สรรพรส (Sapparos) คือร้านอาหาร Plant-Based ที่เคยมีหน้าร้านอยู่ที่ซอยอารีย์ 1 กรุงเทพมหานคร
ในวงสังคมคนทานอาหารเจ วีแกน หรืออาหารที่ไม่ใช้เนื้อสัตว์ต่างให้การยอมรับในรสชาติและไอเดียที่สดใหม่ในการปรุงอาหารแบบโฮมเมดแท้ๆ การันตีได้จากการแวะเวียนไปทักทายของสื่อ เพจรีวิว และจำนวนออเดอร์ที่เคยทำสูงสุดถึง 300 ออเดอร์ต่อวัน!
แต่โรคระบาดก็ส่งผลให้สรรพรสต้องเลือกทางเดิน ซึ่งหนึ่งในทางเดินนั้นคือการย้ายร้านไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกับเมืองท่องเที่ยวอันเป็นเมืองรอง กว่าสรรพรสจะเดินทางไปให้คนเชียงใหม่รู้จักได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน
ปัญหาก็คือ โรคระบาดระลอกใหม่เล่นงานสรรพรสซะจนสไมล์-ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่อีกครั้งในแบบเดียวกับการเปิดร้านในช่วงแรก-ขายอาหารแบบเดลิเวอรี่เพียงอย่างเดียว
ในฐานะญาติมิตรที่ฝากท้องกับสมายล์อยู่หลายเดือน ได้ทานอาหารวีแกนที่ทั้งคราฟต์มากๆ หรืออาหารไทยรสชาติจัดจ้านมาแล้วแทบจะทุกเมนู เราเลยลัดมาคุยกับสมายล์หลังครัวถึงการฝ่าด่านเมืองที่ใครก็ว่าปราบเซียน และบทเรียนที่ได้รับจากการทำร้านอาหารในช่วงเวลาที่ต้องสู้ยิบตา ถึงจะผ่านมันไปได้
คุณเห็นโอกาสอะไรในตลาดถึงเลือกทำร้านอาหารแบบสรรพรส
เรื่องแรกๆ เลยคือเรารู้สึกในเรื่องของเทรนด์อาหารสุขภาพที่ค่อนข้างกำลังมาแรงเลยทีเดียว แต่ย้อนไปประมาณ 3 ปีที่แล้วที่เพิ่งเริ่มคิดจะเริ่มทำ ตอนนั้นรูปแบบอาหารสุขภาพก็จะเป็นอาหารคลีนแบบที่นับแคลอรี่เป็นหลัก ไม่ค่อยสนใจเรื่องของรสชาติ หรือว่าความสดใหม่ของอาหารสักเท่าไหร่ แล้วก็มีปริมาณค่อนข้างน้อย หรือจะเป็นอาหารแช่แข็งที่เก็บได้หลายวันแล้วก็มาเข้าไมโครเวฟกินเอา อันนั้นเราก็เลยคิดว่ามันเป็นโอกาสสำคัญที่เราน่าจะหันมาทำอาหารสุขภาพในรูปแบบอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป ก็คือได้ในเรื่องของสารอาหาร คุมในเรื่องของแคลอรี่ ใช้วัตถุดิบออแกนิคที่ดี แล้วก็ที่สำคัญรสชาติอร่อย สด ใหม่ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำ
มันยากหรือง่ายกว่าทำร้านอาหารทั่วไป หรือว่าร้านอาหารสุขภาพในแบบปกติ หรือร้านสลัดยังไงบ้าง
ถ้าเทียบในสเกลร้านอาหารเฮลตี้ทั่วไป ด้วยความที่ Concept ของอาหารของร้านเรามันจะค่อนข้างฉีกไปแนวอื่น ก็คือมันจะต้องแบบออกไปสไตล์ไทยฟิวชั่น แล้วก็ทุกอย่างต้องทำสดใหม่ตลอดและจะต้องทำเร็ว ให้ลูกค้า อันนี้มันก็เลยค่อนข้างยาก แล้วอีกอย่างมันเป็นโฮมเมดแบบที่เราทำเองทุกอย่างเลย ทุกกระบวนการ ที่ไม่มีการแบบไปซื้อแล้วเอามาขายต่อ มันก็เลยเป็นจุดที่ท้าทายพอสมควร
ทำไมคนถึงกลัวคำว่าอาหารเฮลตี้ หรืออาหารคลีน
น่าจะเป็นเพราะรูปแบบอาหารที่เขาเคยได้ลองซื้อบริโภคกันมาก่อน ที่อย่างเมื่อก่อนจะเป็นรูปแบบแช่แข็งล้วก็ปริมาณน้อย รสชาติจะค่อนข้างเบาๆ ไม่ค่อยจัดจ้านอะไร แล้วกินไปได้ระยะหนึ่งก็สามารถกินได้ซ้ำบ่อยๆ คนก็เลยจะค่อนข้างกลัว แล้วอีกอย่างคือเรื่องราคาที่ทุกคนแบบอคติหรือคิดว่าอาหารสุขภาพมันต้องแพง แล้วไม่อร่อยกว่าอาหารทั่วไป ก็เลยคิดว่าน่าจะไปเลือกกินอาหารปกติดีกว่า
ในช่วงที่คุณทำหน้าร้านแบบออนไลน์ ต่างกับการทำอาหารแบบมีหน้าร้านอย่างไร
เราเปิดในรูปแบบ Pre-Order ก่อนแล้วเรากำหนดเมนูว่ามีแค่ไม่เกิน 4 เมนู แล้วก็รับออเดอร์ล่วงหน้า 1-2 วัน มันก็จะจัดการง่ายว่าเราสามารถแบบไปซื้อของตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งเป๊ะๆ แล้วก็ค่อยทำส่งวันต่อวัน พอมีหน้าร้านแล้วมา Operate ด้วยจริงๆ ช่องทางโอกาสการขาย เพิ่มยอดขายมันมีมากขึ้น แต่ว่าความยุ่งยากหรือผลที่เหนือความคาดหมายที่จะเกิดขึ้นในครัวหรือร้านมันมีเพิ่มขึ้นตามมาเยอะแยะ แล้วเราไม่สามารถรู้ว่าวันนึงเนี่ยลูกค้าจะเยอะหรือมากน้อยแค่ไหน เมนูไหนจะออกเยอะหรือน้อง ต้องใช้เวลาไปสักพักนึงจะสามารถคาดเดาได้ เราต้องพัฒนาในเรื่องการจัดการหลังร้านพร้อมกับการแก้ปัญหา แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกๆ คนก็ต้องได้เจอกันอยู่แล้ว
ในวันที่ลูกค้าสั่งหรือเข้ามาทานอาหารที่ร้านเรื่อยๆ ความรู้สึกเป็นยังไง
ถามว่าโล่งใจไหม มันก็โล่งใจ แต่ว่ามีความกังวลเข้ามาด้วยเหมือนกัน เพราะว่าพอมันขายดีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มานั่งคิดต่อแล้วว่า เออ เราจะต้องทำยังไงให้มันแบบรับมือกับออเดอร์ที่เยอะเข้ามาเรื่อยๆ ได้ แล้วก็ทำยังไงให้บริการดี ของมีคุณภาพเหมือนเดิมทุกๆ จาน มันก็มีความกังวลเข้ามาเพิ่มขึ้นเหมือนกัน แล้วก็ต้องลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์เพื่อมาช่วยทุ่นแรง เพราะไม่งั้นถ้าเรายังทำเองทำสดมือทุกอย่าง แล้วไม่มีเครื่องอุปกรณ์อะไรมาช่วย มันก็จะค่อนข้างลำบาก
แล้วอาจถึงขนาดจะต้องจำเป็นลดจำนวนเมนูบางอย่างด้วยซ้ำที่มันค่อนข้างเสียเวลา ก็เลยมองว่าแบบเป็นจุดสำคัญที่แบบค่อนข้างกังวล ด้วยความที่เราแบบอยู่กับการขายมาซักระยะหนึ่ง การค้าขายมันแบบไม่แน่ไม่นอนแต่ละวัน
การที่ร้านมีตัวตนในสื่อหรือโลกออนไลน์มากขึ้น มันเป็นผลลัพธ์แบบไหนที่คุณเคยคาดหวังไว้
มันเป็นผลลัพธ์จากการที่เราพยายามให้ลูกค้าเห็นสิ่งที่เราแบบตั้งใจทำแล้วพยายามสื่อว่า การกินอาหารจากร้านสรรพรสเนี่ยได้อะไรบ้าง แล้วก็เป็นการไปแบบปากต่อปากไปเรื่อยๆ ว่าร้านนี้เขาแบบมีขายอาหาร Healthy ราคาแบบไม่เกินร้อยใจกลางเมืองกรุงเทพฯ แล้วทุกอย่างเป็นออแกนิคหรือบางอย่างก็เป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมันก็แบบหากินได้แบบไม่ง่ายขนาดนั้นในกรุงเทพฯ ก็เลยมีคนบอกต่อเรื่อยๆ แล้วก็บางคนก็เป็น Blogger ที่มาตามหาเราถึงร้านเองแล้วก็แบบขอมารีวิวด้วย
แล้วตอนนั้นร้านก็แบบสอดแทรกในเรื่อง Eco-Friendly ไปด้วย เพราะว่าด้วยความที่เดลิเวอรี่เติบโตเยอะขึ้น จำนวนขยะพลาสติกอะไรอย่างนี้ก็เพิ่มขึ้นไปด้วย กล้าพูดว่าร้านเราเป็นร้านแรกๆ เลยที่กังวลในเรื่องนี้ เราก็มีการปรับใช้วัสดุแพคเกจจิ้งอาหาร แล้วก็รับบริจาคถุงพลาสติกจากลูกค้าเลย ใครไม่ใช้ถุงห้างแล้วก็เอามาให้เราได้เลย แล้วก็เอามา Reuse หลอด หรือเราไม่มีหลอดพลาสติ แต่ว่าถ้าลูกค้าอยากได้เราก็จะมีหลอดกระดาษให้ หรือถ้าลูกค้าจะมาซื้ออาหารหรือเครื่องดื่ม ถ้าลูกค้านำกระติกหรือว่ากล่องข้าวทัปเปอร์แวร์มาเอง เราก็ลดราคาให้อีก
ช่วงเวลานั้นคุณก็คงใฝ่ฝันว่าจะทำร้านที่กรุงเทพฯ ไปเรื่อยๆ
ใช่ค่ะ ทำไปเรื่อยๆ แล้วก็ที่ตอนนั้นเคยให้สัมภาษณ์ไปในหลายๆ รายการก็บอกว่าจะอยากขยับขยายแบบมีสาขา 2 สาขา 3 ต่างจังหวัดโดยเปลี่ยน Concept ไปตามแต่ละจังหวัดอะไร รูปแบบอาหารก็จะเปลี่ยนไปด้วยตามวัตถุดิบพื้นที่ท้องที่ ซึ่งเราก็อยากให้มันเข้ากับชื่อร้านด้วย ก็คือสรรพรสมีความหลากหลายในเรื่องของรสชาติ เป็นแผนที่ตั้งใจว่าอยากจะทำให้เป็นอย่างนั้น แต่ว่าจำนวนสาขาจะมีเยอะขนาดนั้นไหม คือในความตั้งใจเราก็ไม่ได้อยากให้มีเยอะถึงขนาดเป็นแฟรนไชส์อะไรขนาดนั้นค่ะ
แล้วไอเดียในการทำร้านที่เชียงใหม่มีที่มาอย่างไร
ส่วนตัวแล้วทั้งเราและก็หุ้นส่วนป็นคนที่ชอบมาเที่ยวเชียงใหม่บ่อยอยู่แล้ว เที่ยวจนคุ้นเคยแล้วเราก็ได้มาลองอาหารเหนือ อาหารพื้นเมืองต่างๆ แล้วก็ได้ลองไปสำรวจตลาดออร์แกนิกที่นี่ เลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจดี แล้วก็ช่วงก่อน COVID-19 ระลอกแรกตอนนั้นก็มีนักท่องเที่ยวหรือว่าชาวต่างชาติเยอะมากที่เขาทานอาหาร Plant-Based หรือวีแกนซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของทางร้านเลย เราก็เลยมองว่ามันเป็นจุดที่น่าสนใจที่น่ามาลองเปิดร้านดู ก็มองเห็นเป็นโอกาสที่น่าลอง และคิดว่าแบบมันน่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี
แต่ก็ไม่ถึงขั้นว่าต้องย้ายร้านมาทำที่นี่เลย
ไม่ค่ะ ตอนแรกก็ยังวางแผนไว้ว่าเปิดกรุงเทพฯ แล้วก็เปิดที่นี่ไปด้วย
ความเสี่ยงคืออะไร
ตอนนั้นคือตัดสินใจทำร้านที่เชียงใหม่ทั้งๆ ที่รู้ว่าสถานการณ์โควิดมันก็ยังไม่แน่ไม่นอน อันนั้นคือความเสี่ยงแรกๆ เลย แล้วเราไม่แน่ใจว่าอาหารของเราจะถูกใจกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ขนาดนั้นมั้ย คือเรามั่นใจในเรื่องของรสชาติและคุณภาพ แล้วก็กลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือคนกรุงเทพฯ ก็คือชอบแน่ๆ แต่ว่ากลับกลุ่มลูกค้าที่นอกเหนือจากที่กล่าวมา คือเราก็ไม่แน่ใจว่ามีความเป็นไปได้ที่จะได้รับ Feedback เท่ากรุงเทพฯ ไหม ก็เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่เราก็ต้องลงทุนทั้งต้นทุนเวลาต่างๆ หรือเงินทุนที่เราก็ต้องมาลองตลาดที่นี่ เพราะสำหรับสรรพรสเองก็ถือว่าเป็นตลาดใหม่ จากในกรุงเทพฯ ที่มาเปิดที่นี่
แล้วทำไมถึงเสี่ยง
ทำไมถึงกล้าเสี่ยงหรอ ตอนนั้นลองชั่งน้ำหนัก ลองตัดสินใจดูหลายๆ เรื่องแล้ว ทั้งในเรื่องของวัตถุดิบ เรื่องต้นทุนต่างๆ ถ้าเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ แล้ว ที่เชียงใหม่ต้นทุนมันน้อยลง แล้วก็ต่ำกว่ามาก เราก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนี้เราสามารถทำ Product ดีๆ ออกมาโดยที่ต้นทุนมันไม่สูงเท่ากรุงเทพฯ ได้ ก็เลยแบบน่าลองดูสักครั้ง
ตอนเราอยู่ที่กรุงเทพฯ เรามีลูกค้าประจำเป็นคนเชียงใหม่ด้วยเหมือนกัน แล้วก็กลุ่มลูกค้าบางคนที่เป็นคนเชียงใหม่แต่ทำงานในกรุงเทพฯ ก็มาลองกินร้านเรา แล้วก็ให้ Feedback ที่จนกลายเป็นลูกค้าประจำ บางคนก็ตามมากินถึงเชียงใหม่เหมือนกัน ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนี้น่าลอง น่าจะชนะใจกลุ่มลูกค้าคนที่เชียงใหม่ได้ ก็เลยตัดสินใจโอเคเสี่ยง
เคยได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างอะไรจากการทำธุรกิจในเชียงใหม่บ้าง
ที่หนาแน่นก็คือเป็นเมืองปราบเซียน ถ้าสมมุติว่าคุณอยู่รอดถึงปี 1 ก็เก่งแล้ว เป็นเมืองที่หลายๆ เจ้าของกิจการเนี่ย บอกว่าถ้าเกิดคุณผ่านไปได้ คุณขายของที่ไหนก็ได้ในโลก อันนี้คือสิ่งที่ได้ยินมาเลยค่ะ
พอทำธุรกิจที่เชียงใหม่จริงๆ ล่ะ
พอทำจริงก็เจออุปสรรคอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน เรื่องแรกๆ เลยเป็นเรื่องของทำเล ทำเลที่เราอยู่เรามีคู่แข่งเยอะมากที่เป็นร้านท้องถิ่นที่ขายราคาไม่แพงแล้วก็อยู่ในละแวกเดียวกัน และพฤติกรรมลูกค้าด้วยความตอนนี้มันไม่ค่อยมีกลุ่มลูกค้าของที่ร้านเท่าไหร่ นักท่องเที่ยว คนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีอยู่แล้วเพราะโควิด แต่ว่าถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าเชียงใหม่ที่เราพยายามจะจับแล้วดึงเขามาก็รู้สึกว่ามันยากมากเหมือนกัน เพราะว่าพฤติกรรมของลูกค้าคนเชียงใหม่มันจะแตกต่างจากที่คนกรุงเทพฯ ด้วยความที่คนกรุงเทพฯเวลาเขาติดใจอะไรเขาก็จะแบบมานั่งกินซ้ำๆ ได้ทุกวันหรือสั่งอะไรเดิมๆ แต่เรารู้สึกว่าเหมือนคนเชียงใหม่เขาตัวเลือกเรื่องของอาหารร้านรวงเยอะมาก เขาก็จะมีร้านประจำของเขาแต่ละที่ วันจันทร์เขาอาจจะมาร้านเรา แล้วอังคารถึงอาทิตย์เขาก็จะไปร้านอื่นแล้วค่อยวนมาหาเราอีกทีนึง ซึ่งเราก็ตกใจเหมือนกันแล้วก็เครียดเลย อันนี้คือปัญหาใหญ่เลยพอสมควร จนทำให้เราต้องมานั่งปรับเปลี่ยนในรูปแบบของอาหาร จนตอนนี้มาปรับรูปแบบให้หลายๆ อย่างให้มันเข้าถึงง่ายมากขึ้น แล้วก็ในเรื่องของรสชาติด้วยเหมือนกัน เพราะว่าตอนที่กรุงเทพฯ เราจะมีอาหารแล้วก็ตัวน้ำปรุงที่รสชาติที่จัดจ้านมา กแต่ว่าเรามาอยู่ที่ภาคเหนือเรารู้สึกว่าคนที่นี่ไม่ได้กินรสจัดอะไรขนาดนั้น คือต้องปรับเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นสิ่งที่หาได้ในพื้นที่แทบจะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลย
ซึ่งยากหรือง่าย
ถามว่ายากไหม ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่ความยากตรงที่ว่ากว่าจะหาจุดตรงกลางหรือจุด Balance ได้จริงๆ นี่ก็คือใช้เวลาเหมือนกันว่าแบบ ต้องทำ Food Tasting บ่อย แล้วให้ลูกค้าแต่ละแบบมานั่งเทสแล้วก็ให้ Feedback เราว่าประมาณนี้โอเคหรือยัง แล้วค่อยมาปรับ
สำหรับร้านที่เชียงใหม่ ผลตอบรับเป็นยังไงบ้างทั้งในเชิงยอดขายและในเชิงลูกค้า
ตอน 3 เดือนแรกยังไม่ค่อยเท่าไหร่ยังนิ่งๆอยู่ แต่พอหลังจาก 3 เดือนก็มันมาจากลูกค้าประจำด้วย แล้วก็จากรีวิวด้วย เขามาลองกินแล้วเขาก็เริ่มมาสั่งซ้ำ ก็ค่อยๆ เริ่มมี จนกระทั่งมาชะงักเพราะโควิด อันนี้คือจุดพลิกเลยที่แบบว่าทำให้ยอดขายเราแบบตกลง ส่วน Feedback ถามว่าเป็นยังไง ส่วนตัวมันก็ยังแบบไม่ได้ถึงตามที่คาดหวังขนาดนั้น ยังได้การตอบรับที่ดีมาเรื่อยๆ แต่ว่าเยอะอะไรขนาดนั้นไหม ก็ยังไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังค่ะ
ซึ่งคุณปรับตัวยังไงบ้างในช่วงโควิด
เราก็ปรับในเรื่องของการซื้อกลับบ้าน เราก็พยายาม PR เยอะๆว่ามีการจัดส่งรอบในตัวเมือง หรือว่าสั่งซื้อผ่านแอปฯ ได้ แล้วก็ขอความร่วมมือลูกค้าด้วยนะว่าทานแล้วเป็นยังไง ก็สามารถรีวิวกับทางร้านได้ แล้วก็พยายามโชว์ Feedback จากลูกค้าที่แบบมารีวิวกับเราเรื่อยๆ ให้ลูกค้าเห็น เราก็พยายามคิดเมนูพิเศษใหม่ๆ ด้วยเหมือนกัน แต่ว่าก็ยังคง Concept ว่าเป็นอาหารไทยเหมือนเดิม ให้ลูกค้าไม่เบื่อ มีตัวเลือกเยอะขึ้น
ช่วงล็อกดาวน์นี้ก็คือเน้นขายแบบเดลิเวอรี่ แล้วก็เมนูก็จะได้ขายเป็นตัวเลือกให้เขาเยอะๆ แล้วก็เน้นมีโปรโมชั่นพิเศษ บางทีเราก็แถมนู่นแถมนี่ไปที่อยากให้ลูกค้าลองเทสอะไรอย่างนี้ แล้วก็ปรากฏว่ามีลูกค้ามาสั่งต่อครั้งต่อไป อันนี้ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยทำให้เพิ่มยอดขายได้ในช่วงนี้
พอย้ายมาทำร้านที่เชียงใหม่ ภาพที่วาดไว้กับภาพที่เกิดขึ้นจริงเหมือนกันไหม
พูดตรงๆ ว่าไม่เหมือนขนาดนั้น แต่มันมีความใกล้เคียงกับสิ่งที่ตั้งใจไว้อยู่เหมือนกัน เราก็อยากมีการขยายร้านมาตามจังหวัดที่เราอยากมาลองตลาด ซึ่งเราก็ได้มาลองที่เชียงใหม่เป็นที่แรก :ซึ่งยอมรับว่ายากมาก เชียงใหม่เป็นเมืองที่ยากในการทำธุรกิจ แต่ว่าข้อดีของเขาก็มีเยอะในเรื่องของวัตถุดิบอาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆ คือมันก็ถูก แล้วก็ทุกอย่างก็เป็นออแกนิคอันนี้ก็โอเค เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ว่าภาพที่วาดไว้ก็ไม่ได้เหมือนตามความตั้งใจตั้งแต่แรกขนาดนั้นว่าเราจะเน้นขายอาหารเยอะแยะขนาดนี้ คือตอนนี้เมนูเยอะมาก อันนี้ก็คือแบบไม่ค่อยเป็นไปตามคาดเท่าไหร่ แต่ว่าเราเข้าใจว่าเรา โดยสถานการณ์เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมลูกค้า
สูญเสียตัวตนมั้ย
ไม่ได้สูญเสียค่ะ ก็ยังเป็นตัวตนของเราเหมือนเดิมคืออาหารสุขภาพซึ่งดีรู้สึกจะเพิ่มมาด้วยคือเป็นอาหารสุขภาพจิตที่ดีทั้งกายและใจ แล้วก็มีพวก Vegan Option ให้เหมือนเดิมในราคาที่จับต้องได้ ไม่ได้เสียตัวตนอะไรไปค่ะ
เห็นภาพข้างหน้าเป็นยังไงบ้างกับการทำร้านในช่วงโควิด
ยังไงทางร้านต้องหาทางเพิ่มช่องทางในการขาย เพื่อให้ที่ร้านสามารถดำเนินธุรกิจต่อยอดไปได้ เพิ่มช่องทางในการขายนอกเหนือจากหน้าร้านเดลิเวอรี่แล้ว เราคิดว่าเราคงต้องแบบหาทางส่ง Product เราไปขายที่อื่น หรือว่าขายตามจังหวัดอื่นให้ได้ นี่ก็คือเป็นแพลนที่คิดว่าต่อให้หมดโควิดแล้วก็คงจะต้องทำให้ได้ เริ่มแมสมากขึ้น ใช่ค่ะ
อะไรถึงยังทำให้ยังทำสรรพรสต่อ
เราอยู่กับมันมานานจนผูกพันไปแล้ว คือเรามองว่าแบรนด์นี้เหมือนแบบกลายเป็นลูกพี่ไปแล้ว อยากเลี้ยงโตไปเรื่อยๆ ให้มันโตให้มันอยู่รอดไปได้เรื่อยๆ เราไม่กล้าคิด แล้วก็ไม่คิดด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งที่พอไม่ได้ทำร้านแล้วแบบตัวเองจะเป็นยังไง ทำอะไรอยู่ คือไม่คิดอะไรขนาดนั้นเลย เราเห็นแต่ภาพว่าเราทำร้านไปเรื่อยๆ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตามที่ภาพคิดไว้ ซึ่งก็มีหลายเสียง แม้แต่แบบทางที่บ้านเองก็บอกว่าควรหยุดพักก่อน ฝืนไปก็เจ็บอะไร เราก็เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด แต่ว่าตอนนี้ก็มองว่า ในเมื่อร้านได้โอกาสเข้ามาอีกครั้งแล้วก็คิดว่าก็ทำไปจนถึงที่สุดก่อน
ถ้าให้สรุปการทำร้านอาหารครั้งนี้เป็นบทเรียน 1 ข้อ การทำร้านสรรพรสสอนให้รู้ว่า
ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวค่ะ
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์รูปแบบไหน สรรพรสก็ยังจะอยู่รอดต่อไปได้ไม่ว่าจะแบบมีหน้าร้านหรือว่าไม่มีหน้าร้าน หรืออาจจะเป็น Food Truck คือต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากที่สุด แล้วที่สำคัญกลุ่มลูกค้าสำคัญมากๆ ทำยังไงถึงจะมัดใจเขาได้ เราก็ต้องปรับ แม้ว่ามันอาจจะมีบางส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมตามที่เคยวางไว้ แต่ก็ยังมีความเป็นตัวตนเราอยู่ก็ต้องยอมปรับ อันนี้คือเป็นข้อสำคัญที่ทำให้แบรนด์ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ค่ะ
ภาพ: ชุติมณฑน์ ศิวาวุธ