18 กรกฎาคม 2563 คืออีกวันหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า การเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถึงแม้จะไม่มีจำนวนตัวเลขที่แน่ชัด แต่การจัดกิจกรรมแฟลชม๊อบของกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลายเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ทั้งเยาวชน นักศึกษา และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมจนแน่นขนัดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยอันดับหนึ่งและติดเทรนด์โลก หนึ่งวันให้หลัง หน้าฟีดของฉันเต็มไปด้วยประกาศเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบที่ประตูท่าแพในชื่อ #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo และไม่เกินความคาดเดา มีผู้ร่วมกิจกรรมเกินกว่าที่คาดจนแน่นขนัดประตูท่าแพ ไม่ว่าจะเป็นการปราศัย การสำรอก (อ่าน) บทกวี การชูป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ หรือการแสดงออกด้วยการแสดงหรือ Performance Art ต่างเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมงและจบลงด้วยผู้คนที่มีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน แต่ไม่กี่วันให้หลัง เจมส์-ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ และมิว-วัชรภัทร ธรรมจักร สองแกนนำที่จัดกิจกรรมในครั้งนั้นถูกจับกุมในข้อหาฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉิน ร่วมกับผู้ดำเนินกิจกรรมอีกสองคน เรื่องควรจะจบที่เขาต้องสยบยอมให้กับอำนาจรัฐตามเกมที่เดินไว้ และกลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงนักศึกษาในระบบอุดมศึกษา แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น เขาทั้งสองและสหายจำนวนมากยังดำเนินกิจกรรมต่อในฐานะแกนนำถึง 2 ครั้ง ในสถานที่เดิม แต่เพิ่มผู้ปราศัย เพิ่มความเข้มข้นในเนื้อหา และมีผู้ร่วมกิจกรรมมากขึ้น หมุดหมายสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือ เย็นวันนี้ (24 สิงหาคม) เขาในนามประชาคมมอชอ จะมีกิจกรรมแฟลชม๊อบอีกครั้งในชื่อ #มอชองัดข้อเผด็จการ ที่ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นี่เป็นกิจกรรมแฟลชม๊อบครั้งที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นับแต่การชุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เนื้อหาบนเวทีจะยืนพื้นด้วย 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน อย่างที่กิจกรรมแฟลชม๊อบในหลายๆ เวทีได้ตอกย้ำไปแล้ว ถึงแม้เนื้อหาจะคล้ายกัน แต่สิ่งที่เราเรามองเห็นตรงกับเจมส์และมิวหนึ่งเรื่องตลอดบทสทนานี้คือ ไม่ใช่แค่เยาวชนหรือนักศึกษา แต่ประชาชนต้องมีสิทธิ์แสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างไม่มีอะไรกั้น
1จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเจมส์: เราสนใจในการเมืองตั้งแต่เด็ก แล้วเราเติบโตในจังหวัดที่ค่อนข้างมีอำนาจนิยม ซึ่งตอนนั้นเรามีคำถามแปลกๆ กับครูในโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ จนถึงการที่พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อนุญาตให้กลุ่ม กปปส. ใช้พื้นที่ในการชุมนุมเป่านกหวีดได้ แต่ขณะเดียวกันกลับไม่ให้กลุ่มเสื้อแดง นปช. ใช้พื้นที่ ช่วงที่เราเข้ามาเป็นนักศึกษาก็เริ่มไปช่วยงานตามเวทีวิชาการต่างๆ จนเราเริ่มเห็นการจับกุม 14 แกนนำนักศึกษาตอนลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 เราเลยเริ่มกับเพื่อนอ่านแถลงการณ์กัน พออ่านเสร็จก็แยกย้ายกันกลับ หรือตอนที่เราแปะโปสเตอร์ในที่ต่างๆ ซึ่งตอนนั้นในมหาลัยกล้องวงจรปิดยังไม่เยอะมาก เราทำถึงขั้นพ่นถนนในมหาลัยเลย เป็นผลงานของเด็กประวัติศาสตร์ฯ จนเราเริ่มขยับๆ มา ทำเรื่อยๆ จนมาถึงกิจกรรมการเมืองค่อยๆ เฟดลงเพราะรัฐประหาร พอเริ่มมีการตั้งแคมป์รวมของนักกิจกรรม เราเลยเป็นส่วนหนึ่งของการหาคนมาเป็นนักกิจกรรม เพราะนักกิจกรรมรุ่นเก่าๆ เริ่มเฟดตัวออกไป จนเราก็เริ่มจัดตั้งเวทีทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพ มิว: ผมสนใจการเมืองตั้งแต่มัธยมนะครับ แต่ช่วงนั้นก็ไม่ได้อะไรมากจนได้เรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมาย กับความไม่ชอบธรรม ตอนนั้นผมเข้ามาตอนที่มีการรัฐประหาร คสช. เข้ามาใหม่ ตอนนั้นก็ตามไปถือป้ายกับม๊อบสมัชชา (สมัชชานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จนมาถึงจังหวะหนึ่งที่เป็นนายกสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ก็เริ่มทำแคมเปญ ทำป้าย ทำโครงการลงชื่อต่างๆ เป็นต้นมาเรื่อยๆ จนได้รู้จักกับพี่เจมส์
2ความผิดปกติที่ต้องออกมาแสดงจุดยืนเจมส์: ตอนปี 2557 ที่รัฐประหารใหม่ๆ มีการจัดเวทีวิชาการที่พูดถึงกฎหมายของกลุ่ม LGBT ของร้าน BookRe:Public ซึ่งเราพูดถึงกลไกของกฎหมายเกี่ยวกับเพศทางเลือก วันนั้นทหารมาปิดล้อมเยอะมาก รวมถึงทหารเข้าไปกดดันเวทีวิชาการในมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งกิจกรรมที่จัดโดยนักศึกษาให้ปิดเวทีแทบทุกเวที ถ้าจะพูดต้องขออนุญาตหน่วยงานทหารในพื้นที่ก่อน มิว: แม้แต่สัมมนาในกระบวนวิชาเรียนยังต้องขออนุญาตเลยครับ ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเลย มันใกล้ตัวมาก ยิ่งถ้านักศึกษากำลังจะออกไปสู่ตลาดแรงงาน แล้วต้องเจอเงื่อนไขอะไรก็ตามที่ไม่สามารถเป็นแรงงานได้ เช่น จบออกมาแล้วจะมีงานทำหรือเปล่า ไม่รู้ว่าฐานเงินเดือนเท่าไหร่ หมายถึงรัฐสวัสดิการที่ต้องเจอกับปัญหาการคอรรัปชั่น นักศึกษารับไม่ได้ เขาเลยต้องทำก่อนที่จะต้องก้าวออกไปสู่ตลาดแรงงาน ผมคิดว่าการเป็นนักศึกษามันถูกปกป้องด้วยกฎหมายหรือกลไกอะไรหลายอย่างที่อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่การออกมาในคราบของนักศึกษา ไม่ได้ออกมาจากสีไหน พรรคไหน และมันมีความบริสุทธิ์ เจมส์: จริงๆ นักศึกษาเปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก เรามีเวลาสุดๆ แค่ 8 ปีเอง (ตามสิทธิ์ในการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่-บรรณาธิการ) มิว: แต่ว่าต่อให้เราจะจบไป ก็จะยังมีรุ่นน้องที่มีความคิด มีพลังเหมือนกับเรา เผลอๆ อาจจะเป็นคนแก่ด้วยซ้ำที่ช่วยจุดประเด็นได้ เพราะนักศึกษาเป็นพลังที่คนอยากตาม เจมส์: เราเคยกลัวมากในตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวแรกๆ ที่จะออกมาแสดงออกอีกแบบ แต่เพื่อนๆ ไม่ได้มีปัญหา ครอบครัวเข้าใจ เราไม่ได้อยากให้สังคมที่ไม่เป็นธรรมอยู่ต่อไป เราหายกลัวเพราะโดนคดีแรก (คดีฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉินจากการจัดแฟลชม๊อบ #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo) จนเราอยู่ในจุดที่ไม่กลัวแล้ว เราก็มาช่วยคนที่ออกมาพร้อมๆ เราไม่ให้โดนซ้ำแล้วกัน
3ถึงเวลารวมพลังเจมส์: ถ้าไม่นับแฟลชม๊อบเยาวชนปลดแอกตอนเดือนกรกฎาคม ก่อนหน้านั้นมันมีม๊อบไม่ถอยไม่ทน (จัดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ณ สกายวอล์กปทุมวัน) โชคดีที่มีล็อคดาวน์เมืองช่วงโควิด ไม่งั้นจะมีแฟลชม๊อบมากกว่านี้ เพราะความโกรธเกรี้ยวของประชาชนมันปะทุออกมาจากความทนไม่ไหว ยิ่งในช่วงโควิดคนยิ่งโกรธเกรี้ยวกว่าเดิม มิว: ถ้าหาจุดร่วมกันมันมีจุดร่วมมากที่ประชาชนโกรธจนประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเรื่องปากท้อง การกระจายอำนาจ เพราะเสียงของประชาชนถูกบิดไป อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ด้วยกลไกที่เราเข้าใจกัน เจมส์: แต่เราคิดว่าเป็นเรื่องปากท้อง ตอนนี้คนมันทนไม่ไหวเพราะมันอดกัน คนอดทนจนหลังอยู่ริมหน้าผาแล้ว ถ้าถอยหลังก็คือตาย เดินหน้าก็อาจจะรอด ตอนนี้ถอยไม่ได้ ก็ต้องลุยด้วย จริงๆ ประชาขนไม่ได้อยากสู้หรอก ไม่เคยฝันว่าตัวเองจะอยู่ในม๊อบ คนเราอยากสบาย ในวัยหนึ่งเราก็คงอยากอยู่สบายๆ ไม่ต้องด่ารัฐบาล ไม่ต้องขึ้นสถานีตำรวจ มิว: ลองถามแกนนำดูครับ ไม่มีใครอยากมีคดีหรอก ผมเชื่อว่าทุกคนแม้แต่เพื่อนผมเอง คิดเหมือนกัน มองเหมือนกัน แต่ต่างแค่ว่าพูดออกไปหรือเปล่า ถ้าเกิดปัญหามันมีทางเลือกแค่ แก้ปัญหาซะ หรือไม่ก็นิ่งเฉย แต่ถ้าเราเลือกชอยส์หลัง เรานี่แหละคือปัญหา ผมคิดว่าสิ่งที่เราออกมามันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนตั้งคำถามแต่ไม่กล้าพูดออกไป เรากล้าที่จะรับความเสี่ยงนั้น ซึ่งในกลไกความเป็นประชาธิปไตยมันไม่ควรจะเสี่ยง
4คาดการณ์เท่าไหร่ก็ไม่พอเจมส์: ย้อนกลับไปตอนที่เราเคลื่อนไหวในมหาลัย ไม่มีคนเข้าใจเรา ตอนนั้นคือแค่มีคนมาฟังเราสัก 10-20 คน ก็พอใจแล้ว หรือมีแต่อาจารย์มาฟังก็พอใจ แต่พอเราเคลื่อนไหวอีกครั้งที่ศาลาธรรม (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) คนเยอะมาก เราดีใจมาก มันแสดงให้เห็นว่าคนตระหนักในสิ่งที่เราทำมาตลอด มันไม่ผิด เราดีใจด้วยซ้ำ มิว: เราไม่เตรียมอะไรใหญ่เลย เครื่องเสียงที่เตรียมมาก็เบา คนไม่ได้ยินเลย แต่เขาก็นั่งเชียร์ ปรบมือกัน คนมาด้วยใจ เข้าใจว่าประเด็นคืออะไร บางคนก็เฮตามคนที่เฮ แต่เขาก็กลับไปดูไลฟ์ย้อนหลังว่าเราพูดเรื่องอะไร เจมส์: เราไปตอบฟีดแบคในทวิตเตอร์เยอะมาก มิว: เราไม่ได้คาดหวังว่าคนจะมาแฟลชม๊อบมากหรือหน่อย แต่เราอยากให้คนเห็นมิติใหม่ ได้เห็นในสิ่งที่รัฐซ่อนไว้ใต้พรม ปัญหาต่างๆ ที่คนคิดเหมือนกันแต่อาจจะไม่ได้พูดออกมา ซึ่งผมถือว่ามันประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ผมไม่ได้ดูที่จำนวนเลยครับ จริงๆ เราประมาณกันแค่ 100-300 คนก็ดีแล้ว แต่กลายเป็นว่าวันนั้นคนมารวมกันนับไม่ถ้วน และต้องยอมรับด้วยว่าในเชียงใหม่มันไม่มีสถานที่ๆ เหมาะสม เหมาะกับการที่ประชาชนจะมารวมตัวกันได้ หรือด้วยกลไก กฎ กติกาอะไรก็ตาม มากสุดก็ประตูท่าแพ มันเลยย้อนกลับมาที่ว่า เราไม่ได้วัดกันที่จำนวนคน เพราะเราได้สะท้อนความเห็นว่าคุณคิดเหมือนกันไหม แล้วมันไปต่อยอดคำถามต่างๆ ที่จะผุดขึ้นมาเรื่อยๆ และมันทำให้เกิดกลไกการอุดช่องโหว่ ที่ถ้าเราจัดงานครั้งหน้า เราต้องอุดช่องโหว่ เจมส์: เวลาเราจัดแฟลชม๊อบเราจะประเมินไม่เยอะ เพราะมันควบคุมง่าย ถ้าคนเยอะจะคุมยาก วันแรกเราเลยตั้งแค่ลำโพงเล็กๆ กะคุยกันเล็กๆ แล้วก็กลับ กลายเป็นว่าคนมาเยอะจริง ยิ่งจัดไป เราต้องประเมินคนเผื่อมาก พอเราประเมินเมื่อไหร่คนจะเยอะกว่านั้นตลอด ซึ่งจะคล้ายๆ กับกลุ่มประชาชนปลดแอกที่กรุงเทพฯ (จัดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) เค้าเล่าให้เราฟังว่า “ถ้าคนยังมาไม่พอ เราจะไม่ลงถนนนะ เราจะรอคนเยอะค่อยลง” สรุปว่าประชาชนที่มาเยอะจนต้องลงถนนก่อนจะตั้งเวที เค้าตั้งตัวเลขไว้ว่า 20,000 แต่กลายเป็นคนมาม๊อบวันนั้น 40,000 คน มิว: ต้องมองมิติม๊อบตอนนี้กับเมื่อก่อน มันต่างกันมาก สมัยก่อนต้องเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีจุดประสงค์ชัดเจนมากๆ รวมตัวกัน ถึงจะเรียกว่าม๊อบ แต่ตอนนี้ต่อให้คุณเป็นสลิ่ม เสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือสหภาพแรงงาน คุณก็ร่วมม๊อบได้ เพราะเขามองกันที่เป้าหมาย ไม่ได้มองว่าต้องมีใครเป็นรัฐบาล
5ม๊อบมุ้งมิ้ง?เจมส์: เราเห็นม๊อบน้องมัธยม หรือการเคลื่อนไหวตั้งแต่ชูสามนิ้ว กระดาษเปล่า โบว์สีขาว เราว่ามันไม่ใช่แค่กระแสที่จะแผ่วไป เพราะถึงตอนนี้มันก็ยังไม่แผ่ว เราคุยกับน้องที่โรงเรียนเก่าของเรา น้องสามารถตอบ 3-2-1 ได้หมดเลย แสดงว่าน้องเข้าใจ หรือเข้าใจดีกว่าเราด้วยซ้ำ เด็กมัธยมเดี๋ยวนี้มีความเข้าใจการเมืองสูงมาก และมีการตรวจสอบข้อมูลเสมอ ถึงแม้ว่าเด็กจะมีทวิตเตอร์ที่เป็นข้อมูลสั้นก็จริง แต่เด็กเหล่านั้นก็สามารถหาข้อมูล ต่อยอด และตรวจสอบได้ นักเรียนที่ออกมาหลายๆ กลุ่มไม่ใช่กระแส เพราะสามารถต้านกับผู้มีอำนาจในโรงเรียน สามารถตั้งคำถามกลับไปหาคุณครูได้ และมีการโยงใยด้วยความเข้าใจกันระหว่างนักเรียนที่ทำสิ่งเดียวกัน มิว: ผมว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียนมันคล้ายกับคลื่นสึนามิครับ นักเรียนต้องทนกับกฎ-กติกาที่ไม่เป็นธรรม เช่นตอนนี้กฎทรงผมควรจะต้องเปลี่ยนตั้งนานแล้ว หรือถุงเท้าที่โรงเรียนไม่อนุญาตให้ใส่ถุงเท้าพื้นดำ นักเรียนก็อยากได้เหตุผล แต่ครูบาอาจารย์ก็กลับตอบแค่ว่า “ไม่มีมารยาท” เพราะการเคลื่อนไหวกระแสหลักมันเกิดขึ้น นักเรียนจึงเกิดการผนวกกันว่า กฎทรงผมสั้น ขอเหตุผลหน่อย การกระจายการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นธรรม ขอเหตุผลหน่อยเถอะ สิ่งเหล่านี้ปะทุภายใต้เปลือกตลอด จนมันระเบิดออกมาเป็นคลื่นใหม่ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ จนสร้างเป็นคลื่นลูกใหญ่ไปในหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ทุกโรงเรียนทำเหมือนกัน ตั้งคำถามเหมือนกัน แต่ผู้ใหญ่ก็ยังตอบคำถามไม่ได้ เจมส์: ต้องขอบคุณสื่อด้วยนะที่เสนอภาพให้นักเรียนเห็นว่า เฮ้ย กูมีเพื่อนทำ กูไม่ได้อยู่คนเดียว
6ชัยชนะครั้งนี้วัดจากอะไร?
เจมส์: ธงแรกคือ 3-2-1 มันสำเร็จ สามข้อแรกทำได้ในระยะสั้น สองจุดยืนทำได้ในระยะสั้นเช่นกัน แต่หนึ่งความฝันมันไม่ได้สร้างในวันเดียว มันต้องใช้เวลาชั่วคนสร้างเพราะความฝันมันคือการเดินทางร่วมกันของสังคม และความฝันก็จะสัมพันธ์กับจุดยืน 10 ข้อของม๊อบธรรมศาสตร์ (แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) ในเชิงปฏิบัติด้วย เราไม่เคยต้องการการนองเลือดในสังคมไทย เราฝากถามผู้มีอำนาจและปืนจริงว่า ปืนนั้นน่ะ เก็บไว้ก่อนได้มั้ย เรามาคุยกันดีกว่า อย่าใช้ความรุนแรงด้วยปืน มิว: ผมมองว่าข้อเรียกร้องต่างๆ มันเป็นแค่กลไกเครื่องมือที่จะทำให้ไปถึง ปัจจัยชี้วัดที่จะบอกว่าชนะหรือไม่ชนะคือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของประชาชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม อันนี้เป็นจุดใหญ่เลย แต่ถามว่าจะเอาอะไรมาวัด ผมว่ามันยาก การมีส่วนร่วมต้องมีพื้นฐานอยู่บนทั้งความยุติธรรม ความเท่าเทียม จนไปถึงการพูดได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอะไรมาปิดปากเขาทั้งกลไกทางกฎหมายหรืออะไรต่างๆ เจมส์: มันก็เลยกลับมาที่ว่า ประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
7เสียงเดียวเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่?มิว: ผมเชื่อหนึ่งเสียงของเราสำคัญมากที่จะเปลี่ยนแปลง ปัญหาคือที่ผ่านมา หนึ่งเสียงมันเป็นเสียงที่เบามาก พอรวมตัวกันไม่ว่าจะเป็นเวทีภาคประชาสังคม ภาคประชาชน มันแทบไม่มีเกิดขึ้นเลย ถ้าย้อนไปสักสิบปีที่แล้วเราแทบไม่มี NGO เลยนะครับ เพราะปัญหาเกิดขึ้นมากและมันหลากหลาย ดังนั้นหนึ่งเสียงเล็กๆ จะกลายเป็นการรวมตัวอย่างใหญ่เพื่อแสดงเงื่อนไขหรือข้อต่อรองกับนักการเมืองหรือใครก็ตามเพื่อให้เกิดผลบรรลุได้ เจมส์: เสียงเดียวอาจจะเปลี่ยนอะไรไม่ได้อย่างปุบปับ แต่เราเชื่อว่าคนในสังคมมันเปลี่ยนแปลงได้ เราอาจไม่เคยนึกถึงพลังของตัวเองด้วยซ้ำ ยุคหลังเกิดความเชื่อว่าคนมีพลัง เช่น การก่อตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงมันเกิดจากความเชื่อที่ว่าทุกคนล้วนเปลี่ยนแปลงสังคมได้ คือการเชื่อว่าทุกเสียงมันเท่ากัน ดังนั้น ทุกคนจะสามารถใช้พลังเล็กๆ น้อยเพื่อเปลี่ยนแปลงได้ ต่อให้ความฝันของสังคมไม่เหมือนกัน สังคมจะไม่ไปด้วยกันทั้งหมดก็ตาม แต่เราต้องหาฉันทามติในการอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตย เพื่อเราจะได้อยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้
ถ้าการเมืองดี สังคมจะเป็นอย่างไร?เจมส์: เราเชื่อว่าถ้าการเมืองดีจริงๆ สังคมคงจะสบายกว่านี้ คนจะมีโอกาสในการฝันได้ คิดได้ว่าจะเป็นอะไร เราจะอยู่ได้อย่างแตกต่าง หลากหลายอย่างมีความสุข เอาง่ายๆ ถ้าการเมืองดี ฟุตปาธก็จะดี ไม่ต้องกลัวว่าไปชุมนุมจะมีระเบิดมั้ย เราจะมีถนนหนทางที่มันดีขึ้น การขนส่งที่ดีขึ้น การเมืองเป็นพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมให้ดีขึ้น ถ้าการเมืองดีมันจะมีความแตกต่างหลากหลายได้ไกลขึ้น มิว: ผมไม่ได้คิดว่าการเมืองจะดีได้ทุกอย่าง แต่มันจะดีได้มากที่สุดในข้อจำกัดนั้นๆ ทุกคนจะมีส่วนร่วม มีข้อคิดเห็นก่อนจะได้ข้อสรุป เราจะเห็นอะไรต่างๆ ต่อให้เป็นการดำเนินนโยบายแบบล้มเหลว แต่เราจะได้เรียนรู้ไปด้วยกันและปรับให้มันดีขึ้น ปัญหาคือ การเมืองมันไม่ดี ไม่มีส่วนร่วมไม่พอ เราถูกกีดกันในพื้นที่ๆ เราจะพูดด้วยซ้ำ มันทำให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น ท่อระบายน้ำ ถนน มันเลยไปไม่ถึงไงครับ ผมเลยจะยืนยันว่าถ้าการเมืองดี ทุกอย่างจะดีขึ้นมากๆ แต่มันจะดีที่สุดในข้อจำกัดนั้น และมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เจมส์: และทุกคนจะฝันได้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง
ภาพประกอบ: ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์
|