“แขวน” นิทรรศการที่ย้อนความโหดร้ายของ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยเทคโนโลยี AR

**อาจมีภาพประกอบบางส่วนที่รบกวนจิตใจผู้อ่าน**

 

ย้อนกลับมาอีกครั้งเป็นปีที่ 44 กับเหตุการณ์นองเลือดที่โหดร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย กับการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาถูกล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ถูกคนบางกลุ่มพยายามให้ถูกลืมเลือนไปจากประวัติศาสตร์ของไทย แต่สำหรับคนเดือนตุลาแล้ว นี่คือสิ่งที่พวกเขาและเธอไม่มีวันลืม

ทางเข้าของหอประชุมใหญ่ถูกแปะด้วยหมุดที่มีคำว่า “ณ ที่แห่งนี้ กมล แก้วไทรไทย ถูกยิงเสียชีวิต กระสุนปืนทะลุช่องปอด ร่างของกมลถูกนำไปแขวนที่ต้นไม้บริเวณสนามหลวง ศพของกมลถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า” พร้อมภาพถ่ายจากเหตุการณ์จริงที่ถูกบันทึกโดยปฐมพร ศรีมันตะ ในเหตุการณ์นองเลือดในวันนั้น

ราวกับเชื้อเชิญผู้เข้าชมว่า “นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น”

เมื่อขึ้นบันไดมาจะพบกับประตูแดงที่นครปฐม ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์รุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่ออดีตพนักงานการไฟฟ้า 2 คนและสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่ชื่อ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย ถูกซ้อมและนำร่างไปแขวนคอที่ประตูแห่งนี้ระหว่างนำโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของ พระถนอม ซึ่งต่อมาเหตุการณ์นี้ได้ถูกนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำไปล้อ จนถูกสื่อบางแห่งในขณะนั้นนำไปตัดแต่งจนเกิดเป็นเหตุการณ์ครั้งนั้น ประตูนี้จึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง

ภาพของท้องสนามหลวงที่เปรียบเสมือนที่พักผ่อนของทุกคน หารู้ไม่ว่าในอดีตที่แห่งนี้ เคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่คนไทยทำด้วยกันเอง และสิ่งที่เราเคยเชื่อว่ามีคนตายเพียงคนเดียวในที่แห่งนี้ ซึ่งไม่ใช่เลย จากหลักฐานพบว่ามีคนถูกแขวนคอที่นี่ถึง 5 ศพและมีเพียง 3 ศพเท่านั้นที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นใคร

ข่าวการพาดหัวและหนังสือพิมพ์ฉบับจริงในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่ได้เสนอข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงในวันนั้น การพาดหัวและเนื้อหาในข่าวโจมตีนักศึกษาที่พยายามเรียกร้องโดยสันติวิธี แต่กลับถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมทารุณ และถูกตีตราจากสื่อ

จนพวกเขา “สูญสิ้นความเป็นคน”

ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นที่ทุกคนจำได้ดี แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะรู้วว่าภายในภาพไม่ใช่วิชิตชัย อมรกุล แต่กลับเป็นชายผู้ไม่สามารถระบุตัวตนได้ นอกจากนี้บนชั้น 2 ของนิทรรศการเผยให้เห็นทั้งสองด้านว่า เราเห็นอะไรกันบ้างในเช้าวันนั้นที่หอประชุมใหญ่ว่าฝั่งสนามหลวงและฝั่งสนามฟุตบอล

บนชั้นสองของนิทรรศการมีการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในวันนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อให้ผู้ทีอาจไม่รู้เรื่องทั้งหมดได้เห็นที่มาของความรุนแรง จนกลายเป็นเหตุการณ์นี้ขึ้นและได้มีการนำภาพจริงของเหตุการณ์แสดงละครล้อเหตุการณ์แขวนคออดีตพนักงานการไฟฟ้า 2 คน ซึ่งภายหลังถูกนำมาตัดต่อและเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงต่อไป รวมถึงภาพวาดจากศิลปินที่เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นอีกด้วย

นอกจากนี้ในนิทรรศการได้มีการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อนักเรียนของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ กางเกงยีนส์ที่ถูกฉีกในวันนั้นของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง จดหมายของคุณพ่อที่เขียนถึงลูกที่จากไป รวมถึงลำโพงที่นักศึกษาใช้ในการชุมนุมได้เต็มไปด้วยรอยกระสุน ราวกับว่าเสียงของนักศึกษานวันนั้นที่เรียกร้องโดยปราศจากอาวุธและสันติ แต่กลับคืนมาด้วยคมกระสุนที่ปลิดชีวิตพวกเขาเหล่านั้น

และไฮไลท์สำคัญของงานนี้คือการเอาเทคโนโลยี AR มาจำลองภาพเหตุการณ์ในวันนั้นโดยผ่านสถานที่จริง ทั้งประตูแดงที่อดีตเคยมีคนถูกนำร่างแขวนคอไว้ที่นั่น และต้นมะขามที่ครั้งหนึ่งเคยถุกนำร่างไปแขวนคอและรุมทำร้าย เพื่อให้ผู้คนที่มารับชมได้เห็นถึงความโหดร้ายในวันนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น


นิทรรศการ “แขวน”  On Site Museum: หลักฐาน + ข้อเท็จจริง + พื้นที่ +  เทคโนโลยี จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ถึง 11 ตุลาคมนี้

Contributors

ปวรปรัชญ์ จันทร์สุภาเสน

นักศึกษาจากทุ่งรังสิต ผู้รักหมามากกว่าแมวและนอนไม่ค่อยพอ