ตั้งแต่พุทธศักราช 2550 รายการเกมโชว์หรือควิซโชว์แทบจะไม่มีบทบาทในวงการโทรทัศน์ไทย ในอีกซีกโลก วงการโทรทัศน์อเมริกันยังมีรายการเกมโชว์และควิซโชว์ยังเบ่งบานและนอกจากมอบความบันเทิงเชิงสาระให้กับผู้ชม ยังมอบความรู้และเป็นแรงบันดาลใจในการเติบโตของเด็กน้อยใหญ่จำนวนมาก นี่คือรายการเกมโชว์ที่ออกอากาศในช่วงเวลาหัวค่ำของสหรัฐอเมริกา กว่า 37 ปี ที่สามารถรวมทุกคนในครอบครัวมานั่งสุมหัวกัน และทาย “คำถาม” ของ “คำตอบ” ในแต่ละหมวดคำตอบที่คลอบคลุมตั้งแต่ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์จรดวรรณกรรม และวัฒนธรรมป๊อป ที่ยังยืนระยะได้มาจนถึงปัจจุบันด้วยรูปแบบการแข่งขันเดิม พิธีกรคนเดิม และผู้ประกาศรายการคนเดิม จนเรียกได้ว่าเป็นตำนานแห่งวงการโทรทัศน์อเมริกันที่มีรางวัลการันตีมากมายกว่าจะนับไหว Jeopardy! (อ่านว่า เจ๊ป-พาร์-ดี้) คือรายการควิซโชว์ที่ว่า นับเวลาออกอากาศครั้งแรกในรูปแบบรายการโทรทัศน์ภาคกลางวันตั้งแต่ปี 1964 (พุทธศักราช 2507) ถึงปี 1975 (พุทธศักราช 2518) และกลับมาทำใหม่อีกครั้งในรูปแบบรายการโทรทัศน์ภาคกลางคืนในปี 1984 (พุทธศักราช 2527) Jeopardy! มีอายุกว่า 56 ปี จุดเริ่มต้นของรายการมาจากผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และพิธีกรรายการทอล์กโชว์ที่ได้มีชื่อเสียงอย่างเมิร์ฟ กริฟฟิน (Merv Griffin) ที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในเจ้าพ่อเกมโชว์อเมริกัน เขาได้ไอเดียมาจากภรรยาของเขาระหว่างอยู่บนเครื่องบินว่า “ทำไมเราไม่บอกคำตอบ แล้วให้ผู้แข่งขันบอกคำถามแทนล่ะ” Jeopardy! ได้อเล็กซ์ ทรีเบค (Alex Trebek) พิธีกรหน้าใหม่ในขณะนั้นจากแคนาดา รับหน้าที่ดำเนินรายการมาตลอด 36 ปี ทำหน้าที่คู่กับผู้ประกาศรายการที่ใช้เสียงเป็นเอกลักษณ์เด่นอย่างจอห์นนี่ กิลเบิร์ต (Johhny Gilbert) ซึ่งทั้งสองยังทำหน้าที่ยืนหยัดตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ตลอดอายุขัยของรายการ จนได้รับการยกย่องโดย Guinness Books of World Recordsว่าเป็นพิธีกรและผู้ประกาศรายการที่ทำหน้าที่ยาวนานที่สุดในโลก ด้วยโครงสร้างรายกายไม่มีอะไรซับซ้อน ผู้แข่งขันสามคนให้คำถาม จากบอร์ดคำตอบที่มีหมวด 6 หมวด หนึ่งหมวดมี 5 ชุดคำตอบเวียนกันตอบเรื่อยๆ จนถึงรอบสุดท้าย เมื่อผู้แข่งขันเห็นหมวดคำตอบ ผู้แข่งขันต้องลงเดิมพันจากยอดเงินรางวัลที่มีอยู่ในมือ ก่อนเห็นคำใบ้ และเขียนคำถามลงไป ผู้ที่มีเงินรางวัลสูงสุดจะเป็นผู้ชนะในวันนั้น Jeopardy! สร้างปรากฎการณ์มากมายบนหน้าจอโทรทัศน์ ทั้งรวมตัวผู้มีอัจฉริยภาพที่ได้แชมป์มาแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ หรือการดึงศักยภาพเซเลบริตี้ และคนสำคัญในอเมริกาเพื่อระดมเงินเพื่อการกุศล รวมทั้งวาระพิเศษที่ให้ผู้แข่งขันในตำนานแข่งกับวัตสันซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากบริษัท IBM ที่สุดท้ายวัตสันก็ชนะด้วย! ในรอบ 36 ปีที่ผ่านมา มีผู้แข่งขันถึง 3 คนที่สร้างสถิติที่สูงสุดตลอดระยะเวลาการออกอากาศของรายการ ซึ่งตอกย้ำความฉลาด องค์ความรู้ที่ยอดเยี่ยม ลีลาและวิธีการเล่นเกมอย่างหาตัวจับยาก ได้แก่ แบรด รัทเทอร์ (Brad Rutter) ดีเจและพิธีกรรายการทีวี ผู้แข่งขันที่ทำเงินรางวัลสูงสุดตลอดกาลกว่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเคน เจนนิงส์ (Ken Jennings) โปรแกรมเมอร์ผู้ยืนระยะแชมป์ ประจำรายการกว่า 74 สมัย และได้เงินรางวัลกว่า 2 ล้านดอลลาร์ และเจมส์ โฮว์ฮาวเลอร์ (James Holzhauer) นักเล่นเกมโชว์อาชีพ แชมป์ 32 สมัย ผู้ทำเงินรางวัลหลักแสนเหรียญต่อวันได้ถึง 20 ครั้ง Jeopardy! จึงจัดการแข่งขันในวาระพิเศษที่รวมสามเทพของรายการ มาเจอกันอีกครั้งในการแข่งขันชื่อ The Greatest of All Time หรือเรียกว่า “ผู้แข่งขันที่ดีที่สุดตลอดกาล” ของรายการก็ว่าได้ โดยปกติ Jeopardy! คือรายการเกมโชว์ขนาดครึ่งชั่วโมง เมื่อเป็นวาระพิเศษที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ รายการจึงเลือกออกอากาศในช่วงเวลาสองทุ่มทุกวันอังคารถึงพฤหัสทางสถานีโทรทัศน์ ABC ใช่-มันคือเวลาซูเปอร์ไพรม์ไทม์ที่มีฐานผู้ชมสูงมากที่สุดของวัน รวมทั้งขยายเวลาเป็นหนึ่งชั่วโมงเต็ม เพื่อให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้น ทำให้รายการ 60 นาทีนี้มีการแข่งขันจากหนึ่งเกม เป็นสองเกม เกมละสามรอบ ตามโครงสร้างรายการปกติ เมื่อแข่งขันจนจบผู้ที่มีคะแนนสะสมสูงที่สุดจะได้ 1 แต้ม ผู้ที่เก็บ 3 แต้มได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะที่ได้เงินรางวัลหนึ่งล้านเหรียญ และได้รับการขนานนาม ว่าเป็นผู้แข่งขันที่ดีที่สุดของ Jeopardy! ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มีศักดิ์ศรีแต้มเดิมพันที่สูงมากของทั้งแบรด เคน และเจมส์ Jeopardy! นัดพิเศษออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สามารถทำยอดผู้ชมไปถึง 14.37 ล้านคน ซึ่งเอาชนะ NCIS ซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่ได้รับความนิยมมากจากช่อง CBS ที่มีผู้ชม 10.28 ล้านคน และเป็นรองการประกาศผลลูกโลกทองคำ ที่ออกอากาศในวันอาทิตย์ และมีผู้ชมถึง 18.3 ล้านคน สุดท้ายแล้ว เพียงแค่ 4 ตอน (จากความเป็นไปได้ในการเล่นเกมสูงสุดถึง 7 ตอน) ผู้ชนะของการแข่งขันครั้งนี้คือเคน เจนนิงส์ แชมป์ 74 สมัย ซึ่งมีสามสิ่งที่ผู้เขียนเห็นและพอสรุปได้จาก Jeopardy! GOAT หนึ่ง-ผู้แข่งขันไม่ได้มาแข่งขันกันเพื่อเงินหรือศักดิ์ศรี หากแต่สิ่งที่เราเห็นจากสามอัจฉริยะนี้คือการแข่งขันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและมิตรภาพที่ทั้งสามมอบให้กันไม่ว่าจะก่อน ระหว่าง หรือหลัง ถ้าให้ขยายความ คือการแยกมิตรภาพส่วนตัวที่เหนียวแน่นของผู้แข่งขันเวทีเดียวกัน และการแข่งขันที่สู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายแยกกันไว้อย่างสิ้นเชิง จึงทำให้การแข่งขันทุกแมทช์มีส่วนผสมทั้งความเข้มข้นที่เราในฐานะคนดู ดูเองก็สนุกตาม และเห็นมิตรภาพ ที่การแข่งขันที่ดุขนาดนี้ เดิมพันสูงขนาดนี้ ก็ทำลายมิตรภาพลงไม่ได้ สอง-การทำงานหนักของทีมงาน เพื่อนำไปสู่คอนเทนต์คุณภาพ สิ่งที่ Jeopardy! รักษามาตลอดคือคุณภาพของรายการที่ยอดเยี่ยม ในหลายองค์ประกอบ ทั้งหัวใจสำคัญอย่างเนื้อหา “คำตอบ” ที่ใช้ในรายการจากทีมครีเอทีฟคุณภาพที่เปลี่ยนมือมาหลายรุ่น พิธีกรอย่างอเล็กซ์ที่มีลูกล่อลูกชนในการดำเนินรายการให้สนุกจนกลายเป็นที่รักของอเมริกันชน ดังเห็นได้จากกำลังใจที่อเล็กซ์ ได้รับอย่างท่วมท้นจากผู้ชม เมื่อเขาประกาศต่อสาธารณชนว่า เขากำลังต่อสู้กับโรคร้ายอย่างมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 4 และฟอร์แมตรายการที่แข็งแรงมากๆ ซึ่งแทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย รวมทั้งการพัฒนารูปแบบทัวร์นาเมนต์ให้มีความหลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพได้ร่วมสนุก ทั้ง Tournament of Champions การรวมแชมป์ตลอดทั้งซีซั่นมาแข่งกันอีกครั้ง Teen Tournament สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย Kids Week สำหรับเยาวชน Teachers Tournament สำหรับคุณครู All-Star Tournament ที่รวมผู้แข่งขันขวัญใจผู้ชมมาแข่งกันอีกครั้ง และ Battle of The Decades ฉลองครบรอบ 30 ปีของรายการ สุดท้าย-คอนเทนต์ที่เป็นมิตรกับทุกคนในครอบครัว Jeopardy! ปรากฎตัวอยู่ในละครซีรีส์และซิตคอมอเมริกันหลายครั้ง และสอดประสานเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของอเมริกันชนอย่างแนบเนียน แทบทุกเย็นที่ครอบครัวจะพร้อมหน้ากันที่หน้าจอแก้ว และทายคำถาม ของคำตอบแต่ละข้อที่ผ่านไป Jeopardy! จึงเป็นรายการที่ทุกคนในครอบครัวสามารถใช้เวลาสนุกไปด้วยกัน และได้ความรู้อีกด้วย มวลรวมของ Jeopardy! ที่ค้นหาหนึ่งในตองอูอย่างเข้มข้น แน่นอนว่าแก่นสำคัญคือหาคนที่เก่งที่สุด และการหาหนึ่งเดียวคนนี้ คือการชี้นำสังคมไปสู่สังคมที่ทุกคนควรแสวงหาความรู้ประดับตัว และใช้เวลากับครอบครัวในการบริหารสมอง เพื่อสร้างเวลาคุณภาพให้สมาชิกตัวน้อยหรือใหญ่ เห็นความสำคัญของความรู้นั้น ซึ่งนั่นเป็นตัวแปรไปสู่การสร้างความอบอุ่นและเห็นค่าของความรู้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินไม่กี่อย่างที่ไม่มีวันหมดอายุ และไม่บูดเน่า อุทิศแด่ อเล็กซ์ ทรีเบคภาพประกอบ: Sony Pictures Television |
Related Posts
Not A Rapper: อัลบั้มฮิปฮอปของ TangBadVoice ที่ทำให้ทุกคนเซอร์ไพรส์กันถ้วนหน้า
จริงอยู่ที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา วงการฮิปฮอปทั้งในไทยและต่างประเทศก็มีผลงานปล่อยออกมาเป็นระยะๆ หลายผลงานก็มีกระแสตอบรับแตกต่างกัน แต่มีศิลปินคนหนึ่งที่เราจับตามองและตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อปล่อยเพลง เพราะด้วยลีลา Flip และ Flow ที่มีเอกลักษณ์และการนำเสนอเรื่องราวที่มีลีลาและแอบติดตลกร้ายอย่าง TangBadVoice Tangbadvoice หรือ ตั้ง-ตะวันวาด วนวิทย์ ที่แท้จริงเราเขาเป็นช่างภาพสตรีทและผู้กำกับภาพที่ฝากผลงานไว้ในซีรีส์ Great Men Academy และแปลรักฉันด้วยใจเธอ ทั้ง 2 ซีซั่น ส่วนงานเพลงก็เคยฝาก Ep. แรกอย่าง No One Play With Me ที่รูปเป็ดที่มีเอกลักษณ์และการนำเสนเนื้อหาที่เป็นแรปเชิงการสนทนากัน มีตัวละครในเรื่องราวเหมือนเรากำลังฟังละครวิทยุอยู่ ซึ่งทั้ง 3 เพลงก็ล้วนเป็นที่น่าจดจำและเป็นไวรัลอย่างเปรตป่ะ, ล้านนึง และตั้งอะไร ที่แต่ละเพลงล้วนมีท่อนน่าจดจำมีความกวนๆ การใช้คำ การวางสัดส่วนการแรปที่มีลูกล่อลูกชนและสามารถไปเล่นมุกกับเพื่อนๆ ได้ (ฮา) หลังจากนั้นก็ปล่อยเพลงเป็นระยะ ๆ อย่าง U Sick Achoo, Love Yellow , Jealous King […]