อย่าให้เสียงของประชาชนเป็นแค่แสงเทียนที่ผู้มีอำนาจเป่าแล้วก็ดับไป: สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

1

ตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ฉันได้เทียบเชิญจากกอล์ฟ-นลธวัช มะชัย แห่งกลุ่มลานยิ้มการละคร ไปชมการแสดงที่ต้องการแสดงออกถึงการคุกคามศิลปิน ในกรณีที่รามิล-วิธญา คลังนิล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฯ ถูกจับจากการสำรอก (อ่าน) บทกวีในกิจกรรมแฟลชม๊อบ #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ประตูท่าแพ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยามค่ำคืนหน้าโรงอาหาร อมช. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉันมาชมการแสดงตามคำเชิญ ทุกโชว์ต่างทำงานในแบบของตัวเอง นักแสดงทุกคนต่างมีสารที่ต้องการบอกกล่าวผ่านท่วงท่าที่ขยับขยาย หรือการแสดงที่พวกเขาสื่อสารออกมา

รามิลเดินออกมาด้วยผ้าที่คลุมกาย เบื้องหน้ามีของประกอบฉากที่เตรียมไว้

การแสดงของเขาเริ่มต้นขึ้นด้วยการกระโดดไปมาแบบไม่มีจังหวะพร้อมเสียงหายใจที่ดังก้อง เขากระโดดไปเรื่อยๆ จนผ้าดิบที่ห่มคลุมร่างกายหลุดออกจากร่าง

ร่างกายของเขามีแค่ชั้นในสีเนื้อปกคลุม เขาเดินไปที่เทียนที่จัดเรียงไว้ นั่งลงแล้วจุดบุหรี่ดูด

เข้าใจว่าผิดกฎหมายสูบบุหรี่ในสถานศึกษา-แต่หยวนๆ ให้เขาหน่อยแล้วกัน มันเป็นการแสดง

บุหรี่หมดมวน เขาจุดเทียนรอบตัว ก่อนจะหยิบเทียนจำนวนหนึ่งขึ้นมาถือ เขาปล่อยให้เทียนหลอมละลายลงบนมือของเขา

เทียนที่ไหลลงมือเขามันร้อนน่าดู แต่การแสดงยังดำเนินต่อ เขาสื่อสารทุกอย่างผ่านร่างกายและสีหน้า

ฉันไม่รู้ว่าเขารู้สึกอะไร

ฉันกวาดตาดูโชว์อื่นไปด้วย หันกลับมาอีกที

ฉันเห็นว่าเขาเริ่มตบหน้าตัวเอง

ฉันละสายตาอีกครั้ง จนฉันจำไม่ได้ว่าโชว์จบแบบไหน รู้ตัวอีกที เขาอยู่ในชุดนักศึกษาที่ไม่ได้ถูกระเบียบมากนัก เราคุยกัน-ฉันชื่นชมการแสดงของเขา ก่อนจะบอกลากัน

ฉันไม่เข้าใจว่าโชว์นี้มันหมายถึงอะไร

และมันเป็นคำถามที่ติดในหัวของฉัน จนถึงโมงยามแห่งการเข้านอน

 

2

ถ้าคุณได้ชมสารคดี Extended Scene ที่เราสัมภาษณ์กอล์ฟไป กอล์ฟบอกเสมอว่า Performance Art คือพื้นที่แห่งการตีความที่ไม่มีถูก ไม่มีผิด

คืนวันอาทิตย์ก่อนหน้าที่ประตูท่าแพ หลังจากที่น้องผู้หญิงคนหนึ่งแสดงเสร็จ มีชายคนหนึ่งในชุดกันฝนที่ชมการแสดงของเธอพร้อมถ่ายรูปและคลิปเก็บไว้เดินเข้าไปหาเธอทันที ฉันที่สังเกตการณ์ห่างๆ พอจะเดาได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่สักคนที่ได้มาตามภาระหน้าที่ๆ มอบหมาย

ไม่ผิดจากที่เดา-ฉันถามกับเธอเพื่อความแน่ใจ คำถามที่เขาถามเธอคือ

“การแสดงนี้ต้องการจะสื่อถึงรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจหรือไม่”

เธอตอบเขาแค่ว่า “แล้วแต่พี่จะตีความค่ะ”

ฉันตีความงานของเธอแบบไหน ก็คงจะได้คำตอบแบบเดียวกับที่กอล์ฟพูดกับฉันเสมอมาว่า

“คำตอบเป็นพลวัต เฉลยไม่มีอยู่จริง”

แต่ฉันยังต้องการทรรศนะจากผู้แสดงเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ฉันจึงทักกล่องข้อความของรามิลเพื่อขอแนวคิดจากโชว์นี้มา แรกสุดฉันต้องการมันเพื่อประกอบการเขียนบทบรรณาธิการชิ้นนี้ แต่เมื่อเขาตอบคำถามของฉัน มันจึงสะท้อนกลับไปในตัวงานที่เขาแสดงออกมา ห้วงความคิดที่ฉันตีความมันมีแค่ว่า แสงเทียนที่เขาถืออยู่คงเป็นแสงแห่งการแสดงออก เมื่อใครสักคนถือมัน น้ำตาเทียนที่ไหลลงมือของเขา ปฏิกิริยาร้อนรนจากน้ำตาเทียนคงเปรียบดังความโมโหโกรธาที่เขาได้รับ เมื่อได้ยินความเห็นนั้น

คำเฉลยของการแสดงอยู่ในกล่องข้อความของฉัน ซึ่งฉันขอไม่เอามาบอก

เพราะก็คงอย่างที่กอล์ฟและนักแสดงคนนั้นบอก-มันคือพื้นที่ของการตีความ

 

3

Behind The Scene เปิดตัวบนเฟซบุ๊คมาได้หนึ่งเดือนเศษ และเรามีหน้าเว็บไซต์ที่ดำเนินงานมาได้เกือบสองสัปดาห์ ถึงแม้ว่าแนวทางเราจะชัดเจนและเนื้อหาเราจะคลอบคลุมทุกเรื่องเบื้องหลังเท่าที่เราจะนึกออก แต่น้องในทีมคนหนึ่งอยากลองทำอะไรสนุกๆ มากขึ้น และการทำงานรูปแบบใหม่นี้ จะช่วยให้กองบรรณาธิการทำงานง่ายขึ้น จึงเป็นไอเดียของการทำคอนเทนต์แบบ “รายปักษ์”

ฉันเรียกมันแบบเข้าท่ามากขึ้นว่า Cover Story หรือว่า “เรื่องจากปก”

แต่เพราะเราไม่มีปกหนังสือแบบใครเขา เราก็ใช้ปกในเพจเฟซบุ๊คของเรานี่แหละ

ไม่ใช่เพราะกระแสสังคม ไม่ใช่กระแสหน้าฟีด แต่เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

Cover Story ชิ้นแรก เราจึงจะพูดถึงเรื่องการเมือง

ย้อนกลับไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แฮชแท็กที่ถูกพูดถึงและกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิดของคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่คือ #ถ้าการเมืองดี เราเห็นการแสดงความคิดเห็นด้วยโจทย์ง่ายๆ ว่าถ้าการเมืองดี อะไรในประเทศจะดีตามบ้าง

ฉันสนุกกับการอ่านไทม์ไลน์ของแท็กนี้จนลืมเวลา จนเงยหน้ามองโลกความจริ

และต้องยอมรับว่า การเมืองมันไม่ดีจริงๆ

เราต่างสะเทีอนใจกับการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของนักกิจกรรม การจับกุมศิลปินเพลงแรปต่อหน้าต่อตาครอบครัวและลูกน้อย การตามล่าหาเด็ก 3 ขวบที่ชูสามนิ้วลงเฟซบุ๊ค หรือท้อถอยใจกับการใช้เงินของรัฐบาลในโมงยามวิกฤตจากโรคร้าย

ไม่นับเรื่องเก่าๆ ที่เราเห็นมานักต่อนัก คงยิ่งตอกย้ำแล้วว่า

การเมืองมันไม่ดีจริงๆ

นอกจากการเคลื่อนไหวที่คุณเห็นผ่านตาหรือเข้าร่วมมา เนื้อหาในปักษ์นี้จะพูดถึงมิติทางสังคมอีกหลายแง่ที่คนในสังคมต่างมีประสบการณ์ชุดเดียวกัน และเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งเหล่านั้นที่ผู้คนเผชิญอยู่จะดีขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

ถ้าการเมืองดี

นอกจากนี้ เรายังมีเรื่องนอกปักษ์ที่เล่าเรื่องเบื้องหลังชวนขบคิดและนำพาแรงบันดาลใจดีๆ สู่คุณเหมือนเดิม ในฐานะบรรณาธิการบริหารจึงขอยืนยันว่า Behind The Scene ปักษ์แรก คงจะมีเนื้อหาที่ครบตรงใจไม่ว่าจะในมิติไหนก็ตาม

 

4

อีกหนึ่งเรื่องที่อยากพูดในฐานะสื่อมวลชนคือ การทำงานของสื่อมวลชนในโมงยามนี้ เราคงไม่พูดมากว่าสื่อที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจมีเหลืออยู่กี่เจ้า แต่ในฐานะสื่อน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำหน้าที่ของตนได้ไม่นาน คงขอแสดงจุดยืนผ่านการตีความโชว์ของรามิลว่า

ถ้าแสงเทียนของโชว์จากรามิลแทนเสียงของประชาชนในฐานะแสดงออก

อย่าปล่อยให้แสงเทียนแห่งการแสดงความคิดเห็นถูกดับไปด้วยการเป่าลมปาก แต่จงส่งแสงนี้ต่อไปให้สว่างที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ถึงตอนนั้น แสงเทียนแห่งการแสดงออกคงสว่างพอ และไม่มีลมปากไหนเป่าดับอีกแล้ว

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด