เบลล์-จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ คือบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day คนที่ห้า ที่รับตำแหน่งได้ครึ่งปี ก่อนหน้านี้เขาทำอะไร? ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาคือบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ และ Creative Director ของเว็บไซต์ The Cloud หลายปีก่อนหน้า เขาคือบรรณาธิการบทสัมภาษณ์นิตยสารอะเดย์ ใช่, เขากลับมาที่อะเดย์อีกครั้งเพื่อรับบทหัวหน้าทีมคนใหม่ในช่วงเวลาสำคัญ ที่อะเดย์กำลังจะบรรลุนิติภาวะด้วยอายุ 20 ปีในเดือนสิงหาคมนี้ เราต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า นิตยสารแบบเล่มที่ตีพิมพ์และวางขายในปัจจุบันที่มีอายุเท่านี้มีน้อยลงไปทุกที ในขณะที่สถานการณ์ในวงการนิตยสาร ส่งผลให้เพื่อนร่วมวงการหลายหัวต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย แต่อะเดย์ก็ยังยืนหนึ่ง เบลล์ในวันนี้ที่รับไม้ผลัดในตำแหน่งบรรณาธิการบริหารคนใหม่อยากขยายไอเดียของอะเดย์ ให้เป็นเครื่องมือเล่าเรื่องที่ยังเสิร์ฟความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจอันทรงพลังแก่ผู้คนหลายช่วงวัยและยุคสมัย โดยไม่จำเป็นต้องใช้นิตยสารเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว โลกประจำตัวเบลล์ในวัยหนุ่มเมื่อครั้งศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลสนใจในฟุตบอล นอกจากการเตะและดูฟุตบอลที่เขาชื่นชอบ สิ่งที่เขาชอบอ่านชนิดติดหนึบคือหนังสือพิมพ์และนิตยสารกีฬา จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 4 ปีในการเป็นนักศึกษาคือโอกาสสุดท้ายในการค้นหาตัวเองว่าชอบและอยากเดินทางสู่เส้นทางสายใดของชีวิต นักศึกษาผลการเรียนดีคนนี้เริ่มพบความสนใจใหม่ในชีวิตนั่นคือ การอ่านหนังสือ “เราโตในบ้านที่อี๊ (ป้า) อ่านหนังสือไม่ออก แล้วเราไม่ได้ถูกปลูกฝังการรักการอ่านโดยครอบครัว แต่ว่าเขาไม่ได้ไม่ให้ความสำคัญกับการอ่านนะ การอ่านเข้ามาในชีวิตโดยที่เราไปเจอเอง ช่วงนั้นประมาณปีสาม เราไปเดินงานสัปดาห์หนังสือฯ แล้วก็ซื้อหนังสือมา เป็นหนังสือในเครืออะบุ๊คนี่แหละ หนังสือเหล่านั้นแหละเริ่มปลูกฝังความรักการอ่านให้กับเรา มันทำให้เรามองหนังสือเปลี่ยนไปจากที่เราเคยมองมาตลอดชีวิต ก่อนหน้านี้เราแทบไม่รู้จักนักเขียนคนไหนเลย นอกจากพวกคอลัมนิสต์ที่เขียนบทความเกี่ยวกับฟุตบอล เวลาอี๊เห็นเราอ่านหนังสือหรือซื้อหนังสือกลับบ้าน มันจะเป็นสิ่งเดียวที่เขาไม่บ่น เขาจะชมว่า เฮ้ย อ่านหนังสือดีแล้ว เขาซื้อชั้นหนังสือมาให้เราวางด้วย เพราะฉะนั้นเราว่าเขาค่อนข้างสนับสนุนะ เขาค่อนข้างเห็นความสำคัของการอ่าน “เราชอบอะไรเราจะบ้าสิ่งนั้นมาก เราจะหมกมุ่นกับมันมาก พอความรู้สึกที่มีต่อหนังสือมันเปลี่ยนปุ๊บ โห เราซื้ออ่าน ตะลุยอ่าน อ่านเล่มนึงหมดต้องรีบซื้อเล่มใหม่ มันทำให้การอ่านหนังสือของเราไปเร็วมาก แต่เราเพิ่งมารู้ตัวเองว่าชอบอ่านหนังสือจริงๆ เอาตอนปีสาม ซึ่งมันช้ามากถ้าเทียบกับพี่ๆ นักเขียนคนอื่น” เบลล์เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการรักการอ่าน สิ่งที่เบลล์เริ่มอ่านคือหนังสือในกลุ่มสำนักพิมพ์อะบุ๊ค เช่นความเรียงของนิ้วกลม (สราวุฒิ เฮ้งสวัสดิ์) บันทึกการเดินทางของทรงกลด บางยี่ขัน หรือวงค์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หรือวรรณกรรมเยาวชนแสนคลาสสิกเช่น เจ้าชายน้อย ต้นส้มแสนรัก เป็นต้น เมื่อเขาเริ่มอ่านหนังสือได้สักระยะ เขาจึงได้พบโลกของวรรณกรรมที่กว้างขึ้น ด้วยการไต่ระดับการอ่านไปยังหนังสือที่มีความลุ่มลึกและเติบโตในเนื้อหา อย่างงานของภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ในสำนักพิมพ์ openbooks หรือนิตยสาร way จากอธิคม คุณาวุฒิ และงานความเรียง-บทสัมภาษณ์ของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ซึ่งกลายเป็นต้นแบบสำคัญในการทำงานของเบลล์ในเวลาต่อมา หนูมาลุยจากความสนใจใหม่ในชีวิตที่เขาหมกหมุ่น เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเบลล์พบกับนิตยสารเล่มหนึ่งบนแผงที่เขาเคยหลีกเลี่ยงความสนใจมัน แต่เมื่อเขาเปิดอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย มันเปลี่ยนชีวิตและให้คำตอบเขาได้ทันที ว่าเขาต้องการทำสิ่งใดต่อเป็นอาชีพ นิตยสารเล่มนั้นชื่อ a day “เรารู้จักอะเดย์มานานแล้ว เห็นบนแผงมานานมาแล้วนะตั้งแต่ยุคเย็บมุงหลังคา แต่ก็ไม่เคยคิดจะซื้อเพราะว่าเราไม่ได้ชอบอ่านหนังสือแบบนั้น ซื้อไปก็สิ้นเปลือง ไม่รู้จะซื้อทำไม (หัวเราะ) พอตอนปีสามที่เราเริ่มอ่านหนังสือของอะบุ๊คเยอะๆ มีเล่มนึงที่เราซื้อมาชื่อ Wake Up! เป็นหนังสือรวมบทบรรณาธิการของอะเดย์ ตอนนั้นเรารู้จักบทบรรณาธิการแหละเพราะว่าเราก็เรียนมา พอเราอ่าน Wake Up! แล้วมันสนุก มันพูดเรื่องชีวิต มันเล่าเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น มันมีแรงบันดาลใจ อ่านแล้วแม่งพวยพุ่งสุดๆ มันเหมือนหนังสือดีๆ เล่มนึงเลย “แล้วเราก็ลองซื้ออะเดย์มาอ่านสักเล่มนึง อะเดย์เล่มแรกที่เราซื้อคือฉบับมุสลิม เราอ่านแล้วก็เปิดโลกมาก แบบ เหี้ย มีหนังสือแบบนี้ด้วยเหรอ นิตยสารที่เราอ่านแล้วสนุกไปได้ทุกหน้าเลยอะ มันแบบ เรารู้สึกว่ามันพอดีกับเรามากๆ ทุกๆ หน้า เรารู้สึกเชื่อมโยงกับมันหมดเลย แม้ว่ามันจะพูดในเรื่องที่เราไม่ได้สนใจไม่ว่าจะเป็นเลย์เอาท์ ภาพถ่าย Text ที่อยู่ในนั้น มันแบบ รู้สึกเหมือนนิตยสารเล่มนี้มันถูกทำมาเพื่อเรา” ความฝันของเบลล์เกิดขึ้นหลังจากจำนวนนิตยสารอะเดย์ในบ้านค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในช่วงเวลานั้นที่เบลล์ต้องเริ่มหาที่ฝึกงาน เขาจึงสมัครเข้าโครงการ a team junior รุ่นที่ 5 (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ daypoets society) ซึ่งเป็นโครงการรับนิตยสารฝึกงานที่มีนักศึกษาจากทั่วประเทศสมัครมากที่สุดและมีการแข่งขันสูงที่สุดโครงการหนึ่ง ไม่ต้องบอกเลยว่า นิตยสารยังเป็นสื่อกระแสหลักที่เซ็กซี่ขนาดไหนในยุคนั้น แต่น่าเสียดายที่เบลล์พลาดหวังจากการคัดเลือกในครั้งนั้น จึงตัดสินใจสมัครฝึกงานที่นิตยสารการตลาดชื่อ Positioning การฝึกงานครั้งนั้นสอนวิชาความรู้ให้เด็กหนุ่มคนนั้นมากเหลือเกิน และทำให้ความฝันของเขาชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ “โดยส่วนตัวเราเป็นคนที่ไม่ได้ขยันมาก เราจะขยันในเฉพาะสิ่งที่เราชอบ แต่ว่าอาชีพนี้มันทำให้เราพัฒนาตัวเองโดยไม่รู้ตัว มันทำให้เราขวนขวายหาความรู้ โดยหน้าที่มันต้องทำ เมื่อเราทำมันจึงเติบโตใช่มั้ย เช่น สมมติคุณจะสัมภาษณ์คนๆ นี้ เขาเป็นผู้บริหาร เขาสนใจการตลาด ต่อให้โดยพื้นเพเราไม่สนใจการตลาด เราก็ต้องไปหาหนังสือเกี่ยวกับเขามาอ่าน เขาเคยพูดอะไรเอาไว้ หรือเขาเคยทำอะไร กระบวนการเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกสนุก สิ่งนี้ได้พัฒนาตัวเองตลอดในตอนนั้น “ตอนทำนิตยสารเราชอบออกไปข้างนอก ได้ออกไปสัมภาษณ์ ได้ออกไปเจอผู้คน เขียนงานส่งพี่แล้วพี่ชม คือมันมีหลายอย่างที่มันเป็นองค์ประกอบมันเลยจนรู้สึกว่าอยากทำอาชีพนี้ อยากทำอาชีพที่สนุกด้วย ได้ออกไปเจอคน ไปเจอโลก แล้วก็ ได้เติบโต ก็เลยรู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าเราอยากทำสิ่งนี้ นี่คือความฝันของเรา” แววตาของเบลล์ตอนเขาเล่าเรื่องนี้ให้ฉันฟัง ฉันรู้ทันทีว่าเขาตัดสินใจไม่ผิด ที่เขาเลือกเส้นทางเดินนี้ พิมพ์ครั้งที่หนึ่งเบลล์สมัครโครงการ a team junior อีกครั้งในปีถัดมา จนได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 15 นักศึกษาฝึกงานในรุ่นที่ 6 ของโครงการ จากประสบการณ์ที่เคยฝึกงานในวงการนิตยสารมาก่อน เบลล์อาจพอเดาได้ว่าสามเดือนข้างหน้าเขาจะพบกับอะไรบ้าง ฉันชวนเบลล์ถอดบทเรียนจากการฝึกงานครั้งนั้นว่า ความยากของนักศึกษาอายุ 20 ต้นๆ ตอนนั้นที่ต้องฝึกงานร่วมกับมืออาชีพมีอะไรบ้าง และเขาเรียนรู้อะไรจากมัน “ข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือความเป็นเด็กครับ แต่ความเป็นเด็กมันก็มีข้อดีนะ คือเราไม่กลัว เพราะไม่รู้ มาตรฐานของเรามีข้อจำกัดในแง่ของทักษะไม่มีใครหรอกที่เก่งมาตั้งแต่แรกใช่มั้ย เพราะเราถูกจำกัดด้วยทักษะ บางอย่างเราคิดได้แต่ทำออกมาไม่ได้ เพราะทักษะเรายังไม่เอื้อให้เราทำได้ สมมติว่าตอนเราเด็กๆ ก็อยากสัมภาษณ์ดาราเบอร์ใหญ่หรือผู้กำกับดังๆ แล้วก็เชื่อมั่นว่ากูทำได้ แต่ไม่หรอก ทักษะมึงถูกจำกัด มึงทำได้แหละ แต่มันจะไม่ดีเท่ากับตอนมึงเติบโต เพราะเราถูกข้อจำกัดในแง่ของทักษะ นี่คือความยาก การยกระดับคุณภาพของงานเราขึ้นมา มาตรฐานงานอยู่เท่านี้ แต่ทักษะเราอยู่เท่านี้ จะทำยังไงให้มันแตะมาตรฐานที่เขารับได้” “แล้วคุณทำยังไงเพื่อจะแตะมาตรฐานที่พี่ๆ เขารับได้” ฉันถามกลับ “ไม่มีทางอื่นนอกจากพัฒนาตัวเองครับ เช่น สมมติว่าส่งงานนี้ไม่ผ่าน เราก็ไปอ่านงานที่ผ่าน ว่าเขาเขียนประมาณไหน หรืองานนี้ไม่ผ่านเพราะอะไร งานหน้าก็จะไม่พลาดสิ่งนี้อีกเพราะพี่คอมเมนต์มาว่า มึงถามไม่ละเอียด ทำไมไม่มึงพูดประเด็นนี้ มึงมั่วไปหมดเลยเห็นมั้ย มึงเล่าตรงนี้แล้วไปเล่าอีกทีตรงนี้ ประเด็นมันไม่อยู่ด้วยกัน เรื่องการจับประเด็นเรายังไม่แม่น การถามยังธรรมดาไป เขียนไม่สนุกเลย คอมเมนต์พวกนี้แหละทำให้เราเติบโตและยกระดับทักษะของเราขึ้นไป หรือแม้กระทั่งโลกข้างนอกเหนือจากงาน ไปซื้อหนังสือบทสัมภาษณ์มาอ่าน อ่านหนังสือเยอะขึ้น ดูหนัง ฟังเพลงมากขึ้น” ไฮไลต์ของการฝึกงานในโครงการ a team junior คือการผลิตนิตยสารอะเดย์ขึ้นมาหนึ่งเล่มด้วยตัวเอง ทีมกองบรรณาธิการมือใหม่จึงต้องรับมือกับการเผชิญโลกอันกว้างใหญ่ เพราะการทำนิตยสารเล่มหนึ่งด้วยทักษะอันจำกัดอย่างที่เบลล์บอกมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยิ่งกับนิตยสารอะเดย์ที่มีภาพจำในการเล่าเรื่องในแบบฉบับของตัวเอง ยิ่งทำให้การปิดเล่มนั้นเต็มไปด้วยความท้าทายและเรียกร้องทักษะในการเล่าเรื่องอย่างมาก “ตอนนั้นเราเล่าเรื่องข้าวสารใช่มั้ย มันก็เรียกร้องมุมมองที่มีต่อมัน อย่างตอนเป็นเด็กเราอาจจะมองข้าวสารแบบนึง แต่ว่าเมื่อเรานำเสนอมันในนามอะเดย์ มันเรียกร้องมุมมองทีมันแข็งแรงกว่านั้น ความยากอีกอย่างหนึ่งของมันคือ มุมมองที่เรามีต่อมัน เราจะมองมันยังไง ซึ่งเราว่าสิ่งนี้มันก็สำคัญนะครับ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราได้จากการทำนิตยสารจริงๆ ก็คือ การจะเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไปยังคนอ่าน สุดท้ายตัวคนเล่าเองนั่นแหละที่ต้องมองให้ขาดก่อน ต้องมีมุมมองและทัศนคติต่อสิ่งนั้น สำคัญที่สุดในการเล่าเรื่องเลย “ถ้ามันสอนอะไรเรา มันก็สอนเรื่องการเล่าเรื่องว่า การเล่าเรื่องๆ หนึ่งมันต้องตอบคำถามอะไรบ้างในแง่คนส่งสาร มันไม่ใช่ว่าเราอยากเล่าเรื่องๆ นึงแล้วก็เล่าออกไปเลย เรื่องนี้มีคุณค่ายังไง ทำไมคนอ่านต้องอ่าน เราอยากบอกอะไร จะเล่ามันในมุมไหน อย่างไร ถ้าจะเล่าแบบนี้ต้องคุยกับใคร มันสอนเราในแง่กระบวนการเล่าเรื่องมากๆ ซึ่งสิ่งนี้ตอนเราเรียนมหาวิทยาลัยเราไม่ได้ทำขนาดนี้” เบลล์เล่าถึงสิ่งที่เขาได้รับจากการฝึกงานในวัยหนุ่ม a day with a viewหลังจากเบลล์จบการศึกษา เบลล์เข้าทำงานที่อมรินทร์พับลิชชิ่งเซอร์วิส ในเครืออมรินทร์ ซึ่งเป็นส่วนรับผลิตสิ่งพิมพ์ให้กับองค์กรภายนอกต่างๆ เช่น ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เบลล์ยังได้ทำงานที่ใช้ทักษะการเล่าเรื่องผ่านหน้ากระดาษ ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา สองปีให้หลัง เบลล์ได้รับโทรศัพท์จากนิตยสารที่เขาเคยฝึกงานให้ไปสัมภาษณ์ในตำแหน่งกองบรรณาธิการ ในที่สุด ความฝันของเบลล์เป็นจริง ความฝันที่เขาอยากทำงานกับนิตยสารอะเดย์ แต่คราวนี้เขาอยู่ในฐานะมืออาชีพที่ต้องลงสนามจริง ทำงานจริง ดังนั้นเขาไม่มีข้ออ้างใดๆ ให้ทำผิดพลาดได้อีก “ด้วยโครงสร้างของอะเดย์ยุคก่อนคือนิตยสารอย่างเดียว ดังนั้นการทำเนื้อหาคือส่วนที่เป็นตัวอักษรทุกอย่างในเล่ม ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์บทสัมภาษณ์ คอลัมน์ที่เป็นสกุ๊ปหลักของอะเดย์ที่เรียกว่า Main Course หรือคอลัมน์ไหนเราอินกับมัน เราก็ทำ บางทีเราอินคอลัมน์นี้ เราก็ขอสัมภาษณ์เอง เฮ้ย เมนคอร์สอันนี้เดี๋ยวไปทำ ก็แบ่งงานกัน “มันก็คือคำว่ามืออาชีพ คือมันไม่มีโอกาสให้พลาด พอเราประกอบอาชีพแล้วเรารับผิดชอบมันอย่างเต็มที่ มันไม่มีข้ออ้างว่าทำสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะทักษะเราจำกัด มันมีแต่ มึงทำยังไงให้มันได้ เพราะฉะนั้น มุมมองมันค่อนข้างแตกต่างกัน พอมาเป็นพนักงานหรือพอก้าวเข้าสู่โลกของมืออาชีพมันไม่มีข้ออ้าง เราก็ต้องทำให้ได้แล้วก็ต้องยกระดับมาตรฐานตัวเองขึ้นมา” เบลล์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในการทำงานให้ฉันฟัง สิ่งหนึ่งที่เบลล์ได้หยิบจับและทำในบทบาทกองบรรณาธิการฯ คือการทำบทสัมภาษณ์ ตั้งแต่นั้นมา การทำบทสัมภาษณ์คือสิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นเป็นลายเซ็นติดตัวของเบลล์ บทสัมภาษณ์ของเขาทั้งคมคาย มีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์พิเศษ และเคลือบด้วยแรงบันดาลใจ ฉันสงสัยว่าทำไมเขาถึงลุ่มหลงการทำบทสัมภาษณ์นัก “เราคิดว่ามันเป็นงานที่เราได้ใช้ชีวิตไปด้วยขณะทำงาน มันไม่ใช่งานประเภทที่เปิดกูเกิ้ลแล้วก็รีเสิร์ชหรือนั่งเขียน มันได้เป็นงานที่ได้ออกไปเจอผู้คน ได้นั่งฟังประสบการณ์ต่างๆ มีองค์ปกระกอบคือบรรยากาศโดยรอบ สายตาที่เราได้รับพลังโดยตรงจากเขา เราว่าสิ่งนี้มันเป็นเสน่ห์ที่สุดอย่างหนึ่งของการสัมภาษณ์ มันเป็นงานของมนุษย์เลยนะ การสัมภาษณ์มันคล้ายๆ ทำให้เราได้เดินทางผ่านบทสนทนา มันทำให้เราได้เรียนรู้บางอย่างจากการสนทนา มันทำให้เราเติบโต นี่มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอินกับมันมาก พยายามขวนขวายว่าถามยังไงได้บ้างที่จะดึงส่วนลึกเค้าออกมา คือมันเป็นสิ่งหนึ่งที่เราหมกมุ่นเลยแหละ” เบลล์หมกมุ่นกับงานสัมภาษณ์ถึงขนาดซื้อนิตยสารทุกเล่มเพื่อเปิดอ่านคอลัมน์สัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว บางครั้งอ่านแต่คำถามเพื่อหาความเป็นไปได้ในการถามที่ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งความกระหายอยากเรียนรู้ที่เขาใส่ลงไปในลีลาการสัมภาษณ์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาได้เลื่อนขั้นเป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ของนิตยสารอะเดย์ในเวลาต่อมา “ถามว่าทำไมขึ้นมาเป็น บก.บทสัมภาษณ์ เพราะว่าเราทำบทสัมภาษณ์มาค่อนข้างเยอะ แต่ดีไม่ดีอีกเรื่องนะ (หัวเราะ) เรามั่นใจว่าเราทำมันเต็มศักยภาพที่เรามีในทุกๆ ชิ้นที่ออกมา เราค่อนข้างภูมิใจกับมัน เมื่อมันถูกตอกย้ำมาเรื่อยๆ เมื่อพี่ก้อง (ทรงกลด บางยี่ขัน-อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day, ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร The Cloud) เห็นว่าคนทำงานมีศักยภาพอะไร เขาก็คงหาที่ทางที่เหมาะสม แล้วพอดีตอนนั้นพี่ก้องก็อยากดันให้เราโตด้วย ก็จะมีคนที่ได้เลื่อนขั้นเป็นพี่ๆ ซีเนียร์ก่อน แล้วเราก็ได้เลื่อนขั้นไปเป็น บก. บทสัมภาษณ์ ก็ด้วยเห็นงานที่เราทำ เราสัมภาษณ์มาเยอะ หลังๆ เราได้ทำบทสัมภาษณ์ใหญ่ค่อนข้างเยอะก่อนที่จะเป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ เราก็อินกับมัน” awayเมื่อถึงจุดเปลี่ยนภายในองค์กร เบลล์ตัดสินใจออกมารับบทบาทบรรณาธิการบทสัมภาษณ์และ Creative Director ของเว็บไซต์ The Cloud การทำบทสัมภาษณ์ในสื่อใหม่ เบลล์คุ้นเคยกับมันดีราวกับงานสัมภาษณ์เป็นเนื้อเดียวกับชีวิตไปแล้ว แต่ระหว่างการสร้างงานเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คน เขาเริ่มมีความรู้สึกบางอย่างในใจ ความรู้สึกนั้นคืออะไร “พอเราย้ายมาทำ บก.สัมภาษณ์ที่ The Cloud มันเป็นธรรมชาติไปแล้วนะ เราเคยโหยหาและอยากทำอะไรที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืน เหมือนเชฟที่เขาไม่เห็นต้องมากังวลเลยว่า อาหารจานต่อไปที่เขาทำจะอร่อยหรือไม่อร่อย เขาก็ทำไปโดยปราศจากความกลัว แล้ววันหนึ่งเราก็เกิดความรู้สึกแบบนั้นกับงานสัมภาษณ์ โอเค อาจจะมีนิดนึงว่ากลัวว่ามันอาจจะออกมาไม่ดี แต่มันไม่ใช่ความกลัวที่มีต่ออาชีพ เมื่อเราไปถึงจุดนั้นแล้ว มันเกิดคำถามขึ้นมาแล้วว่า “แล้วไงวะ? “เมื่อไปถึงจุดที่มึงเคยคิดเอาไว้ว่า อยากทำงานที่เป็นธรรมชาติ เอาอยู่มือ แล้วไงต่อ? จะอยู่จุดเดิมๆ ไปเรื่อยๆ อีกอย่างนี้อีกสิบปีเหรอ คือถ้านึกถึงแต่ปัจจุบันก็โอเคแหละ ก็คือทำสิ่งที่ถนัดไง แต่ถ้าผ่านไปแล้วมันยังเหมือนเดิม อันนั้นแหละน่ากลัวสำหรับเรา ซึ่งเรากลัวว่าเราจะเป็นอย่างนั้น แล้วมึงจะเติบโตจากตรงไหน เมื่อวันหนึ่งไปอยู่ในจุดที่เราคุ้นชินอะ เราจะรู้สึกว่ามันไม่ดีแล้วว่ะ เราเหมือนย่ำอยู่กับที่ ซึ่งถ้าระหว่างนั้นไม่มีทางเลือกใหม่ เราคิดว่าเราก็คงอยู่กับแบบเดิม” วันหนึ่งเบลล์ได้รับโทรศัพท์จากรุ่นพี่ในวงการคนหนึ่ง เธอเทียบเชิญให้เบลล์รับตำแหน่งที่ถือเป็นผู้นำที่จะกำหนดทิศทางและการบริหาร ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับบรรณาธิการคนหนึ่ง ตำแหน่งนั้นคือ บรรณาธิการบริหารนิตยสารอะเดย์ “แล้วจริงๆ คุณตัดสินใจนานขนาดไหนกว่าจะตอบรับคำชวนนั้น” ฉันถาม “ที่มันนานเพราะว่ามันนานในความรู้สึกนะ ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ กว่าจะตัดสินใจได้ แล้วก็ตัดสินใจจนวินาทีสุดท้าย กลับไปกลับมา คือมองในมุมมองคนนอกคิดว่ามันเป็นตำแหน่งที่สูง น่าจะตัดสินใจได้ง่ายๆ แต่มันไม่ง่ายหรอก “การจะออกจากคอมฟอร์ทโซน การจะออกในสิ่งที่เราถนัดและเอาอยู่มือ มาสู่ตำแหน่งใหม่ที่เรียกร้องทักษะอีกแบบหนึ่งไม่ง่าย มันไม่ได้ตัดสินใจง่ายแบบ เออ ตำแหน่งใหม่สูงกว่าก็ไป ไม่ใช่ เราคิดหนัก คิดทบทวนเยอะมาก แต่ไม่ว่าเราเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง มันเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต แล้วแน่นอน ที่เดิมมันปลอดภัย เรารู้ว่าเราทำอะไร มันรู้สึกปลอดภัย เราได้ทำงานกับคนที่เราเคารพมากๆ อย่างพี่ก้องที่เป็นคนที่ปลุกปั้นเรามา เพื่อนๆ ร่วมงานน่ารัก เราค่อนข้างอินกับงาน เราแฮปปี้ แต่ว่ามันจะมีติดอยู่นิดนึงอยู่ที่คำถามที่ว่า ก้าวต่อไปของเราขออะไร ช่วงเวลานั้นเราตอบไม่ได้ แล้วตัวเลือก บก.บห. ของอะเดย์มันดันมีสมมติฐานว่ามันจะให้คำตอบนี้กับเราได้ว่ะ ให้เราเรียนรู้ศาสตร์ใหม่อย่างแน่นอน ฉะนั้นอันนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ตัดสินใจ จริงๆ มันมีองค์ประกอบมากมายเนาะ แต่อันนี้มันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น” เบลล์ตอบคำถามของฉัน ขอเปลี่ยน“เมื่อคุณรับตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร โจทย์แรกที่คุณได้รับคืออะไร” ฉันถาม “โจทย์แรกมันเรียบง่ายมากเลยนะ ความจริงเรารู้แหละว่าโจทย์ใหญ่ของมันที่ซ่อนอยู่ภายใต้ประโยคเรียบง่ายประโยคนั้นคือ ทำยังไงให้อะเดย์กลับมามีพื้นที่และกลับมาอยู่รอดได้ทั้งในแง่ธุรกิจ ตัวตน ความโด่งดัง กระแส หรืออะไรก็ตาม อันนี้คือโจทย์ใหญ่ที่เขารู้แหละ แม้เขาจะไม่ได้บอกอะไรก็ตาม” ภาพหนึ่งของอะเดย์ในสายตาเบลล์ ที่มองในฐานะคนนอกองค์กรและในนามลูกหม้อคนหนึ่งบอกฉันว่า เขาเห็นจุดแข็งในเรื่องของแบรนด์อะเดย์ที่แข็งแรงมากๆ ในการเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นฐานที่มั่นของความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจผ่านยุคผ่านสมัย ภาพลักษณ์ของอะเดย์ชัดเจนมากอยู่แล้วผ่านการยืนระยะมานานหลายสิบปี หากแต่เบลล์ก็มองเห็นข้อควรระวังทั้งการรักษานิตยสารแบบเล่มให้มีพื้นที่บนเชลฟ์ หรือช่องทางออนไลน์ที่สามารถไปต่อได้ในระยะยาว ประกอบกับบุคลากรที่ตอนนี้กลายเป็นคนรุ่นใหม่ในสัดส่วนที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด การเปลี่ยนแปลงอะเดย์ในยุคของเบลล์ไม่ใช่การล้างบางหรือยกเครื่องนับหนึ่งใหม่ แต่เป็นการชูเอกลักษณ์ของมันให้ชัดเจนมากขึ้น และปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการรับสื่อของคนยุคนี้ “ถ้ามองการเข้ามาปรับ เราจะมองในสองมิติคือ ในแง่ธุรกิจกับตัวตน ในแง่ตัวตนก็คือในแง่คอนเทนต์ต่างๆ ในความสนใจที่อะเดย์ผลิตขึ้นมา ในแง่โมเดลธุรกิจจะอยู่รอดได้ยังไงในยุคที่สิ่งพิมพ์เป็นแบบนี้ จะทำยังไง มีวิธีการหาเงินอะไรบ้าง อันนี้คือสองอย่างที่เราพยายามเข้ามาสร้างมัน “เอาง่ายๆ ว่า พอเราเข้ามา เราไม่ได้มองว่าอะเดย์มันคือนิตยสารแล้ว ซึ่งมันก็ต่างกับทัศนคติตอนที่เราออกไป เพราะตอนนั้นโลกออนไลน์มันยังไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ แต่พอเรากลับมาครั้งนี้ เรามองว่าอะเดย์คือแบรนด์ นิตยสารเป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งในการสื่อสาร ช่องทางอื่นๆ ในโลกออนไลน์ก็เป็นอีกเครื่องมือนึง อีเวนต์ก็เป็นเครื่องมือนึง กิจกรรม a day experience ที่จัดล้อไปกับธีมแต่ละเล่ม ก็เป็นอีกเครื่องมือนึง คือเรามองทุกๆ อันเป็นเครื่องมือที่เราตอบโจทย์การเล่าเรื่อง อะเดย์คือนักเล่าเรื่อง ไม่ใช่คนทำนิตยสารอีกต่อไป เพราะฉะนั้นอันนี้คือสิ่งที่เราเปลี่ยนคือ เราไม่ได้กลับมาด้วยทัศนคติว่า เราจะมาทำนิตยสารอย่างเดียว เราอยากทำทุกๆ ช่องทางให้มันแข็งแรง” สิ่งที่เห็นได้ชัดจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ นิตยสารอะเดย์ในยุคของเบลล์มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง เขาย้ำกับฉันว่า การทำให้นิตยสารไม่มีวันหมดอายุ ด้วยการเติมความเป็นหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คเข้าผ่านธีมหลักประจำเล่มหรือ Main Course ที่เรารู้จักกันดี อย่างเช่น The Reader’s Secret, Working Culture, Gender และเล่มล่าสุดคือไต้หวัน แม้กระทั่งคอลัมน์ต่างๆ ในเล่มยังมีความเชื่อมโยงกับธีมหลักของเล่ม ทำให้อะเดย์ในยุคนี้กลายเป็นนิตยสารที่ไม่เก่า สามารถหยิบซื้อได้อย่างไม่เคอะเขิน และเนื้อหาสดอยู่ตลอดเวลา เบลล์แอบบอกฉันว่า เว็บไซต์ของอะเดย์จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้งเร็วๆ นี้ด้วย เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าหากนับเวลาตั้งแต่นิตยสารอะเดย์ฝีมือ a team junior 6 วางแผงเมื่อปี 2552 ก็ครบ 10 ปีพอดี เดือนสิงหาคมนี้ นิตยสารอะเดย์จะมีอายุครบ 20 ปีเต็ม บรรณาธิการบริหารคนที่ 5 ของนิตยสารอะเดย์ที่ผ่านเวลาในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ช่วงที่คึกคักและสำคัญที่สุด จนทุกอย่างเข้าสู่โลกใบที่สองคือ โลกออนไลน์ เขาคิดอย่างไรบ้างกับตัวเลข 20 ที่เป็นเครื่องแสดงการผ่านร้อนผ่านหนาวของนิตยสารเล่มนี้ “สำหรับเรา 20 ปีมันทั้งมีความหมายและไม่มีความหมายทั้งสองอย่าง” พอเบลล์เริ่มตอบคำถามของฉัน ฉันชักเริ่มแปลกใจพอสมควร “มันมีความหมายยังไงเหรอ แน่นอนว่าเรายืนระยะได้ คือเรายังเชื่อและเคารพในการยืนระยะ ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นมาและหายไป สิ่งที่มันยากมากๆ คือการยืนระยะอยู่ การที่มันยืนระยมาได้ 20 มันก็บอกบางอย่างเหมือนกันว่า เฮ้ย เราก็ได้ทำอะไรบางอย่างมา 20 ปีนะ มันพูดได้แล้วว่า เราคือแมกกาซีนที่มีกลุ่มคนคอยซัพพอร์ทอยู่ ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีคนซัพพอร์ทอยู่ 20 ปี “แต่ในอีกแง่หนึ่งคือ ในยุคสมัยนี้เราไม่แน่ใจว่า ตัวเลขเหล่านี้ยังมีความหมายอยู่จริงรึเปล่า ถ้าเป็นสมัยก่อน 20 ปีมันอาจจะหมายความว่า เฮ้ย มึงเก๋าว่ะ มึงมีประสบการณ์ มึงมีแต้มต่อบางอย่าง แต่ในยุคนี้ที่ทุกอย่างแม่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราไม่แน่ใจว่าตัวเลข 20 ปีมันยังมีความหมายในแง่นั้นอยู่รึเปล่า คุณอาจบอกว่าคุณทำแมกกาซีนเก่งมาก 20 ปีเลยนะเว้ย ถ้าเป็นช่างคือมึงโคตรเชี่ยวชาญแล้วอะ แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างเข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์ มึงมีประสบการณ์ในโลกออนไลน์กี่ปี (หัวเราะ) คือมันเรียกร้องทักษะอีกแบบนึงเลย ที่ในแง่หนึ่งมันก็ลดอัตตาของคนทำงานไปเลย เราอยู่กับความเป็นจริง เรารู้สึกว่าวันนี้มันเท่ากัน ไม่ว่าวันนี้มึงจะเป็นแมกกาซีนอายุ 20 ปี เพจอายุ 3 เดือน หรืออะไรก็ตาม มันคือเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมๆ กัน เราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างเปลี่ยน เฟซบุ๊คอัลกอริทึ่มเปลี่ยน แล้วยังไง 20 ปีแล้วมึงยังไง (หัวเราะ) คือก็ต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ดี เท่ากับเพจที่เปิดใหม่นั่นแหละ เพราะในแง่หนึ่งคือ โอเค มันมีบางสิ่งบางอย่างที่เพาะบ่มคุณมา ทั้งแบรนดิ้งหรือทักษะของคนทำที่ส่งต่อกันมา แต่มันก็มีบางอย่างที่ตัวเลข 20 ปีแทบไม่มีความหมายเลย มันก็ต้องเรียนรู้ใหม่ไปพร้อมๆ กับโลก” “แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งที่นิตยสารเล่มนี้อาจต้องอำลาแผงไป ทิศทางของมันจะเป็นยังไงต่อ” ฉันถามคำถามสุดท้ายกับเบลล์ “ถ้าทุกอย่างคือความไม่แน่นอน ถ้าวันหนึ่งนิตยสารที่เป็นเครื่องมือเล่าเรื่องอย่างหนึ่งของเรา มันไม่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ ก็แค่ไม่ทำมันและไปใช้เครื่องมืออื่นที่ตอบโจทย์ หรือทำให้มันบรรลุวัตถุประสงค์ของคุณ คือถ้าเราไม่ได้ยึดในแง่อัตตาว่าฉันต้องเป็นคนทำนิตยสาร การปรับตัวคุณจะง่ายมากเลยนะ เหมือนที่สื่อบางสำนักทำ เขายึดที่วัตถุประสงค์ว่าคุณต้องการทำอะไร คุณต้องการสร้างอิมแพคบางอย่างให้สังคมใช่มั้ย ถ้าอันนี้คือวัตถุประสงค์ มันจำเป็นเหรอที่ต้องใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง ถามเราว่าถ้าจะไม่มีอะเดย์แบบเล่มแล้ว มันอาจจะน่าเสียดายในแง่ที่เรามีความเชื่อกับสิ่งพิมพ์ว่า มันมีฟังก์ชั่นบางอย่างที่โลกออนไลน์มันยังให้ไม่ได้ แล้วเราก็เชื่อว่าบ้านเมืองเรายังควรมีแมกกาซีนอยู่ มันยังไม่ควรหายไปทั้งหมด เพียงแค่ทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ ยังได้สัมภาษณ์เรื่องดีๆ ยังได้ใช้ชีวิตกับงานที่เราเชื่ออยู่ เราว่ามันก็ยังตอบโจทย์อยู่นะ ไม่ว่าจะเป็นแมกกาซีนหรือเว็บไซต์หรือเป็นรูปแบบของกิจกรรมอื่นๆ” เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ artsvisual.co | กรกฎาคม 2562 |
Related Posts
LAWIN เส้นทางการตามหาความฝัน และวันที่ก้าวเท้าเข้าสู่ MINIMAL RECORD
เรียกได้ว่าหลังจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมไม่ค่อยมีโอกาสบ่อยนักที่จะได้สัมภาษณ์แบบเจอหน้า แต่วันนี้ผมมีนัดหมายศิลปินหนุ่มที่เคยเจอกันครั้งหนึ่งเมื่อตอนสมัยฝึกงานอยู่ที่ค่ายมินิมอล เรคคอร์ด เพื่อพูดคุยกับศิลปินที่เรียกได้ว่าเป็นเด็กหนุ่มที่มีพลังเหลือล้น สดใส เขาทำงานที่ตัวเองรักซึ่งก็คือการเล่นดนตรี ลัทธภพ สุทธมงคล หรือ ‘LAWIN’ คือศิลปินเดบิวต์ใหม่วัย 23 ปี ซึ่งกำลังเป็นที่รู้จักในที่ผ่านมา ที่เรียกได้ว่าเป็น New shade ใหม่ของมินิมอล เรคคอร์ด ก่อนจะเข้าสู่โลกของดนตรีในฐานะศิลปิน เขาคือเด็กหนุ่มนักฝันที่มุ่งมั่นในเส้นทางแห่งเสียงดนตรี ชอบเล่นดนตรีมาตั้งแต่ช่วงสมัยที่เรียนมัธยม หลงรักเสียงดนตรีโดยไม่รู้ตัว จึงเอาจริงเอาจังด้านนี้เรื่อยมาอย่างสุดความสามารถ เติบโตผ่านการทำงานที่มากฝีมือขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นคนที่มีแพสชันเรื่องงานดนตรีแบบล้นปรี่ และไม่ใช่แค่ทำเพลงดี แต่รวมถึงการวางตัวที่ดีด้วย ในที่สุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาได้เปิดตัวในฐานะศิลปินน้องใหม่แห่ง ค่ายมินิมอล เรคคอร์ด พร้อมปล่อยซิงเกิลแรกในชีวิตอย่างเพลง ‘ เมื่อเธอเดินจาก ’ และซิงเกิลที่สองเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาในเพลงซึ่งที่พอได้ฟังแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่ว่าจะเจอเรื่องเลวร้ายมายังไงก็อย่าลืมกอดตัวเองนะ ด้วยเพลง ‘ตัวฉันเมื่อวันก่อน’ แม้จะไปได้ดีในการเปิดตัว แต่ทว่าเส้นทางในฐานะศิลปินของ LAWIN นั้นยังอีกยาวไกล และมีความท้าทายอยู่มากมายที่รอพบเจอ วันนี้ผมจึงอยากชวนมาอ่านบทสนทนากับเขา เส้นทางการตามหาความฝัน ตัวอย่างของคนที่ใช้พรสววรรค์ที่มีอย่างถูกทาง รวมทั้งชีวิตฟากเบื้องหน้าที่เป็นศิลปิน ตลอดจนตัวตนเบื้องหลังของเขาเมื่อถอดคำว่าศิลปินออกไป ในเรื่องราวที่ทุกคนจะได้อ่านต่อไปนี้ ตัวฉันเมื่อวันก่อน ก่อนจะมาเป็นศิลปินหนุ่มหน้าใหม่ในวันนี้ จุดเริ่มต้นความฝันบนเส้นทางดนตรีของลาวิน […]