ่มต้นบทสนทนากับฉัน หลังจากที่ฉันลองเดาว่าเขาน่าจะมีพี่น้อง ซึ่งน่าเสียดายที่ฉันเดาผิดไปเยอะมาก

“จริงๆ ผมอยากมีพี่น้อง ผมเลยไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของการเป็นลูกคนเดียวเท่าไหร่​ (หัวเราะ) แต่จริงๆ ประโยชน์คือการที่เป็นลูกคนเดียวเนี่ย เราเลยคิดว่าใครเป็นพี่น้องเราก็ได้ หมายถึงว่า ผมมองว่าเราผูกพันกับคนอื่น จนเราเป็นพี่น้องเขาได้ ผมเป็นลูกคนเดียวที่มีพี่น้องทั่วประเทศเลย ผมเลยรู้สึกว่าดีแล้ว ที่ผมเป็นลูกคนเดียว”

ลูกโทนคนนี้เป็นคนเชียงใหม่มาตั้งแต่กำเนิด ศึกษาอยู่ในโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย นอกจากที่เด็กชายขุนจะเป็นเด็กเรียนดี ได้เกรดสี่แล้ว สิ่งที่ทำให้เด็กชายขุนสนุกเสมอในการไปโรงเรียนของเขา คือการทำกิจกรรม

“ตอน ม.5 ผมเริ่มเป็นเด็กกิจกรรม ผมชอบทำอะไรที่เป็นงานกลุ่ม กิจกรรมอะไรก็ทำเว่อร์กว่าคนอื่น ชอบอะไรที่มันต้องทำเป็นชิ้นเป็นอัน ชอบคิดการแสดงให้กลุ่ม ผมชอบดูการตอบรับของคนที่มีต่อเราตอนทำงานด้วย พอเราทำงานเสร็จออกมา เรารู้สึกว่าเราภูมิใจพร้อมกัน ไม่ใช่แค่เราที่ภูมิใจกับมันนะ ทุกคนเลย อีกอย่างคือชอบดูปฏิกิริยาของคนที่ดูผลงานเรา ว่าเขาคิดยังไงบ้าง

“อีกอย่างที่ชอบมากตอนเด็กๆ คืองานประดิดประดอยครับ ผมทำได้ดีเลย ตอน ม.2 อาจารย์สั่งงานให้สร้างแบบจำลองเสมือนจริง เราก็ทำ ภูมิใจด้วยนะ แต่อาจารย์วิชานั้นโทรมาหาแม่เราว่า เราทำเองรึเปล่า (หัวเราะ) เพราะอาจารย์คิดว่าเราจ้าง คิดว่าแม่เป็นคนทำ จนกระทั่งให้แม่มายืนยันว่าเราทำเอง”

ชีวิตการเป็นเด็กกิจกรรมจนส่งต่อถึงการเป็นสภานักเรียนของขุน เริ่มทำให้เขาสนุกกับการทำงาน รวมทั้งการทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนร่วมกับรุ่นพี่ในวงการนักจัดอีเวนต์ หรือ Event Planner ยิ่งทำให้เขาเห็นภาพชัดขึ้น ประกอบกับการที่ขุนเริ่มตั้งคำถามบางอย่างกับตัวเองตอนเด็ก ทำให้ความคิดของเขาชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ว่าเขาไม่ชอบระบบการศึกษา

“คือรู้ตัวเองว่าไม่ชอบการเรียนตั้งแต่ ม.2 ผมไม่ชอบว่าทำไมเราต้องมีการบ้าน ทำไมเราต้องสอบ ทุกอย่างที่เรียนไม่เห็นได้ใช้เลย แล้วทำไมเรื่องที่สำคัญจริงๆ เช่นการดูแลจิตใจ การเข้าใจตัวเอง ทำไมไม่สอน อาจารย์ก็เขี่ยวเข็ญให้เราทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น ผมอยากลาออก แต่ไม่ใช่คนเรียนแย่นะ แต่ที่สำคัญคือเรามีคำถามกับมันเยอะ แล้วเราก็ไม่ได้คำตอบซะที

“ตอนผมต้องเลือกคณะเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลือกบริหารฯ เพราะไม่เชื่อว่าตัวเองจะเรียนสถาปัตย์ฯ ได้​ (หัวเราะ) ตอนนั้นมีใจให้กับคณะเกี่ยวกับศิลปะ แต่คเราเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรเลย คือประเมินตัวเองว่า อะ กูเข้าบริหารฯ ได้ ก็สอบให้ติด แค่นั้นพอ แล้วพอถามตัวเองต่อว่าชอบมั้ย ชอบการตลาด ชอบแบรนด์ดิ้งมั้ย ใจจริงก็ไม่ได้อยากเรียนขนาดนั้น”

 

เข้ามหาลัย

สุดท้ายขุนสามารถสอบเข้าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สมใจนึก

โชคดีของขุนคือ การอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีแต่การนั่งอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น เมื่อก้าวออกจากห้องเรียน หรือก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย อาจะเป็นการเปิดโลกใหม่ที่ขุนไม่เคยคิดว่าจะได้พบเลยด้วยซ้ำ

“ผมได้รับความเชื่อมาว่า โลกมันเปิดกว้างแล้ว จุดเริ่มต้นคือผมได้กล้อง Action Camera เป็นของขวัญวันเกิด ก็เริ่มเอากล้องออกไปถ่ายได้สักสามเดือน ก็มีอีเวนต์หนึ่งในเฟซบุ๊คที่เราไปดู เป็นบริษัท Travel Media ของต่างประเทศที่ประกาศรับสมัครคนจากทั่วโลก มาร่วมงานในตำแหน่ง Videographer ตอนนั้นมีคนสมัครหกหมื่นคน แล้วมีผู้ชนะจริงๆ สองคน ซึ่งผู้ชนะอายุ 19 เทียบกับผมที่ตอนนั้นอายุ 20 แล้วเมื่อย้อนกลับไปในความเชื่อที่ว่า โลกมันเปิดกว้าง ขอแค่เรายอมรับแล้วก็เปิดกว้างตามโลกก็พอ ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นไปได้”

วันหนึ่งขุนได้เห็นประกาศสมัครงานของเครือโรงแรมแห่งหนึ่ง และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขารู้ตัว

ว่าโอกาสมาถึงแล้ว

“ตอนนั้นเราไม่มั่นใจเลย เรารู้แหละว่าเราจะแพ้ แต่ก็ขอหน่อยละกัน ขอลองก่อน เผื่อฟลุ๊ค ถึงเราไปไม่ถึงตรงนั้น เราก็ได้ไปแล้ว ก็คิดแค่นั้น น่าจะใช้ความรู้สึกด้วยซ้ำว่าอยากทำ ต้องทำ อาศัยว่าเลิกเรียนเสร็จก็ขับรถออกไปเลย วางกล้อง ตั้งถ่ายเอง ก็จะมีขอเพื่อนบางคนให้ไปด้วยกัน ไม่ได้ช่วยถ่าย แต่ช่วยขับรถให้บ้าง ทำธุระให้บ้าง

“แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นะครับ (หัวเราะ) เขาเอาอันดับเดียว เขาเอาที่ 1-3 ผมได้ที่ 4 แต่มันก็ไม่เป็น คนอื่นส่งก่อน ผมส่งวันสุดท้าย ผมพึ่งเห็นประกาศก่อนหน้านั้นสักสามวัน แต่ผมก็ต้องเรียนทุกวันด้วย แล้วไม่มีฟุตเทจอะไรด้วย เพราะเราไม่เคยถ่ายมาก่อน”

 

ดรอปเรียน

“แล้วสุดท้ายตัดสินใจดรอปเพราะอะไร” ฉันถาม

“ตอนนั้นเป็นช่วงปีสองหลังจากประกวดงานของโรงแรมเสร็จ ผมคิดว่าผมรอจังหวะนี้มาทั้งชีวิต คือมันไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่ปุปปับเลย คนชอบคิดว่า อ๋อ มันได้สิ่งที่มันรักแล้ว มันไปแล้วเว้ย จริงๆ แล้วต้อนย้อนกลับไปเด็กๆ ที่ผมไม่ชอบการศึกษา ไม่ค่อยแฮปปี้กับมันเท่าไหร่ ยิ่งตอน ม.5 อยากลาออก ม.6 ก็ไม่อยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ว่าผมให้เหตุผลกับที่บ้าน กับญาติกับคนอื่น หรือกับตัวเองก็ไม่ได้ว่าจะเอายังไงต่อ เราอยากเป็นคนที่สำเร็จโดยผ่านระบบการศึกษานะ แต่อยู่นอกระบบการศึกษา คือไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญาก็ได้ พอจังหวะหนึ่งที่เราคิดว่ามันเหลือแค่สองปี เราก็จะกลายเป็นคนที่จบเหมือนทุกคนละ ก็ทำได้ แต่เหมือนโชคช่วย มันไปเจอสิ่งที่อาจจะเป็นงานได้ เลย ก็ได้วะ อย่างน้อยเราก็เคยลองสมัครดูแล้ว คนก็เชื่อในตัวเราแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีงานเลยนะ เราตั้งใจให้เป็นจังหวะนี้แหละ จะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างมัน”

ขุนยังคงเชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดมาตั้งแต่เด็ก ในเมื่อถึงเวลาที่คุณคิดว่าสมควรแล้ว เขาจึงพูดเรื่องนี้กับครอบครัวอย่างจริงจัง

และแน่นอน เรื่องนี้จบไม่สวยอย่างไม่ต้องคาดเดา

“จริงๆ เรื่องที่จะลาออกมันกระทบกระทั่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว พอไปบอกแม่ เขาก็ร้องห่มร้องไห้ ผมกลับไปนั่งใต้โต๊ะก็เครียด คิดในใจ ทำไมไม่เข้าใจกูวะ พอถึงจุดนี้เราเห็นว่า เราก็ไม่ได้ชอบเรียนมาตั้งนานแล้ว แล้วเราสู้กันมันมาตลอด เราหาอะไรทำ บางทีไปบอกแม่ว่าจะทำโปรเจคต์ใหม่นะ ผมจะทำอันนี้ๆๆ แต่ไม่ได้เคยขอเงินที่บ้านเลยนะ จะทำคือจะเริ่มเอง มันถึงเวลาที่ผมจะไม่แคร์แล้วก็ดื้อ เขาก็ยอม เพราะผมก็บอกเขาว่า นี่คือชีวิตของผมนะ เพราะผมก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพื่อนบางคนก็ไม่ชอบ บอกว่า ไอ้เหี้ยนี่ มึงจะสุดโต่งไปไหน เอ้า ผิดนักหรือไงที่กูจะเป็นแบบนี้ แต่ผมก็ไม่ได้ว่าใครผิดนะ ผมอยากเป็นอย่างนี้ ก็คิดว่าเวลาผ่านไปนานๆ ครอบครัวคงเห็นว่าเราเอาจริงแล้ว จนมันใกล้จะถึงเวลาที่น่าจะพอทำได้แล้ว”

 

นับหนึ่ง

โชคดีที่ขุนพาตัวเองไปรู้จักกับคนใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งการทำงานพาร์ทไทม์ หรือการรับจ้างผลิต Presentation และวิดีโอเล็กๆ น้อยๆ มาก่อน ทำให้การเริ่มต้นใหม่อย่างตัวเปล่าเล่าเปลือยนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

“ผมคิดว่าผมโชคดี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คือทุกงานที่ได้ทำเข้ามาหาผมหมดเลย ผมไม่เคยออกไปหางานเลย ไม่เคยแม้แต่งานเดียว ไม่เคยของานด้วย งานแรกหลังจากดรอปคือเป็นคนใกล้ตัวจ้างผม เป็นอาจารย์ที่สอนอยู่คนละมหาวิทยาลัย เขาจ้างผมให้ทำสื่อการสอนให้ ได้ราคาดีด้วย เป็นครั้งแรกที่ผมตกใจว่าพี่เขาเชื่อใจผมได้ยังไง ผมเป็นแค่เด็กปีสองที่เรียนไม่จบ แล้วจะให้ผมทำสื่อการสอนให้กับเด็กที่เรียนด้านนี้โดยตรง จนผมมาได้คำตอบว่าเพราะคนอื่นเชื่อผม

“หลังจากนั้นก็มีงานมิวสิกวิดีโอง่ายๆ ของวงคัฟเวอร์ ก็จ้างถู๊ก ถูก งานโปรโมทร้านอาหาร ทำอะไรทำได้ก็ทำไปก่อน พอมองย้อนกลับไปก็ อ๋อ กูโดนหลอกเต็มๆ เลย”

สิ้นประโยค ทั้งฉันกับขุนต่างระเบิดหัวเราะออกมา ซึ่งไม่ได้แปลกอะไร เมื่อมองกลับไปในจุดเริ่มต้นที่ต้องถูกหลอก ถูกเอาเปรียบ นับได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมือใหม่ในเวลานั้น

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกหนึ่งข้อในชีวิตการเป็นช่างภาพวิดีโอของขุนคือ การปัดฝุ่น Projekt Now ขึ้นมาทำใหม่อีกครั้ง และนั่นก็ทำให้เขาและรุ่นพี่อีกสองคนเริ่มเป็นที่จดจำมากขึ้นในโลกออนไลน์

“แต่จริงๆ เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่สุดเรื่องหนึ่งก็ได้” ขุนเริ่มเล่าเรื่องของ Projekt Now ด้วยท่าทีที่ฉันรู้สึกแปลกใจพอสมควร

“Projekt Now เริ่มตั้งแต่ปี 2556 ครับ ตอนแรกมันก็มีแค่ชื่อแหละ เกิดจากช่วงตอนที่ผมไปทำงานตั้งแต่ ม.4 – ม.5 มีรุ่นพี่คนหนึ่งทำงานด้านดีไซน์ เขามีความเชื่อว่าอยากมีแบรนด์ๆ หนึ่งที่มันเป็นแรงบันดาลใจคนได้ ตอนนั้นไม่ได้มีคอนเซปต์อะไรเลย เราแค่ขุดชื่อนั้นกลับมาอีกรอบในตอนที่ผมดรอปเรียนได้สัก 3-4 เดือน แล้วก็ ก็คิดว่าจะทำกันใหม่ ทำให้มันใหญ่ไปเลย

“เราเคยคิดว่าความฝันแม่งสวยงาม มันจะให้ความสุขเราตลอดระหว่างทาง เราเห็นว่างานเรามันจะพัฒนาชีวิตคนอื่น พัฒนาชีวิตเราและทีมไปพร้อมๆ กันด้วย แต่มันพัฒนาในเชิงลบ หมายถึงว่ามันทำให้เราล้ม คือองค์กรจะอยู่ได้มันต้องมีอะไรหล่อเลี้ยง ผมไม่มีอะไรหล่อเลี้ยงเขาเลย ผมยอมกรีดเนื้อตัวเองคือ ไม่รับงานเลยเป็นเวลาหกเดือน ผมไม่มีรายได้สักบาทเพื่อจะมาทำ Projekt Now ตอนนี้ทุกคนก็กลับไปสู่ชีวิตปกติของเขาที่ควรจะเป็น เพราะทุกคนต้องแลกสมอง แลกกำลัง แต่มันไม่ได้อะไรกลับไปเท่าไหร่”

ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเจ็บปวดแค่ไหน ขุนยังบอกฉันว่า เขาจะทำ Projekt Now ต่อไป ซึ่งเราน่าจะได้ชมกันในอีกไม่ช้า

 

นับสอง

เรื่องน่าตื่นเต้นของคนธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ไม่มีอิทธิพลในสื่อใดๆ คือ การที่เขาสร้างผลงานขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง และมันไปเตะตาใครสักคนเข้า

แล้วบังเอิญคนๆ นั้นคือแบรนด์สินค้าระดับโลก

นั่นคือสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับขุน เพราะมันคือการเปิดประตูโอกาสบานสำคัญในการเดินทางของเขา

“จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นงานที่ผมทำลงเพจตัวเอง (เพจ Kevin Khun) เป็นทริปที่ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นกับเพื่อนแล้วทำคลิปกันเล่นๆ บังเอิญทริปนั้นผมยืมกล้องของพี่มาใช้ ซึ่งเป็นคนละยี่ห้อกับที่ผมใช้ประจำ ก็คิดว่าจะทำคลิปเจ๋งๆ สักอันนึงแหละ แล้วพอทำเสร็จก็โพสต์ในเฟซบุ๊ค ก็ไม่ได้บูมอะไรขนาดนั้น แต่ผมแชร์ไปที่เพจของกล้องยี่ห้อนั้น เพราะว่าเราใช้กล้องของเขา 2-3 วันต่อจากนั้นมีพี่คนหนึ่งทักมาในกล่องข้อความ เขาพูดว่า พี่ชอบงานเรานะ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แต่ผมก็พยายามจะคุยกับทุกคน แล้วเขาก็นัดทานข้าว พอเจอกันพี่เขาบอกว่า เขาทำงานที่บริษัทกล้องที่นั่น ก็เลยทราบว่าพี่เขาเป็นผู้จัดการ ผมก็ตื่นเต้นนะ ทุกคร้งแหละ แต่ก็จะมีตื่นเต้นผสมงงว่า ทำไมต้องเป็นกูวะ”

“นั่นสิ แล้วเคยถามตัวเองมั้ยว่าทำไมต้องเป็นเรา” ฉันถามกลับไป

“ตลอด ถามตลอดเวลาว่าทำไมเราโชคดีจังวะ ทุกวันนี้ยังถามอยู่เลย แต่มันก็ยังไม่ได้คำตอบนะ ในขณะที่ผมยังไม่ได้คำตอบ ผมก็ควรจะทำตัวให้สมกับเป็นคนที่ควรจะได้โชคพวกนั้น ผมก็เคยถามว่าทำไมเขา (ลูกค้า) ถึงให้ ทำไมเขาถึงมาเอ็นดู เขาก็ชอบบอกว่า เขาเห็นว่าวันหนึ่งผมจะยิ่งใหญ่ มันก็ซึ้งใจนะ เหมือนแบบคนอื่นเห็นในสิ่งที่ผมไม่เห็น”

“เราไม่ได้คิดว่าเราจะเจอใครบ้าง ก็เลยเปิดรับได้ทุกคนเลย แต่ว่าเราก็มีในใจตลอดว่าเราจะไม่ทำงานแบบไหน มันก็ตื่นเต้นทุกครั้งที่ลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา โห มาเจอกูได้งวะ (หัวเราะ) อยู่บ่อยๆ”

 

สำรวจตัวเอง

“ลองนิยามแนวทางการทำวิดีโอของขุนให้ฟังหน่อยสิ” ฉันลองถามคำถามนี้กับชายตรงหน้า

“มันเรียกยากนะ (หัวเราะ) อาจจะเป็น Inspiration Travel Film แบบ Seemless Transition คือวิดีโอท่องเที่ยวสร้างแรงบันดาลใจ โดยมี Transition ที่มองไม่เห็น ลื่นๆ ไหลๆ อย่างมีเหตุมีผลนะ จริงๆ แล้วมันไม่ต่างกับ Videographer คนอื่นๆ หรอก มันคือสไตล์ที่กำลังดังมาก แล้วคนก็ได้แรงบันดาลใจมาจากต่างชาติใช่มั้ย สิ่งที่ผมรู้สึกว่าต้องมีเสมอในการตัดต่อคือ ความสมเหตุสมผล เราจะทำทุกอย่างให้ดูมีเหตุผลที่สุด ต่ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่านั่นมันคือสไตล์ผมนะ เพราะว่าผมว่ามันยังพัฒนาได้อีกไม่รู้จบ เหมือนทุกวันนี้ทุกคนที่เป็นเพื่อนหรือเสพงานเรามาตลอดจะบอกว่า มึงเริ่มมาละๆ กูจับกลิ่นอายมึงได้ละ จับรสชาติมึงได้ละ ไม่ต้องดูโลโก้กูก็น่าจะพอจำได้ละว่านี่คืองานมึง แต่ว่าผมยังไม่รู้เลยไง ผมยังไม่รู้สึกถึงตรงนั้น ผมอยากเหมือนมือกีต้าร์เก่งๆ ที่พอได้ฟังแล้วรู้เลยว่าใครเล่น พราะเมื่อก่อนเราทำเปลือกหมดเลย คือภาพสวย Transition ดี เกรดสีดี แต่ ณ ตอนนี้มันจะต้องกลับมาฝึกเรื่องของการเล่าเรื่องมากที่สุด เพราะกำลังจะกลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองทำเองก็คือ คอนเทนต์ที่เราผลิตเอง”

“แล้วพอจำได้มั้ยว่าสนใจการทำวิดีโอเพราะอะไร” ฉันถามต่อ

“ตอนแรกไม่ได้สนใจวิดีโอครับ ตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มเที่ยว ผมรู้สึกว่าตัวเองเริ่มชอบเที่ยวคือตอนไปรวมญาติที่ภูเก็ต พอมันเที่ยวเสร็จมันก็อยากเที่ยวมากขึ้น มันเริ่มเห็นบางอย่าง เริ่มสนุก เริ่มอยากรู้มากขึ้น มันก็นำเราไปหาวิดีโอ หมายถึงว่าหาวิดีโอดูว่า มีที่ไหนให้เราไปเที่ยวบ้างวะ ทำให้เราได้เห็นวิดีโอมากขึ้น คือเราดูเยอะจนบอกตัวเองว่า โลกแม่งกว้างมากๆ เลยเว้ย พอดูเยอะมันก็ได้แรงบันดาลใจว่า ถ้าเราเที่ยวครั้งต่อไป ทำวิดีโอมันก็น่าจะเจ๋งดีนะ”

 

ยินดีที่ได้รู้จัก

ขุนยังคงสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการถูกจ้างให้ผลิตวิดีโอ หรือคลิปสั้นสนุกๆ จากการเดินทางของเขาบนแฟนเพจ Kevin Khun จนกระทั่งขุนได้พบกับเพื่อนใหม่ที่เป็น Videographer หรือช่างภาพที่มีความสนใจเดียวกัน

และที่สำคัญ คือฝีมือนั้นอยู่ในระดับเดียวกันอีกด้วย

“คือผมไม่ใช่คนดังนะ อินสตาแกรมผมคนพึ่งจะมีคนติดตาม 800 คนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งมันน้อยมาก เพื่อนๆ พี่ๆ ที่มากดติดตามคงไม่ได้มาจากความดัง มันอาจจะฟังดูน้ำเน่านะ แต่ผมว่าคนที่มันต้องเจอกัน มันดึงดูดกันและกัน ผมเชื่ออย่างนั้นมากๆ คนพวกนี้มันเจอแล้วมันต่อกันติดเลย แล้วมันดึงดูดคนใหม่ๆ เข้ามาหา ผมว่ามันถึงจุดหนึ่งผมเปิดกว้าง ผมเปิดรับหมด

“ผมได้เจอพวกเขา ผมรู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วก็สบายใจในการที่จะอยู่บนโลกมากขึ้น ผู้คนทำให้เราอยากอยู่ ถึงผมไม่สามารถนิยามตัวเองได้โดยขาดคนพวกนี้ ทุกคนในชีวิตที่ผมได้เจอ ผสมกัน ผมเป็นส่วนผสมของทุกคนในชีวิต แล้วถ้าไม่มีพวกเขาก็ไม่มีผม มันดีแล้วที่ได้เจอคนดีๆ แล้วเป็นแรงบันดาลที่ทำให้เราอยากสำเร็จให้ได้ เพื่อพาส่วนเล็กๆ ของคนพวกนี้ในตัวเราไปถึงพวกเขาให้ได้ มันเป็นการแลกเปลี่ยนกัน และมันให้พลังกันและกัน

“บางทีก็มีไปเที่ยวด้วยกันครับ ถ้าคนไม่เคยเจอเลยมันก็ตื่นเต้นนะ ตื่นเต้นมากๆ เราไม่รู้ว่าเราจะคุยกับเขาได้มั้ย หรือว่าอาจจะไม่คุยกัน เข้ากันไม่ได้จนกลายเป็นทริปที่แย่ก็ได้ แต่เราอยากมีเพื่อนด้วยแหละ ก็เลยลองไปเที่ยวด้วยกันดู อย่างน้อยก็ไปเห็นอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้คนเพิ่ม แต่ว่าในช่วงห้าเดือนนี้มันต่อกันติดหมดเลย แล้วก็มันส่งต่อๆ ไป อีกหน่อยคงรู้จักกันทั้งโลกมั้ง (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่อยากไปสงสัยมัน แล้วมันก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะมันก็เป็นโชคชะตา

อย่างที่ผมต้องเจอพี่ เราต้องเจอกัน”

 

ก้าวต่อไป

ฉันสังเกตได้ว่า ขุนชอบพูดเรื่องการทำตามความฝัน ทำตามเสียงหัวใจของตัวเอง และทำมันอย่างเต็มที่

ฉันสงสัยเหลือเกินว่าทำไม

“ผมว่าคนอื่นอายที่จะพูด ผมเลยพูดให้ เพราะเผื่อว่าคนอื่นจะอายน้อยลงบ้างล ผมรู้ว่ามันน่าแหวะบ้าง คนก็บอกให้ตามความฝัน ทำไมมึงไม่เห็นตามกันเลยวะ มึงเลยรู้ว่ามันไม่คูลเหรอ แต่มันคือความจริงนะ แล้วผมก็แค่กล้า ลองเป็นไอ้ตัวตลกให้ทุกคนดู แล้วไม่น่าเชื่อว่ามันก็เป็นผลดีกับทุกคนแล้วก็กับตัวผมเอง จนวันนึงผมก็หายอายที่จะเป็นคนนั้นที่จะพูดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ”

“แล้วชีวิตตอนนี้เหมือนกับที่ฝันไว้มากน้อยแค่ไหน” ฉันถาม

“ผมว่าตอนนี้ชีวิตคือความฝันเลยพี่ คือผมอยู่ในสังคมที่ดี อยู่ในการงานที่ดี แต่มันคือฝันที่มันยังไม่ไปถึงเป้าหมายนะ เป้าหมายกับความฝันมันต่างกันนะ ผมมองว่าชีวิตตอนนี้มันแฟนตาซีมาก พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้แต่มันต้องสนุก ก็ถึงมันจะไม่ดี แต่มันก็อาจจะเป็นฉากหนึ่งในหนังเฉยๆ นี่คือความฝันเลยแหละ ฟังแล้วมันดูโลกสวยนะ แล้วโลกมันก็สวยจริงๆ แค่คุณมองเห็นรึเปล่า แล้วจะกลัวที่จะมองมั้ย เหมือนกับคุณจะเลือกกลัวหรือเลือกความรัก ถ้าเป็นผม ผมเลือกที่จะรักดีกว่า”

คำถามสุดท้ายของบทสนทนาที่ฉันได้ทำความรู้จักกับเขา คือ เป้าหมายในชีวิตของเขาคืออะไร

“ผมอยากสร้างทีม สร้างสังคมที่มีความคิดเชิงบวกอะ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจเกี่ยวกับด้านท่องเที่ยวนี่แหละ ยังคงทำเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ ตอนแรกคือไม่เชื่อเรื่องคนเลยพี่ อยากมีมูลนิธิเรื่องสิ่งแวดล้อมไปเลย แต่ใจจริงกูไม่ได้อินเรื่องสิ่งแวดล้อมขนาดนั้น แต่ว่าตอนนี้โชคดี เรากลับมาเชื่อเรื่องคน คือโลกมันเป็นโลกได้เพราะว่ามีคนไง แล้วก็อยากจะเป็นองค์กรที่เชื่อเรื่องของคนและเรื่องการท่องเที่ยว เพราะผมว่าเรื่องการท่องเที่ยวมันนำให้คนเปิดกว้าง นำให้คนรู้จักตัวเองมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่ดีด้วย ถ้าทำในเรื่องที่ไม่ดี ก็น่าจะต้องได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง ก็นั่นแหละ เลยอยากมีองค์กรระดับโลก ที่ไม่ได้เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรมบางอย่าง แต่ของผมอาจจะเป็นผลงานก็ได้”

 

เผยแพร่ครั้งแรก กันยายน 2561

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด