บทวิเคราะห์ European Super League เมื่อในวันที่โลกลูกหนังถูกหมุนด้วยเงินตรา

น่ารังเกียจ น่ารังเกียจเป็นที่สุด

คือทรรศนะของแกรี่ เนวิลล์ อดีตแบ๊คขวาระดับตำนานของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดออกโรงจวกการกระทำของอดีตต้นสังกัดเมื่อครั้งยังสมัยค้าแข้งเป็นรายแรกๆ หลังจากที่มีการแถลงการจัดตั้งอภิมหาโปรเจกต์ครั้งใหม่ที่ชื่อยูโรเปี้ยน ซูเปอรร์ลีก (ESL) ที่มีหัวเรี่ยวหัวแรงรวบรวมโคตรทีมมาร่วมสังฆกรรมในมหรสพลูกหนังฉากใหม่นี้

ฟอเรติโน่ เปเรสประธานสโมสรเรอัล มาดริด จาก ลา ลีกา สเปน ควบตำแหน่งประธานการแข่งขันรายการนี้อีกหนึ่งตำแหน่ง ประกอบกับทีมบิ๊กเนมจากลีกต่างๆ อาทิ บาร์เซโลน่า แอตเลติโก มาดริด จากลีกลา ลีกา สเปน หรือยูเวนตุส เอซี มิลา อินเตอร์ มิลาน จากลีกเซเรีย เอ อิตาลี แม้แต่กลุ่มบิ๊กซิกส์จากพรีเมียร์ลีกอังกฤษคือ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ลิเวอร์พูล เชลซี อาร์เซน่อล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และสเปอร์

นอกจากนี้ยังมีอีกสามทีมที่ถูกส่งเทียบเชิญไปอีกเช่นเดียวกันอีกสามทีมที่คาดว่าจะเป็น บาร์เยิน มิวนิค และโบรุสเซียดอร์ทมุนต์ จากลีกบุนเดสลีกา เยอรมัน ที่ได้ปัดตกคำเชิญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการโต้ตอบจาก UEFA และ FIFA ที่จะแบนสโมสรกับนักเตะจากรายการแข่งขันที่ถูกจัดโดยทั้งสององค์กร นั่นหมายถึงสโมสรเหล่านี้มีโอกาสที่จะถูกแบนจากการแข่งขันยูฟ่าแชมปเปี้ยนลีก ยูโรป้าลีก รวมถึงนักเตะที่สังกัดสโมสรเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมมหกรรมฟุตบอลของมนุษยชาติอย่าง Fifa’s World Cup หรือฟุตบอลโลกได้

ซึ่งคอนเซปของ ESL นี้มีเป้าหมายอยู่ที่การสลายอำนาจของ UEFA ที่เป็นผู้จัดการลิขสิทธิ์ และจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยเจ้าแห่งสโมสรยุโรปที่เหล่าทีมใหญ่ๆ เหล่านี้มองว่าได้รับผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับชื่อชั้นของตน เมื่อเทียบกับทีมไม้ประดับอื่นๆ ที่ตนต้องแบ่งเฉลี่ยค่าลิขขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและสปอนเซอร์เท่าๆ กัน ในเมื่อตนป็นผู้ดึงดูดผู้ชม และผู้ให้การสนับสนุนส่วนใหญ่ ทำไมเราไม่แยกตัวออกมาจัดสรรผลประโยชน์ของเราเองล่ะ และเราเองก็สามารถเลือกผู้ที่สมควรที่จะมาแบ่งเค้กก้อนโตก้อนนี้กับเราได้อีกด้วย มหรสพฟุตบอลที่เต็มไปด้วยทีมอภิสิทธ์ชนจึงถือกำเนิดขึ้น

กลายเป็นกระแสต่อต้านอย่างหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มบิ๊กซิกส์จากพรีเมียร์ลีก ที่ถูกเรียกใหม่ว่าเป็นกลุ่มขี้โลภทั้งหกแทนที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหก โดยกลุ่มแฟนบอลผู้เดือดดาล

สร้างโดยคนจน ฉกฉวยไปโดยพวกคนรวยคือวลีหนึ่งที่ปรากฏหน้าสนามโอลด์แทรฟฟอร์ต หรือที่แฟนบอลเรียกว่าโรงละครแห่งความฝันตลอดจนถึงป้ายผ้าเขียนข้อความเสียดสีการรวมกลุ่มของอภิสิทธิ์ทีมเหล่านี้ถูกนำไปขึงโชว์หน้าสนามแอนฟิลด์ สนามเหย้าของทีมลิเวอร์พูลหนึ่งในทีมสมาชิกก่อตั้ง ESL ก่อนเกมกับลีดส์ยูไนเต็ดที่จบลงด้วยผลเสมอ แต่ไฮไลต์อยู่ที่ในช่วงวอร์มอัพทีมลีลด์ได้สวมเสื้อแสดงการต่อต้านการแยกกลุ่มของคู่อริร่วมลีกที่โครจงมาพบกันแทบจะในทันที่หลังจากการแถลงการณ์ก่อตั้งไปไม่กี่วัน “EARN IT.” “FOOTBALLL IS FOR THE FAN.” ถ้อยคำบนเสื้อยืดที่สวมใส่โดยนักเตะลีดส์ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลกับสโมส ที่มีความแนบแน่จนเกินกว่าที่เจ้าของสโมสรที่เป็นเหล่านายทุนจะแบ่งแยกออกไปได้

แต่การเกิดขึ้นของ ESL เป็นเหมือนตัวตอกย้ำถึงคำว่าของเล่นคนรวยของเหล่าทีมใหญ่ที่มีกำลังซื้อนักเตะมหาศาลที่เราสามารถเห็นการทุบคลังสโมสรเพื่อปิดดีลนักเตะในราคาเกิน 100 ล้านยูโรในแทบจะทุกซัมเมอร์ หรือโปรเจกต์ค่าเหนื่อยนักเตะ 1 ล้านยูโรต่อสัปดาห์ของมิโน่ ไรโอร่า ที่หมายมั่นปั่นมือที่จะทำให้ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ กองหน้าดาวรุ่งตีนระเบิด กลายเป็นนักเตะคนแรกที่ได้รับค่าเหนื่อยเจ็ดหลักต่อสัปดาห์เป็นคนแรกของโลก ก็ยิ่งทำให้โลกฟุตบอลออกห่างจากความเป็นความหลงไหล ความฝัน หรือเกียรติยศที่ทุกคนสามารถไฝฝันถึงได้

กลายเป็นเรื่องของเหล่านายทุนแบ่งปันผลประโยชน์กันจากเลือดเนื้อของนักเตะที่เราชื่นชอบ จากรายได้ที่สูบจากแฟนบอล ต่อไปนี้เราคงจะไม่มีเรื่องเล่าขานอย่างเทพนิยายจิ้งจอกของเลสเตอร์ซิตี้ที่หนีรอดตกชั้นในซีซั่น 2014/15 และผงาดคว้าแชมป์ในปีถัดมาอย่างยิ่งใหญ่ หรือเรื่องราวของอดีตนักบอลพาร์ทไทม์จากทีมนอกลีกที่มี่ส่วนในการสร้างปาฏิหารย์ในครั้งนั้นด้วยอย่าง เจมี่เรดบูล โรมาริโอ้วาร์ดี้ เรื่องเล่าเหล่านี้คงไม่นน่าสนใจในเมื่อเราสามารถมีบิ๊กแมตช์ให้ดูในทุกๆ กลางสัปดาห์ การต่อสู้ชิงอันดับไปบอลถ้วยยุโรปใบใหญ่ของเวสแฮมในปีนี้คงไม่น่าสนใจอีกต่อไป ในเมื่อไม่มีทีมยักษ์ใหญ่อย่างบาร์เซโลน่าหรือยูเวนตุสให้พวกเขาเข้ารอบไปเจอ ความฝันของแฟนบอลทีมกลางๆ กลายเป็นสิ่งไร้ค่าในสายตาของเศรษฐีเจ้าของสโมสรที่มีสิทธิ์กำหนดความสำเร็จเพื่อตอบสนองความบันเทิงของตนเอง โดยเพิกเฉยต่อหัวใจของแฟนบอลทีมอื่นๆ

ในอนาคต นัดชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกเป็นการพบกับกายารี่กับเออิบา กลายเป็นมุกตลกร้ายในคอมมูนิตี้ฟุตบอลต่างประเทศ มันไม่ได้มาด้วยการพัฒนาของทีมเล็กทีมน้อย แต่มาจากการที่เหล่าทีมใหญ่ๆ ทิ้งเศษเนื้อเก่าให้ทีมเหล่านี้ไปเคี้ยวเล่นเมื่อตนไม่ต้องการแล้ว สุดท้ายแล้วแม้ปลายทางอาจจะเปิดช่องไว้ให้การประณีประนอมระหว่างสมาชิก ESL กับ UEFA ก็ตาม แต่จากนี้อะไรหลายๆ อย่างก็คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว อะไรที่ไม่เคยเห็นก็คงจะได้เห็นกันในยุคนี้ และเหล่าแฟนบอลก็อาจจะมองสโมสรที่ตนรักเปลี่ยนไปบ้างบางกลุ่มอาจจะรักมากขึ้น บางกลุ่มอาจจะหันหลังให้กับพฤติกรรมที่ไม่เห็นหัวแฟนบอลแบบนี้ และกระทำราวกับว่าสโมสรฟุตบอลเป็นสมบัติส่วนตัวหรือธุรกิจเพื่อความมั่งคั่งของแค่คคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ฟุตบอลอาจต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงที่ละทิ้งจิตวิญญาณและความหลงไหลไปอาจจะเป็นการก้าวถอยหลังก้าวใหญ่ทางจริยธรรมมากกว่าความสำเร็จของการพัฒนาเกมลูกหนัง ถึงแม้วันนี้ฟุตบอลจะเดินทางมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปได้ แต่อย่างน้อยแฟนๆ ก็คงอยากเห็นฟุตบอลเป็นเกมกีฬาแห่งความหลงไหล

มากกว่าผลประโยชน์ด้านเงินตราที่เราไม่ได้ตกถึงท้อง

Contributors

วัศวีร์ ฉิมพลีย์

เกลียดความหวั่นไหว ชอบกินปูไทย ฟังใจเกเร นักศึกษาปรัชญาที่งานเขียนชอบปรากฎขึ้นมาในความฝัน