ผมได้รับการทาบทามจากสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นตัวแทนเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาหัวข้อเพื่อน พี่ น้อง ตามครรลอง SOTUS เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วประเด็นเรื่อง SOTUS เป็นประเด็นที่มีการจัดเสวนาทุกปีและผู้ฟังมีแต่หน้าเดิมๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ครั้งนี้มีความพิเศษกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมาคือ สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกเลิก SOTUS สำเร็จแล้ว และเป็นคณะแรกในวงเสวนาที่ยกเลิก SOTUS สำเร็จ ซึ่งในวงเสวนาประกอบด้วยตัวแทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ คณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เอาล่ะ ความกดดันมหาศาลจึงถาโถมเข้ามาที่ผมอย่างรวดเร็วในการเตรียมข้อมูลต่างๆ ที่จะนำไปแลกเปลี่ยนในวงเสวนา ผมต้องทำการระลึกถึงความทรงจำของตัวเองที่มีต่อคณะนี้ตั้งแต่ช่วงสอบติดใหม่ ๆ จนถึงการประกาศยกเลิก SOTUS ว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งหัวข้อที่ผมได้รับมอบหมายจากเจ้าภาพคือ “จากการเมืองไทยภายนอกสู่การปฏิวัติห้องเชียร์ภายในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช.” ต้องเท้าความก่อนว่า การรับรู้เข้าใจและประสบการณ์ในระบบ SOTUS ของแต่ละคนในคณะนั้นมีความแตกต่างกัน เรื่องเล่าที่แต่ละคนสัมผัสถึงระบบ SOTUS ก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่สอดรับกับสภาพการณ์ทางการเมืองในช่วงสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นบทบาทของกลุ่มเพื่อนที่มีผลต่อการประกอบสร้างตัวตนของตนเองภายในคณะและช่วงชีวิตมหา’ลัย ความเข้มข้นของบทบาทของตนเองในกระบวนการหรือนอกกระบวนการ SOTUS เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่มีต่อระบบอาจมีจุดร่วมหรือจุดต่างกับคนอื่นๆ ภายในคณะเป็นธรรมดา ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในเรื่องเล่าชุดหนึ่งที่มีต่อคณะซึ่งเขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเท่านั้น อาจมีความแตกต่างจากหลายๆ คนเป็นเรื่องปกติ ประสบการณ์ส่วนตัวและความทรงจำเหล่านี้ จึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการนำไปร่วมแลกเปลี่ยนบนเวทีเสวนาครั้งแรกหลังจากสโมฯ คณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ยกเลิกระบบ SOTUS
SOTUS: ห้องเชียร์ เสื้อสิงห์ ความเป็นสิงห์ขาว และความรู้สึกย้อนแย้งต่อสิ่งที่เรียนกับสังคมในคณะที่เป็นจริงผมสอบติดคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง ด้วยการคัดเลือกแบบโครงการเรียนดี ก่อนที่ผมจะจากบ้านที่นนทบุรีเพื่อมาเรียนที่นี่ ผมพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสังคมในคณะที่ผมกำลังจะเข้าไปเรียนให้ได้มากที่สุดทั้งจากคนรอบตัวและในโลกออนไลน์ จนผมมาสะดุดใจกับเว็บบอร์ดของเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมที่เขียนเรื่องสภาพสังคมภายในรัฐศาสตร์ฯ มช. ความว่า “ความเป็นสิงห์ของที่นี่แตกต่างจากที่อื่น ที่อื่นเข้ามาแล้วอาจจะสามารถเรียกตัวเองว่าสิงห์ได้เลย แต่ที่รัฐศาสตร์ฯ มช. จะต้องผ่านกระบวนการหล่อหลอม ความเป็นเพื่อน พี่น้อง ด้วย SOTUS ที่ยากลำบาก และการยอมรับจากรุ่นพี่ จึงจะก้าวมาเป็นสิงห์ขาวได้อย่างเต็มภาคภูมิ คนที่เป็นสิงห์ขาวจึงมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งทำงานภายใต้สภาวะความกดดันได้เป็นอย่างดี อยู่ง่าย พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย” คำถามแรกที่ผุดเข้ามาในหัวก็คือ “รัฐศาสตร์ฯเหี้ยอะไรมี SOTUS” แล้วทำไมถึงยังเป็นสิงห์ไม่ได้ แต่นั่นก็เป็นแค่เบาะแสเดียวที่รู้เกี่ยวกับสังคมภายในคณะว่ามีระบบ SOTUS ก่อนที่จะต้องไปเจอกับของจริง หลังจากที่ผมเข้ามาเจอกับระบบ SOTUS ของจริง ผมรู้สึกถึงความย้อนแย้งอย่างที่สุดของคณะที่ได้ชื่อว่าเรียนเรื่องการเมืองการปกครอง เรียนเรื่องอำนาจ เรียนเรื่องระบอบประชาธิปไตย เรียนเรื่องระบอบเผด็จการ แต่การกระทำกลับย้อนแย้งกับสิ่งที่ตนเองเรียนมาสิ้นดี ความรู้สึกผมไม่ได้รู้สึกแค่คนเดียว แต่มันไหลเวียนอยู่ในสายธารความคิดของนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ มช. จำนวนหนึ่งที่มีแนวคิดต่อต้านระบบ SOTUS มาหลายปีแล้วถึงความย้อนแย้งนี้ หลาย ๆ คนที่ออกตัวต่อสู้ในช่วงแรก ๆ ต้องถูกทำให้เป็นชายขอบก็หลายคน ผมขอสดุดีคนเหล่านั้นอย่างสุดหัวใจ สำหรับผู้ที่เรียนคณะรัฐศาสตร์ในประเทศไทย จะถูกเรียกว่า “สิงห์” และตามด้วยสีที่เป็นสัญลักษณ์ของคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่นสิงห์ดำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สิงห์แดง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สิงห์เขียว ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสิงห์ขาว คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่สำหรับสิงห์ขาวนั้น คุณจะเป็นสิงห์ขาวรุ่นนั้น ๆ ได้ ก็ต่อเมื่อคุณ “ผ่านห้องเชียร์ ได้เสื้อสิงห์” ตามกระบวนการ SOTUS เท่านั้น หากคุณไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าว “คุณไม่ใช่และไม่มีสิทธิที่จะเป็นสิงห์ขาว” แม้ว่าคุณจะเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ก็ตาม คุณจะถูกทำให้กลายเป็นชายขอบจากสังคมภายในคณะ คุณจะถูกแบ่งแยกด้วยอัตลักษณ์สิงห์ขาวออกจากเพื่อนของคุณที่ผ่านระบบ SOTUS และคุณก็จะค่อย ๆ ถูกทำให้หายไปจากคณะนี้ ความรู้สึกถูกแบ่งแยกนี้ไม่ได้เกิดกับคนที่ไม่เอาระบบ SOTUS อย่างเดียว แต่คนที่ผ่านระบบ SOTUS ได้เสื้อสิงห์ และเป็นสิงห์ขาวตามแนวคิด SOTUS แต่แสดงออกว่าต่อต้านระบบ SOTUS คุณก็จะได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากคนที่ไม่เอาระบบ SOTUS โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ไม่เอาระบบ SOTUS และแสดงออกอย่างแข็งขันว่าต่อต้านระบบ SOTUS ด้วย นี่หรือ สิ่งที่ควรมีในคณะที่เรียนวิชารัฐศาสตร์ ? มีหลายคนในคณะที่ต้องซิ่ว ต้องลาออก ต้องย้ายคณะ หรือตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าจากกระบวนการทำให้เป็นคนชายขอบ แบ่งเขาแบ่งเรา และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์เช่นนี้จำนวนมากในอดีต เป็นการแบ่งแยกเชิงอัตลักษณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอยู่ในคณะที่ได้ชื่อว่าเรียนรัฐศาสตร์ เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ถูกทำให้มีความชอบธรรมผ่านการทำให้เป็นสิ่งโรแมนติกหรือ Romanticize การทำให้เป็นสิ่งดีงาม การทำให้เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่ผ่านมันมาได้ การทำให้เกิดมายาคติที่ว่าหากเข้ามาใช้ชีวิตมหา’ลัยแล้วไม่ได้ผ่านระบบ SOTUS จะทำให้เกิดความรู้สึกเสียดายหรือเสียชาติเกิดภายในจิตใจ หรืออาจไม่มีเพื่อนหรือมีเพื่อนน้อย ผู้ที่นิยมระบบ หรือ “อิน” กับระบบ SOTUS จะมีปฏิกิริยาโต้กลับผู้ที่แสดงออกว่าต่อต้านระบบ SOTUS ดั่งการทำหน้าที่ “ทนายแก้ต่าง” ด้วยตรรกะแปลก ๆ โดยไม่รู้ตัว ผ่านการแซะ แขวะ แดกดัน หรือการแคปโพสต์ไปวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มแชทของตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้ผมเคยโพสต์ไว้ใน Facebook ส่วนตัวหลังจากสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ประกาศยกเลิกระบบ SOTUS ดังนี้ “เด็กรัฐศาสตร์ฯ มช. ไม่ค่อยเรียกตัวเองว่าเป็นสิงห์ขาวรุ่นอะไร ส่วนใหญ่จะเรียกว่าตัวเองเรียนรัฐศาสตร์รหัสอะไร (โดยเฉพาะพวกต่อต้านโซตัส) เพราะตอนปี 1 ถูกห้ามไม่ให้เรียกตัวเองว่าสิงห์ขาว ต้องผ่านห้องเชียร์ ระบบโซตัส และได้เสื้อสิงห์เท่านั้นถึงได้เป็นสิงห์ขาว มันคงเป็นความรู้สึกที่ฝังใจมาตั้งแต่ปี 1 ใครที่โพสต์ว่าตัวเองเป็นสิงห์ขาวก่อนจบกระบวนการโซตัสก็จะถูกรุ่นพี่หลังไมค์ให้ลบโพสต์แล้วบอกว่ามึงยังไม่ใช่สิงห์ขาว ไม่ก็ถูกแคปโพสต์ไปด่าในกลุ่มต่าง ๆ ไม่ก็ถูกโพสต์แซะ แขวะต่าง ๆ ว่าอยากเป็นสิงห์ขาวก่อนเวลาอันควรตามแนวคิดโซตัส ความภาคภูมิใจในสิงห์ขาวมันถึงไม่มีอย่างเต็มที่เพราะถูกบังคับให้ผ่านกระบวนการที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มจนจบกระบวนการถึงได้เป็นสิงห์ขาว มันตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทั้งคนที่ผ่านระบบและต่อต้านระบบโซตัสเวลาจะเรียกตัวเองว่าสิงห์ขาว ต่อจากนี้ทุกคนที่จบรัฐศาสตร์ มช. คงพูดได้อย่างเต็มปากเสียทีว่าตัวเองเป็นสิงห์ขาว โดยที่คนรุ่นหลังไม่ต้องผ่านกระบวนการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อีกแล้ว” ผมยอมรับว่า ผมผ่านกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมด ได้ทั้งเสื้อสิงห์ และเป็นสิงห์ขาวตามแนวคิด SOTUS แต่ก็ด้วยเหตุผลเดียวก็คือ เพื่อหาความชอบธรรมในการต่อต้าน ไม่ใช่การเข้าไปเพื่อสมยอมต่อระบบแต่อย่างใด แต่ผมก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า คุณจะเข้าไปและสามารถเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม คุณต้องเข้าถึงโครงสร้างอำนาจหลักที่คอยค้ำจุนระบอบให้ได้ ทั้งในทางความคิดและในทางปฏิบัติ เช่น ไปเป็นพี่ปกครอง ไปเป็นพี่เชียร์ เป็นต้น ซึ่งมันไม่ใช่ตัวตนของผมที่จะเป็นแบบนั้น หลังจากผมผ่านระบบนี้ ผมก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการใด ๆ ภายในห้องเชียร์อีก ผมยังรู้สึกผิดและเสียใจกับตัวเองจนถึงทุกวันนี้ที่วันนั้นได้เอาตัวเองไปแลกกับการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำการคงอยู่ของระบบ SOTUS อันเป็นปุ๋ยบำรุงชั้นดีให้แก่ระบอบเผด็จการระดับชาติ ความคิดและสติปัญญาของผม ณ ตอนนั้นช่างน้อยนิดและไร้เดียงสายิ่งนักเมื่อคิดย้อนกลับไป แต่กระนั้น ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้าที่อยู่ค้ำฟ้าสืบชั่วกัลปาวสาน หากไม่สามารถปรับตัวได้อีกต่อไปกับการพลวัตของสังคม
จากกระแสการเมืองระดับชาติ ผสมโรงด้วยการแพร่ระบาดของ COVID – 19 สู่การล่มสลายของระบบ SOTUS ในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. สืบชั่วกัลปาวสานปฏิเสธไม่ได้ว่า การล่มสลายของระบบ SOTUS ภายในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. เป็นผลมาจากการเมืองระดับชาติโดยตรง นับตั้งแต่ตันปี 2020 เป็นต้นมาหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ก่อให้เกิด Flash Mob ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ทำให้ Flash Mob ต้องหายไปช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งกลับมาเคลื่อนไหวอีกรอบภายหลังกรณีทหารอียิปต์และลูกทูตซูดานไม่ยอมกักตัว ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดระยองเสียหายซ้ำเข้าไปอีก จึงเริ่มต้นเคลื่อนไหวอีกครั้งช่วงกรกฎาคม 2020 และยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หากสังเกตดี ๆ ตามป้ายประท้วงในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเห็นป้ายประท้วงชนิดหนึ่งที่มักมีใจความถึงการโจมตีระบบ SOTUS การรับน้องประชุมเชียร์ รวมถึงเนื้อหาที่นำขึ้นไปปราศรัยบนเวทีก็มีการโจมตีระบบ SOTUS เช่นกัน ใจความประมาณว่า “คุณพี่เป็นอะไรคะ ต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย แต่อิน SOTUS ย้อนแย้งมั้ยคะ?” สายธารความคิดเช่นนี้จึงล้อไปกับกระแสการเมืองระดับชาติไปโดยปริยาย มันไหลเวียนล้อไปกับการตั้งคำถามต่อโครงสร้างอำนาจทั้งองคาพยพของรัฐไทย คนที่เคยอินกับระบบ SOTUS จึงค่อย ๆ “ตาสว่าง” ไปพร้อม ๆ กับการ “ตาสว่าง” ต่อการมองการเมืองไทย นำสู่การกลับมาตั้งคำถามต่อความคิด ความเชื่อของตนเองว่ามันย้อนแย้งหรือไม่ในเรื่องการอิน SOTUS แต่ต่อต้านเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะสายสังคมต่าง ๆ ที่ไม่ควรจะมีที่สุด ในกรณีของคณะรัฐศาสตร์คงเป็นความคิดประเภทที่ว่า รัฐศาสตร์ที่ควรจะเป็นที่สังคมคาดหวังควรเป็นแบบไหน อีกทั้ง การแพร่ระบาดของ COVID – 19 เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญอย่างมากที่ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ที่มีความยึดโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ ของระบบ SOTUS นั้นเสียสมดุลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถจัดกิจกรรมห้องเชียร์ได้ในภาคการศึกษาที่ 1 เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การที่กิจกรรมรับน้องขึ้นดอยถูกเลื่อนไปจัดในภาคการศึกษาที่ 2 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทั้งสองต่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการคงอยู่ของระบบ SOTUS ในคณะต่าง ๆ เนื่องจากก่อนที่จะรับน้องขึ้นดอยได้ ก็ต้องมีการใช้ห้องเชียร์เพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน การร้องเพลงเชียร์ การจัดรูปขบวนขึ้นดอย ฯลฯ เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในการภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง แต่ในปีนี้กระบวนการต่าง ๆ ได้ถูก COVID – 19 ทำลายลงอย่างสิ้นเชิง มากไปกว่านั้น นักศึกษาปี 1 รุ่นนี้ (รหัส 63) ไม่ได้เติบโตมากับห้องเชียร์ การว้าก การเอารุ่น ไม่เอารุ่น แต่เติบโตมากับการไปชุมนุมต่อต้านเผด็จการ เติบโตมากับสายธารความคิดที่ว่า “คุณพี่เป็นอะไรคะ ต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย แต่อิน SOTUS ย้อนแย้งมั้ยคะ?” ความคิดทางการเมืองของนักศึกษาปี 1 รุ่นนี้จึงก้าวหน้า เติบโต และทะลุเพดานไปแล้ว ไม่มีทางที่จะย้อนกลับคืนได้อีกต่อไปแล้ว พี่ว้าก พี่ปกครอง พี่เชียร์ จะอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วยความคิดแบบ SOTUS ให้ปี 1 ฟังอย่างไรในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้? เราอยู่ในสังคมที่พูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะโดยไม่ต้องหวาดกลัวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว นับประสาอะไรกับ SOTUS ที่จะยังคงเอามันไว้อีกในโลกยุคปัจจุบัน สำหรับผม คนที่ยังคงเห็นดีเห็นงามกับ SOTUS มี 3 ประเภท เป็นบัวในตม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไม่ก็ได้ผลประโยชน์จากมัน ทั้งผลประโยชน์ทางใจและผลประโยชน์ทางกายภาพชนิดอื่น ๆ หลังจากนั้น เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นนี้บังเกิดขึ้นแล้ว จึงนำไปสู่ความสุกงอมและนำไปสู่การล่มสลายของระบบ SOTUS ในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ในที่สุด
ประสบการณ์และความทรงจำในวันประกาศแถลงการณ์ยกเลิก SOTUSในช่วงวันที่ 17 – 18 ตุลาคม 2020 เกิดกระแสการสำนึกผิดและออกมาขอโทษจากผู้ที่เคยมีบทบาทในห้องเชียร์และกระบวนการในระบบ SOTUS ในโลกออนไลน์ นำไปสู่การตั้งคำถามและเรียกร้องให้ผู้ที่มีบทบาทต่าง ๆ ในห้องเชียร์คณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ออกมาสำนึกผิดและขอโทษตามไปด้วย นำไปสู่การเรียกประชุมด่วนจากนายกสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2020 เพื่อร่วมถกเถียงและหารือในการหาทางออกในประเด็นดังกล่าว นายกสโมฯ ได้เปิดให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่จากทุกฝ่ายที่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนั้นซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายต่าง ๆ ทุกชั้นปี เช่น ฝ่ายปกครอง ชมรมเชียร์ ฝ่ายสันทนาการ ฝ่ายพยาบาล ประธานรุ่น ประธานสาขา คณะทำงานสโมสรนักศึกษาเมื่อปีที่แล้ว ฯลฯ รวมถึงนักศึกษาธรรมดาที่ไม่ได้มีบทบาทใด ๆ ในห้องเชียร์ก็เข้าร่วมด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีผมที่เข้าร่วมในฐานะนักศึกษาธรรมดาที่ไม่ได้มีบทบาทใด ๆ ในห้องเชียร์ ตลอดการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในเวลาหลายชั่วโมง ประธานฝ่ายปกครองได้ประกาศยุบเลิกฝ่ายปกครองอย่างสมัครใจและไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเหตุผลที่สำคัญในการยุบคือ ไม่อาจทนต่อความรู้สึกที่ถูกตราหน้าว่าสนับสนุนระบบ SOTUS ได้อีกต่อไปแล้ว ไม่อยากมีความรู้สึกที่ว่าเรียนรัฐศาสตร์แต่ทำตัวย้อนแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเรียน พวกเขาเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเวลาที่รอคอยได้มาถึงแล้ว หลาย ๆ คนอาจเคลือบแคลงต่อเจตนาของพวกเขาเป็นอื่นก็ได้ แต่พวกเขาอยากที่จะเปลี่ยนแปลงมันจริง ๆ จึงขอประกาศยุบฝ่ายปกครองด้วยความสมัครใจและไม่มีเงื่อนไข เช่นเดียวกันกับประธานชมรมเชียร์ ที่ได้ประกาศยุบเลิกชมรมเชียร์อย่างสมัครใจและไม่มีเงื่อนไข โดยให้เหตุผลว่า การมีอยู่ของชมรมเชียร์คือแหล่งบ่มเพาะวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย ไม่ว่าการสั่งระเบียบเชียร์ การกดดันน้องที่ร้องเพลงเชียร์ไม่ได้ ซึ่งเป็นการสร้างความแตกแยกภายในคณะมากกว่าสร้างความสามัคคี เป็นการแบ่งเขาแบ่งเรา ทั้ง ๆ ที่เป็นคณะเดียวกัน รวมถึงเนื้อเพลงทั้งหลายล้วนส่งเสริมและผลิตซ้ำคุณค่าชายเป็นใหญ่ กดทับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบัน ใครอยากฟังเพลงเชียร์ให้ไปหาฟังใน YouTube เอา แต่จะไม่มีการเอาน้องมาบังคับร้องเพลงเชียร์อีกแล้ว จึงขอประกาศยุบชมรมเชียร์ด้วยความสมัครใจและไม่มีเงื่อนไข เมื่อทั้งฝ่ายปกครองและชมรมเชียร์ประกาศยุบตัวเองลงแล้ว เสาหลักที่ค้ำจุนระบบ SOTUS ในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. จึงไม่มีอีกต่อไป นายกสโมฯ จึงทำการเปิดให้ลงมติว่าจะยกเลิกระบบ SOTUS และองคาพยพทั้งหมดหรือไม่ ผลเป็นเอกฉันท์จากทุกคน ทุกฝ่ายให้ยกเลิกระบบ SOTUS ในที่สุด แต่กระนั้น ในเชิงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเสื้อสิงห์ ที่เห็นต่างกันออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่า เสื้อสิงห์คือหนึ่งในองคาพยพของระบบ SOTUS อย่างแนบแน่น ไม่สามารถแบ่งแยกได้ หากยกเลิกระบบ SOTUS ไปแล้ว ก็ต้องยกเลิกการให้คุณค่าเสื้อสิงห์ประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และรางวัลที่ได้จากการผ่านระบบที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วย หากมองว่าเสื้อสิงห์เป็นคนละเรื่องกับ SOTUS ก็ไม่ต่างอะไรกับการผลิตซ้ำคุณค่าของวัฒนธรรมอำนาจนิยมอันเป็นรากฐานของระบอบเผด็จการต่อไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับมองต่าง พวกเขามองว่าการให้ทุกคนสามารถซื้อเสื้อสิงห์ได้เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมต่อคนที่ผ่านระบบ SOTUS และผ่านการทำกิจกรรมด้วยความยากลำบากมา เสื้อสิงห์ควรเป็นรางวัลให้แก่คนทำกิจกรรม และมองประเด็นเรื่องเสื้อสิงห์ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับระบบ SOTUS แต่แล้ว ข้อสรุปในที่ประชุมส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่า ประเด็นเรื่องเสื้อสิงห์คือเรื่องเดียวกันกับระบบ SOTUS หลังจากมีความพยายามที่จะเบี่ยงประเด็นไม่ให้จบในที่ประชุมคราวเดียว แต่ฝ่ายที่เห็นว่าเสื้อสิงห์กับระบบ SOTUS คือเรื่องเดียวกันก็โต้แย้งว่าให้ทุกคนในที่ประชุมจงซื่อสัตย์ต่อหลักการที่ตัวเองเรียนมา ซื่อสัตย์กับหัวใจตัวเองโดยไม่โอนเอียงไปตามอารมณ์และความรู้สึก สุดท้าย แถลงการณ์ยกเลิกระบบ SOTUS ในคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ก็ถูกร่างขึ้นทันทีที่ลงมติยกเลิกระบบ SOTUS ซึ่งทุกคในที่ประชุมมีส่วนร่วมในการร่างแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว โดยผมมีส่วนร่วมในการร่างในข้อความที่เขียนว่า “บ่อนทำลายประชาธิปไตย” อันมาจากประโยคที่ผมเคยถูกพี่ปกครองพูดใส่สมัยปี 1 ว่าพวกที่ต่อต้านระบบ SOTUS คือพวก “บ่อนทำลายสถาบันสิงห์ขาว” และเพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. ว่าจากนี้และตลอดไป คณะรัฐศาสตร์ฯ มช. จะไม่มีระบบอันมีลักษณะก่อรากฐานระบอบอำนาจนิยมและการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ สืบชั่วกัลปาวสาน ความเป็นสิงห์ขาว ถูกตัดขาดออกจากความเป็นอำนาจนิยมตามระบบ SOTUS อย่างสมบูรณ์ ทุกคนคือสิงห์ขาวนับตั้งแต่เป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ มช. หาใช่ต้องผ่านกระบวนการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อีกต่อไป “กำแพงเบอร์ลินในคณะนี้ได้ล่มสลายลงแล้ว” “คงจะดีไม่น้อย ถ้ารู้สึกดีใจแบบนี้อีกครั้งเมื่อประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” |
Related Posts
ประสบการณ์แข่งขันของนักกีฬาลีลาศประจำมหาวิทยาลัย กับเรื่องราวที่ทำให้เขาหลงรักการเต้น
“เอาอีก! แรงอีก!! แรงขึ้นอีก!!!” เป็นเสียงของผู้จัดการทีมกีฬาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดังเสมอเมื่อเราเปิดวิดีโอในมือถือตอนที่เราเป็นนักกีฬา แต่ว่ามีแค่ทีมของเราคนเดียวซะเมื่อไหร่ ทีมรอบข้างเขาก็เสียงดังไม่แพ้กัน บรรยากาศเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเจอมาตลอด 3 ปีที่เราก้าวเข้าสู่วงการนักกีฬาของมหาวิทยาลัย ในทุกการแข่งขันล้วนมีแต่ความทรงจำ บทเรียน บาดแผล และประสบการณ์อันล้ำค่ากับเราเสมอ มันทำให้เราหวนคิดถึงกลิ่นของการเป็นนักกีฬา ที่ตัวเราไม่คิดไม่ฝันว่าเราจะมีจุดนี้กับคนอื่นเขาบ้างสักครั้งในชีวิต ความฝันของเด็กผู้ชายหลายคนคือ การได้เป็นหนุ่มป๊อป นักดนตรี นักกีฬาของโรงเรียนหรือของมหาวิทยาลัย ที่มีสาวๆ ชื่นชอบมากมาย แต่นั่นก็ต้องเป็นนักฟุตบอล นักบาสเก็ตบอล ตัดภาพมาที่เรา-ที่มีส่วนสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร น้ำหนักไม่ถึง 55 กิโลกรัม (ในตอนนั้น) จะไปเป็นนักกีฬาอะไรได้วะ จนเรามาได้รู้จักกับกีฬาชนิดหนึ่ง ที่มันช่างเข้ากับเราซะเหลือเกิน เราได้แต่พูดว่า “กูไปอยู่ที่ไหนมาวะ ทำไมแถวบ้านกูไม่มีแบบนี้ ทำไมถึงเพิ่งจะมาเจอ” กีฬานั่นคือกีฬาลีลาศนั่นเอง ฝันฟ้าเฟื่องฟลอร์ … ไฉไล ลีลาศเป็นกีฬาที่ไกลตัวเพราะทุกคนเคยชินกับภาพการเต้นของผู้สูงอายุตามลานแอโรบิค งานเลี้ยงผู้สูงอายุ หรือถูกบรรจุอยู่ในวิชาพละเท่านั้น สำหรับเราลีลาศเป็นกีฬาที่ต้องใช้ทักษะร่างกาย และประสาทสัมผัสสูงมาก เพราะต้องจำฟิกเกอร์ (จำท่า) ต้องฟังจังหวะ แบ่งสัดส่วนร่างกาย ลีลาศจึงเป็นกีฬาที่ต้องทรมานร่างกาย เพื่อให้ได้สิ่งที่สวยงามขึ้นมา เราจึงเห็นได้ว่าคนที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ […]
วิวรรธน์ สัจจวงศ์
June 28, 2021ทูเลโค๊ะ ม่อนคลุย และประสบการณ์ที่นึกขึ้นได้ในการเดินทางไปท่าสองยางของสถาปนิกท่านหนึ่ง
เป็นเรื่องที่วันก่อนนึกขึ้นได้ … ระหว่างที่กำลังเดินอยู่ริมถนน ด้านขวา คือการจราจรที่หนาแน่นพลุกพล่านยามค่ำคืนที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างเป็นปกติ ในหัวพลางคิดถึงการเดินทางไปทูเลโค๊ะที่กำลังใกล้เข้ามา การเดินเขาเข้าป่านั้น ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการท่องเที่ยวมานานแล้ว ถ้าจะว่ากันตามจริง นึกย้อนกลับไป ก็ไม่แน่ใจนักว่าครั้งสุดท้ายที่ยังเห็นเป็นการท่องเที่ยวนั้นคือเมื่อไหร่ อย่าว่าแต่ภูเขาลำเนาไพรเลย หลายครั้งหลายครา การพาตนเองไปเยือนหมู่บ้านเยือนเมือง ก็มิใช่การท่องเที่ยวอีกต่อไป หากแต่คือการเดินทาง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ดีกว่า ความทรงจำที่ยังอยู่ ก็ไม่ใช่ตอนที่ยืนอยู่ที่จุดหมายปลายทาง กลางสนามหญ้าของโรงเรียน ณ เมโลเด แสงของกองไฟวาบเข้าตา รองเท้าทุกคู่วางรอบกองไฟ หลังจากเดินลุยข้ามน้ำเงาเมื่อช่วงกลางวัน ตอนนี้ หวังพึ่งไอร้อนจากกองไฟ หวังว่ารองเท้าจะแห้งสนิท แสงจากเปลวไฟก็ไม่ได้สว่างมากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เห็นเค้าโครงใบหน้าของใครต่อใครที่นั่งอยู่รอบๆกองไฟนี้ ดวงดาวระยิบระยับเต็มฟ้า กลางป่า ณ รอยต่อของแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่-ตาก สิบสี่ชีวิตแลกเปลี่ยน เสวนา และรับฟัง ความทรงจำที่มีต่อการ “เดิน” ทางไปยังบ้านทีทอทะ ผุดขึ้นมา ทูเลโค๊ะ เป็นชื่อที่ชาวปกาเกอะญอเรียกสถานที่แห่งนี้ แปลว่า ภูเขาสีทอง ถึงวันนัดหมาย เรารวมตัวกันที่สำนักงานสถาปนิกแห่งหนึ่งย่านหัวลำโพง การเดินทางไปยังแม่สอดใช้เวลาราวแปดชั่วโมง แสงอาทิตย์ยังไม่แง้มฟ้า เราแวะซื้อเสบียง และของยังชีพที่ย่านตลาดบ้านเหนือ ร้านค้าตามตึกแถวเริ่มเปิดค้าขายกับเช้าวันใหม่ แต่บริเวณที่คึกคัก และสว่างไสวก็ต้องยกให้บริเวณของตลาดสด […]
พราน มณีรัตน์
June 11, 2021Julley!! Leh Ladakh-การออกเดินทางสุดขอบฟ้า บนเส้นทางแห่งขุนเขาหิมาลัย
“รีบไปได้ ไปเลยดีกว่า เพราะถ้าได้ไปที่นี่ พี่เชื่อว่าเราจะต้องรักมันแน่นอน” คือสิ่งที่พี่นนท์-นนทะภัทร์ จินะชิต บอกกับผมในขณะที่เราสองคนกำลังยืนคุยกันหน้าบาร์แห่งหนึ่งในเชียงใหม่เรื่องการเดินทาง 9 วันบนเส้นทางแห่งขุนเขาที่มีชื่อว่าเลห์ ลาดัก (Leh Ladakh) ก่อนหน้านี้เราได้พบกันตามสถานที่ต่างๆ ในเชียงใหม่ ผมกับพี่นนท์รู้จักกันในฐานะรุ่นพี่และรุ่นน้อง แต่เมื่อนั่งคุยกันไปเรื่อยๆ เรื่องการเดินทางของพี่นนท์บนเส้นทางแห่งขุนเขาเลห์ ลาดัก ทำให้ค้นพบว่าจริงๆแล้ว พี่นนท์เป็นคนวัย 27 ที่ชีวิตโคตรสนุก เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง มีมุมในการมองโลกและวิธีคิดที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งบทสนทนาที่เกิดขึ้นสะท้อนตัวตน ความคิด และความเชื่อของเขา นอกจากนี้ผมยังเห็นเป้าหมายในชีวิตของเขาที่เปลี่ยนไป ครั้งหนึ่งพี่นนท์อยากให้โลกจดจำ แต่ในครั้งนี้พี่นนท์ฝันถึงสิ่งที่ต่างออกไป ต้องออกเดินทาง…ต้องออกไปพบโลกกว้างใหญ่ ในตอนที่ผมรู้จักกับพี่นนท์ เขาทำงานหลายอย่างมากๆ ทั้งทำกาแฟ เล่นดนตรี แต่ตอนนั้นหลักๆ จะเป็นเชฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ส่วนตอนเช้าก็จะเป็นบาริสต้าตั้งแต่ แปดโมงเช้าถึงบ่ายสาม พอบ่ายสามโมงครึ่งพี่นนท์จะต้องเข้าร้านอาหาร และไปเป็นเชฟต่อถึงเที่ยงคืน “เราไม่มีเวลาพัก ไม่มีวันหยุดเลย ถึงมีก็มีน้อยมากที่ให้เราได้พักหายใจ เราเลยตัดสินใจอยากหาเวลาที่เราจะได้ไปเที่ยวที่ไหนไกลๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน ครอบครัว และอยากไปตัวคนเดียวอยู่แล้ว ก็ลองค้นหาดู หาสถานที่ ที่มันไม่ใช่เขาไม่ใช่ดอย ในประเทศไทยอะไรประมาณนี้ อยากหาอะไรที่มันแอดวานซ์ขึ้น แต่พอถึงเวลาจริงๆก็ไม่ได้เชิงไปคนเดียว ไปกับเพื่อนอีกสองคนที่รู้จักมาก่อนนานแล้ว […]