Memories of Murders: ไม่มีกำลังเสริมมา ทุกคนถูกเกณฑ์ไปจัดการผู้ชุมนุมที่ซูวอน

Behind The Scene x ชีพจรลงเฟรม

 

ถ้าพูดถึงหนังที่ดีมากๆ ของบงจุนโฮ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำและออสการ์จาก Parasite (2019) หนึ่งในนั้นควรจะต้องมี Memories of Murder

ฆาตกรรม ความตาย และสายฝน หรือ Memories of Murder เป็นเรื่องราวของเมืองเมืองหนึ่งที่มีเหตุการณ์ฆาตกรต่อเนื่องเกิดขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นกลับไม่สามารถปิดคดีได้ จนต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สืบสวนจากเมืองหลวง เพื่อช่วยกันหาความจริงว่าใครคือฆาตกร

หนังเปิดหน้ามาเหมือนกับจะพูดเรื่องการปะทะกันของความเป็นเมืองกับความเป็นชนบท เล่าถึงจุดขัดแย้งของการทำงานแบบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกับคนเมือง กลุ่มตัวละครหลักฝั่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่พยายามจะปิดคดีให้ได้ทั้งจากการจับแพะบ้าง การซ้อมผู้ต้องหาเพื่อรับคำสารภาพ การสร้างพยานหลักฐานเท็จ รวมถึงทิศทางการสืบสวนที่ exotic ชนิดที่เราในยุคปัจจุบันน่าจะนึกไม่ออกว่าทำแบบนั้นไปทำไม ก่อนที่การมาถึงของนักสืบหนุ่มจากโซลจะท้าทายตัวละครนักสืบปาร์กที่อ้างว่าตัวเองมีสัญชาตญาณนักสืบให้สั่นคลอน ก่อนสุดท้ายจะขมวดเข้ามาหาปมที่ใหญ่กว่า

หนังพูดถึงประเด็นได้ค่อนข้างกว้างขวาง ตั้งแต่ประเด็นเรื่อง “เมืองปะทะชนบท” “ความยุติธรรม” “ความปลอดภัย” “ภาวะเชิงรัฐ” ฯลฯ แต่โดยหลักใหญ่แล้วหนังพูดถึงเรื่อง “มุมมอง” (perception) ทั้งผ่านตัวสัญลักษณ์หลักและสัญลักษณ์ย่อยจำนวนมากในเรื่อง ตั้งแต่มุมมองของฆาตกรต่อเหยื่อ มุมมองของตำรวจต่อคนท้องถิ่น มุมมองของคนท้องถิ่นต่อเจ้าหน้าที่ มุมมองของตำรวจเมืองกับตำรวจท้องที่ ตลอดจนมุมมองของเพื่อนร่วมงานต่อเพื่อนร่วมงาน ถ้าให้สปอยล์หนักๆก็คงจะต้องขอยกประโยคท่อนหนึ่งของ The Prestige (2006/Christopher Nolan) ที่ว่า “ทุกคนที่มาดู (มายากล) ไม่มีใครสามารถมอง (กล) ออก เพราะพวกเขาไม่ได้อยากมองจริงๆ” 

หนึ่งใน “มุมมอง” ที่ถูกฉายออกมาได้อย่างน่าสนใจในเรื่องนี้ คือมุมมองเรื่อง “ลำดับความสำคัญ” เราจะพบว่าในเรื่องมีการขัดแย้งกันเรื่อง “ขั้นตอน” “ลำดับ” อยู่บ่อยครั้ง จนมาถึงฉากใหญ่ที่สุดของประเด็นนี้ คือในวันที่ทุกคนมีโอกาสจะนำหน้าฆาตกรด้วยการป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่กลับไม่สามารถขอกำลังเสริมมาช่วยได้เพราะ “รัฐ” มอง “ลำดับความสำคัญ” แตกต่างออกไป โดยการเกณฑ์ตำรวจในหลายๆพื้นที่ไปช่วยระงับการชุมนุม ทำให้ไม่มีตำรวจเพียงพอที่จะมาระงับเหตุฆาตกรรมสุดสยองที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ 

และเช้าวันต่อมา ทุกคนก็พบศพของหญิงสาวโชคร้ายที่ถูกฆาตกรรมอย่างสยดสยองอีกหนึ่งคน

ที่อยู่ๆ ก็คิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเมื่อมองย้อนกลับมาในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เราจะเห็นภาพตำรวจจำนวนมากคอยสังเกตุการณ์การชุมนุม บางพื้นที่มากจนชวนให้สงสัยว่าแล้วยังมีตำรวจคนอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่ “ตามปกติ” อยู่บ้างไหม มีคนคอยตรวจตราความปลอดภัยของประชาชนหรือเปล่า มีใครคอยอยู่หน้าโทรศัพท์เบอร์ 191 ที่ลำพังก็โทรติดยากอยู่แล้ว เพื่อรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายหรือเปล่า ชวนให้ตั้งคำถามว่าจริงๆแล้วตำรวจทำหน้าที่อะไรในสังคม มุมมองของตำรวจต่อประชาชนคืออะไร เค้าเห็นคนที่เดินไปเดินมาเป็นยังไง เค้ารู้สึกยังไงกับการที่มีข่าวคนหายคนโดนอุ้มรายวัน 

เค้ารู้สึกยังไงกับการที่คดีบางแบบถูกดองไว้ได้จนหมดอายุความ ในขณะที่บางคดีสามารถเร่งรัดให้เสร็จได้ในไม่กี่ชั่วโมง บางคดีที่ทุกคนถามหาความชอบธรรมในการทำหน้าที่ของพวกเขา บางคดีที่ไม่รับแจ้งเหมือนไม่ใช่เรื่องสำคัญ แล้วมุมมองเรื่อง “ลำดับความสำคัญ” ของเจ้าหน้าที่หล่านั้นจริงๆแล้วคืออะไร ใช่ “ประชาชน” อย่างที่เขาสลักไว้บนอนุสาวรีย์หินนั่นจริงหรือเปล่า หรือจริงๆแล้วมีใครบ้างที่เป็น “ประชาชน” ในสายตาของพวกเขา 

ความสะท้อนใจเหล่านี้ชวนให้รู้สึกหดหู่เหมือนตอนที่ทุกคนในเรื่องกำลังกระตือรือร้นอย่างสุดกำลัง แต่แล้วหัวหน้าแผนกสืบสวนก็นิ่งไป 

“ทำไมกำลังเสริมยังไม่มาอีก” เสียงหนึ่งถามขึ้น 

“ไม่มีกำลังเสริมมา ทุกคนถูกเกณฑ์ไปจัดการผู้ชุมนุมที่ซูวอน” 

Photo Courtsey of CJ Entertainment & Sidus Pictures

Contributors

พีรพล ธงภักดิ์

ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ รวมกลุ่มกับเพื่อนในกลุ่มชีพจรลงเฟรม