เป็นเรื่องที่วันก่อนนึกขึ้นได้ … ระหว่างที่กำลังเดินอยู่ริมถนน ด้านขวา คือการจราจรที่หนาแน่นพลุกพล่านยามค่ำคืนที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างเป็นปกติ ในหัวพลางคิดถึงการเดินทางไปทูเลโค๊ะที่กำลังใกล้เข้ามา การเดินเขาเข้าป่านั้น ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการท่องเที่ยวมานานแล้ว ถ้าจะว่ากันตามจริง นึกย้อนกลับไป ก็ไม่แน่ใจนักว่าครั้งสุดท้ายที่ยังเห็นเป็นการท่องเที่ยวนั้นคือเมื่อไหร่ อย่าว่าแต่ภูเขาลำเนาไพรเลย หลายครั้งหลายครา การพาตนเองไปเยือนหมู่บ้านเยือนเมือง ก็มิใช่การท่องเที่ยวอีกต่อไป หากแต่คือการเดินทาง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ดีกว่า ความทรงจำที่ยังอยู่ ก็ไม่ใช่ตอนที่ยืนอยู่ที่จุดหมายปลายทาง กลางสนามหญ้าของโรงเรียน ณ เมโลเด แสงของกองไฟวาบเข้าตา รองเท้าทุกคู่วางรอบกองไฟ หลังจากเดินลุยข้ามน้ำเงาเมื่อช่วงกลางวัน ตอนนี้ หวังพึ่งไอร้อนจากกองไฟ หวังว่ารองเท้าจะแห้งสนิท แสงจากเปลวไฟก็ไม่ได้สว่างมากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เห็นเค้าโครงใบหน้าของใครต่อใครที่นั่งอยู่รอบๆกองไฟนี้ ดวงดาวระยิบระยับเต็มฟ้า กลางป่า ณ รอยต่อของแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่-ตาก สิบสี่ชีวิตแลกเปลี่ยน เสวนา และรับฟัง ความทรงจำที่มีต่อการ “เดิน” ทางไปยังบ้านทีทอทะ ผุดขึ้นมา ทูเลโค๊ะ เป็นชื่อที่ชาวปกาเกอะญอเรียกสถานที่แห่งนี้ แปลว่า ภูเขาสีทอง ถึงวันนัดหมาย เรารวมตัวกันที่สำนักงานสถาปนิกแห่งหนึ่งย่านหัวลำโพง การเดินทางไปยังแม่สอดใช้เวลาราวแปดชั่วโมง แสงอาทิตย์ยังไม่แง้มฟ้า เราแวะซื้อเสบียง และของยังชีพที่ย่านตลาดบ้านเหนือ ร้านค้าตามตึกแถวเริ่มเปิดค้าขายกับเช้าวันใหม่ แต่บริเวณที่คึกคัก และสว่างไสวก็ต้องยกให้บริเวณของตลาดสด ตลาดบ้านเหนือดูจะมีของที่เราต้องการไม่ครบ เราจึงไปกันต่อที่ตลาดแม่สอดซึ่งมีความพลุกพล่านมากกว่าตลาดก่อนหน้า เราเริ่มเห็นผู้คน และวัฒนธรรมตามแบบพม่าแทรกซึมอยู่ในแม่สอด เพราะแม่สอดก็เป็นเส้นทางหนึ่งในการข้ามเขตแดนเข้าสู่พม่า อีกทั้ง เส้นแบ่งอาณาเขตของประเทศก็เกิดขึ้นภายหลังวัฒนธรรม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่รูปแบบวิถีชีวิตของที่นี่จะดำเนินไปทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเมย เมื่อเสร็จธุระจากตลาดแม่สอด เรามุ่งหน้าเพื่อเดินทางสู่จุดต่อไป เราใช้เส้นทางเลียบแม่น้ำเมยเพื่อขึ้นเหนือ แสงแดดยามเช้า ทิวเขา ต้นไม้ สายน้ำ ความคุ้นเคยแปลกๆ สายตาเหม่อลอย มองออกไปที่ผิวน้ำ มีไม่มากนักที่แม่น้ำจะไหลไปสู่ทิศเหนือ เหตุมาจากภูมิประเทศ แต่แม่น้ำเมยนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงราวกับว่า เรานั้นได้ไหลไปพร้อมกับสายน้ำ เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง สายน้ำคงอำลา แยกตัวออกไป แต่ ณ เวลานี้ น้ำเมยยังไหลคู่ไปกับเรา ช่วงเช้าบนทางหลวงสาย หนึ่งศูนย์ห้า ณ สามแยกหนึ่ง เราเลี้ยวซ้ายลอดผ่านซุ้มไม้เก่า เข้าสู่ท่าสองยาง ถนนคอนกรีตแคบๆ พาเราผ่านบ้านเรือนหลังเล็กไปทีละหลัง หากมองผ่านบ้านเรือนเหล่านี้ไป จะเห็นท้องนาอยู่ไม่ไกล มีฉากหลังเป็นทิวเขา เราค่อยๆมุ่งหน้าสู่ที่ทำการ อบต.ท่าสองยาง บ้านเรือหนาแน่นขึ้นมาบ้าง รั้วบ้านเตี้ยๆ ต้นไม้ตามขอบเขตบ้าน ผนังบ้านส่วนใหญ่ยังเป็นไม้ เสาไม้ใหญ่ๆทำหน้าที่รับน้ำหนักเพียงหลังคา หลังคาลอนคู่ที่ผ่านร้อนผ่านฝน และผ่านหนาวมาหลายครา เป็นภาพที่มีให้เห็นตลอดทั้งสองฝั่งถนน หลังคาตองตึงยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ถึงวันหนึ่งก็อาจจะไม่มีแล้ว แม้จะอยู่บนภูเขาแต่ไม่ใช่อุทยาน การเดินทางเพื่อไปเยือนทูเลโค๊ะ จะต้องติดต่อแจ้งเรื่องที่ อบต. ก่อน ณ ที่นี้ สำหรับทูเลโค๊ะ ผู้คนในพื้นที่ยังคงช่วยกันดูแล รถกระบะสองคันพาเราไปยังแม่จวาง เราใช้ถนนสายหนึ่งศูนย์ห้าและเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแคบๆอีกครั้ง กระเป๋าเป้ใบใหญ่ของแต่ละคนวางอยู่ที่พื้นกระบะ ร่างกายขยับซ้ายขวาไปตามคำสั่งของผิวถนน รถกระบะจอดชิดขวาริมท้องนาท้ายหมู่บ้านแม่จวาง เราพักคอยใต้ร่มไม้ ไม้ไผ่ท่อนยาวถูกนำมาวางเรียงขนาบกันเป็นที่นั่ง ลมไหวอ่อนๆ นาขั้นบันไดตรงหน้า ชายชราเดินบนคันนา เรือนไม้หลังคาตองตึง จากตรงนี้มองเห็นภูเขาลูกหนึ่ง แต่ไม่ใช่ลูกนี้ที่เราจะไปกัน ทูเลโค๊ะ ไม่สามารถมองเห็นได้จากจุดนี้
อากาศเริ่มร้อนขึ้น ก้อนเมฆลอยต่ำ กระเป๋าถูกยกขึ้นแผ่นหลัง เสียงพื้นรองเท้าถูกับผิวดินเริ่มชัด เราเดินเป็นแถวไปตามคันนา และค่อยๆไต่ระดับจากที่ราบขึ้นสู่ตีนเขา ท้องนามองเห็นได้กว้างมากขึ้น เพียงครู่เดียว เมื่อมองกลับไป จุดที่ได้นั่งพักก่อนหน้านี้ก็อยู่ไกลลิบตา แสงแดดส่องทะลุผ่านใบไม้ เสียงเหยียบย่ำไปบนดิน และการหายใจอย่างเป็นจังหวะ ทุกอย่างมีเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง ทั้ง”ช่วงเวลา”ที่เหมาะสม และการ”ให้เวลา”อย่างเหมาะสม ใน”ขาไป”ของเรา ผ่านไปสักพัก เราเดินสวนกับ”ขากลับ”ของอีกฝ่าย รอยยิ้มและการให้กำลังใจเหมือนเป็นการเตือนกลายๆ แต่เมื่อถามถึงระยะทางที่เหลืออยู่ และได้คำตอบกลับว่าอีกไกล มันกลายเป็นความสุข สุขว่าสภาวะนี้ยังไม่จบลงในเวลาอันใกล้ ฝีเท้ายังย่ำเดินต่อไป ยังไม่มีทิวทัศน์ให้มองไปไกลมากนัก ทางเดินบางช่วงกว้างหลายเมตร บางช่วงทางเดินกว้างเพียงสองคืบ ด้านซ้ายคือเขาที่ลาดเอียงชันขึ้นไป ด้านขวาดินลาดเอียงชันลงไปไกลเช่นกัน แต่โดยรวมแล้วคือการค่อยๆเดินจากด้านข้างของสันเขา ไปอยู่บนสันเขา แล้วเดินต่อไปจนถึงยอดเขา ฝีเท้ายังย่ำเดินต่อไป เส้นทางเริ่มลาดลง ความชื้นเริ่มมีให้รู้สึกได้ ไม่นานก็พบกับลำธาร กองหินกลางลำธารเหมาะแก่การนั่งพัก เราใช้จุดนี้เพื่อพักทานอาหารกลางวัน กระเป๋าบนหลังสัมผัสกับพื้น สัมภาระด้านในถูกนำออกมา กินไปคุยไป น้ำเย็นในลำธารค่อยๆไหลผ่าน แทรกตัวไปตามหินอย่างคล่องแคล่ว เมื่อถึงเวลาสมควร กระเป๋ากลับขึ้นไปอยู่บนแผ่นหลังอีกครั้ง เมื่อเส้นทางก่อนหน้านี้ลดระดับลงมาจนถึงลำธารได้ เส้นทางต่อจากนี้จึงต้องกลับไปอยู่ที่ระดับเดิม และสูงขึ้นไปเรื่อยๆ รองเท้าขยับอีกครั้ง ราบบ้าง ชันบ้าง ขอเพียงยังก้าวไปข้างหน้า อาจจะช้าบ้าง พักบ้าง หลับตาแล้วฟังเสียงของที่นี่ เสียงใบไม้กระทบกัน เสียงสายลมที่อยู่ห่างออกไป หยุดและหลับตาเพื่อฟังเสียงของที่นี่บ้าง ทุกอย่างมีเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง แต่การให้เวลาอย่างไม่เหมาะสมทำให้ได้อยู่ ณ จุดนั้นกับตัวเองอย่างสาสมใจ จนสาสมใจเกินไป หากเรียกว่า หลง คงไม่ผิดนัก เพราะตอนนี้ ที่นี่เหลือเพียงหนึ่งลมหายใจและเป้ใบหนัก ก้มมองพื้นดิน มองหาร่องรอยที่ถูกเหยียบ มองใบไม้ที่พื้น คล้ายร่องรอยที่เกิดขึ้นใหม่ไม่นาน จึงเดินตามและขึ้นเนิน แต่พบกับแนวต้นไม้ทึบ จังหวะหัวใจเต้นเร็วขึ้นเล็กน้อย ด้านขวาเป็นสันเขาอีกสัน เมื่อมองตามไป สันนี้ลาดต่ำลง หากเดินตามก็ดูจะห่างออกจากจุดหมายเย็นนี้ จึงเดินอ้อมเนินไปทางซ้าย และกลับเข้าเส้นทางอีกครั้ง จงให้เวลาอย่างเหมาะสม เสียงย่ำพื้นกลับมาดังรอบตัว เราออกจากแม่จวางช้ากว่าเกณฑ์ทั่วไป จนเวลานี้ จึงยังอยู่ระหว่างทาง แสงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า อากาศเย็นลงเล็กน้อย ทางเดินกลางป่าเริ่มมืดลง เส้นทางเป็นทางราบจึงเร่งฝีเท้าให้ไวขึ้นได้บ้าง ได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมทางใหม่ น้ำใจและไมตรีจิตร ซักประวัติกันเล็กน้อย ร่วมทางกันไป แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า อากาศเย็นลงอีก ไฟฉายขนาด”พกพา”ถูกเรียกออกมาตามหน้าที่ การมาถึงช่วงที่ต้องปีนป่ายผาหินในเวลานี้ด้วยการนำทางของแสงสว่างฉบับพกพา เมื่อพิจารณาถึงด้านดี ทำให้เราจดจ่ออยู่กับเส้นทางเท่าที่แสงจะเผยให้เราเห็น ไม่ต้องแบ่งการจดจ่อไปอยู่กับหน้าผาและทัศนียภาพฉบับหน้าผา หยุดพักและหันกลับไป เห็นหางของแสงกำลังจะหลบหลังทิวเขา เมฆทึบครึ้มอยู่ไม่ไกลนัก แสงจากฝ้าแลบวาบออกจากกลุ่มเมฆนั้นเป็นระยะๆ หันกลับมาเดินตามวงแสงแคบๆ ต่อไป ฟ้ามืดมาสักพักแล้ว เส้นทางกลับมาเป็นแนวราบ เข้าสู่ป่าทึบอีกครั้ง แต่ไม่นานก็พบว่ากำลังเดินอยู่บนทุ่งหญ้า ด้านขวาไกลออกไปไม่มากเป็นหน้าผา เส้นทางมองออกอย่างชัดเจน แสงไฟจากกลุ่มเต็นท์ใกล้ยอดของทูเลโค๊ะเห็นอยู่ไม่ไกล เพียงหนึ่งอึดใจ เราก็มาถึงจุดกางเต็นท์ของเราในค่ำคืนนี้ หลังจากกางเต็นท์ส่วนตัว และมุงผ้าสำหรับส่วนกลางเสร็จ วัตถุดิบสำหรับมื้อเย็นในค่ำคืนนี้ถูกนำมาวางรวมกัน พ่อครัวแม่ครัวเริ่มจัดแจง เตาแก๊สพกพาเริ่มทำหน้าที่ ไม่ไกลจากที่นอนคืนนี้ กองไฟถูกจุดขึ้น เปลวไฟและเถ้าถ่านล่องลอย สายลมเย็นพัดผ่าน ต้นหญ้าสูงพริ้วไหวไปตามสายลม สงบ เสียงก้อนถ่านแตกออก ไออุ่นของกองไฟกระทบใบหน้า อาจเพราะค่ำคืนนั้นที่เมโลเดได้ผ่านมานาน กองไฟกองนี้จึงเรียกความทรงจำในคืนนั้นกลับมาให้พอหายคิดถึง เสียงมีดสับลงบนเขียงปนเสียงหัวเราะและคำสบประมาทในฝีมือการทำอาหาร ฝากล่องข้าวเปลี่ยนหน้าที่เป็นจาน ทุกคนลุ้นในรสชาติอาหารของค่ำคืนนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคาดหวังอยู่แล้วสำหรับรสชาติ ถึงจะออกมาไม่ดีนัก แต่เราใช่จะมีตัวเลือกอื่น อีกอย่างด้วยระยะทางที่ผ่านมาในวันนี้ ทานอะไรก็คงจะถูกปากไปซะหมด บทสนทนาดำเนินไป สลับกันเล่าเรื่องของตนเอง แม้จะพบปัญหาเดียวกัน แต่ทุกคนมีวิธีหาความสุขที่แตกต่างกันไป อากาศเริ่มเย็นลงอีก คืนนี้ฟ้าปิด วงสนทนาเริ่มเงียบลง บางทีอาจจะถึงเวลาที่แต่ละคนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อน และเตรียมพร้อมสำหรับวันพรุ่งนี้ แม้เหนื่อยล้า แต่มีความสุข อากาศเย็นรับรู้ได้ถึงในเต็นท์ แม้จะตื่นสายไปสักหน่อยแต่อากาศยามเช้าบนนี้ยังเย็นอยู่ น้ำแข็งเกาะตามใบหญ้าที่พื้นดิน เดินออกจากบริเวณที่นอนมาบนเนินนี้ หมอกหนาด้านล่างปกคลุมไปทั่ว มีเพียงยอดเขาที่สูงพอเท่านั้นที่ยังโผล่ขึ้นมา นี่ไม่ใช่จุดที่สูงที่สุดของทูเลโค๊ะ แต่จุดสูงสุดห่างออกไปไม่ไกล และสูงกว่าไม่มาก วิวที่เห็นคงไม่ต่างกันเท่าใดนัก อีกอย่าง จุดสูงสุดนั่นก็ไม่ได้เป็นจุดหมายในครั้งนี้เลย จุดหมายอยู่กระจัดกระจายไปทั่ว ตลอดทาง แต่ไม่ใช่จุดสูงสุด เตาแก๊สพกพาตื่นขึ้นอีกครั้ง ต้องยอมรับว่ากาแฟชงแก้วนี้เติมเต็มยามเช้าได้จริงๆ มื้อเช้าเสร็จสิ้น สัมภาระถูกเก็บเรียบร้อย เราหารือกันเรื่องเส้นทางกันเล็กน้อยเพราะเวลาที่จำกัด วันนี้เราเดินลงด้วยเส้นทางอีกทางหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาน้อยกว่าเมื่อวาน แม้จะเป็นการเดินลง แต่ไม่ได้เดินลงตลอดทาง จากผืนหญ้ากว้าง เปลี่ยนเป็นป่าทึบ เส้นทางวันนี้มีผู้คนมากขึ้น ฝีเท้าย่ำอย่างรวดเร็ว อาจเพราะยังเป็นช่วงเช้า กำลังยังล้นเหลือ เส้นทางพาลงต่ำบ้าง ขึ้นสูงบ้าง ทางบางช่วงต้องลอดต้นไม้ที่ล้มขวาง แต่บางช่วงเราก็ปีนข้ามต้นไม้เหล่านั้นไป อากาศเริ่มอุ่นขึ้น เส้นทางเริ่มพาลงต่ำอีกครั้ง ทุกอย่างผ่านไปรวดเร็วเมื่อเดินลง ลงจนได้ยินเสียงลำธารอยู่ไม่ไกล สายน้ำไหลผ่านไปตามแอ่งของหุบเขา โขดหินพักผ่อนอยู่ในลำธาร อิงกันและกัน ให้เราได้อาศัยผ่าน ความชุ่มชื้นและกองหินที่ดูนั่งสบายทำให้กระเป๋าบนหลังลงไปกองอยู่ที่พื้น เราพักผ่อนกันกลางทาง พลางทานอาหารที่เตรียมมาไปด้วย สายน้ำใส เงาร่มไม้ ใบไม้ล่องลอย เสียงเป้ถูกหยิบขึ้น ฝีเท้าเดินย่ำ ความชันกลับมาทักทาย เมื่อเราเดินลงมาจนเจอสายน้ำ ถึงเวลาที่ต้องเดินขึ้นไปให้เจอเมฆหนา ความชันเหมือนเล่นตลก ชันจนแทบไม่มีที่ให้หยุดพัก เสียงหายใจเริ่มดังขึ้น ลำธารเริ่มอยู่ต่ำและไกลออกไป ให้พอรู้ว่าเรามาไกลแล้ว จงเดินต่อไป ความชันยังเข้ามาพูดคุยเป็นระยะไม่ขาดสาย ต้นไม้ซ้ายขวาเริ่มบางเบา ทางราบเริ่มสะกิด ทิวเขาสุดลูกหูลูกตา เส้นทางเริ่มเดินง่ายขึ้น สายลมพัดผ่านไม่ขาดสาย ทางเดินแคบๆ บนไหล่เขาพาเราไป ทิวเขากว้างใหญ่มองได้ไกล สงบเหลือเกิน แผ่นป้ายบนกิ่งไม้บอกทางแยกไปม่อนคลุยหลวง สายตาชำเลืองมองตามไป หากยึดตามแผนเดิม ม่อนคลุยหลวงคือที่พักสำหรับคืนนี้ แต่เพราะเราปรับแผนกันเล็กน้อย ม่อนคลุยหลวงจึงเป็นทางผ่านไปเสียก่อน เส้นทางช่วงนี้เป็นการเดินอยู่บนสันเขา ด้วยความชันบางช่วง หินที่อยู่ใต้ชั้นดินโผล่ขึ้นมา การมีลักษณะของหินที่เหมาะกับการเป็นที่นั่งผสมกับทิวทัศน์ของทิวเขาของเขาลูกนี้ เราจึงแวะพักกันเล็กน้อย พูดคุยกันเอง และพูดคุยกับภูเขาแห่งท่าสองยาง สายลมพัดผ่านเรา พัดไปทางม่อนคลุย ประหนึ่งว่าให้เดินต่อ การย่ำเดินไปเรื่อยๆโดยที่ไม่ได้เหนื่อยมากนัก กลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้ และมีเวลาพูดคุยกับตนเองนานๆอีกครั้ง ก็เกิดความสุขขึ้นในใจ เราให้รถกระบะมารับที่จุดนัดหมายเพื่อไปยังม่อนคลุย รู้ตัวอีกที การเดินเท้าของเราก็สิ้นสุด เวลาในวันนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเมื่อวาน แต่ไม่ได้ผ่านไปโดยที่ไม่ได้อะไร รถกระบะสองคันขับไปบนเส้นทางดิน ไม่นานเราก็มาถึงม่อนคลุย ม่อนคลุยเป็นม่อนเล็กๆ ซึ่งแยกตัวออกมาจากถนนเส้นหลักไม่ไกลมากนัก มีห้องน้ำสร้างไว้รองรับ และมีกลุ่มรถออฟโรดมาพักแรมในค่ำคืนนี้เช่นกัน แต่เราก็พบว่าคืนนี้ น้ำประปาบนม่อนคลุยนั้น ไม่มี และเราก็ไม่ได้เผื่อน้ำกันเอาไว้ เพราะเราวางแผนว่าจะมาเติมน้ำกันที่นี่ บังเอิญ บังเอิญว่า ณ ตอนนั้นที่วางแผน เราไม่ได้มีแผนสำรอง แผนสำรอง จึงแสดงตน ณ ตอนนี้ เราจะกลับลงไปพักแรมที่ท่าสองยาง อย่างน้อย เราก็ได้พักผ่อนกันเล็กน้อย บนม่อนคลุย แสงอาทิตย์เริ่มมุ่งหน้าลงสู่ทิวเขา แม้จะยังห่าง แต่เริ่มเห็นได้ถึงความตั้งใจของดวงอาทิตย์ สายลม และเมฆครึ้ม เหมือนจะบอกให้เราไปกันต่อ เรามุ่งสู่ถนนสาย หนึ่งศูนย์ห้า ระหว่างทางมีหมู่บ้าน และโรงเรียน หลังคาตองตึงยังมีให้เห็นได้ ควันที่ลอยออกมาจากหลังคาบ้านทำให้รู้ว่ากำลังมีใครกำลังเตรียมมื้อเย็นให้คนที่บ้านอยู่ สุนัขยื่นจมูกออกมาจากรั้วไม้ไผ่ เด็กน้อยวิ่งเล่นบนลานดินในบ้าน ต้นไม้ตัดหน้าเราไป รถกระบะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวง ท่าสองยางช่วงหัวค่ำเงียบสงบ เรามาลงรถกันที่ท้ายหมู่บ้าน วางสัมภาระกันไว้ใต้ศาลาใหญ่ ในบริเวณนี้มีอาคารและศาลาใหญ่ติดน้ำเมย ฝั่งตรงข้ามน้ำเมย คือพม่า คืนนี้ เรามาขออาศัยพักแรมกันใน…สถานีตำรวจ นึกดูแล้วก็ตลกดี ชื่อของท่าสองยางนั้นได้ยินมานาน มีความน่าสนใจของลักษณะบ้านเรือนพื้นถิ่น ทำให้อยากจะมาเยือนสักครั้ง เพียงแต่ไม่คิดว่าเมื่อได้มา จะได้มานอนในสถานีตำรวจ ศาลาอเนกประสงค์ของสถานีตำรวจใหญ่พอที่จะกางเตนท์ได้แปดถึงสิบหลัง การที่จะกางเตนท์เพียงสี่หลังจึงไม่มีปัญหาอะไร นอกชายคาพบเพียงความมืด เสียงของสายน้ำเมยไหลผ่านในเวลากลางคืน ภาพลางๆเริ่มปรากฏ กลุ่มเจดีย์สีขาวกระจายไปทั่วฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ กลางดึกของหมู่บ้าน แทบจะไร้แสงไฟจากในบ้านเรือน เหลือเพียงไฟส่องถนนเป็นระยะๆ ใต้ชายคาศาลาท้ายหมู่บ้านยังมีไฟเปิด ไม่ได้สว่างมากมาย แต่เพียงพอที่จะทำให้เกิดวงสนทนายามค่ำคืน อากาศเย็น และความเงียบยามเช้าที่ระเบียงนอกชายคาของศาลา เช้านี้คือวันสุดท้าย ณ ท่าสองยาง มือถือกาแฟ มองไปที่กลุ่มเจดีย์สีขาวฝั่งตรงข้ามของน้ำเมย เจดีย์สีขาวตั้งอยู่ริมแม่น้ำก่อนจะเป็นหน้าผาสูงขึ้นไป หน้าผาสูงสลับทับซ้อนมีหมอกหนาลอยต่ำคอยบังยอด ด้านล่าง น้ำเมยไม่หยุดไหล เรือหางยาวแล่นผ่าน ชีวิตดำเนินไป ทั้งบนบก และในแม่น้ำ ในใจ เหมือนจะมีความคิดอะไรบางอย่างอยู่ คิดไปพลางๆ สายตาเหม่อลอยไปเบื้องหน้า มันมีเหตุผลของมัน และทำให้เช้านี้ กลายเป็นช่วงเวลาที่สงบที่สุด … การเขียนตอนจบเป็นเรื่องยาก เพราะนี่เป็นแค่ช่วงหนึ่ง ของเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ตอนจบ อาจจะไม่ได้ถูกกำหนดให้มีมาตั้งแต่แรก |
Related Posts
ประสบการณ์แข่งขันของนักกีฬาลีลาศประจำมหาวิทยาลัย กับเรื่องราวที่ทำให้เขาหลงรักการเต้น
“เอาอีก! แรงอีก!! แรงขึ้นอีก!!!” เป็นเสียงของผู้จัดการทีมกีฬาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดังเสมอเมื่อเราเปิดวิดีโอในมือถือตอนที่เราเป็นนักกีฬา แต่ว่ามีแค่ทีมของเราคนเดียวซะเมื่อไหร่ ทีมรอบข้างเขาก็เสียงดังไม่แพ้กัน บรรยากาศเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเจอมาตลอด 3 ปีที่เราก้าวเข้าสู่วงการนักกีฬาของมหาวิทยาลัย ในทุกการแข่งขันล้วนมีแต่ความทรงจำ บทเรียน บาดแผล และประสบการณ์อันล้ำค่ากับเราเสมอ มันทำให้เราหวนคิดถึงกลิ่นของการเป็นนักกีฬา ที่ตัวเราไม่คิดไม่ฝันว่าเราจะมีจุดนี้กับคนอื่นเขาบ้างสักครั้งในชีวิต ความฝันของเด็กผู้ชายหลายคนคือ การได้เป็นหนุ่มป๊อป นักดนตรี นักกีฬาของโรงเรียนหรือของมหาวิทยาลัย ที่มีสาวๆ ชื่นชอบมากมาย แต่นั่นก็ต้องเป็นนักฟุตบอล นักบาสเก็ตบอล ตัดภาพมาที่เรา-ที่มีส่วนสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร น้ำหนักไม่ถึง 55 กิโลกรัม (ในตอนนั้น) จะไปเป็นนักกีฬาอะไรได้วะ จนเรามาได้รู้จักกับกีฬาชนิดหนึ่ง ที่มันช่างเข้ากับเราซะเหลือเกิน เราได้แต่พูดว่า “กูไปอยู่ที่ไหนมาวะ ทำไมแถวบ้านกูไม่มีแบบนี้ ทำไมถึงเพิ่งจะมาเจอ” กีฬานั่นคือกีฬาลีลาศนั่นเอง ฝันฟ้าเฟื่องฟลอร์ … ไฉไล ลีลาศเป็นกีฬาที่ไกลตัวเพราะทุกคนเคยชินกับภาพการเต้นของผู้สูงอายุตามลานแอโรบิค งานเลี้ยงผู้สูงอายุ หรือถูกบรรจุอยู่ในวิชาพละเท่านั้น สำหรับเราลีลาศเป็นกีฬาที่ต้องใช้ทักษะร่างกาย และประสาทสัมผัสสูงมาก เพราะต้องจำฟิกเกอร์ (จำท่า) ต้องฟังจังหวะ แบ่งสัดส่วนร่างกาย ลีลาศจึงเป็นกีฬาที่ต้องทรมานร่างกาย เพื่อให้ได้สิ่งที่สวยงามขึ้นมา เราจึงเห็นได้ว่าคนที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ […]
วิวรรธน์ สัจจวงศ์
June 28, 2021Julley!! Leh Ladakh-การออกเดินทางสุดขอบฟ้า บนเส้นทางแห่งขุนเขาหิมาลัย
“รีบไปได้ ไปเลยดีกว่า เพราะถ้าได้ไปที่นี่ พี่เชื่อว่าเราจะต้องรักมันแน่นอน” คือสิ่งที่พี่นนท์-นนทะภัทร์ จินะชิต บอกกับผมในขณะที่เราสองคนกำลังยืนคุยกันหน้าบาร์แห่งหนึ่งในเชียงใหม่เรื่องการเดินทาง 9 วันบนเส้นทางแห่งขุนเขาที่มีชื่อว่าเลห์ ลาดัก (Leh Ladakh) ก่อนหน้านี้เราได้พบกันตามสถานที่ต่างๆ ในเชียงใหม่ ผมกับพี่นนท์รู้จักกันในฐานะรุ่นพี่และรุ่นน้อง แต่เมื่อนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ เรื่องการเดินทางของพี่นนท์บนเส้นทางแห่งขุนเขาเลห์ ลาดัก ทำให้ค้นพบว่าจริงๆแล้ว พี่นนท์เป็นคนวัย 27 ที่ชีวิตโคตรสนุก เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง มีมุมในการมองโลกและวิธีคิดที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งบทสนทนาที่เกิดขึ้นสะท้อนตัวตน ความคิด และความเชื่อของเขา นอกจากนี้ผมยังเห็นเป้าหมายในชีวิตของเขาที่เปลี่ยนไป ครั้งหนึ่งพี่นนท์อยากให้โลกจดจำ แต่ในครั้งนี้พี่นนท์ฝันถึงสิ่งที่ต่างออกไป ต้องออกเดินทาง…ต้องออกไปพบโลกกว้างใหญ่ ในตอนที่ผมรู้จักกับพี่นนท์ เขาทำงานหลายอย่างมากๆ ทั้งทำกาแฟ เล่นดนตรี แต่ตอนนั้นหลักๆ จะเป็นเชฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ส่วนตอนเช้าก็จะเป็นบาริสต้าตั้งแต่ แปดโมงเช้าถึงบ่ายสาม พอบ่ายสามโมงครึ่งพี่นนท์จะต้องเข้าร้านอาหาร และไปเป็นเชฟต่อถึงเที่ยงคืน “เราไม่มีเวลาพัก ไม่มีวันหยุดเลย ถึงมีก็มีน้อยมากที่ให้เราได้พักหายใจ เราเลยตัดสินใจอยากหาเวลาที่เราจะได้ไปเที่ยวที่ไหนไกลๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน ครอบครัว และอยากไปตัวคนเดียวอยู่แล้ว ก็ลองค้นหาดู หาสถานที่ ที่มันไม่ใช่เขาไม่ใช่ดอย ในประเทศไทยอะไรประมาณนี้ อยากหาอะไรที่มันแอดวานซ์ขึ้น แต่พอถึงเวลาจริงๆก็ไม่ได้เชิงไปคนเดียว ไปกับเพื่อนอีกสองคนที่รู้จักมาก่อนนานแล้ว […]
วรัญชิต แสนใจวุฒิ
February 22, 2021จากการเมืองไทยภายนอกสู่การปฏิวัติห้องเชียร์ภายในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช.
ผมได้รับการทาบทามจากสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นตัวแทนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาหัวข้อเพื่อน พี่ น้อง ตามครรลอง SOTUS เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วประเด็นเรื่อง SOTUS เป็นประเด็นที่มีการจัดเสวนาทุกปีและผู้ฟังมีแต่หน้าเดิมๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ครั้งนี้มีความพิเศษกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมาคือ สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกเลิก SOTUS สำเร็จแล้ว และเป็นคณะแรกในวงเสวนาที่ยกเลิก SOTUS สำเร็จ ซึ่งในวงเสวนาประกอบด้วยตัวแทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เอาล่ะ ความกดดันมหาศาลจึงถาโถมเข้ามาที่ผมอย่างรวดเร็วในการเตรียมข้อมูลต่างๆ ที่จะนำไปแลกเปลี่ยนในวงเสวนา ผมต้องทำการระลึกถึงความทรงจำของตัวเองที่มีต่อคณะนี้ตั้งแต่ช่วงสอบติดใหม่ ๆ จนถึงการประกาศยกเลิก SOTUS ว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งหัวข้อที่ผมได้รับมอบหมายจากเจ้าภาพคือ “จากการเมืองไทยภายนอกสู่การปฏิวัติห้องเชียร์ภายในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช.” ต้องเท้าความก่อนว่า การรับรู้เข้าใจและประสบการณ์ในระบบ SOTUS ของแต่ละคนในคณะนั้นมีความแตกต่างกัน เรื่องเล่าที่แต่ละคนสัมผัสถึงระบบ SOTUS ก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่สอดรับกับสภาพการณ์ทางการเมืองในช่วงสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นบทบาทของกลุ่มเพื่อนที่มีผลต่อการประกอบสร้างตัวตนของตนเองภายในคณะและช่วงชีวิตมหา’ลัย ความเข้มข้นของบทบาทของตนเองในกระบวนการหรือนอกกระบวนการ SOTUS เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่มีต่อระบบอาจมีจุดร่วมหรือจุดต่างกับคนอื่นๆ […]