นัด–ณัฐพร วรรณปโก ทำกิจการ Jibberish มา 10 ปีแล้ว
Jibberish คือแบรนด์เสื้อผ้าที่มี “คราม” เป็นพระเอก และสไตล์การออกแบบที่เป็นตัวของตัวเองจากความชอบในการแต่งตัวของนัดเป็นนางเอก เมื่อหลอมรวมกันแล้วจึงกลายเป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าอีกมากที่มีความเท่และคราฟต์ในแบบที่เป็นตัวของตัวเองสุดๆ
ในความอินจากการทำเครื่องเขียน จนไปสู่ความสนใจในงานผ้าและการย้อมสีจนดั้นด้นเดินทางของนัดที่หาแหล่งเรียนรู้ในการย้อม และศาสตร์งานผ้าทั้งในและต่างประเทศ นั่นคือสิ่งที่ทำให้นัดจริงจังกับงานผ้าและลงหลักปักฐานในการทำ Jibberish จนเธอสามารถนำแบรนด์นี้ไปทำความรู้จักกับคนที่รักในงานผ้าทั้งในและต่างประเทศ แถมผู้คนยังอินกับการเดินทางผ่านผ้าของเธอบนโลกออนไลน์ และเฝ้าคอยติดตามทั้งเรื่องราวของเธอ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ
เหมือนที่เราเคยพูดในหลายๆ บทความ เวลา 10 ปีคือช่วงระยะเวลาที่เราสามารถเห็นความเติบโต ความปลี่ยนแปลง และเห็นพัฒนาการจากคนๆ หนึ่งได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องราวของ Jibberish ยิ่งตอกย้ำสมมติฐานนั้นให้หนักแน่นขึ้นว่า เวลา ความพยายาม และการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ Jibberish เชื่อและเป็น
Jibberish = ห้องเสื้อหมายเลขหนึ่ง
“ตอนนั้นที่เราจะเริ่มธุรกิจ เราเพิ่งเรียนจบมา แล้วทุนก็ไม่ได้มี ทั้งเงิน ทั้งความรู้ ทั้งต้องหา Factories และคุยงานเยอะมาก แต่ว่าทุนที่เรามีมันมาตลอดคือแม่ของเราเป็นช่างตัดผ้า เราก็เลยทำอะไรที่เราพอจะทำได้ก่อน ก็คือทำเสื้อผ้า แต่ว่าตอนนั้นยังไม่ได้แบบเต็มตัว ทำเป็นกระเป๋า เป็นงานผ้าเล็กๆ น้อยๆ ก่อน แต่เราไม่สามารถเรียนรู้จากแม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือจะเอาเศษผ้าของแม่มาเล่นเสมอ จนถึงตรงนี้เราก็ไม่สามารถทำแพทเทิร์นได้เหมือนแม่หรอก
“แต่ก่อนเราไม่เคยเข้าใจว่าแพทเทิร์นผ้าต่างกันยังไง เสื้อผ้าก็คือเสื้อผ้า ฝีเย็บก็คือฝีเย็บ แต่จริงๆ แล้วพอโตขึ้นเรื่อยๆ พอเริ่มกระโดดเข้ามาทำเสื้อผ้า เราเริ่มสังเกตมากขึ้นว่าเสื้อผ้าแบบนี้ ตะเข็บเป็นยังไง ขอพลิกดูหน่อย แล้วก็จะเริ่มเห็นข้อแตกต่าง กลายเป็นว่าเราก็จะละเอียดกับเรื่องนี้มากขึ้น ผนวกกับแม่เราตัดเสื้อผ้าให้เราตลอดตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ชุดนักเรียน ชุดพละ แล้วเราไม่เคยชอบเลยเพราะว่ามันเป็นเสื้อผ้าที่พอดีตัว มันถูกวัดตัวตัด ไหล่เป็นไหล่ เอวเป็นเอว แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่เหมือนเพื่อน แล้วก็พอโตมาถึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเสื้อผ้าที่ Made to Order มันเป็นของพิเศษมากเลยนะ แล้วพอมาดูเทียบเสื้อผ้าที่แม่ตัดให้กับเสื้อผ้าที่แบบของโรงงานอะไร ตะเข็บก็ไม่เหมือนกัน มันมีดีเทลของมัน ความคงทน ความอยู่นานกว่าหรืออะไรอย่างนี้ มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว”
Jibberish = เครื่องเขียน
“เพราะว่าเราทำงานออฟฟิศ แล้วก็อยากใช้เครื่องเขียนที่มันแบบน่ารักหน่อย มินิมอล เป็นไม้ เป็นวัสดุที่เป็นธรรมชาติ เพราะเราชอบ Material บางอย่าง เราชอบจับไม้ เราชอบ Texture แล้วพอเราเริ่มรู้ว่าอยากทำอะไรเป็นงานอดิเรกก่อนเนาะ แล้วสมัยนั้นไม่ได้มีเหมือนที่ทุกคนเปิดแบรนด์ของตัวเองขนาดนี้เราก็เลยเริ่มหาข้อมูลไปเรื่อยๆ แล้วก็เริ่มทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มออกงานค่ะ
“ตอนนั้นเริ่มทำแรกๆ คือตรายาง ดินสอไม้ที่ปรับเอามาพันผ้าอะไรอย่างนี้ เพราะว่าเราสามารถทำ Made to Order ที่เป็นงานดีไซน์ของเราเอง พอมีตรายางเป็นหลักแล้วก็คิดว่าตรายางใช้กับอะไร ใช้กับหมึก เราก็เลยหาสูตรที่ทำหมึก เราก็เลยลองแกะสูตรจากหนังสือ ปรับไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ใช้สีย้อมผ้ามาทำ แต่ว่ามันต้องมีสูตรผสมอะไร แล้วหมึกก็ขายดีเพราะว่าเรามีสีที่ตลาดไม่มีเช่นสีม่วงเฉดแปลกๆเพราะว่าเราสามารถผสมสีได้เอง หมึกกับตรายางก็เลยกลายเป็น Product แรกๆ แล้วก็แซมในนั้นก็คือมีงานกระเป๋า เพราะว่าเราส่งให้แม่ช่วยทำ
“สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าเราทำอันนี้เป็นอาชีพต่อไปได้ไหม คือเราต้องลองขายดู เราไปออกงานที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มันเป็นงานเล็กๆ ของเด็กนักศึกษา แต่คนนอกเข้าไปขายของในงานได้ เราก็ลางานไปขาย ปรากฏว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ 10 ปีแล้ว เราได้ลูกค้าจากตอนนั้น ซึ่งทุกวันนี้ยังเป็นลูกค้าเราอยู่เลยนะ เป็นลูกค้าแบบชุดแรก ซึ่งไม่ได้เยอะหรอก แต่ว่าลูกค้ากลุ่มนี้ช่วยเตือนตัวเราเองเสมอว่าเรามาจากตรงไหน แล้วทุกครั้งที่เขาซื้อของเราหรือเขามาร้านเรา เขาไปเที่ยว เขาซื้อของมาฝากเราด้วยนะ เหมือนแบบมันเป็นแฟนกันมาตั้งแต่ตอนนั้น
“พอได้ผลตอบรับจากงาน Gift คือมันขายได้แล้วมันเริ่มมีฐานลูกค้า เราก็เลยมาทางนี้แล้วกัน ทำของที่เราอยากใช้ขาย มันต้องมีแหละคนที่มีรสนิยมใกล้เคียงกับเรา เราถึงตั้งชื่อแบรนด์ว่า jibberish เพราะว่า jibberish คือคำที่ดูไม่มีความหมายคำที่แบบพูดแล้วไม่รู้เรื่อง ภาษาเบบี้พูดกับแม่เขาแล้วไม่มีใครฟังเข้าใจ อย่างทารกกับแม่เขาที่ส่งเสียงที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจแต่เขาสื่อสารกันได้ แม่รู้ว่าลูกร้องแบบนี้แปลว่าต้องการอะไร เพราะอย่างนั้นเราก็เลยคิดว่า jibberish น่าจะสื่อสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอได้ดีคือ คนที่ชอบแบบอะไรคล้ายๆ เรา ถึงแม้คนอื่นอาจจะไม่เข้าใจ”
Jibberish = องค์ความรู้ด้านผ้าและการย้อมคราม
“ยิ่งพอไปออกงานแฟร์มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย เรามาถูกทางแล้ว มันมีลูกค้า มันมีคนที่ชอบของแบบเรา มันขายได้ เราสามารถหาเงินจากสิ่งนี้ได้แล้ว เราคิดแล้วว่าเราอาจจะต้องหยุดงานประจำแล้วก็จริงจังกับสิ่งนี้ เราก็เลยลาออกจากงานแล้วก็ออกเดินทางไปญี่ปุ่น ไปอยู่ประมาณ 2-3 เดือน เราเลือกไปโครงการ WWOOF เพราะหนึ่ง-คือมีที่พักฟรี สอง-คือได้เรียนรู้ เราก็พยายามเลือกบ้านที่เป็นศิลปิน แบบศิลปินทำเซรามิก ศิลปินทำผ้า ศิลปินที่มี Art Community คือเราไม่ได้ ใจเราก็คงไม่ได้ไปทำไร่ไถนา เพราะเรารู้ว่าเราเป็นคนไม่อดทน
“แต่ว่าพอเราไปแล้ว ก็เจอว่าโฮสต์เราไม่มีใครไม่จับจอบจับเสียม เรารู้สึกว่าเราโชคดีที่เจอโฮสต์ที่เขา Balance ชีวิตได้ ยิ่งเราไปรอบที่ 2 ที่เจอคู่สามีภรรยาที่ทำ Art Community ทำ Music Festival แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลัง เขาศิลปินทำผ้าที่เป็นธรรมกิโมโนแบบโบราณค่ะ แล้วก็แกะลายที่เรียกว่าคาตะโซเมะ อันนี้เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์แล้วเรารู้สึกว่าทั้งหมดทั้งมวลที่เราโชคดีที่เราได้เจอคนนี้ที่สอนเราทำงานปักผ้า
“แล้วเราก็กลับมาเปิดหน้าร้านที่ดอยคำ ขายของกระจุกกระจิกแบบ Sakka Shop ที่เราไปเจอมา แล้วทุกอย่างมันก็ยังเหมือนโฟลว์ไปเรื่อยๆ จนได้ไปเจอคนที่เป็นเพื่อนกับแฟนเรา ที่เขาเป็น Master ด้านสีย้อมธรรมชาติ แฟนเราก็เลยบอกว่าไปขอเรียนกับเขาสิ เราก็ติดสอยห้อยตามเข้าไปชะโงกดู ไม่เชิงเรียน แล้วพอเห็นเขายอมเราก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้วถ้าทำผ้าทำสีได้เองก็ดีเนาะ ก็ลองย้อมแล้วก็ไปสะดุดที่คราม เพราะว่าวิธีการย้อมครามมันน่าสนใจ เราก็พอรู้เรื่องคราม อยากเรียน ก็เสิร์ชอินเทอร์เน็ตเอา หามั่วๆ แล้วก็ไปเจอคนที่เขายอมสอนอยู่ที่สกลนคร คนนี้เป็นคุณยายที่สอนชาวบ้านย้อมผ้า แต่ในหมู่บ้านไม่มีใครย้อม แล้วก็มีลูกสาว แต่เขาไปทำงานในกรุงเทพฯ อยู่ดีๆ เราก็โพล่งเข้าไปว่าเราอยากเรียน เขาก็สอนเราหมดเลย สอนทุกอย่าง
“เราเรียน เราได้ความรู้จากเขา แล้วเขาก็ยังได้ส่งต่อให้กับคนอื่นที่เขาอยากส่งต่อ พอเรียนย้อมคราม เราก็ไปเรียนเรื่อยๆนะ เชียงใหม่มีที่ไหนสอนเราก็เรียน เราไปเที่ยวอินเดียก็ไปเรียนที่อินเดีย ไปญี่ปุ่นเราก็ไปเรียนอีกเพราะว่าทุกที่ที่มีคราม ครามมันชาเลนจ์มากเพราะว่าทุกที่มีสูตรของตัวเอง ทุกที่มีการสกัดเม็ดสีครามออกจากใบเป็นของตัวเอง ทุกที่มีการปรุงหม้อครามของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน บางคนใส่มะเขือเทศ บางคนใส่สับปะรด มันสนุกจริงๆ เพราะว่ามันไม่ตายตัวเลย รู้ตัวอีกทีเราก็โฟกัสอยู่กับครามแล้ว เรามารู้จริงๆ ว่าเราชอบ เราสามารถต่อยอดกับครามไปได้ เพราะว่ามีหลายคนที่อยากเรียนย้อมคราม แล้วเขาไม่รู้จะไปเรียนกับใคร ก็จะมีคนแนะนำมาที่เรา จนเราย้อนกลับไปดูตัวเองเราก็เลย เฮ้ย เราอยู่กับครามมานานมากโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ว่าเราทำซ้ำๆ กับสิ่งนี้มานานกว่าอย่างอื่น จนกระทั่งมีคนมาบอกเราว่า ตอนนี้เธอยอมครามเก่งนะ”
Jibberish = แบรนด์เสื้อผ้า
“ระหว่างที่เราไป WWOOF เราก็อัพเดทเรื่องของเราผ่านเพจร้าน ตอนเราขายของคนก็จะไลก์บ้าง ไม่ไลก์บ้าง พอเราอัพเดทเรื่องการเดินทางของเราคนเหมือนกลับมาติดตามเราเยอะขึ้นมาเป็นหมื่น จากการที่เราอัพเดทเรื่องนี้ มันเหมือนคนไม่ได้เสพแค่ว่าเราขายอะไร แต่เขาอยากรู้ อยากเสพไลฟ์สไตล์ของคนขายด้วย ว่าทำไมถึงออก Product นี้มา เพราะว่าเหตุมันเป็นเช่นนี้ เราก็เลยเหมือนได้ลูกค้าที่ค่อนข้างรู้จักเราผ่านการเดินทางของเรา แล้วด้วยความที่เราทำแบบรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง เวลาเราโพสอะไรก็คือเราอยากโพสต์ เช่นวันนี้คุณแม่เอาผ้ามาต่อเอาผ้าที่เหลือมาต่อเป็นเสื้อมี 2 ตัวนะคะ แล้วเราก็ขาย เพราะว่ามันเป็นหน้างานในชีวิตประจำวันของเราตอนนั้นน่ะค่ะ หรือแบบว่าวันนี้จะย้อมครามนะ แต่ว่าวันนี้ครามสีไม่สวยเลย ก็จะมีคนมาคอมเมนต์ เราคิดว่าอันนี้คงเป็นทริคการขายของเรา คนมันรู้จักคนที่ทำของสิ่งนั้นด้วยการโพสต์ของเรา ด้วยการสื่อสารของเรา
“กลายเป็นว่าแบรนด์ของเราไป Connect กับคนอื่นด้วยตัวของ ด้วยตัวคนข้างหลังแบรนด์ ตัวตนของแม่เรา ของน้องเรา ของตัวเรา แล้วไทม์มิ่งของ jibberish มันโชคดีตรงที่ว่าเราเปิดหน้าร้านในเวลาที่นักท่องเที่ยวเกาหลีอะไรกำลังเข้ามาเชียงใหม่ แล้วก็เอาไปขายมีแพลตฟอร์มขายออนไลน์ชื่อ pinkoi ที่เป็นเบสไต้หวัน เขาก็ชวนเราไปขายในแพลตฟอร์มนี้
“พอมีหน้าร้านมีแพลตฟอร์ม ลูกค้าต่างประเทศเยอะขึ้น เจอเรามากขึ้น เราได้ไปออกงานแฟร์ต่างประเทศ ความที่ jibberish มันยังโฟลว์ของมันไปเรื่อยๆ การเติบโตของมันก็คือเราได้ไปออกงานแฟร์ต่างประเทศ แล้วก็มันกลายเป็นเป้าหมายแต่ละปีว่าจะต้องไปประเทศนี้กี่ครั้ง ไปออกงานอะไรบ้าง หลักๆ ก็คือเกาหลีกับไต้หวัน
“ตอนไปขายคือตกใจมาก คือเราขายดีมาก ขายดีแบบลูกค้าต่างชาติเดินเข้ามาถามว่าแม่สบายดีไหม เอ้า รู้จักแม่ฉันได้ยังไง ก็ลืมนึกไปว่าจริงๆ แล้วเราโพสต์เรื่องของทีมงานของเราตลอดเวลา สิ่งที่เราพูดออกไปมันทำให้เรารู้เลยว่าทุกคำที่เราพูดออกไป คนมันรับสารนะ แล้วบางคนเขาไม่ได้ลืม เพราะอย่างนั้นรับผิดชอบคำพูดด้วยเวลาพูดอะไรทำไม เราขายหมดเกือบทุกครั้งที่ออกงานแฟร์ แล้วก็งานแฟร์มันคือเงินก้อน แล้วเรารู้สึกว่า อันนี้คือสเต็ปการดำเนินชีวิตแบบที่เรารู้สึกว่าเราโอเคมากๆ
“เรามีนิสัยอยู่หนึ่งอย่างก็คือ ถ้าเราไม่อยากทำ เราจะไม่ทำเลย เราจะไม่ยุ่งเราจะไม่ฝืน เราจะไม่แตะเลย เพราะอย่างนั้นสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันๆ คือมันเป็น Passion จริง ๆ ไม่มีแบบตื่นเช้ามาแล้ว วันนี้มีออเดอร์ไม่อยากทำเลย อย่างเช่นตอนนี้ หลักๆ สิ่งที่เราทำเยอะที่สุดคือผ้าม่าน แต่ก่อนเราไม่ทำเลย ผ้าม่านย้อมยาก มันใหญ่ แต่พอได้ลองทำแล้วเรารู้สึกว่าสนุก แล้วสนุกตรงที่ว่าประตูของแต่ละบ้านมันไม่เหมือนกัน เราก็เลย Made to Order เลยแต่ราคาสูงหน่อยนะ ถ้ารับได้ก็โอเค แล้วเขาก็ส่งลายมาให้เรา แล้วเราก็แกะลายมา เพราะอย่างนั้นทุกครั้งที่แกะลายใหม่มันคือสิ่งใหม่ มันคือความท้าทายใหม่ แล้วก็เราก็ยังสนุกกับมัน หาวิธีที่จะสนุกไปได้เรื่อยๆ”
Jibberish = สตูดิโอสอนย้อมผ้า
“เพราะโควิดระบาด ช่วงนี้เลยกลับมาโฟกัสเรื่องสอน เพราะพอมีคนมาพูดกับเราบ่อยๆ ว่าถ้าอยากเรียนย้อมคราม เราอยากเรียนกับเธอ ถ้าอย่างนั้นเราก็เปิดสอนเลยสิ เราก็เลยเปิดสตูดิโอ แต่ก่อนเราสอนที่บ้าน แต่บ้านเราอยู่ดอยคํา คนก็เลยเริ่มบ่นว่าไปยากจัง พอเรามาได้ที่ในเมือง เราก็เลยฝันอยากมีสตูดิโอในเมือง อยากให้ลูกค้าพักในคูเมืองแล้วปั่นจักรยานมาได้ เราก็เลยทำสตูดิโอข้างบน พอทำเสร็จโควิดทันที (หัวเราะ) แต่ก็ได้สอนอยู่นะ คือตอนแรกลูกค้าเรา 90% เป็นคนต่างชาติเป็นเกาหลีสิงคโปร์ ไต้หวัน แล้วพอโควิดปุ๊บ เหมือนทำให้เราได้มองตัวเองว่าแล้วเราจะทำมาหากินได้ยังไงในเมื่อลูกค้า 90% หายไปเลย หายไปจริงๆ แต่ก็มีลูกค้าเก่าลูกค้าไทยที่บอกว่าเป็นลูกค้าประจำ แต่ว่ากลุ่มลูกค้าเราเล็กมากๆ เล็กมากๆ จริงๆ
“กลายเป็นว่าเราต้องหาลูกค้าคนไทยให้มากขึ้น ก็ปรากฏว่ามีคนไทยมาเรียนจริงๆ เราเริ่มได้ลูกค้าไทยที่เขาอยากย้อมผ้า เพราะว่ามันเป็นคลาสง่ายๆ ด้วยความที่เราเก็บข้อมูลมาหลายอย่าง เราก็ไม่ได้บอกว่าเราเป็นมาสเตอร์ แต่ว่าเรามีข้อมูลบางชุดที่เราอยากแชร์ แล้วเราคิดว่าเราไม่สามารถสอนภายในเวลาสั้นๆ ได้ เพราะอย่างนั้นเราเลยต้องปรับเป็นคอร์ส 2-3 ชั่วโมงสำหรับคนที่อยากลอง แล้วก็ใครจะกลับมาเรียนแบบ Intensive 6 ชั่วโมงก็เดี๋ยวค่อยว่ากัน เราก็เลยเริ่มได้ลูกค้าไทย ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมาถามอยู่ แต่ว่าช่วงนี้เราปิดเพราะโควิด แต่การสอนก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของ jibberish ว่าในอนาคตเราก็อยากสอนให้มากขึ้น
“วันก่อนเพิ่งคุยกับแฟน คือช่วงนี้แม่ป่วยต้องนอนโรงพยาบาล ก็คือน้องสาวตอนนี้ทำงานช่วยเราก็ไปคอยดูแลแม่ด้วย แล้วเขาก็พูดมาคำหนึ่งว่า ‘จริงๆ ตอนนี้มันก็พอดีนะ’ มันไม่เร่งรีบ มันไม่ช้าเกินไป มันก็สามารถทำงานใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันได้แล้ว ก็ไม่ได้ทุกข์มาก แต่ก็ไม่ได้มีความสุขมาก คือทุกข์พอดีๆ สุขพอดีๆ คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ก็เลยรู้สึกว่า jibberish กับเรามันโตไปด้วยกันได้พอดี
“ตอนนี้ก็คงก้อนพอดีต่อไปเรื่อยๆ แล้วเรื่องสอนก็คงโฟกัสมากขึ้นอยู่แล้ว ตลาดต่างประเทศก็คงไปอยู่ดีเพราะไม่ว่าแบรนด์จะเป็นยังไง ของเราเนี่ยทำของไม่ได้เยอะมาก ถ้าเราหวังจะร๊วยรวยจากอันนี้มันคงเป็นไปได้ยาก แต่ว่าเราก็อยู่ได้สบายดีมันก็โอเคแล้ว หรือไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนมันก็โอเคแล้ว เราก็เลยคิดว่าไอ้ก้อนนี้ที่มันพอดีๆ ก็คงพาให้มันไหลต่อไปเรื่อยๆ อย่างที่มันเคยเป็นมา แต่ว่าด้วยอายุเราที่มากขึ้น ด้วยภาระข้างหลังที่มันเพิ่มขึ้น ตัวเราเองก็คงคิดได้เองว่าต่อไปมันจะแตกเป็นอะไร มันจะกระโดดหรือต่อยอดไปเป็นอะไร”