ครัวงาน: ความพยายามของ Chiang Mai Trust กับการสร้างงานให้ชุมชนในช่วงโควิด

พูดถึงชื่อ Chiang Mai Trust แล้ว นี่คือกลุ่มคนที่เรามองว่าเป็น “อเวนเจอร์ส” ของเชียงใหม่ในตอนนี้ 

โครงการเล็กๆ นี้เป็นการรวมตัวกันจากหลายภาคส่วนมากๆ ทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างเทศบาลนครเชียงใหม่ และจิตอาสาจากภาคเอกชนเพื่อสร้างกิจกรรมที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนในชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นครัวกลาง กับการเปิดครัวเพื่อให้ความช่วยเหลือทั้งชาวบ้านและคนไร้บ้านในช่วงการระบาด COVID-19 ระลอกแรกที่สนับสนุนให้คนตกงานมีอาชีพ และคนที่ต้องการฝากท้องได้อิ่มอร่อยกับอาหารทำสดใหม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

มาถึงวันนี้ Chiang Mai Trust ยังคงดำเนินงานของกลุ่มอย่างต่อเนื่องด้วยครัวงาน โครงการใหม่ที่เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนอาชีพและทักษะ โดยการรวมรวมแรงงานหรือชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ที่ต้องการอาชีพ เพื่อให้นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างได้เลือกจ้างแรงงานที่เหมาะสมกับงาน นำไปสู่การสร้างโอกาสที่ดีให้ชาวบ้านมีรายได้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งมีแผนลงพื้นที่ในหลายชุมชนทั่วจังหวัดเชียงใหม่

ครัวงาน และอีกหลายโครงการที่ทำคู่ขนานกันไปมีเบื้องหลังเป็นอย่างไร มีความพยายาม ความใฝ่ฝันอะไรกว่าที่โครงการจากแรงของพลเมืองจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ เราขอพาคุณไปสำรวจเบื้องหลังเหล่านี้เพื่อดูความตั้งใจของคนที่อยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น

เพียงแค่ลงมือทำ

ความน่าจะเป็นด้านแรงงานยุคโรคระบาด

ก่อนเราจะพบกับเรี่ยวแรงสำคัญในโครงการฯ เราได้แวะเข้าพบ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขอข้อมูลด้านแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะที่ปรึกษาของ Chiang Mai Trust รวมถึงทรรศนะด้านการจ้างงานในช่วงเวลาล็อคดาวน์จากอาจารย์ เพื่อเป็นฐานให้คุณเข้าใจในพันธกิจของครัวงานและ Chiang Mai Trust ได้ดียิ่งขึ้น 

อาจารย์มิ่งสรรพ์ได้ให้ทรรศนะถึงจังหวัดเชียงใหม่ว่า เพราะจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งพึ่งพาหลายภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักสำคัญซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก โดยวัดได้จากตัวเลข GPP จากการท่องเที่ยวต่อตัวเลข GPP จังหวัดคิดเป็น 60% วัดจากรายได้ และยังมีภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ทำรายได้ให้กับจังหวัดเช่นกัน ที่ศักยภาพการจ้างแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับดี 

แต่เพราะการระบาดของ COVID-19 ที่กลายพันธุ์จากสายพันธุ์ปกติไปจนถึงสายพันธุ์เดลต้าจึงทำให้เกิดมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งปัจจัยที่ถูกตัดออกเป็นอย่างแรกคือแรงงาน ทั้งลดจำนวแรงงาน ปรับเวลาทำงานให้น้อยลง หรือเจ้าของธุรกิจที่มีรายได้น้อยลงเนื่องจากกำลังการซื้อลดลงเพราะขาดรายได้จนไม่มีเงินเก็บจึงไม่เกิดกำลังซื้อ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุที่ส่งเสริมกันให้เกิดการจ้างงานน้อยลง และคนตกงานมากขึ้น

พันธมิตรรถฉุกเฉิน

เบื้องหน้าเราตอนนี้คือสามผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Trust ที่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจด้านต่างๆ 

จากซ้ายไปขวา: ลี, ปอ, มะเป้ง

ลี-อายู จือปา เจ้าของแบรนด์ Akha Ama กาแฟเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่หลายคนยอมรับในรสชาติ
ปอ-ภราดล พรอำนวย ผู้ก่อตั้ง North Gate Jazz Co-Op และแบรนด์สาเกไร้แอลกอฮอล์ Yorice
มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก ผู้ก่อตั้ง Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนด้านอาหารเพื่อคนและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสามต่างทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมมาตลอด โดยลีอยู่กับงานให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ลี้ภัย คนไร้สัญชาติ และคนชาติพันธุ์ ซึ่ง Akha Ama ก็เป็นพันธกิจส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประชาสังคมเช่นกัน ส่วนปอเองที่เป็นนักดนตรีและมีความสัมพันธ์กับสหายที่เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งการสอนดนตรีในฐานะครูดนตรีอสา หรือการทำเวิร์กช็อปให้กับเด็กๆ ไร้สัญชาติ และค่อยๆ เริ่มขยับไปทำกิจกรรมส่วนอื่นๆ

ในขณะเดียวกัน เป้งเพิ่งย้ายขึ้นมาอยู่ที่เชียงใหม่จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เมื่อได้มีโอกาสเจอลีและปอจึงได้ร่วมกันทำโครงการแรกที่เกี่ยวกับต้นไม้นั่นคือมือเย็นเมืองเย็น โครงการที่ชวนธุรกิจและร้านค้าลดการใช้หลอดพลาสติกที่มาก่อนกาลอย่างลดหลอด และอีกหลายโครงการที่เมื่อทั้งสามได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันมากขึ้น จนเริ่มเป็นความพยายามในการสร้างกลุ่มคนเล็กๆ ที่ชื่อว่า Chiang Mai Trust ที่ปอ ลี มะเป้ง และเพื่อนๆ ในแวดวงเดียวกันค่อยๆ ก่อร่างขึ้น

“แต่ก่อนเราทำงานเป็นแคมเปญ ซึ่งมันใช้กำลังก่อรูปความคิดขึ้นมาใหม่ทุกครั้งเลย หมายความว่าต้องไประดมทุนทรัพยากรใหม่ สื่อสารใหม่ สร้างทีมใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ตลอด ซึ่งก็ไม่ผิดนะ แต่ความพยายามที่จะทำ ที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Chiang Mai Trust ก็เพราะผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า พลังของมนุษย์เนี่ยมันขึ้นอยู่กับการจัดตั้ง หมายความว่าถ้ามนุษย์มันสะเปะสะปะกันไปหมด มันไม่สามารถที่จะรวมทรัพยากร หรือว่าจัดเก็บฐานข้อมูล สะสมองค์ความรู้ไว้ในที่ใดที่หนึ่งได้นะครับ ทีนี้เราก็คุยกันกับพี่เป้งกับลี แล้วก็มีเพื่อนๆ คนอื่นๆ ด้วยนะครับ ว่าเรามาจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า Chiang Mai Trust กันไหม ก็ตรงตัวเลย Trust ก็คือความเชื่อว่าเราจะค่อยๆ สร้างทีมนะครับ เก็บสะสมองค์ความรู้ แล้วก็ทุนประมาณนึงเพื่อที่พอถึงเวลารถฉุกเฉินเนี่ยเราก็เคลื่อนได้ทันที” ปอเริ่มเล่าถึงการตั้งกลุ่ม Chiang Mai Trust

“เราเป็น Active Citizen ที่เหมือนเราเห็นเรื่องอะไรแล้วรู้สึกว่าบางอย่างมันรอไม่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าเราเป็นเหมือนแบบรถฉุกเฉินรถพยาบาล อะไรวิ่งได้ก็คือวิ่งไปก่อนไม่สนเลยว่าเรื่องนั้นมันจะแบบขัดต่ออะไรไหม เพราะเราถามหัวใจตัวเองว่า สิ่งนี้ควรจะทำ ไม่ต้องรอแบบ ไม่ต้องรอเอาเรื่องเข้าอะไรทั้งสิ้น เราเหมือนรถพยาบาล เหมือนรถฉุกเฉิน” มะเป้งเสริม

สิ่งแวดล้อมคืองานใหญ่ โควิดคืองานด่วน

ในวาระแรกของ Chiang Mai Trust มีพันธกิจที่ต้องการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจุดประสงค์ที่อยากเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดเชียงใหม่ให้ได้ 30 เปอร์เซนต์ ซึ่งตอนนี้จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ดังกล่าวเพียง 14 เปอร์เซนต์เท่านั้น ทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยวิธีการที่หลากหลาย ร่วมกับการพัฒนาและปรับแผนกับนักวิจัย รวมถึงนักวิชาการ ที่มีการปรึกษาหารือจนพัฒนาโครงการออกมาเพื่อเชื่อมต่อภาคประชาสังคมและประชาชนให้ทำงานร่วมกันได้ในที่สุด

แต่เพราะเกิดสภาวะการณ์โรคระบาดที่จริงๆ แล้วทั้งลี ปอ และมะเป้งต่างได้รับผลกระทบโดยตรงอยู่แล้ว เพราะทั้งสามต่างประกอบธุรกิจของตัวเอง แต่เมื่อเห็นชาวบ้านในหลายพื้นที่ต้องพบเจอกับความยากลำบากในช่วงการล็อคดาวน์ จึงเกิดวาระที่ทั้งสามร่วมกันช่วยเหลือชาวบ้านในโครงการครัวกลาง ที่ให้ความช่วยเหลือชุมชนโดยการเปิดครัวเพื่อทำอาหารสำหรับแจกจ่ายและจำหน่ายในราคาประหยัด ซึ่งได้ช่วยเหลือชาวบ้านไปแล้วกว่า 25 ชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่

การระบาดระลอกแรกผ่านไป ระลอกสองผ่านไป จนมาถึงระลอกที่สามที่ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างเป็นวงกว้างมากขึ้น และชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้โมเดลครัวกลางอาจใช้งานได้อย่างไม่ต่อเนื่องและยั่งยืน

“พอมันมีระบาดรอบ 3 เรื่องครัวงานมันจะไม่ได้ใช้เท่ารอบแรก สมมุติว่าชาวบ้านคนหนึ่งเขาเป็นแรงงานรายวันใช่ไหม แล้วเขาทำงานภาคท่องเที่ยวโรงแรม ยังไงเขาก็กระเด็นก่อนคนแรก เหมือนอยู่ดีๆ ก็ต้องโดนภาวะสูญญากาศ ฉะนั้นครั้งแรกเนี่ย ครัวกลางจะได้ผลที่สุด เวลาผ่านมาก็คือครบปีจนมันมีรอบ 3 เนี่ย ทุกคนน่ะจะเปลี่ยนไประดับหนึ่งแล้วจากที่เคยทำอาชีพเดิม ก็ย้ายไปทำอย่างอื่นแล้ว ไม่สามารถรอทุกอย่างมันปกติได้ ไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อไหร่มันจะปกติ เพราะฉะนั้นพอมาเจอชาวบ้านรอบนี้ก็กลายเป็นว่า เราไปเจอว่าบางคนเขามีทักษะทั่วๆ ไป ทาสีก็ได้ เชื่อมเหล็กก็ได้ แต่เชื่อมไม่ได้ดี ทำไม่ได้ดี แต่ว่าทำได้ทุกอย่างเหมือนเป็นช่างคนหนึ่ง” มะเป้งแชร์ถึงแรงบันดาลใจที่เป็นอีกที่มาหนึ่งของโมเดลครัวงานให้เราฟัง

“พอเมืองมันถดถอย แล้วเวลาที่เราเสียไปร่วม 1 ปีเนี่ย มันเป็นจังหวะที่เราจะต้องลุกขึ้นมาปรับปรุงพัฒนาเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมด้วยส่วนหนึ่งสำหรับอนาคต เพราะว่าเมืองเนี่ยมันก็ต้องการคนที่มาทำงานบางอย่างที่มันไม่มีคนทำใช่ไหมครับ แล้วเมืองมันก็ต้องการการดูแลตลอด มันไม่สามารถที่จะทิ้งร้างไว้ยังไงก็ได้ เราคิดว่าถ้าเกิดการจ้างงานคนในชุมชนมาพัฒนาชุมชนอย่างนี้ มันก็จะดีกับทั้งคนในชุมชนคนที่ตกงาน แล้วก็เกี่ยวกับเมืองด้วย” ปอขยายความ

ครัวงาน

ครัวงานจึงเกิดขึ้นด้วยการลงพื้นที่ของทีมงานเพื่อรีเสิร์ชชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในเฟสแรกได้ลงพื้นที่ทั้งหมด 3 ชุมชนคือ ชุมชนทานตะวัน ชุมชนแจ่งหัวริน และชุมชนกู่เต้า เพื่อสำรวจและเฟ้นหาชาวบ้านที่ต้องการอาชีพ โดยการซักถามทักษะที่ชาวบ้านทำได้ทั้งงานบ้าน งานบริการ งานช่าง งานทำอาหาร ค้าขาย หรือการปลูกพืชผักต่างๆ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูสำหรับนำไปประชาสัมพันธ์บนแฟนเพจ Chiang Mai Trust ให้ผู้ที่สนใจอยากจ้างแรงงานดังกล่าวสามารถติดต่อเพื่อจ้างงานจริงๆ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีชาวบ้านบางส่วนได้งานจากการ “ฝากงาน” ของกลุ่มแล้ว

นอกจากการเรียนรู้ชีวิตของชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจผู้คนในชุมชนอย่างลึกซึ้ง ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการลงพื้นที่เพื่อพบปะและสัมภาษณ์ชาวบ้านคือ การได้สร้างฐานข้อมูลชาวบ้านที่ต้องการอาชีพเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานในอนาคต

“สิ่งที่เราได้จากกิจกรรมพวกนี้ก็คือการสร้างฐาน ฐานความสัมพันธ์ของชุมชน แล้วก็ระหว่างชุมชนกับทีมงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ ฐานข้อมูลเหล่านี้มัน มันจะมีผลต่อการออกแบบอนาคตของเมืองในระยะยาว ถ้าไม่นับความทรงจำนะ อันนี้ฟังอาจดูโรแมนติกหน่อย แต่ว่าเวลาเรามีความทรงจำร่วมกันแบบนี้นะครับ มันทำให้คนเนี่ยเห็นภาพอนาคตไปได้ไกลกว่า เวลาร้านบางร้านที่คุณรักมากๆ ปิดตัวลง ทำไมคุณสะเทือนใจล่ะ เพราะมันคือความทรงจำของคุณ เมืองก็เหมือนกันครับ เวลาเมืองมันรกร้าง เวลาเมืองมัน พื้นที่บางพื้นที่มันตายไป คุณเห็นแล้วคุณสลดใจไหม เพราะคุณไม่เห็นอนาคต เพราะอดีตของคุณโดนทำลายไป 

“การทำงานภาคประชาชนแบบนี้ มันเป็นการสร้างความทรงจำหมู่ นึกภาพออกไหม เพื่อที่คุณจะได้ออกแบบอนาคต ความคิดของเขามันมีผลต่อสิ่งที่เขาอยากจะไปให้ถึงต่อความฝันของเขา อันนี้คือสิ่ง อนาคตที่ชุมชนจะได้ คือสิ่งที่เมืองจะได้” ปออธิบาย

“เราโตมาในสังคมชุมชน วิธีต่างๆ ที่คนเข้ามาในชุมชนเราแล้วก็หาวิธีช่วยเหลือ แล้วก็มาเชื่อมกับสิ่งที่ชุมชนเราเป็น มันทำให้เกิดความมีชีวิต เพราะว่าเรารู้อยู่แล้วว่าโควิต 2 ปีเนี่ยมันทำให้หลายๆ พื้นที่มันดาวน์ แล้วมันก็ดูเศร้าไปหมด แต่การที่จะมีกิจกรรมเข้ามาเนี่ย มันทำให้คนในพื้นที่เราในชุมชนรู้สึกว่ามันมีชีวิตชีวามากขึ้น มันมีกิจกรรมที่ทำให้เขารู้สึกว่ากระชุ่มกระชวยมากขึ้น 

เราแค่ไปสะกิด หรือไปทำให้กระบวนการเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ท้ายสุดถ้าเกิดเขาไม่ให้ความร่วมมือ เขาไม่ทำเอง มันไม่มีทางที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะฉะนั้นถามว่าได้อะไรจากเขา เราก็คงได้เห็นชุมชนที่เราไปลงพื้นที่นั้นน่ะ เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เขาสามารถคิดอะไรออกที่มากกว่าที่จะมานั่งรู้สึกว่าตกงานใช่ไหมฮะ วันที่เราไปสัมภาษณ์แล้วทำเป็นอาชีพออกมาเนี่ย วันหนึ่งก็มีคนที่จะเข้าไปหาเขา มีคนจ้างเขา เขามีงานได้ทำ อย่างน้อยเขาก็รอดในสถานการณ์แบบนี้ แล้ววันหนึ่งที่สถานการณ์มันดีกว่านี้ เขาจะไม่มีปัญหาอะไรเลย แล้วสำคัญที่เราจะต้องลงมือ” ลีเสริม

การสนับสนุนที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“แค่บางทีเราเราโพสต์หรือว่าเราสื่อสารออกไป ก็จะมีกลุ่มเพื่อนๆ อีกหลายคนเริ่มยื่นมือมาช่วย คือ 3 คนอาจจะเป็นแค่ตัวแทนของคนมหาศาลที่อยู่ข้างหลัง ที่ซัพพอร์ทงานของเรา แต่ว่าคนที่มาร่วมเขาอาจจะไม่ได้มาได้เต็มเวลา หรือมาได้ทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่เขารู้สึกว่าสิ่งที่เราสื่อสารออกไป มันเป็นสิ่งที่เขามีเวลา แล้วเขาก็เขาอินกับความรู้สึกเหล่านั้นก็เข้ามา

“เราเห็นตั้งแต่งานแรกๆ ที่พวกเราทำ เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคนเหล่านั้นที่มาช่วยเรามาจากไหนบ้างนะ เพราะเราโพสออกไป เราก็เลยบอกว่าคุณอยู่ที่ไหนก็ปลูกต้นไม้ที่นั่นนะ ก็มีคนที่ถ่ายรูปส่งมาเยอะแยะมากมายเลย ที่อื่นก็ทำ เพราะฉะนั้นเนี่ยผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของสื่อสารในสภาวะที่ให้เขาได้รู้ว่ากำลังจะทำอะไรแล้วมีผลต่อชีวิตกับใครบ้าง ถ้าเป็นตัวบุคคลคนเดียว คนอาจจะไม่ได้สนใจอะไรมากหรอก แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับสังคม กับความเป็นอยู่ของคนที่เราทำงานด้วยกัน พี่เชื่อว่ายังมีอีกพลังเยอะแยะมากมายเลยที่มีอยู่ในสังคม ที่เขาพร้อมที่จะออกมา แต่ต้องการแค่ผู้นำ หรือคนที่เป็น Starter ก็เท่านั้นแหละ คนเหล่านี้ก็จะมีออกมา” ลีพูดถึงการได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ของเขา

จุดประสงค์ดี ความตั้งใจดี มีกำลังสนับสนุน แต่สุดท้าย Chiang Mai Trust ยังต้องการความช่วยเหลือซึ่งมาจากการสนับสนุนจากหลายฝ่ายเพื่อให้ความตั้งใจนั้นสัมฤทธิ์ผล ซึ่งการดำเนินงานได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีทั้งจากภาครัฐจากเทศบาลนครเชียงใหม่ รวมถึงประชาสังคม เอกชน และเพื่อนๆ ของผู้ก่อตั้งทั้งสาม

ทั้งโครงการครัวงานและกลุ่ม Chiang Mai Trust ยังคงดำเนินโครงการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยความเจ๋งของกลุ่มที่ทั้งสามผู้ก่อตั้งภูมิใจคือ การเป็นกลุ่มที่ทำงานและลงพื้นที่ได้เร็ว เคลื่อนย้ายและลงกระบวนการได้ทันที ที่สำคัญคือในกลุ่มมีคนที่ต้องการลงมือทำเพื่อสร้างกลุ่ม Chiang Mai Trust ที่ยั่งยืนและแข็งแรงต่อไปในอนาคต รวมถึงเน้นประเด็นที่หลากหลายที่คลอบคลุมมากกว่าเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

“เมืองมันเหมือนเก้าอี้ มันไม่สามารถมีขาเดียว ถ้าสนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แล้วไม่สนใจขาอื่นเลย มันก็ไม่ใช่เก้าอี้ ผมคิดว่าถ้ามองเมืองเชียงใหม่ที่ผมรักเป็นเก้าอี้ อย่างน้อยเราอ่ะ ก็จะทำขาอื่นที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะคนจะมุ่งไปที่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เราคิดว่าสิ่งแวดล้อมซึ่งมันก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเก้าอี้มันจะมั่นคง มันคงไม่ใช่ที่มีขาใดขาหนึ่งใหญ่มาก แล้วอีกขาที่เหลือเนี่ยมันเล็ก วันนึงมันก็หัก เราก็ทำได้ในฐานะที่เราทำในเรื่องที่เรามีใจ แล้วก็รักในเรื่องนี้ อย่างเราก็จะทำให้เมืองเชียงใหม่ ที่เก้าอี้ชื่อว่าเมืองเชียงใหม่เนี่ย มันมีความสมดุลที่มันดีขึ้น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความยั่งยืน เรื่องอะไรเราก็อยากทำมันต่อๆไป แล้วก็อยากมีเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่วันนึง เราก็ไม่สามารถทำอย่างนี้ตลอดไปได้ เราแบบไม่สามารถอยู่ตลอดไปได้ แต่เราก็อยากให้โครงสร้างที่เราทำวันนึงก็มีเด็กรุ่นใหม่ มีหลายๆ ช่วงอายุ เข้ามาเติมๆ ทำต่อในสิ่งที่เราทำ” มะเป้งบอกฉัน

“อย่างที่พี่ปอหรือว่าพี่เป้งพูดนะครับ มันเป็นความรู้สึกเดียวกันว่าวันหนึ่งเราอยากเห็นเมืองเนี่ยไปในทิศทางที่แม้ว่า Chiang Mai Trust ไม่ได้ออกมาทำ ก็ยังอยู่ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างว่า อย่างเชียงใหม่ เราอยากเห็นสุขภาพของคนเชียงใหม่ดีขึ้น เราต้องทำอะไร 

“เมื่อกี้พี่เป้งแตะเรื่องของสิ่งแวดล้อม อาจจะมีเศรษฐกิจ แต่คือเรื่องของความรู้ เรื่องของโภชนาการ เรื่องของความยั่งยืน เรื่องของการเอาใจใส่ เรื่องภาคการผลิตอาหารต่างๆ พี่คิดว่ามันมาแน่นอน สิ่งที่เราจะเห็นมากขึ้นหลังโควิดเนี่ย พี่ยังมองเลยว่างานที่พวกเราทำน่าจะสนุกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิจกรรมที่เกี่ยวกับเยาวชน เรื่องของอาหาร เรื่องของความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับอาชีพที่พวกเราอาจจะเกริ่น ๆ ไป ตอนนี้มันอาจจะต้องทำเรื่องที่เร่งด่วนมากกว่าแต่หลังจากนั้นเนี่ย มันน่าจะมีอะไรที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ต่างๆ เรื่องของความรู้เกี่ยวกับเชิงเศรษฐกิจ เชิงการผลิต หรืออาชีพที่เกี่ยวกับการโยกย้าย การเปลี่ยนอาชีพ ไอ้สิ่งเหล่านี้มันน่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะชัดขึ้น ทำให้การฟอร์มของเมืองเชียงใหม่เองเนี่ยมันจะเกิดการครบรสมากขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน

“แน่นอนว่าการสร้างคน หรือว่าการสร้างเรื่องของความรู้ เราเนี่ย ก็จะเป็นประเด็นที่ Chiang Mai Trust อยากเข้าไปแตะๆ คือมันอาจจะไม่ใช่ทำด้วยตัวเองทั้งหมดทุกอย่าง แต่ว่าเราอาจจะผนวกกับมหาวิทยาลัย เราไปแตะกับคนนั้นคนนี้ เพื่อที่จะช่วยกันทำงาน 

“เราไม่ได้เป็นวันแมนโชว์เนาะ มาร่วมกับเทศบาลตรงนี้อะไรอย่างนี้ เหล่านี้มันจะเกิดขึ้นแบบนี้” ลีส่งท้าย

ภาพประกอบเสริม: Chiangmaitrust Facebook Fanpage

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด

สุพรรณนิการ์ เกิดโมฬี

นักฝันเฟื่องผู้ฝันว่าโลกจะน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอ และฝันว่าจะได้ไปสูดอากาศดีๆ ในประเทศอื่น สถานะปัจจุบัน: เป็นทาสแมวส้ม

วรัญชิต แสนใจวุฒิ

หนุ่มเชียงใหม่ จบปริญญาตรีสาขาถ่ายภาพ ที่พยายามแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นนอกจากการถ่ายภาพ และในขณะเดียวกันก็ชอบออกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าวันเสาร์ ส่วนแผนการในวันพรุ่งนี้ ยังไม่รู้ เพราะเท่าที่รู้มันไม่เคยตรง

พัฒน์ศิกาญ ศรีเจริญกูล

ช่างภาพสายแอคชั่น ชอบขี่มอเตอร์ไซด์ ชอบแคมปิ้งมากๆ วัยรุ่นมักลาบ

เจตตพัทธ์ พวงสมบัติ

อดีตนักศึกษาถ่ายภาพ มช. ที่ลาออกมาหาประสบการณ์ในโลกอันกว้างใหญ่ ซึ่งในตำราเรียนไม่สามารถให้ได้

ประภาวดี พิบูลย์

นักศึกษาถ่ายภาพ ชอบการจัดองค์ประกอบภาพเป็นที่สุด ชอบอยู่เบื้องหลังกล้องมากกว่าอยู่หน้ากล้อง ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติ เป็นการบำบัดจิตใจได้ยอดเยี่ยม