“I used to rule the world
Seas would rise when I gave the word
Now in the morning I sleep alone
Sweep the streets I used to own“
ครั้งหนึ่งข้าเคยปกครองโลกใบนี้
คลื่นทะเลจะสูงเมื่อข้าเอ่ยวาจา
แต่บัดนี้ข้านอนเพียงลำพัง
กวาดตามองถนนที่เคยเป็นของข้า
ท่อนเปิดของหนึ่งในเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Coldplay วงดนตรีชื่อดังจากเกาะอังกฤษ หากฟังครั้งแรกแล้วลองนึกภาพตามไปด้วย ภาพที่เกิดขึ้นคงเป็นการเล่าเรื่องของกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่สิ้นซึ่งอำนาจและมองดูสิ่งปลูกสร้างที่เคยเป็นของตนเมื่อยังมีอำนาจ เมื่อเอาเนื้อเพลงเชื่อมกับภาพที่อยู่บนปกอัลบั้ม อย่าง Liberty Leading the People วาดโดย Eugène Delacroix ซึ่งเป็นภาพที่มีแรงบันดาลใจมาจากการปฏิวัติในเดือนกรกฏาคม ปี ค.ศ.1830 ที่ประชาชนร่วมกันโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกษัตริย์อยู่ ณ ขณะนั้น หรือจะมองอีกภาพที่คล้ายกันก็อาจจะเทียบกับกษัตริย์อีกพระองค์ที่ถูกโค่นล้มเช่นกัน อย่าง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส แต่ชื่อเพลงไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสนี่นา? เกี่ยวข้องกันยังไง จากบทสัมภาษณ์ของนักร้องนำอย่าง Chris Martin เคยกล่าวว่า ชื่อ Viva La Vida เป็นภาษาสเปนที่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ คือ “Long live life” หรือความหมายในภาษาไทยคือ “สดุดีแด่ชีวิตอันยาวนาน” มีแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของศิลปินชาวเม็กซิกันอย่าง Frida Kahlo ที่ชื่อ Viva la Vida, Watermelons ภาพวาดนี้เป็นงานชิ้นสุดท้ายที่ Frida Kahlo วาดออกไม่กี่วันก่อนเสียชีวิต เป็นเหมือนบทสรุปอันมีชีวิตชีวาของเธอ อ้างอิงจากเว็บไซต์ที่บอกเล่าชีวประวัติของเธอ การสลักคำว่า Vida la Vida บนแตงโมตรงกลางที่ด้านล่างของผืนผ้าใบ ซึ่งหมายถึงบทสรุปของชีวิตของเธอที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากโรคโปลิโอตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งอุบัติเหตุบนรถประจำทางที่เธอโดยสารจนนำมาสู่การผ่าตัดถึง 35 ครั้ง รวมถึงปัญหาชีวิตคู่กับสามีของเธอ และการที่งานของเธอมักถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง เธอเปรียบผลของแตงโมที่มีเปลือกแข็งคอยปกป้องเนื้ออันอ่อนนุ่มที่เมื่อได้ลิ้มลองจะรู้สึกถึงความหวานและเย็นฉ่ำ ชีวิตของเธอต้องสร้างเปลือกมาคอยห่อหุ้มตัวเองจากเรื่องร้ายๆที่เธอต้องประสบและทำให้เธอเจ็บปวด แต่แม้จะสร้างเปลือกหนาห่อหุ้ม ด้านในก็เผยให้เห็นชีวิตภายในที่สดใส สดชื่น และอ่อนหวานของตัวเธอ Chris Martin นักร้องนำและหนึ่งในผู้เขียนเพลงนี้ เคยให้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจในการนำชื่อภาพนี้มาเป็นชื่อเพลงและอัลบั้มไว้ว่า “เธอ (Frida Kahlo) ต้องเจอกับเรื่องแย่ๆ มากมาย แต่แล้วเธอก็เริ่มวาดภาพขนาดใหญ่ในบ้านที่เขียนว่า Viva la Vida ฉันแค่ชอบความกล้าหาญของมัน” ด้วยเหตุนี้เราจึงจะเห็นการเปรียบเปรยชีวิตที่ผ่านมาของชายคนหนึ่งตลอดทั้งบทเพลงดังที่ Frida Kahlo แสดงมันออกมาผ่านภาพวาดของเธอ “I used to roll the dice
Feel the fear in my enemy’s eyes
Listen as the crowd would sing
“Now the old king is dead! Long live the king!”
ข้าเคยเป็นผู้กุมชะตาชีวิต
ได้สัมผัสถึงความกลัวในสายตาของเหล่าศัตรู
ฟังเสียงฝูงชนแซ่ซ้องสรรเสริญ
“กษัตริย์องค์เก่าสิ้นแล้ว ขอให้ท่านจงเจริญ”
ต่อมาก็มาดูที่ภาพหน้าปกของเพลงนี้ Liberty Leading the People หรือชื่อในภาษาไทย คือ “เสรีภาพนำทางชาวประชา” ภาพวาดแสดงให้เห็นหญิงสาวกึ่งเปลือยที่กำลังพุ่งไปข้างหน้า โดยมีฝูงชนนักปฏิวัติที่กำลังฮึกเหิมจากการปลุกเร้าของเธอ ซึ่งผู้เขียนวาดให้เธอเป็นตัวตนของเสรีภาพ ยกไตรรงค์ของคณะปฏิวัติ (ต่อมากลายเป็นธงชาติฝรั่งเศส) ที่เธอยกขึ้นเหนือศีรษะและปืนคาบศิลาที่มีดาบปลายปืนติดรวมถึงการแต่งกายของผู้คนในภาพที่แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาการปฏิวัติเดือนกรกฏาคม ปี ค.ศ.1830 แม้ว่าการปลุกใจของเธออาจทำให้พวกเขาทั้งหลายมีจุดจบด้วยข้อหาปฏิวัติ ร่างผู้คนที่ล้มตายล้มขวางทาง โดยที่การต่อสู้ยังไม่มีจุดสิ้นสุดที่ชัดเจนและชัยชนะก็ยังไม่แน่นอน แต่เสรีภาพก็นำทางผู้คนให้พยายามต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อก้าวเดินต่อไปสู่เส้นทางของอิสรภาพ โดยท้ายที่สุด เสรีภาพเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนเพื่ออิสรภาพจากการกดขี่สถานะที่เป็นอยู่ของระบอบการปกครองของระบบกษัตริย์ หรือรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งเมือเทียบกับเนื้อเพลงในท่อนที่ร้องว่า “Now the old king is dead! Long live the king!” ก็อาจหมายถึงอำนาจเก่าที่เสียไปและกู่ร้องแด่อิสรภาพที่กำลังจะมาถึง เมื่อกลับมาที่ในตัวเพลง การตีความของเพลงนี้สามารถทำได้หลากหลายมาก โดยที่ตัวเพลงถูกเล่าผ่านตัวละครเอกที่ในอดีตเคยเป็นกษัตริย์ที่เรืองอำนาจ แต่บัดนี้เดินไปตามถนนเยี่ยงคนสามัญธรรมดา หวนนึกถึงสิ่งที่เคยเป็นของตน ซึ่งจะสามารถแปลตามความหมายโดยตรงที่เป็นเรื่องราวของอดีตกษัตริย์องค์หนึ่ง หรือจะตีความผ่านนัยยะที่ถูกแฝงไว้ในเนื้อเพลงดังนี้ Listen as the crowd would sing
“Now the old king is dead! Long live the king!”
ฟังเสียงฝูงชนแซ่ซ้องสรรเสริญ
“กษัตริย์องค์เก่าสิ้นแล้ว ขอให้ท่านจงเจริญ”
ก่อนที่สุดท้ายกระแสลมกำลังจะเปลี่ยนทิศทาง เพราะอำนาจที่ได้มานั้นกำลังจะหายวับไปในพริบตา กำแพงที่เคยเป็นที่บอกถึงอาณาเขตก็กลายเป็นพื้นที่ที่ใช้จำกัดตัวเอง เนื่องจากถูกล้อมรอบด้วยที่ไม่เห็นด้วย และพร้อมที่จะแตกหักได้ง่าย ดังที่คลื่นพัดเกลือและทราย “One minute I held the key
Next the walls were closed on me
And I discovered that my castles stand
Upon pillars of salt and pillars of sand“
ครั้งนั้นฉันได้กุมอำนาจ
แต่ต่อมาฉันก็ถูกล้อมภายใต้กำแพง
(น่าจะหมายถึงการที่นักปฏิวัติล้อมกำแพงประสาท)
และฉันก็ได้พบว่าปราสาทของฉันตั้งอยู่
บนเสาเกลือและทราย
(จะสื่อว่าถูกนำพัดเพียงเล็กน้อยก็พังทลายได้)
ท่อนต่อมากล่าวถึงเวลาช่วงเวลาที่วุ่นวายของอดีตกษัตริย์องค์นี้ It was the wicked and wild wind
Blew down the doors to let me in
มันเป็นลมที่ชั่วร้ายและป่าเถื่อน
เป่าประตูเพื่อให้ฉันเข้าไป
ท่อนที่ว่าลมที่ชั่วร้ายและป่าเถื่อน กล่าวถึงสิ่งที่ชั่วร้ายที่ปล่อยให้เขาเข้าไปในปราสาท และ มันเป็นลมเดียวกับที่ผลักเขาออกจากปราสาทของเขา ซึ่งอาจหมายถึงสามัญชนที่นำกษัตริย์เข้ามาแทนองค์ก่อนเพื่อช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้น และคนกลุ่มเดียวกันเองที่กลายเป็นนักปฏิวัติเมื่อเห็นกษัตริย์ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน เพราะไม่คิดว่าคนที่นำเข้ามาจะกลายเป็นคนที่ตนอยากขับไล่ที่สุด Shattered windows and the sound of drums
People couldn’t believe what I’d become
หน้าต่างแตกกระจายและเสียงกลองโหมกระหน่ำ
ผู้คนแทบไม่เชื่อในสิ่งที่ฉันเป็น
หน้าต่างแตกกระจายและเสียงกลองโหมกระหน่ำ บ่งบอกถึงช่วงเวลาที่วุ่นวายในรัชสมัยของกษัตริย์องค์นี้ ซึ่งอาจหมายถึงการเกิดจลาจลในท้องถนนในราชอาณาจักร และจะมีเสียงกลองที่ดังกึกก้องเมื่อพระราชาทรงบัญชาคำสั่ง และในขณะที่สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กษัตริย์รู้ว่าวันเวลากำลังถูกนับถอยหลัง ในที่สุดเมื่อพลังของประชาชนเข้มแข็งกว่าอำนาจของกษัตริย์ พระองค์ทราบว่าเหล่านักปฏิวัติต้องการที่จัดการกับพระองค์ ในเมื่อเมื่อกษัตริย์องค์นี้ขึ้นสู่อำนาจด้วยการยึดจากกษัตริย์องค์ก่อน ก็ถึงเวลาที่ตนจะถูกกระทำเช่นเดียวกัน Revolutionaries wait
For my head on a silver plate
Just a puppet on a lonely string
Oh who would ever want to be king?
เหล่านักปฏิวัติกำลังรอคอย
บั่นคอฉันที่พาดบนถาดเหล็ก
(นัยยะหมายถึงถูกประหารโดยเครื่องกิโยติน)
เป็นเพียงหุ่นเชิดบนเชือกที่โดดเดี่ยว
(นัยยะหมายถึงการถูกชักใยโดยขุนนาง)
แล้วใครกันเล่าอยากจะเป็นกษัตริย์
ในท่อนสุดท้าย อดีตกษัตริย์ได้กลับมาครุ่นคิด ว่าเหตุใดผู้คนถึงอยากเป็นกษัตริย์กันนัก Heavy is The Head That Wears The Crown เป็นสำนวนที่สามารถสรุปชีวิตของการเป็นกษัตริย์ได้ดีทีเดียว เพราะกษัตรย์มีพลังมหาศาลอยู่ภายใต้นิ้วที่ชี้ออกคำสั่ง แต่แลกมาด้วยความกังวลในการรักษาอำนาจนั้นในทุกนาทีของชีวิต และเมื่ออำนาจของตนแข็งแกร่งพอ ๆ กับประชาชนที่อ่อนแอที่สุดที่รวมกันอยู่รายล้อมตนด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้กษัตริย์คิดว่าเขาเป็นเพียง หุ่นเชิดบนเชือกที่โดดเดี่ยว ดังนั้น เมื่อเขาไร้ซึ่งอำนาจ เขาก็พบว่าตัวเองไม่ได้ “ครองโลก” อีกต่อไป และตอนนี้เขากำลังสงสัยเกี่ยวกับชีวิตต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง? (ซึ่งก็รวมถึงชีวิตหลังความตายด้วย) I hear Jerusalem bells a-ringing
Roman cavalry choirs are singing
ฉันได้ยินเสียงระฆังของกรุงเยรูซาเล็มดังกึกก้อง
คณะทหารม้าโรมันกำลังประสานเสียง
นัยยะของท่อนนี้สื่อถึงในแง่มุมของศาสนา โดยเริ่มต้นในท่อนแรก คือ “ฉันได้ยินเสียงระฆังของกรุงเยรูซาเล็มดังกึกก้อง” อย่างที่รู้กันว่ากรุงเยรูซาเล็มคือนครศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์และเป็นเมืองสุดท้ายของพระเยซู หรืออาจหมายถึง “สวรรค์ในโลกหลังความตาย” ซึ่งจะรับกับท่อนต่อมาคือ คณะทหารม้าโรมันกำลังประสานเสียง ซึ่งสามารถตีความในเรื่องราวของพระเยซู ชาวนาซาเร็ธถูกตรึงที่กางเขนบนไม้กางเขนโดยทหารโรมันก็ได้ โดยการตรึงกางเขนนั้นเป็นการลงโทษของเจ้าเมืองด้วยข้อหา “พยายามจะเป็นกษัตริย์ของชาวยิว” ซึ่งเป็นข้อหาที่ถูกอ้างเพื่อจะลงโทษ ซึ่งสามารถเชื่อมกับเรื่องราวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประสบชะตากรรมที่คล้ายกันที่เขาถูกตัดศีรษะด้วยกิโยติน ตามคำบอกเล่าของนักประวัติศาสตร์ อดีตกษัตริย์ดูมีสง่าผ่าเผยและสุภาพเรียบร้อย พระองค์พูดสั้น ๆ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่เขาถูกกล่าวหา เขาโดยยังบอกด้วยว่าพระองค์ต้องการจะพูดบางอย่างมากกว่านี้ แต่เสียงพูดของอดีตกษัตริย์ถูกกลบด้วยเสียงกลองที่ถูกสั่งโดยนายพลแห่งกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้นำของคณะปฏิวัติ ณ ขณะนั้น Be my mirror, my sword and shield
ทั้งหลายเป็นดั่งกระจก ดาบและโล่ของฉัน
ในท่อนเป็นกระจกเงา ดาบและโล่ของฉัน อาจเป็นคำวิงวอนสุดท้ายของกษัตริย์เพื่อขอการให้อภัยจากคณะปฏิวัติ ชายที่เมื่อสองสามเดือนก่อน กองทัพนับพันต้องพึ่งพาจิตวิญญาณของเขาเพื่อนำทางและเป็นขวัญกำลังใจในการปกป้องตนเอง บัดนี้พระองค์ถูกลดหย่อนจนไม่มีค่า ถูกทำให้อับอายต่อหน้าสาธารณชน ดังนั้น เมื่อพระองค์ ‘หายตัวไป’ จากบัลลังก์ นักประวัติศาสตร์จึงได้บันทึกเฉพาะแง่มุมเชิงลบของเขา อดีตกษัตริย์อ้างว่าคำเหล่านี้ไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้องตั้งแต่เขาลงสู่อำนาจ เนื่องจากนักประวัติศาสตร์เขียนในแง่มุมของผู้ชนะ My missionaries in a foreign field
For some reason I can’t explain
I know St Peter won’t call my name
มิชชันนารีของฉันไปยังในต่างแดน
ด้วยเหตุผลบางอย่างฉันอธิบายไม่ได้
ฉันรู้ว่าเซนต์ปีเตอร์จะไม่เรียกชื่อฉัน
และท่อนต่อไปที่ว่า มิชชันนารีของฉันไปยังในต่างแดน ซึ่งมิชชันนารีคือนักบวชผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ / ด้วยเหตุผลบางอย่างฉันอธิบายไม่ได้ / ฉันรู้ว่าเซนต์ปีเตอร์จะไม่เรียกชื่อฉัน ซึ่งท่อนนี้สามารถตีความได้ว่าสื่อถึงศาสนาคริสต์ แล้วใครคือนักบุญปีเตอร์? อธิบายอย่างรวบรัดคือ ท่านเป็นหนึ่งในอัครสาวกทั้งสิบสองคนของพระเยซู โดยเป็นผู้นำของคริสตศาสนิกชนต่อจากพระองค์ ซึ่งก็นับว่าเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของโลกอีกด้วย และยังเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับการนำศาสนาไปเผยแพร่ให้กับคนต่างชาติ ว่ากันว่าท่านถือครองกุญแจสีทองและสีเงินที่พระเยซูเป็นผู้มอบให้ โดยที่ดอกสีทองคือเป็นกุญแจไขประตูที่จะเข้าสู่สวรรค์ ซึ่งมองได้ทั้งนัยยะของโลกหลังความตาย หรือจะมองในแง่ของอำนาจการตัดสินโทษบาปของผู้คน การที่เนื้อเพลงกล่าวว่านักบุญปีเตอร์คงไม่เรียกชื่อฉันก็มีที่มา โดยแนวความคิดของศาสนาในเรื่องสันติภาพและความปรองดองระหว่างมนุษย์ซึ่งมองว่าเราไม่ต้องการมีอำนาจ แต่เรายอมจำนนต่อกันด้วยความรักและการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้อื่น เป็นแนวคิดในพระคัมภีร์เก่า เป็นสิ่งที่ชาวฮีบรูเรียกว่า Shalom สิ่งที่กษัตริย์ในเพลงนี้กำลังประสบคือ การขาด Shalom เราอาจนิยามความชั่วร้ายที่เกิดจากอำนาจว่าเป็นการทำลาย Shalom ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนไปจากวิธีที่พระเจ้าต้องการให้สิ่งต่างๆ เป็น ฉะนั้นการที่นักบุญปีเตอร์จะไม่เรียกชื่อเขา อาจเป็นเพราะว่าเขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าชีวิตของเขาเต็มไปด้วยบาป ซึ่งบาปของเขา คือ เจตจำนงในการฝักใฝ่ที่จะมีอำนาจโดยการโค่นล้มอำนาจของกษัตริย์องค์ก่อน ซึ่งเป็นการทำลาย Shalom และเป็นการออกห่างจากพระเจ้า ผลที่ตามมาคือการไม่ได้เข้าสู่สวรรค์ผ่านประตูที่ดูแลโดยนักบุญปีเตอร์ Never an honest word
And that was when I ruled the world
มันคือโลกที่ไม่เคยมีความซื่อสัตย์ใดใด
และนี่คือเรื่องราวเมื่อครั้งที่ฉันได้ครองโลกใบนี้
และในท่อนจบสุดท้ายคือสิ่งที่เขารำลึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมาในโลกที่ไร้ซึ่งความซื่อสัตย์ใดใด ท้ายที่สุดเพลงนี้อาจสื่อถึงชายที่เคยแย่งชิงอำนาจ ขึ้นสูงและตกสู่พื้นดินก่อนที่จะรำลึกถึงสิ่งที่ผ่านมา ซึ่งสามารถโยงได้กับแนวคิดที่ Friedrich Nietzsche อธิบายไว้อย่าง “The will to power” หรือแนวคิดเรื่อง “เจตจำนงแห่งอำนาจ” ที่อธิบายว่า ส่วนใหญ่เรามักจะยอมให้ความต้องการที่จะประสบความสำเร็จส่วนตัวมีมากกว่าความปรารถนาที่จะทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา ความทะเยอทะยานและความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงตำแหน่งสูงสุดในชีวิตมักจะสร้างความเสียหายอย่างเหลือเชื่อต่อความสามัคคีและความรักที่ควรจะเป็นมาตรฐานสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์ของเรา ซึ่งสุดท้ายเขาเข้าใจแล้วว่า มันไม่ถูกต้องที่เขาเข้ายึดอำนาจ (จากกษัตริย์องค์ก่อน) มันไม่ถูกต้องเช่นกันที่เขาสูญเสียอำนาจ (ถูกคณะปฏิวัติยึดอำนาจ) มันไม่ถูกต้องที่ครั้งหนึ่งเขาเคยครองโลก มันไม่ถูกต้องเช่นกันที่ตอนนี้เขากวาดตามองดูถนนเพียงลำพัง ไม่ถูกต้องที่ไม่มีความซื่อสัตย์ใดใดในขณะที่เขาครองโลก เพลงนี้ก็เป็นอีกเพลงที่เมื่อฟังแล้ว เราสัมผัสได้ทั้งความไพเราะจากดนตรีที่สนุกสนานและเนื้อเพลงที่เล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตาม แต่ถ้าลองความหมายและรายละเอียดที่อยู่ในเพลงออกมาวิเคราะห์ ก็สามารถเป็นบทเรียนที่สอนเราได้มากมายเช่นเดียวกัน การที่ Chris Martin ตั้งชื่อเพลงนี้จากภาพวาดของ Frida Kahlo ก็เพื่อที่จะเล่าเรื่องชีวิตที่ผ่านมาของบุคคลหนึ่ง ที่ปรากฎในฐานะชายผู้เป็นอดีตกษัตริย์มาเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ขึ้นสุดลงสุดของตนให้ฟัง ดังนั้นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชายคนนี้ คงเป็นการสอนตัวเองว่า จงถ่อมตัวอยู่เสมอ อำนาจมีขึ้นได้ก็ลงได้เหมือนกัน ฉะนั้นช่วงเวลาที่อยู่ในอำนาจก็ควรทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อส่วนรวม เพื่อที่เมื่อลงจากตำแหน่งแล้ว จะไม่ถูกจดจำเยี่ยงทรราช เช่นเดียวกับกษัตริย์ในบทเพลง ที่มา
|