“สถาปัตย์ฯ คือความรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างคนและพื้นที่ ในสเกลต่าง ๆ กัน”บ่ายวันอาทิตย์ในบรรยากาศฝนตกอากาศอบอ้าว ไม่ได้ทำให้บทสนทนาดูอบอ้าวและร้อนแรงตามไปด้วย บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เขียนและอาจารย์ภู-ดร.จิรันธนิน กิติกา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับต่างออกไป มันเป็นบทสนทนาที่ทั้งละมุนและจัดจ้านในเวลาเดียวกัน “ผมจบปริญญาเอกทางสถาปัตยกรรมที่ญี่ปุ่น ความเชี่ยวชาญของผมคือ ด้านชุมชนและการออกแบบ โฟกัสไปที่เมืองและชุมชนเมือง ซึ่งผมมีพื้นฐานการเรียนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องสถาปัตยกรรมวิพากษ์และพื้นที่ทางสังคม ซึ่งเป็นจุดสำคัญในวิจัยของผม และการสอนของผมที่จะเชื่อมโยงประเด็นสังคมมาสู่ประเด็นทางสถาปัตยกรรม ส่วนตัวผมเชื่อว่า สถาปัตย์คือความรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างคนและพื้นที่ ในสเกลต่างๆ กัน ซึ่งนี่เป็นจุดยืนของผมในการเรียนการสอนครับ”
“ผมว่าการศึกษาในปัจจุบันมันควรจะผลิตมนุษย์ที่ไม่ได้ถือแค่องค์ความรู้เดียว ผมว่ามันไม่พอแล้ว”ทรรศนะของคุณต่อระบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นอย่างไรการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เราเรียนกันอยู่ เป็นการศึกษาเฉพาะทาง ที่มุ่งเน้นไปที่ความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพ อย่างเช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรคือสอนให้จบไปเป็นสถาปนิกออกแบบอาคาร ทีนี้การศึกษาที่เป็นระบบคณะ มันทำให้เราผลิตบุคคลเพื่อไปประกอบอาชีพนั้นหรือทำงานในสนามอาชีพนั้น ซึ่งบางทีมันก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เราออกไปเพื่อทำงานตำแหน่งไหนในเมืองหรือสังคม แต่ข้อเสียคือคือ เราก็จะถูกปิดกั้นจากกรอบที่เรียกว่าคณะนี่แหละ ดังนั้น ความเชื่อมโยงทางสหวิทยาและการบูรณาการ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมาคิดในยุคนี้ ปัจจุบันเราตัดขาดสถาปัตย์ออกจากการเมือง วิทยาศาสตร์ ศิลปะ มนุษยศาสตร์ มันมีร่องของคณะเป็นตัวกั้น ทำให้เราได้ไม่รู้จักกันและไม่เชื่อมโยงกัน ผมว่าการศึกษาในปัจจุบันมันควรจะผลิตมนุษย์ที่ไม่ได้ถือแค่องค์ความรู้เดียว ผมว่ามันไม่พอแล้ว เด็กรุ่นใหม่หรือนักเรียนที่จบไป มันต้องกลม มันต้องเชื่อมโยงได้ และสามารถนำมันมาใช้ต่อได้จริงๆ ไม่ใช่ว่าจบสถาปัตย์มาแล้วอยากจะเป็นนักเขียน ต้องไปฝึกทักษะการเขียนต่อหลังโรงเรียน ความจริงมันควรจะเชื่อมโยงให้ตั้งแต่มหาวิทยาลัยแล้ว ดังนั้น 4-5 ปีในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยมันควรจะทำให้เรารู้มากขึ้น เชื่องโยงได้มากขึ้น ดังนั้นผลลัพธ์ของโรงเรียนที่เกิดขึ้นมันควรจะทำให้นักศึกษาเป็นคนที่มี ทักษะที่หลากหลาย เชื่อมโยงศาสตร์ได้ และนำไปใช้ในแบบของตัวเอง อีกทั้งควรลดการแบ่งแยกความเป็นคณะลง ให้เรารู้จักกันมากขึ้น “การจบเฉพาะทางอาจไม่ตอบโจทย์สังคมและศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง”มันเป็นปัญหาในระดับใหญ่นะ พอเรามองเป็นคณะ เราว่าทั่วโลกก็ต้องใช้ระบบนี่แหละ ถ้ามองเป็นแกนตั้ง แต่เราพูดถึงการเรียนข้ามสาย มันควรเกิดเส้นทแยงขึ้นมากกว่าเส้นตั้งเส้นนอน มันเป็นยุคความคิด หลังศตวรรษที่ 21 ก็คือยุคที่เราเชื่อว่าคนมันกลม และเราถูก Disrupt จากระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมชุดใหม่ เราไม่สามารถผลิตสถาปนิกที่เน้นสร้างสถาปัตยกรรมได้อย่างเดียว สถาปนิกสามารถออกแบบพื้นที่ที่มันเกิดในชั่วขณะ เช่น teamLab ที่นำ Digital Art หรือ Virtual มาออกแบบพื้นที่และที่ว่างที่ทำให้เราเห็นพิพิธ๊ภัณฑ์อีกแบบหนึ่ง มันก็คือสถาปัตยกรรมอีกแบบหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องก่ออิฐฉาบปูนอยู่อย่างนั้น ผมว่ามันเป็นพลวัตของโลกนี้ที่เราจะต้องไปเจอกับความจริงว่าการจบเฉพาะทางมันอาจจะไม่ตอบโจทย์ของสังคมและศตวรรษที่ 21 ที่แท้จริง ผมสอนกระบวนวิชาที่ชื่อว่าประวัติศาสตร์ ทฤษฎีและปรัชญาทางสถาปัตยกรรม (Talk321) ซึ่งมันจะดึงรากมาตั้งแต่สมัยใหม่ ก็คือตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่อังกฤษมาจนถึงปัจจุบัน ทีนี้โลกมันกลมแต่เราถูกแบ่งสาขา พอเราเรียนเรื่องสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เราก็จะไปดูที่กายภาพเป็นหลัก แต่จริงๆ การได้มาของกายภาพและการออกแบบชุดนั้น ๆ มันคือโลกที่การเมืองก็เกี่ยวข้อง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี วิศวกรรมก็เกี่ยวข้อง มนุษย์ ศิลปะ เพลง ก็เกี่ยวข้อง ดังนั้นวิธีการสอนประวัติศาสตร์และทฤษฎีทางสถาปัตย์ฯ ของผมเนี่ย ผมสอนแบบให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสอนแบบไม่เหมารวม คือเราไม่อยากสอนว่า ยุคๆ นี้เรียกว่าอะไร เพราะหลังจากสมัยใหม่แล้ว มันมีความต่างชุดอื่น เราจะเรียนรู้จากกลุ่มความคิดที่มันเป็น –ism มีจะทั้งกลุ่มกระแสหลักและกระแสรอง ซึ่งมีกลุ่มต่อรองซ่อนอยู่และในยุคหนึ่งมันก็กลับมาเป็นกระแสหลัก เราต้องเขาใจตรงนี้ให้ได้ ดังนั้นความหลากหลายและการไม่เหมารวม จะทำให้เด็กเข้าใจและรู้การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ ดังนั้นการสอนการมองโลกและประวัติศาสตร์แบบกลมๆ จะทำให้เราเชื่อมโยงได้
“ห้องเรียนจะต้องทำหน้าที่ว่า จะทำยังไงให้ความรู้มันบูรณาการและนำไปใช้ต่อได้”การสอนจำเป็นต้องปรับตัวและมีพลวัตไปตามสังคมในปัจจุบันมั้ยในบางยุคเราเชื่อว่าการมาเรียนคือการมาเอาความรู้ แต่ปัจจุบันเด็กสามารถเข้าถึงความรู้ได้เร็วและง่ายมาก เราไม่จำเป็นจะต้องไปอ่านหนังสือถึงห้องสมุดแล้ว เราสามารถอ่านจากอินเทอร์เน็ต สามารถค้นหาความรู้และดำดิ่งกับมันได้ หรือถ้าอยากได้หนังสือก็กดสั่ง ความรู้อยู่ในทุกที่แล้ว มันไม่จำเป็นต้องมาเอาความรู้ในห้องเรียน แต่ห้องเรียนจะต้องทำหน้าที่ว่า จะทำยังไงให้ความรู้มันบูรณาการและนำไปใช้ต่อได้ นั่นคือสิ่งสำคัญของการเรียน ดังนั้น การผลิตห้องเรียนที่ให้ผู้สอนเป็นแค่ผู้พูด นักเรียนเป็นแค่ผู้ฟังมาเรียนเพื่อรับสารควรจะจบได้แล้ว มันควรมีเวทีที่ทุกคนได้พูดและแสดงความคิดเห็น มันควรจะเกิดขึ้นในห้องเรียน ลดอัตตาของผู้สอน ผู้สอนควรจะเป็นคนฟังและเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนมากขึ้น ผู้เรียนก็ต้องตื่นตัว ไม่ใช่เพียงแค่มานั่งฟังและจบออกไป แต่ต้องฟัง เชื่อมโยง และพูดออกมา หากรู้สึกว่าไม่ใช่และคิดเป็นอื่นก็แสดงความคิดกลับชุดอื่นไปตรงกลาง ให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่เกิดการแลกเปลี่ยน เราว่าควรเรียนรู้จากความผิดพลาดและความไม่รู้ในห้องเรียนนี่แหละ มันเป็นชุดความรู้ที่ซื้อไม่ได้จากข้างนอก เราชอบให้เด็กเอาปรัชญาที่เรียนสถาปัตย์ฯ ไปวิพากษ์แล้วยกตัวอย่างกับงานสถาปัตย์ฯ ในปัจจุบัน ความน่าสนใจคือ เด็กมีความรู้น้อยแน่นอน แต่เมื่อเขาหยิบไปวิพากษ์ เราจะได้รู้เลยว่าเขาวิพากษ์มันผ่านการตีความยังไง
“เรามองไปที่ลักษณะของบัณฑิตที่จบไป มันควรจะเป็นอะไรที่เข้าไปอยู่ในสังคมโลกนี้ยังไง”เราเรียกสิ่งนั้นว่าประชาธิปไตยในห้องเรียนมั้ยผมมองกว่าอยากให้นักเรียนเราเป็นแบบไหนมากกว่า ผมเชื่อว่าในห้องเรียนก็มีทั้งเด็กที่เชื่อแบบอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมหรือหัวก้าวหน้าปะปนกันไป แต่สิ่งที่สำคัญคือ มันต้องอยู่ด้วยกันได้ผ่านความคิดแบบ Critical Thinking (ความคิดเห็นเชิงวิพากษ์) ไม่ใช่แค่วิพากษ์อย่างเดียว มันต้องมีคลังความรู้และวิพากษ์ผ่านการอ้างอิง เช่น เราพูดถึง Minimal เรามองอาคารหนึ่งจากปัจจัยอะไรบ้างถึงเรียกว่า Minimal ก็แผ่ตรรกะออกมาอธิบายกัน ฉะนั้นผมเชื่อว่าสิ่งที่ได้ในห้องเรียนมันไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอก แต่เราอยากสร้างตรรกะหรือวิธีคิดที่เป็นเหตุและผล ฉันคิดแบบนี้เพราะฉันคิดจากระบบหรือวิธีคิดชุดนี้ นั่นคือการให้ตรรกะให้กับความคิด ส่วนในห้องเรียนจะเชื่อแบบไหน ต้องหยิบและไปเชื่อมต่อเอาเอง เราว่าทางเลือกและการบูรณาการนี่แหละคือห้องเรียนที่ควรจะเป็น จะเป็นประชาธิปไตยในห้องเรียนหรือไม่ผมไม่รู้ครับ แต่เสียงทุกคนเราได้ยินในห้องเรียนและทุกคนได้ออกแบบของตัวเอง บางคนอาจจะเอาไปเชื่อมโยงไปสู่สังคมนิยมของเขา จะเชื่อมโยงแบบไหนก็ไม่ผิด แต่ต้องเข้าใจว่าเชื่อมโยงกันด้วยแบบไหน เป้าหมายของผมอาจไม่ได้มองไปที่ความเป็นประชาธิปไตยนะ แต่เรามองไปที่ลักษณะของบัณฑิตที่จบไป มันควรจะเป็นอะไรที่เข้าไปอยู่ในสังคมโลกนี้ยังไง เป็น Global citizenship มากกว่า คือความเป็นพลเมืองโลกที่มันซิงค์เข้าไปกับโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป
“มหาวิทยาลัยคือ University คือ Universe ที่รวมคนรวมศาสตร์แบ่งคนไปตามแขนง แค่คนหลายพันพ่อหลายพันแม่มารวมกันในห้องเดียว มันก็มีการเมืองอยู่ในห้องนั้นแล้ว”การเมืองมีความสำคัญต่อระบบการศึกษายังไงบ้างผมคิดว่าถ้าเรามองมองร่มผ่านการปกครองและรัฐศาสตร์ การเมืองแบบนั้นการเมืองไม่ได้อยู่ในทุกอย่างครับ แต่ถ้าเรามองว่าการเมืองแปลว่าความสัมพันธ์ การเมืองเกิดขึ้นแน่ครับ ถ้าเราพูดถึงคนในเชิงสังคม ง่ายๆ เลยคือ คนสองคนตกลงกันว่าจะไปกินข้าวที่ไหน นี่ก็เป็นการเมืองแล้ว การเมืองยังไงคือ ใครถือเงินเท่าไหร่ ถ้าคนหนึ่งรวยกว่าบอกว่าอยากกินอาหารหรูๆ แต่อีกคนบอกว่ามีเงินน้อยอยากกินสตรีทฟู้ด นี่ก็เป็นการเมืองระหว่างคนสองคนแล้ว ในเรื่องมันไม่ได้เกิดความเท่าเทียมกัน หากเอาหลักไปพิงทางเศรษฐศาสตร์ พิงตามความชอบบ้าง คนหนึ่งอยากกินอาหารเหนือ อีกคนอยากกินอาหารฝรั่งเศส ไม่เกี่ยวกับเงินแล้ว มันเกี่ยวกับความชอบ แต่ใครต่อรองกันได้มากกว่า เหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ในเชิงสังคม มันเกี่ยวกับคน ถ้ามองแบบนั้น การเมืองอยู่ในทุกอย่างครับ มหาวิทยาลัยคือ University คือ Universe ที่รวมคนรวมศาสตร์แบ่งคนไปตามแขนง แค่คนหลายพันพ่อหลายพันแม่มารวมกันในห้องเดียวมันก็มีการเมืองอยู่ในห้องนั้นแล้ว เราเอาตัวเองไปชนกับโครงสร้างและการเมืองในหลายรูปแบบ หลายมิติมากเลย แน่นอนว่าความงงและความเบลอของการกดทับโครงสร้างหลายๆ ชุดนี้ ทำให้เด็กปี 1 ช็อก เราอาจจะเข้าใจเพราะเราอยู่ในมหาลัยไทยด้วยกัน นอกจากค่านิยมของคณะที่เราต้องเข้าใจแล้ว ในแกนตั้งที่เจอกับอาจารย์บางคนเขาก็วางตัวกับนักศึกษาคนละแบบกันไปหมดเลยนะ ดังนั้นมันก็จะมีความเข้าใจบางอย่าง เช่น อาจารย์คือผู้ผูกขาดทุกอย่างด้วยระบบ เพราะอาจารย์เป็นคนให้คะแนนเอง ฉะนั้นเราจะเรียนยังไงให้คุ้มทุน คือเรียนยังไงให้ได้ A มันก็ต้องตอบให้ตรงใจอาจารย์ คนที่ให้คะแนน นี่คือสิ่งที่เป็นการเมืองชุดใหญ่ การประเมินผลผ่านเกรดและอิงเกณฑ์ มันทำให้นักเรียนไม่แคร์ว่า A ที่ได้มาเพราะได้ความรู้เพิ่มไหม หรือจริงไม่จริง แต่เพียงตอบคำถามอาจารย์ต้องการให้ได้ นี่คือการเมืองชุดใหญ่ที่น่ากลัว และเป็นตัวที่ทำลายพื้นที่แห่งความรู้มากที่สุดในความคิดของเรา
“ตอนนี้เด็กไม่ได้พูดถึงตัวคนแล้ว มันจึงไม่ใช่สงครามตัวแทน มันเป็นสงครามของระบบ ฉันต้องการระบบที่มันดี”หากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากตรงไหนถ้าพูดถึงปัจจุบันวันนี้ ปัญหาเรื่องโครงสร้างสำคัญที่สุด เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าต่อให้เปลี่ยนคน ต่อให้เปลี่ยนผู้เล่นยังไงก็ตาม ระบบโครงสร้างมันแข็ง เราก็ต้องถูกทำให้คิดแบบเดิม เพราะโครงสร้างของสังคมมันเป็นแบบนี้ ในระดับโรงเรียนหรือมหาลัยก็เหมือนกัน ต่อให้เด็กอยากทำยังไง อยากให้มหาวิทยาลัยมันเชื่อมโยงสาขายังไง แต่ระบบการสอนก็เป็นแบ่งคณะ ไม่มีตัวไหนที่เชื่อมกัน อาจารย์ไม่เป็นคนที่ทำให้เกิดการบูรณาการนักเรียนก็อยู่ได้แค่นี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาใหญ่ และที่เด็กออกไปต่อรองทุกวันนี้ เพราะเขาเห็นแล้วว่ามันต้องเปลี่ยนระบบ มันไม่ได้เปลี่ยนที่คน ที่การเมืองชุดนี้ มันเป็นมรดกของการเมืองชุดที่แล้ว ซึ่งการเมืองชุดที่แล้วเถียงกันผ่านตัวคน ตัวพรรค แต่ตอนนี้เด็กไม่ได้พูดถึงตัวคนแล้ว มันจึงไม่ใช่สงครามตัวแทน มันเป็นสงครามของระบบ ฉันต้องการระบบที่มันดี ฉะนั้นแล้วปัญหาเชิงโครงสร้างคือปัญหาที่เราควรพูดกันในนาทีนี้
“ความจริงแล้วเมืองมันเป็น 3 มิตินะ ดังนั้นเราเชื่อในเส้นทแยง เราเชื่อในเรื่องของการรื้อสร้างระบบ”เริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเองก่อนได้มั้ยเราลองมาตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเราเปลี่ยนก่อน เราต้องการความคิดที่ทุกคนเป็นใหญ่ในเมือง ทุกคนเคารพกัน ทุกคนอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพากัน เห็นอกเห็นใจกันจริง ๆ แล้วเราก็จะสร้างบางอย่างขึ้นมาที่มันเป็นจุดร่วมตรงกลางแล้วดันขึ้นไป เพื่อสร้างเมืองของเราขึ้นไป แต่พอเราดันขึ้นไปแล้ เจอเทศบาลบอกว่า ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่เป็นแผน ไม่อยู่ในแผน ผมรับงานคุณไม่ได้ ผมต้องรอเจ้านายสั่ง มันก็ติดเพดานตรงนี้อยู่ ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือ เอกชนก็ทำได้ ผู้ประกอบการตัวเล็กก็ทำได้ แต่มันก็เป็นสเกลเล็กๆ ทีนี้พอมองอีกด้าน ถ้าข้างบนเปลี่ยนโครงสร้างเปลี่ยน แล้วคนข้างล่างมันเป็นยังไง สมมุติเปลี่ยนเป็นระบบที่ทำให้คนคิดเท่ากันในทุกตัวละคร คำถามคือ ถ้าเขาคิดให้แล้วเราไม่อยู่ในกระบวนการคิด เราก็จะกลับไปอยู่ในท่าเดิมๆ ก็คือคนที่คิดให้ก็แก่แล้ว อายุ 50-60 ปี แล้วมันเป็นความคิดเก่าแล้ว แต่เขาอาจจะหวังดีก็ได้ว่านี่มันเป็นชุดความดีหรือชุดการดำเนินสังคมที่ควรจะเป็น แต่โลกมันหมุนเร็ว ตัวละครที่เป็นมนุษย์ปัจจุบันที่เป็น Active Citizen ตอนนี้ไม่ใช่ว่าเรียนจบแล้วถึงจะเป็น Active Citizen นะ อายุ 14-15 เขาก็รู้ดีกว่าคนอายุ 20 แล้ว ฉะนั้นเขาก็เป็น Active Citizen ในเมืองได้ เราต้องทำให้คนพวกนี้ให้อยู่ในระบบของนักคิดและการวางผัง ดังนั้นถ้าคิดแบบเดิมลงมาแล้วคนมันไม่เอา คนมันก็ไม่เอา มันก็ทำการเพิกเฉยได้ ทั้ง 2 ทางมันก็เป็นการมองแบบคนละเลนส์ คนละมุม มองแบบบนลงล่าง หรือล่างขึ้นบน ถ้าเรามองแบบนี้ เราจะเห็นเลยว่ามันเป็นแกนตั้ง แต่ความจริงแล้วเมืองมันเป็น 3 มิตินะ ดังนั้นเราเชื่อในเส้นทแยง เราเชื่อในเรื่องของการรื้อสร้างระบบ ทีนี้จะทำยังไงให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้ก็คือ มันต้องถูกคิดใหม่จากการแทงเส้นทแยงและการสร้างการเห็นพ้องร่วมกัน มันอาจจะฟังดูเป็นการขายฝันนะ แต่เราเชื่อว่า การคิดแบบใหม่มันควรจะลบคำว่าคุณวุฒิและวัยวุฒิออกไป มันควรจะเกิดพื้นที่ของทุกคนขึ้นจริงๆ รัฐไม่ใช่เป็นคนทำแต่รัฐควรเป็นผู้จัดหา ทุกคนบนพื้นที่มีตัวตนที่ทำอะไรก็ได้ ที่นี้มันจะถูกคิดร่วมกัน ไม่ใช่แค่ Co-working ที่มากองรวมกัน แต่มันต้อง Collaborate กันอย่างแท้จริง มันควรจะเป็นกระบวนการไม่ใช่ผลลัพธ์ อีกหนึ่งอย่างที่เราคิดว่าเป็นกุญแจสำคัญคือ วัฒนธรรม เซ็ตของมันคือการใช้ ถ้าเราไม่ใช้มันก็อย่าเรียกมันว่าวัฒนธรรม อย่าไปหลงกลคำว่าวัฒนธรรมผ่านคำว่าประเพณี เพราะคำว่าประเพณีคือการกลับไปหาสิ่งมันเป็นแก่น วัฒนธรรมไม่จำเป็นจะต้องเป็นประเพณีนิยม ไม่ต้องสมัยใหม่ที่สุด เราใช้กันแบบไหน ก็ดูที่ตรงนั้น ผลประโยชน์เป็นสิ่งจำเป็น อย่าเอาศีลธรรมไปครอบ เพราะศีลธรรมที่ตัวเองคิดแต่คนอื่นไม่คิดนั่นไม่ใช่ศีลธรรม ดังนั้นแล้วถ้าเราแชร์กันได้ พื้นที่หนึ่งพื้นที่สร้างคุณประโยชน์และสร้างสิทธิให้กับคนจำนวนมากกว่าได้ นั่นคือศีลธรรมที่พึงมี เพราะหากเป็นพื้นที่ที่ถูกคนอื่นคิดให้ มันอาจจะไม่ถูกใช้และกลายเป็นพื้นที่ร้างเท่านั้นเอง
“จะผิด จะงงงวย จะขบถ อะไรก็ควรทำตอนอยู่ในโรงเรียนนี่แหละ เพื่อตามหาตัวเอง”คุณเชื่อในคำว่าขบถในระบบมั้ยขบถมันเป็นการมองคนที่ไม่ทำตาม ซึ่งผมน่าจะโดนเป็นคนแรกๆ สำหรับการขบถในระบบ (หัวเราะ) แต่คำถามคือ ผมผิดอะไร แม้ว่ามันจะมีความไม่พอใจในตัวของผมเยอะ เช่น ทำไมย้อมผมขาวมาสอน ทำไมแต่งตัวฉูดฉาดมาสอน แต่มันไม่อยู่ในระเบียบของคำที่เรียกว่าผิด ถ้าเราเข้ากลไก เรายังเล่นได้อยู่ เช่น ผมถามฝ่ายบุคคลว่าผมย้อมสีผมได้ไหม ดังนั้นผมก็กัดสีขาวมาเลย ผมเชื่อในบทบาทและหน้าที่ หน้าที่ผมคือสอน ผมก็ไม่เคยบกพร่องหรือไม่เต็มที่กับการสอน แต่ในเรื่องตัวตน ผมก็ถามก่อนแล้วว่าทำได้ไหม ทำได้ผมก็ทำเลย มองในด้านของนักศึกษา เขาจ่ายค่าเทอมมาเรียนมันจะผิดจะถูกจะโง่ก็ในโรงเรียนนี่แหละ เพราะจบไปแล้วถ้าผิด ผลกระทบมันคือ ผลงานจริงๆ ของเมืองหรือรายได้จริงๆ ของเขา เรามาให้ความรู้เขา จะผิด จะงงงวย จะขบถจะอะไรก็ควรทำตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยนี่แหละ แล้วพอจบไปจะได้ไปพัฒนาประเทศ ดังนั้นความผิดพลาด สิ่งที่อยากรู้ อยากทดลองต้องอยู่ในห้องเรียน โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ตรงนั้น ดังนั้นคำว่า ขบถในพื้นที่การศึกษามันไม่ควรเกิดขึ้น เพราะมันคือการลองผิดลองถูก ถ้าเราเอาเลนส์ไปจับด้วยกฎระเบียบชุดเดียวมันไม่ทำให้นักเรียนได้ตามหาตัวเอง ไม่ได้ทดลอง แล้วตอนที่เขาผิดไม่ได้แล้ว อย่างเช่นตอนที่เขาต้องรับผิดชอบกับงานจริงๆ งานของเขาส่งผลกระทบจริงๆ กับเมือง เขาไปผิดตอนนั้นได้หรอ ถ้าเราที่โรงเรียนเพื่อให้เป็นคนที่ไม่ขบถ ทำให้เชื่องเป็นคนแบบเดียว แบบนั้นไม่เข้าโรงเรียนน่าจะเจอทางออก น่าจะรู้ว่าจบแล้วไปไหนมากกว่าเข้ามหาวิทยาลัย “ถ้าเราไม่รู้โลกกำลังเป็นยังไง เราจะสอนเด็กได้ยังไง”ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งทางวิชาการ คุณยังต้องเรียนรู้เรื่องอะไรอีกบ้างมั้ยแน่นอนว่ายังต้องเรียนรู้ สิ่งหนึ่งเรารู้สึกว่าเราไม่อยากแก่ ถ้าแก่แปลว่าเชย ถ้าแก่แปลว่าพูดอะไรไปแล้วไม่ฟัง ถ้าแก่แปลว่าไม่รู้จักเพลงที่เด็กๆ พูดกัน ไม่รู้จักแฟชั่นนั่นคือแก่ เราไม่อยากแก่ เราอยากเป็นคนที่รู้ทัน ดังนั้นเราเรียนรู้ผ่านนักเรียน เราชอบเป็นเพื่อนนักเรียนในเฟซบุ๊กเพราะว่าเด็กเวลาแชร์คอนเทนต์ หรือเวลาเด็กพูดกันหรือคิดเห็นยังไง เราจะเข้าได้ใจเทรนด์และแนวโน้มของคนและสังคมจากเด็กนี่แหละ และเราชอบมากเวลาเด็กพูดในสิ่งที่มันผิดหรือพูดในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ นั่นแหละมันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่า อ๋อ เขาเข้าใจแบบนั้น เราเข้าใจแบบไหน ความรู้ชุดไหนที่เขาขาด คือมันเติมกัน เด็กก็เติมอาจารย์ อาจารย์ก็เติมเด็ก แกนตั้งแกนนอนหายไป กลายเป็นเส้นทแยงเกิดขึ้นแล้ว ความรู้แต่ละห้องเรียนก็เฉพาะตัวมากขึ้น เพราะเกิดจากตัวละครที่กล้าพูด กล้าฟัง ดังนั้นเวลาเราอยู่ในห้องเรียนมันก็จะมีค่ามากในการฟัง ในการแลกเปลี่ยน และค่าเทอมก็จะคุ้มมาก ส่วนตัวเราเองจะหนังเหี่ยว สายตาสั้น ฟันผุ ผมหงอก โอเค นั่นเป็นสัจจะ แต่เราไม่อยากจะเป็นอาจารย์ออกแบบที่ไม่รู้ว่ากางเกงอะไรกำลังมา ไม่รู้ว่าเด็กที่ไปคาเฟ่เพราะไปถ่ายรูป ไม่รู้ว่าสีผมอะไรกำลังมา เราจะออกแบบได้ยังไง ถ้าเราไม่รู้โลกกำลังเป็นยังไง เราจะสอนเด็กได้ยังไง ถ้าเราไม่รู้เราก็จะบอกเด็กว่า วันนี้แต่งตัวตลกจัง ตลกของเด็ก แปลกของเด็ก มันมีเหตุผล และที่มาของมัน เด็กเขาเลียนแบบและเชื่อมโยงอะไรบางอย่างมา ถ้าเราไปกดทับโดยความไม่รู้เนี่ย ตลก เพราะอาจารย์นั่นแหละที่ไม่รู้ เราเคยเป็นเป็นอาจารย์ที่เคยโดยเด็กแซวว่า อาจารย์แต่งตัวอะไรมา เอาผ้าปูโต๊ะมาแต่งหรอ (หัวเราะ) เราเสียความมั่นใจนะ และเราก็โดนบุลลี่อย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ พอเราเป็นอื่น เราจะโดนกดทับ แต่พอเราแก่จนเราเข้าใจว่า ที่เราแต่งตัวแบบนี้เพราะอะไร เช่น เราสอนเรื่องยุค 70 พูดถึงการรื้อสร้างของอำนาจ การแต่งลายสก็อต มันคือสัญญะทางราชวงศ์มาต่อรองทางรัฐ โดยการเอามาใช้แบบแต่งข้างถนน เราแต่งแบบนี้มีที่มา เพื่อเราจะขายอะไร เราก็สามารถ defend ได้ว่ามันไม่ใช่ผ้าปูโต๊ะนะ มันคือการแสดงออกอย่างนั้นอย่างนี้ มันคือการทำให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ และมันก็ทำให้เรากลมขึ้น เราไม่ได้มองว่าเราไปกดทับคนที่ไม่รู้นะ แต่เขาก็จะได้รู้จักสิ่งที่เขาไม่รู้แล้วนี่แหละคือโรงเรียนที่ควรจะเป็น คือถามได้ แทงกันได้ เราว่าโรงเรียนแบบนี้มันน่ารักดี และเราจะได้เติบโตไปด้วยกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน
ถ้าการเมืองดี ระบบการศึกษาจะเป็นอย่างไรถ้าการเมืองดี เราจะเกิดการศึกษาที่ผลิตคนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจะผลิตความเชื่อมโยง เราจะทำลายระบบอุปถัมภ์หรือระบบใดๆ ที่เกิดขึ้นได้ ลองคิดภาพดูว่า มหาวิทยาลัยลดความเป็นอัตตาลง ลดความเป็นตัวตนลง เชื่อมโยงไปอยู่กับพื้นที่จริง ๆ ได้ มหาวิทยาลัยอย่าทำตัวยิ่งใหญ่ อย่าทำตัวเป็นกระดูกให้กับประเทศ เพราะประเทศต้องมีทั้งคนเรียนจบและเรียนไม่จบ สิ่งสำคัญคือ ถ้าการเมืองดี มหาวิทยาลัยจะทำให้คนเชื่อมโยงและกลับไปสร้างเมืองได้ ไม่ใช่ไหลกันเข้าไปในเมืองใหญ่ การเมืองดีจะทำให้คนจบมหาลัยนั้นพัฒนาเมืองนั้นได้ มหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้มองคนว่าคุณค่าอยู่ที่ว่านามสกุลอะไร หรือเป็นเด็กในสังกัดไหน ความเชื่อมโยงนี่แหละมันจะทำให้สังกัดมันหายไป เราจะเกิดการเชื่อมโยงกันที่มากมายกว่านี้ เช่น มหาวิทยาลัยในกรุงเทพมาทำงานร่วมกันกับชุมชนที่เชียงใหม่ เชียงใหม่ยิงไปทำงานกับมหาวิทยาลัยที่มหาสารคาม การเชื่อมโยงแบบนี้มันจะเกิดขึ้น ถ้าการเมืองดี สังกัดจะหายไป เราจะมองว่า เราจะผลิตบัณฑิตมารับใช้พื้นที่ไหนของเมือง คนก็จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดหรือพัฒนาที่ที่เขาอยู่จริง ๆ ไม่ใช่เรียนจบแล้วต้องถามต่อว่า จบแล้วไปไหน ซึ่งจบแล้วไปไหนเป็นคำถามที่ทุกวันนี้เราก็ยังตอบกันไม่ได้ ถ้าการเมืองดี เราจะเรียนจบแล้วมีที่ไปครับ ถ้ามหาลัยเป็นทางเข้า แล้วเรียนจบต้องถามว่าออกไปแล้วต้องไปไหน แสดงว่ามันไม่น่าเข้านะ มหาวิทยาลัยควรเป็นที่ที่ทำให้เรารู้ว่าจบแล้วไปไหน |