Human ร้าย Human Wrong 4: การ Wrong ผิด Wrong ถูกของการเล่าปัญหาสังคมผ่านกระบวนการทางศิลปะ

ส่วนตัวผู้เขียนเองเคยเป็นศิษย์เก่าของโครงการ Human ร้าย, Human wrong มาก่อน ซึ่งการได้ร่วมโครงการนี้คือการเปลี่ยนวิธีคิดการสื่อสาร การเล่าเรื่อง และการทำความเข้าใจปัญหาทางสังคมในมิติที่สนใจเป็นส่วนตัวให้เรานำมันมาพูดถึงได้อย่างมีลีลา ลุ่มลึก ชัดเจน และสามารถนำความรู้และทรรศนะการมองปัญหาต่างๆ กลับไปปรับใช้ในสายอาชีพจริงๆ ของตนได้

สำหรับใครที่อาจยังไม่เคยได้ยิน Human ร้าย, Human Wrong คือโครงการอบรมและเวิร์กช็อป “ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ที่มีเรี่ยวแรงสำคัญคือร้าน BookRe:Public จัดเป็นปีที่ 4 แล้ว ซึ่งในแต่ละปีต่อให้จะมีธีมและความสนใจในประเด็นที่หลากหลายและต่างกันไปบ้าง

แต่จุดร่วมสำคัญของโครงการคือ การสื่อสารประเด็นทางการเมืองที่ชัดเจนและจัดจ้านด้วยวิธีการทางศิลปะ

ธีมในปีนี้คือ Sensory of Humanity หรือการเรียนรู้ “ผัสสะ” (การกระทบหรือสัมผัส) เพื่อทำความเข้าใจผู้คนในหลากหลายสังคม หลากหลายมิติที่ถูกกดทับ ละเลย หรือถูกผลักออกไปให้กลายเป็นคนชายขอบที่ถูกหลงลืมว่าเขาก็ยังเป็นคนที่ยังพึงมีสิทธิในความเป็นมนุษย์ทุกประการ โดยกระบวนการในปีนี้มีทั้งการเวิร์กช็อป การลงพื้นที่จริงเพื่อหาแรงบันดาลใจและประเด็นที่ต้องการสื่อสาร จนนำไปสู่กระบวนการผลิตผลงานจริง ซึ่งเริ่มจัดแสดงไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ย

ประเด็นที่ถูกพูดถึงในงานศิลปะทั้ง 16 ชิ้นนั้นยังถือว่าหลากหลายและพูดถึงประเด็นสังคมได้คลอบคลุมเท่าที่เราพอจะนึกออก ตั้งแต่งานศิลปะที่จำลองให้เราทำ “ข้อสอบ” เพื่อพิสูจน์การเป็นพลเมืองที่ดีซึ่ง “แซะ” และ “เสียดสี” การทำงานของ “ร้าบาน” ชุดนี้ได้เจ็บสุดๆ อีกทั้งงาน Installation เพื่อเล่าเรื่องชีวิต วิถีและความฝันของ “เด็กแว๊น” และ “สก๊อย” ในพื้นที่ห่างไกล หรือประเด็นของชนชั้นล่างที่มีเครื่องพิสูจน์ฐานะอย่างรถจักรยานยนต์ แม้แต่ประเด็น Beauty Priviledge ก็มีให้เห็นในนิทรรศการนี้

บางงานก็เล่าได้ร้ายอย่างแสบสันต์ บางงานก็ใช้ชั้นเชิงในการเล่าผ่านเทคนิคที่หลากหลาย แต่เราเชื่อเหมือนกันว่าทุกงานผ่านการคิดมาอย่างดีด้วยกระบวนการสร้างสรรค์และพัฒนาจากทีมเบื้องหลังที่เราเชื่อในฝีมือการขัดเกลาและช่วยเพิ่มพูนสิ่งที่ขาดลงไปในงานแต่ละชิ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราว่าการใช้ “ศิลปะ” เป็นเครื่องมือในการสื่อสารประเด็นพวกนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและสามารถตีความได้ไม่สิ้นสุดเหมือนเช่นทุกครั้ง

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด