“รีบไปได้ ไปเลยดีกว่า เพราะถ้าได้ไปที่นี่ พี่เชื่อว่าเราจะต้องรักมันแน่นอน” คือสิ่งที่พี่นนท์-นนทะภัทร์ จินะชิต บอกกับผมในขณะที่เราสองคนกำลังยืนคุยกันหน้าบาร์แห่งหนึ่งในเชียงใหม่เรื่องการเดินทาง 9 วันบนเส้นทางแห่งขุนเขาที่มีชื่อว่าเลห์ ลาดัก (Leh Ladakh) ก่อนหน้านี้เราได้พบกันตามสถานที่ต่างๆ ในเชียงใหม่ ผมกับพี่นนท์รู้จักกันในฐานะรุ่นพี่และรุ่นน้อง แต่เมื่อนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ เรื่องการเดินทางของพี่นนท์บนเส้นทางแห่งขุนเขาเลห์ ลาดัก ทำให้ค้นพบว่าจริงๆแล้ว พี่นนท์เป็นคนวัย 27 ที่ชีวิตโคตรสนุก เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง มีมุมในการมองโลกและวิธีคิดที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งบทสนทนาที่เกิดขึ้นสะท้อนตัวตน ความคิด และความเชื่อของเขา นอกจากนี้ผมยังเห็นเป้าหมายในชีวิตของเขาที่เปลี่ยนไป ครั้งหนึ่งพี่นนท์อยากให้โลกจดจำ แต่ในครั้งนี้พี่นนท์ฝันถึงสิ่งที่ต่างออกไป ต้องออกเดินทาง…ต้องออกไปพบโลกกว้างใหญ่ในตอนที่ผมรู้จักกับพี่นนท์ เขาทำงานหลายอย่างมากๆ ทั้งทำกาแฟ เล่นดนตรี แต่ตอนนั้นหลักๆ จะเป็นเชฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ส่วนตอนเช้าก็จะเป็นบาริสต้าตั้งแต่ แปดโมงเช้าถึงบ่ายสาม พอบ่ายสามโมงครึ่งพี่นนท์จะต้องเข้าร้านอาหาร และไปเป็นเชฟต่อถึงเที่ยงคืน “เราไม่มีเวลาพัก ไม่มีวันหยุดเลย ถึงมีก็มีน้อยมากที่ให้เราได้พักหายใจ เราเลยตัดสินใจอยากหาเวลาที่เราจะได้ไปเที่ยวที่ไหนไกลๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน ครอบครัว และอยากไปตัวคนเดียวอยู่แล้ว ก็ลองค้นหาดู หาสถานที่ ที่มันไม่ใช่เขาไม่ใช่ดอย ในประเทศไทยอะไรประมาณนี้ อยากหาอะไรที่มันแอดวานซ์ขึ้น แต่พอถึงเวลาจริงๆก็ไม่ได้เชิงไปคนเดียว ไปกับเพื่อนอีกสองคนที่รู้จักมาก่อนนานแล้ว ตั้งแต่สมัยประถมเลย ตอนที่ไปก็เป็นช่วงกลางๆของเดือนเมษา ถือว่าเป็นช่วงมรสุมของเขาหิมาลัยเลย ถ้าไปก็มีแต่พายุอะไรประมาณนั้น” เดิมทีพี่นนท์บอกกับผมว่า จริงๆ อยากไปเอเวอร์เรส อยากไปเบสแคมป์ ABC ทางตอนเหนือของประเทศเนปาล อยากไปเดินเขาต่างประเทศที่มันเป็นแบบเมืองหิมะอะไรแบบนี้อยู่แล้่ว แต่ที่พี่นนท์คิดได้ในตอนนั้นบวกกับทุนที่มีในตอนนั้น นับแล้วไม่เกิน 5-6 หมื่น แล้วถ้าไปมันไม่เสี่ยงเกินไป ยังสามารถกลับบ้านมาใช้ชีวิตต่อได้ ทำงานต่อได้ ผลสรุปเลยออกมาเป็น เลห์ ลาดัก ก็เลยทำให้ตัดสินใจไปเมืองนี้ “ตอนแรกคือโพสต์แบบว่าจะไปคนเดียวอยู่แล้ว จะซื้อตั๋วละ แล้วก็ลองโพสต์เล่นๆ ใน Facebook ว่ามีใครสนใจมั้ย อะไรแบบนี้ ก็มีเพื่อนมาคอมเมนต์กันคนสองคน ก็เลยตัดสินใจทักข้อความไปคุยเรื่องการเดินทางกัน” I know what I’m doing.ตอนที่เราคุยกัน พี่นนท์บอกว่าอยากบินไปเลห์ พื้นที่ที่ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3500 เมตร มีอ็อกซิเจนเบาบาง กันดาร (แค่คิดก็หนาวแล้ว) เพราะเหตุผลว่า “เฮ้ย เราอยากไปเพราะว่าอยากพักผ่อน อยากไปที่ไหนก็ได้ที่มันไกลๆ” ผมถามคำถามกับพี่นนท์ว่านอกเหนือจากสิ่งของที่เขาแบกไปแล้ว ในใจพี่นนท์ได้แบกอะไรไปบ้างไหม ก็ได้คำตอบกลับมาจากชายคนนี้ว่ามันมีทั้งแบกแล้วก็ไม่แบก แบบส่วนดีและส่วนไม่ดี ถ้าหากคิดจริง ๆ คือสิ่งที่แบกไปแล้ว เอาไปปล่อยบนนู้นมากกว่า เพราะอยู่ที่เชียงใหม่มันก็อึดอัด แล้วไม่สามารถขยับตัว ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าในสิ่งที่ต้องการจะทำ “คือเราไม่มีอิสระพอในตอนที่เราอยู่ที่เชียงใหม่ แล้วพอเรามีโอกาสได้ไปเราก็แบกส่วนนี้ไป แล้วก็ไปโหวกเหวกโวยวาย ไปตะโกน ไปอยู่ในจุดที่ไม่มีใครรู้จักเรา เป็นเซฟโซนของเราที่ใหม่ไปเลย แบบว่าดีครับ…ดี” ผมถามกับพี่นนท์อีกว่ากลัวไหม เพราะเห็นว่าเป็นครั้งแรกที่เดินทางไปต่างประเทศในสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่อันตราย ก็ได้คำตอบกลับมาว่าไม่ใช่ แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าน่ากลัวและอันตรายจริงๆ สำหรับการเดินทางครั้งนี้คือโรคที่เรียกว่า AMS (Altitude Mountain Sickness) แปลง่ายๆ คือ โรคแพ้ความสูง เป็นอาการที่พบในนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในพื้นที่ๆสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการเปลี่ยนระดับความสูงเฉียบพลัน ซึ่งอาจส่งผลให้แต่ละคนมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่บางคนก็อาจจะไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ และหากถามกันต่อไปว่า อ้าว! แล้วทำไมเวลาขึ้นเครื่องบินไปตั้งสูงไม่เห็นเป็นอะไรเลย นั่นเพราะในเครื่องบินจะมีการปรับปริมาณออกซิเจนให้อยู่ในสภาวะที่เราชินเหมือนปกตินั่นเอง “เราก็กลัวเพราะว่ามันเป็นช่วงที่เราทำงานหนักแล้วไม่มีเวลาออกกำลังกายเลย ก็เลยกลัวว่าไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเรามั้ย เพราะว่าอย่างสมมติถ้าเราเปรียบเทียบคือ เราอยู่เชียงใหม่เนี่ย ดอยอินทนนท์ว่าสูงที่สุดในไทยแล้ว แต่ว่าถ้าเราไปเหยียบ เลห์ ลาดัก แล้ว ลงจากเครื่องบินแล้วเนี่ย มันสตาร์ทที่ 3,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลเลย แล้วกว่าเราจะอยู่ที่นั่นกว่าจะปรับตัวได้ แล้วต้องขึ้นไปบนยอดอีก 19,000 ฟุต มันระดับเดียวกับเครื่องบินแล้ว เราก็เลยไม่รู้ว่าเราจะแพ้รึเปล่า เราจะหายใจออกมั้ย ต้องใช้ถังออกซิเจนรึเปล่า” Here we go… A Leh A Leh A Leh!!!สำหรับจุดมุ่งหมายของพี่นนท์ในครั้งนี้ก็คงไม่ต้องสืบให้มากความว่าคือ “เลห์” แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดหมายสำคัญนั้น ก้าวแรกที่เท้าเหยียบคือแวะอินเดียก่อน 2 – 3 วันโดยประมาณ แล้วก็ไปเลห์เลย เริ่มสตาร์ทที่ความสูง 3,500 จากระดับน้ำทะเลเลย “ตอนไปถึงเราก็ไม่พบอาการกระอึกกระอักอะไรสักอย่าง ปรับตัวได้ อีกอย่างนึงคือ ที่ทางแพทย์แนะนำตอนเราขอวีซ่ามา แพทย์ก็ได้แนะนำให้กินยาเพิ่มออกซิเจนไปก่อน 2-3 วัน ก่อนจะเดินทางคือ เราต้องงดเหล้าเบียร์บุหรี่อะไรพวกนี้ที่เพิ่มความดันให้กับเรา เราทำตามเขาก็ เออ น่าจะส่งผลดี เราก็รู้สึกว่ามันโอเคกว่า” สิ่งที่พี่นนท์ได้พบเห็นจากสภาพเมือง สภาพการดำเนินชีวิต ผู้คน วัฒนธรรม ทำให้การมองโลกของพี่นนท์เปลี่ยนไปเลย เพราะว่าสิ่งที่ได้พบเจอไม่เหมือนกับวิถีชีวิตปกติ พร้อมกับเล่าเรื่องยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของคนที่เลห์ให้ผมฟังว่าที่เลห์น่ะ แทบไม่มีใครทานเนื้อสัตว์เลย “ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่น คนเผ่าที่นั่นคือเป็นมังสวิรัติกันหมด ด้วยความที่เลห์มีพื้นที่อยู่บนที่สูงด้วยแล้วเลี้ยงสัตว์ก็ยาก แล้วการซื้อขายส่งขายแต่ละครั้งมันค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก” พี่นนท์บอกกับผมว่าจากที่เจ้าของบ้านที่เลห์เล่าให้ฟัง ทุกๆ 3 เดือนถึงจะมีเครื่องบินมาขายพวกเนื้อสัตว์หรือสิ่งของทั่วไปให้เมืองเขาแค่ครั้งเดียว ทำให้เลห์ยากต่อการค้าขายมากๆ ส่วนในเรื่องของการเป็นอยู่ ที่เลห์ไม่มีอินเทอร์เน็ต เน็ตไม่สามารถเข้าถึงได้ และไฟฟ้าก็จะมีเวลาดับไฟคือ 4 ทุ่ม แล้วหลังจากนั้นเป็นต้นไปแทบจะไม่มีแสงจากหลอดไฟเลย แต่ก็มีแสงจันทร์สะท้อนกับหิมะให้พอใช้ชีวิตอยู่ได้ “แต่มันก็สว่างด้วยความที่มันอยู่ที่สูงก็มีแสงจันทร์มีหิมะ ก็ใช้การก่อกองไฟแทนได้อยู่ แต่ถ้าถามเรื่องวัฒนธรรมการเป็นอยู่ของเขาก็..ลำบาก ลำบากสำหรับเราส่วนนึง แต่สำหรับเขาคงเป็นเรื่องปกติแหละ” พักเบรกกันสักนิด หลังจากกระดกเครื่องดื่มกับพี่นนท์ ผมได้ถามเกี่ยวกับอาหาร เพื่อที่อยากจะรู้ถึงรสชาติอาหารท้องถิ่นเมืองเลห์ พี่นนท์ก็ได้ทวนคำถามกับผมหัวเราะออกมา และได้ตอบคำถามด้วยประโยคที่ว่า “ที่ได้กินเลยเหรอ มัน…มันแย่อ่ะ (หัวเราะ)” พี่นนท์เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับอาหารจานนี้ มันชื่อเมนู ว่า Fried Rice Egg คือมันเป็นเมนูง่ายๆ เมนูหนึ่ง คือข้าวผัดไข่ปกติ คือมันเป็นสิ่งเดียวอันเดียวที่พี่นนท์อ่านเมนูแล้วทานได้ พร้อมกับเล่าให้ผมฟังว่าก่อนหน้านี้เขาได้แวะอินเดียมาก่อน ซึ่งอาหารอินเดียก็จะเป็นแบบเน้นเครื่องแกงหนักๆ เป็นแกงกะหรี่ไก่ที่กลิ่นค่อนข้่างจะออกฉุนๆ หน่อย แต่เพราะพี่นนท์ชอบทานอาหารแบบนี้อยู่แล้ว และคิดว่าไปเลห์ มันก็ต้องเจอกับอาหารแบบนี้ ได้กินแกงกะหรี่กลิ่นฉุนๆ แบบพริกเครื่องชาวอินเดีย ไปเลห์ก็คงไม่ต่างกัน “สรุปคือก็อย่างที่ว่าเราเดินทางไปเกือบ..เอาง่ายๆ 9 วันเราไปทุกเมือง ขึ้นสูงลงต่ำคือแทบทุกร้านอาหาร เป็นมังสวิรัติหมดเลย ผมหาเนื้อสัตว์กินไม่ได้เลย แล้วส่วนใหญ่ร้านที่ผมกินก็จะเป็นแค่เนี่ยแหละ กินง่ายสุดก็จะเป็นข้าวผัดไข่ แล้วเขาก็จะใส่พวกวัตถุดิบต่าง ให้ความรู้สึกเหมือนกินข้าวผัดอเมริกัน มันจะมีถั่ว มีแครอทมีอะไรแบบนี้ปนเข้ามา แห้งๆหน่อย” Friends Aroundการเดินทางครั้งนี้ของพี่นนท์ เล่าให้ฟังว่ามีอยู่ 2 คนที่จดจำจริงๆ อย่างประทับใจ คนแรกคือเจ้าของโฮสก่อนชื่อ ‘ซาริม’ เป็นเจ้าของโฮสที่เลห์ คนที่สองที่เรียกว่าเป็นไกด์ประจำทริปของพี่นนท์เลย (ซึ่งหลังจากนี้พี่ไกด์คนที่สองนี้ผมจะขอเรียกว่า ‘พี่ไกด์’) ซึ่งจะคอยตามติดตัวกลุ่มพี่นนท์ตลอดเวลา คอยถามอยู่ตลอดเวลาว่า ‘โอเคไหม’ ‘เอาน้ำไหม’ ‘เอาออกซิเจนไหมมีถังออกซิเจนนะ 2-3 ถัง’ ซัพพอร์ตตลอดแต่พี่นนท์ก็กล่าวขอโทษนะ และก็บอกกับผมว่าจำชื่อเขาไม่ได้ (หัวเราะ) แต่เป็นคนที่พี่นนท์จดจำมาก เพราะการเดินทางด้วยรถยนต์พร้อมกับเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์ท้องถนนในเลห์ จะเป็นทางรถวิ่งได้แค่ทางเดียวแล้ว พี่นนท์เดินทางไปรถคันนึงเล็กประมาณ Toyota Avanza คันเล็กๆ ซึ่งมีพี่ไกด์เป็นพลขับ “พี่ไกด์นี่ขับแบบ 120-140 กิโลฯ คือผมถ่ายวิดีโอมาแบบผมยังกลัวอ่ะ แล้วเป็นทางเลียบเขา คือผมไม่รู้ว่าผมจะตกเขาเมื่อไหร่คือแบบน่ากลัวมาก แล้วคือมันเป็นช่วงมรสุมด้วย หิมะตก พื้นลื่น ถนนลื่น” พี่นนท์บอกผมว่า ในทริปนี้มักจะมีเหตุการณ์อะไรประมาณนี้ที่น่าจดจำจริงๆ นอกเหนือจากนี้ก็มีพี่ๆ ทีมงานที่เป็นเพื่อนๆ ของเจ้าของโฮส เขาก็ช่วยๆ กัน เพราะว่ามันเป็นครั้งแรกที่ไปในที่ที่มันอันตรายจริงๆ เขาก็จะคอยซัพพอร์ตเรา Live and Learnทริปเลห์ ลาดัก ตลอด 9 วันอย่างที่พี่นนท์กล่าวตลอดกับผมและทุกคนว่า “ไปทริปนี้มีความสุขมาก” ผมเลยฉุกคิดคำถามนอกเหนือจากที่เตรียมมาถามกับพี่นนท์ว่า นอกจากมีความสุขแล้วเนี่ย รู้สึกบ้างไหมว่ามันมีอะไรบางอย่างที่มันเปลี่ยนไป พี่นนท์หัวเราะและยิ้มให้ เราสองคนยกเครื่องดื่มขึ้นมาจิบ หลังจากนั้นพี่นนท์ก็ได้ให้คำตอบกับผมว่า สิ่งหลักๆ ที่มันเปลี่ยนไปคือเรื่องของการใช้ชีวิตมากกว่า พร้อมกับเล่าย้อนหลังก่อนหน้าที่จะเดินทางตั้งแต่อยู่เชียงใหม่เลย พี่นนท์เลิกสูบบุหรี่ หยุดแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนเดินทาง 2 วัน แล้วก็บวกการอยู่เลห์ 9 วัน อยู่อินเดียอีก 3 วัน ก็จะเป็นเวลาประมาณ 12-13 วัน บวกกันทั้งหมด 15 วัน ก็คือครึ่งเดือน หลังจากกลับมา ตัวตนของพี่นนท์กลับมาพร้อมกับความคิดใหม่ พร้อมกับวัฒนธรรมที่ติดจากคนที่เลห์มาอยู่นิดนึง เรียกว่าทุกอย่างที่มันเคยเป็นชีวิตประจำวันของพี่นนท์ได้เปลี่ยนไปในสองอาทิตย์ตลอดทริปการไปเลห์ “คือกลายเป็นเราไม่ได้อยากบุหรี่หรืออยากกินเหล้าตลอดเวลา แล้วก็ไม่ค่อยเล่นโทรศัพท์ เริ่มมาอ่านหนังสือ เริ่มอยู่ในห้องมืดๆ (หัวเราะ) กลับไปเล่นบาสเกตบอลแบบจริงจัง” ผมถามกับพี่นนท์ต่อว่า ปกติเวลาคนเราเดินทางไปที่ไหนสักที่ บางทีมันจะช่วยตอบคำถามที่เรามี แล้วอย่างที่พี่นนท์ไปเนี่ยคำถามที่เคยสงสัย ยกตัวอย่างเช่น ‘ความหมายของชีวิตคืออะไร’ ‘มนุษย์เกิดมาทำไม’ การเดินทางครั้งนี้พี่นนท์ได้คำตอบให้กับคำถามพวกนี้บ้างรึไม่ พี่นนท์ก็ได้คำตอบมาว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว คิดว่าในเรื่องของ ‘เราเกิดมาทำไม’ เหมือนจะมีคำตอบ (พร้อมกับยกแก้วเครื่องดื่ม และหัวเราะ) แต่ก็ไม่มีคำตอบให้ตัวเองอยู่แล้ว แต่ว่าตอนไป เป็นความรู้สึกเหมือนกับว่า ‘ว่างเปล่า’ ไม่มีแม้แต่คำถาม แล้วก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีอะไรสักอย่างเลย ไปเพื่อเปิดรับทุกๆอย่าง เรื่องวัฒนธรรมของคนเลห์เรื่องการเป็นอยู่อะไรแบบนี้มากกว่า ได้ออกไปทำตามฝัน ได้ใช้ชีวิต ออกไปทำตามความฝัน นับว่าเป็นชีวิตที่คุ้มค่า “คุ้มนะ สำหรับพี่คือคุ้มมากๆ กับบางคนเขาอาจจะ อ๊ะ ก็แค่เที่ยวก็แค่อะไรประมาณนั้น แต่สำหรับเราคือ พ่อแม่เราหย่ากัน เราอยู่กับแม่คนเดียวแล้วแม่ล้มละลาย เราก็เลยต้องทำงาน กลายเป็นคนบ้างานทั้งวันทำงาน มีเงินเพื่อซื้อเกือบทุกอย่างที่เราอยากได้ แต่มันไม่สุด มันแบบซื้อมาแล้ว ‘เอ๊ะ เราทำทำไมวะ’ เงินมันซื้อได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เราก็เลยลองไปค้นหาตัวเอง ลองไปที่ไหนไกลๆ ลองไปที่ที่ไม่รู้จัก ไปที่ที่เสี่ยงต่อชีวิตจริงๆ เราจะได้รู้ว่า ‘เราจะรักตัวเองมากขึ้นมั้ย’ ‘เราจะได้อะไรกับสิ่งนี้มากขึ้นรึเปล่า’ ” Just Go with The Flowหลังจากการสนทนากันชั่วโมงหนึ่ง ผมมองดูนาฬิกาเป็นเวลาเกือบจะสามทุ่มกว่าๆ แล้ว ผมคุยกับพี่นนท์ทิ้งท้ายด้วยคำถามเผื่อสำหรับคนอ่านที่กำลังเลอยู่ที่อยากทำแบบนี้ ออกไปเที่ยวแบบพี่นนท์ “ผมไม่มีอะไรจะแนะนำในเรื่องของการกลัวไม่กลัว เพราะเรื่องนี้มันเป็นความคิดของแต่ละคนอยู่แล้ว แต่ถ้ามีความคิดที่อยากจะไป หนึ่งคือรีบตัดสินใจเลย ตัดสินใจแล้วไปเลย ไม่ต้องไปกังวลอะไรทั้งนั้น แค่คิดแล้วก็ถ้าเราพร้อม เรามีเพื่อนหรือว่าเราจะไปคนเดียวอะไรแบบนี้ ตัดสินใจแล้วไปเลย หาเวลาว่าง อย่างน้อยทริปของเลห์ ลาดักอ่ะ ทั้งเมืองทั้งภูเขาลูกนั้น หิมาลัยที่มันอยู่ มันจะต้องไปประมาณ 7-9 วันเราถึงจะเที่ยวครบ ซึ่งถ้าเราอยู่ครบ 9 วัน 10 วันเนี่ย มันถือว่าคุ้มมากๆแนะนำให้ไป” แล้วก็พี่นนท์บอกกับผมอีกอย่างว่าเห็นคุณซาริมบอกว่า เลห์มีปัญหาพรมแดนระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และจีน มีข้อพิพาทกันบ่อยจนตอนนี้เหมือนกับว่าถ้าไม่รีบไป เลห์จะปิดเมือง แล้วก็ไม่อาจจะมีโอกาสท่องเที่ยวแล้ว จะกลายเป็นเขตสงครามก็ได้ในอนาคต หลังจากการจบบทสนทนาสิ้นสุดแล้วครับกับทริปการเดินทางกับพี่นนท์ ชายวัย 27 คนนี้ ผมรู้สึกได้ว่าตลอดเรื่องราวและภาพที่พี่นนท์เปิดให้ผมดู ทำให้รู้สึกราวเหมือนกับได้ออกเดินทางไปพร้อมๆ กับพี่นนท์ ตระเวนกินอาหารจานอร่อยพร้อมกับกล่าวคำทักทายเป็นภาษาเลห์ และตกหลุมรักแสงแดด ทะเล อากาศบริสุทธิ์เต็มอิ่ม |
Related Posts
ประสบการณ์แข่งขันของนักกีฬาลีลาศประจำมหาวิทยาลัย กับเรื่องราวที่ทำให้เขาหลงรักการเต้น
“เอาอีก! แรงอีก!! แรงขึ้นอีก!!!” เป็นเสียงของผู้จัดการทีมกีฬาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดังเสมอเมื่อเราเปิดวิดีโอในมือถือตอนที่เราเป็นนักกีฬา แต่ว่ามีแค่ทีมของเราคนเดียวซะเมื่อไหร่ ทีมรอบข้างเขาก็เสียงดังไม่แพ้กัน บรรยากาศเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเจอมาตลอด 3 ปีที่เราก้าวเข้าสู่วงการนักกีฬาของมหาวิทยาลัย ในทุกการแข่งขันล้วนมีแต่ความทรงจำ บทเรียน บาดแผล และประสบการณ์อันล้ำค่ากับเราเสมอ มันทำให้เราหวนคิดถึงกลิ่นของการเป็นนักกีฬา ที่ตัวเราไม่คิดไม่ฝันว่าเราจะมีจุดนี้กับคนอื่นเขาบ้างสักครั้งในชีวิต ความฝันของเด็กผู้ชายหลายคนคือ การได้เป็นหนุ่มป๊อป นักดนตรี นักกีฬาของโรงเรียนหรือของมหาวิทยาลัย ที่มีสาวๆ ชื่นชอบมากมาย แต่นั่นก็ต้องเป็นนักฟุตบอล นักบาสเก็ตบอล ตัดภาพมาที่เรา-ที่มีส่วนสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร น้ำหนักไม่ถึง 55 กิโลกรัม (ในตอนนั้น) จะไปเป็นนักกีฬาอะไรได้วะ จนเรามาได้รู้จักกับกีฬาชนิดหนึ่ง ที่มันช่างเข้ากับเราซะเหลือเกิน เราได้แต่พูดว่า “กูไปอยู่ที่ไหนมาวะ ทำไมแถวบ้านกูไม่มีแบบนี้ ทำไมถึงเพิ่งจะมาเจอ” กีฬานั่นคือกีฬาลีลาศนั่นเอง ฝันฟ้าเฟื่องฟลอร์ … ไฉไล ลีลาศเป็นกีฬาที่ไกลตัวเพราะทุกคนเคยชินกับภาพการเต้นของผู้สูงอายุตามลานแอโรบิค งานเลี้ยงผู้สูงอายุ หรือถูกบรรจุอยู่ในวิชาพละเท่านั้น สำหรับเราลีลาศเป็นกีฬาที่ต้องใช้ทักษะร่างกาย และประสาทสัมผัสสูงมาก เพราะต้องจำฟิกเกอร์ (จำท่า) ต้องฟังจังหวะ แบ่งสัดส่วนร่างกาย ลีลาศจึงเป็นกีฬาที่ต้องทรมานร่างกาย เพื่อให้ได้สิ่งที่สวยงามขึ้นมา เราจึงเห็นได้ว่าคนที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ […]
วิวรรธน์ สัจจวงศ์
June 28, 2021ทูเลโค๊ะ ม่อนคลุย และประสบการณ์ที่นึกขึ้นได้ในการเดินทางไปท่าสองยางของสถาปนิกท่านหนึ่ง
เป็นเรื่องที่วันก่อนนึกขึ้นได้ … ระหว่างที่กำลังเดินอยู่ริมถนน ด้านขวา คือการจราจรที่หนาแน่นพลุกพล่านยามค่ำคืนที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างเป็นปกติ ในหัวพลางคิดถึงการเดินทางไปทูเลโค๊ะที่กำลังใกล้เข้ามา การเดินเขาเข้าป่านั้น ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการท่องเที่ยวมานานแล้ว ถ้าจะว่ากันตามจริง นึกย้อนกลับไป ก็ไม่แน่ใจนักว่าครั้งสุดท้ายที่ยังเห็นเป็นการท่องเที่ยวนั้นคือเมื่อไหร่ อย่าว่าแต่ภูเขาลำเนาไพรเลย หลายครั้งหลายครา การพาตนเองไปเยือนหมู่บ้านเยือนเมือง ก็มิใช่การท่องเที่ยวอีกต่อไป หากแต่คือการเดินทาง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ดีกว่า ความทรงจำที่ยังอยู่ ก็ไม่ใช่ตอนที่ยืนอยู่ที่จุดหมายปลายทาง กลางสนามหญ้าของโรงเรียน ณ เมโลเด แสงของกองไฟวาบเข้าตา รองเท้าทุกคู่วางรอบกองไฟ หลังจากเดินลุยข้ามน้ำเงาเมื่อช่วงกลางวัน ตอนนี้ หวังพึ่งไอร้อนจากกองไฟ หวังว่ารองเท้าจะแห้งสนิท แสงจากเปลวไฟก็ไม่ได้สว่างมากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เห็นเค้าโครงใบหน้าของใครต่อใครที่นั่งอยู่รอบๆกองไฟนี้ ดวงดาวระยิบระยับเต็มฟ้า กลางป่า ณ รอยต่อของแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่-ตาก สิบสี่ชีวิตแลกเปลี่ยน เสวนา และรับฟัง ความทรงจำที่มีต่อการ “เดิน” ทางไปยังบ้านทีทอทะ ผุดขึ้นมา ทูเลโค๊ะ เป็นชื่อที่ชาวปกาเกอะญอเรียกสถานที่แห่งนี้ แปลว่า ภูเขาสีทอง ถึงวันนัดหมาย เรารวมตัวกันที่สำนักงานสถาปนิกแห่งหนึ่งย่านหัวลำโพง การเดินทางไปยังแม่สอดใช้เวลาราวแปดชั่วโมง แสงอาทิตย์ยังไม่แง้มฟ้า เราแวะซื้อเสบียง และของยังชีพที่ย่านตลาดบ้านเหนือ ร้านค้าตามตึกแถวเริ่มเปิดค้าขายกับเช้าวันใหม่ แต่บริเวณที่คึกคัก และสว่างไสวก็ต้องยกให้บริเวณของตลาดสด […]
พราน มณีรัตน์
June 11, 2021จากการเมืองไทยภายนอกสู่การปฏิวัติห้องเชียร์ภายในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช.
ผมได้รับการทาบทามจากสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นตัวแทนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาหัวข้อเพื่อน พี่ น้อง ตามครรลอง SOTUS เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วประเด็นเรื่อง SOTUS เป็นประเด็นที่มีการจัดเสวนาทุกปีและผู้ฟังมีแต่หน้าเดิมๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ครั้งนี้มีความพิเศษกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมาคือ สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกเลิก SOTUS สำเร็จแล้ว และเป็นคณะแรกในวงเสวนาที่ยกเลิก SOTUS สำเร็จ ซึ่งในวงเสวนาประกอบด้วยตัวแทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เอาล่ะ ความกดดันมหาศาลจึงถาโถมเข้ามาที่ผมอย่างรวดเร็วในการเตรียมข้อมูลต่างๆ ที่จะนำไปแลกเปลี่ยนในวงเสวนา ผมต้องทำการระลึกถึงความทรงจำของตัวเองที่มีต่อคณะนี้ตั้งแต่ช่วงสอบติดใหม่ ๆ จนถึงการประกาศยกเลิก SOTUS ว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งหัวข้อที่ผมได้รับมอบหมายจากเจ้าภาพคือ “จากการเมืองไทยภายนอกสู่การปฏิวัติห้องเชียร์ภายในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช.” ต้องเท้าความก่อนว่า การรับรู้เข้าใจและประสบการณ์ในระบบ SOTUS ของแต่ละคนในคณะนั้นมีความแตกต่างกัน เรื่องเล่าที่แต่ละคนสัมผัสถึงระบบ SOTUS ก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่สอดรับกับสภาพการณ์ทางการเมืองในช่วงสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นบทบาทของกลุ่มเพื่อนที่มีผลต่อการประกอบสร้างตัวตนของตนเองภายในคณะและช่วงชีวิตมหา’ลัย ความเข้มข้นของบทบาทของตนเองในกระบวนการหรือนอกกระบวนการ SOTUS เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่มีต่อระบบอาจมีจุดร่วมหรือจุดต่างกับคนอื่นๆ […]