ทบทวนประสบการณ์การทำงานร่วมกับเด็ก ม.ปลาย ในงานประจำปีฯ ที่ทำให้เข้าใจเด็กมากขึ้น

ประมาณสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันเห็นโพสต์บนเฟซบุ๊กที่กำลังเป็นไวรัลแล้วก็สะท้อนใจกลับมาหาตัวเอง

ใช่ค่ะ, มันคือโพสต์ที่ว่าด้วยการแจกเกียรติบัตรให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่มันไม่ใช่เกียรติบัตรเรียนดี หรือผู้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน แต่มันเป็นการประกาศเกียรติคุณในเรื่องที่เรียบง่าย อย่างเช่น ขุดปูนาเก่ง จิตใจดีงาม รักสัตว์ รักครอบครัวหรือไปจนถึงการสร้างคุณค่าและเพิ่มพูดวามเชื่อมั่นที่ดีมากๆ อย่างการเป็นดีเจประจำโรงเรียนที่เก่งกาจ มีภาวะความเป็นผู้นำดี หรือง่ายที่สุด รู้จักขอโทษเมื่อทำผิด

มันคือการสร้างคุณค่าในตัวเด็กที่ไม่ได้ใช้เครื่องมืออะไรมากมายเลย แล้วยิ่งเกียรติบัตรมันเพิ่มอิมแพคในใจเด็กได้ง่ายมากๆ ดิฉันเลยนึกถึงในช่วงเวลาปีที่แล้วที่ดิฉันได้ทำงานร่วมกับเด็กกลุ่มหนึ่งเกือบสามสิบชีวิต และมันทำให้ฉันเข้าใจถึงเจตนาของครูท่านนั้นอย่างถ่องแท้

ดิฉันจับพลัดจับพลูไปช่วยงานที่โรงเรียนเก่าของตัวเองที่ชื่อราตรีเพลินเพลงหรือ “Music Night” ซึ่งมีการปรับรูปแบบจากเวทีการแสดงปกติเป็นการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ ซึ่งมีนักแสดงที่ต้องโชว์สดสลับกับการแสดงของแต่ละระดับชั้นถึง 30 คน

ในวันแรกที่ดิฉันเจอพวกเขา แน่นอน, เด็กก็คือผ้าขาว ยังไร้เดียงสาและขาดประสบการณ์ ในการเวิร์กช็อปทั้งการพูด การแสดงง่ายๆ การปรับบุคลิกภาพและความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เอื้อต่อการทำการแสดง (เพราะนักเรียนต้องออกแบบโชว์เพื่อแสดงในการถ่ายทอดสด) ฉันจึงเห็นไอเดียที่เอาเข้าจริงมันใช้ไม่ได้เลยในโลกของการทำงานเชิงธุรกิจ

แต่ในความไม่เอาไหนของมัน ฉันกลับพบถึงพลังงานความสนุก ความสดใส และความบริสุทธิ์เท่าที่เด็กอายุ 13-17 ปีกลุ่มหนึ่งจะร่วมกันระดมสมองคิดกันออกมา ต่อให้มันจะออกมาเป็นงานโรงเรี๊ยน งานโรงเรียนแค่ไหน ก่อนที่ฉันจะคอมเมนต์งานกลับไป ฉันกลับนึกถึงคำของน้องๆ ในกองบรรณาธิการฯ ที่คอยเตือนสติฉันเสมอว่า

ให้เด็กได้ทำอะไรอย่างที่เขาอยากทำ เปิดโอกาสให้เขาได้ทำอย่างถึงที่สุด มันจะได้เป็นช่วงเวลาที่น้องๆ รู้สึกภูมิใจในตัวเองจริงๆ

ดิฉันจึงไม่ชี้นำอะไร และปล่อยเข้าสู่กระบวนการนำเสนองานต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และโชคดีที่ผู้ใหญ่ก็สนับสนุนน้องๆ อย่างเต็มที่

จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม ที่ระหว่างทางดิฉันก็เห็นน้องๆ บางคนยังงกๆ เงิ่นๆ หรือยังขาดตกบกพร่อง หลายทีฉันเห็นแววตาที่ไม่มั่นใจในตัวเองหรือกังวลในสิ่งที่เขาทำลงไป ฉันจึงยืนอยู่ข้างสนามเพื่อคอยสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มความมั่นใจ และคอยบอกในสิ่งที่น้องๆ ขาดตกไป และเอาไปเติมให้เต็ม

นั่นยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่ายังไงน้องๆ ยังต้องการใครสักคนที่บอกเขาเสมอว่า เขาทำได้ และทำได้ดีมากๆ ด้วย

ดิฉันขอไม่บอกผลสรุปของโชว์ในวันนั้นว่ามันออกมาเป็นอย่างไร ลองแวะเวียนไปดูไฮไลต์แห่งความพยายามของน้องๆ ที่เพจ PRC Music Event ดูแล้วกันค่ะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่หยิบเรื่องนี้มาแบ่งปัน สุดท้ายแล้วดิฉันอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนลองเชื่อมั่นและเชื่อใจในตัวบุตรหลานหรือเด็กในปกครองของท่าน

มันไม่ใช่แค่เขาจะแค่ทำสิ่งที่คุณมอบหมายออกมาให้ดีที่สุด แต่เขาจะทำสิ่งนั้นด้วยความตั้งใจอย่างถึงที่สุด

เพราะเด็กจะเชื่อมั่นในตัวเอง อย่างที่ผู้ใหญ่เชื่อมั่นในตัวเขา

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด