Papacraft งานหนังจากความฝันและใจรักของสองพ่อลูกคราฟต์แมน

การแวะคาเฟ่เล็กๆ ในจังหวัดลำปางเมื่อปลายปีที่แล้ว นอกจากจะได้จิบเครื่องดื่มแก้กระหายแก้วใหญ่ในร้านไซซ์น่ารัก ยังได้เจอกับเครื่องประดับที่มีลวดลายสวยงามสีสันจัดจ้านราวกับอยู่ในสวนดอกไม้ จนยากจะเชื่อว่าทั้งหมดนั้นทำมาจากเครื่องหนังที่เป็นวัตถุดิบที่หลายคนคงชินตากับเฉดสีเรียบง่าย

Papacraft หรือในชื่อภาษาไทยว่า ปาป้าคร้าฟท์ คือเจ้าของผลงานจิวเวอร์ลี่หนังสีสันสะดุดตาด้วยเทคนิคการทำลวดลายจากแรงบันดาลใจมาของธรรมชาติรอบตัว เหล่านี้รังสรรค์โดย ‘ป๊า’ หรือพี่ช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล กับ ‘ปาป้าจูเนียร์’ หรือขวัญ-ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล สองพ่อลูกผู้ตกหลุมรักการทำงานคราฟต์และร่วมไม้ร่วมมือกันสร้างแบรนด์ปาป้าคราฟต์ขึ้นมา

ในฐานทัพเล็กๆ แห่งความฝันที่ซ่อนตัวอยู่ข้างหลัง Papacraft Cafe คาเฟ่และสตูดิโอส่วนตัวของปาป้าคร้าฟท์ที่ถนนตลาดเก่าในเมืองรถม้า ความสงสัยถึงสิ่งที่ทำให้ปาป้าคร้าฟท์โดดเด่นและยังคงเบ่งบานอย่างสวยงามบนเส้นทางของงานคราฟต์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาเรื่องราวของปาป้าในครั้งนี้

เราขออนุญาตพาคุณเดินชมสวนดอกไม้ของปาป้าคร้าฟท์ไปด้วยกัน

หลงใหลใคร่คราฟต์

ก้าวแรกก่อนมาเป็นปาป้าคร้าฟท์นั้น คือความรักในงานคราฟต์ของพี่ช้างเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

พี่ช้างเล่าให้ฟังถึงครั้งยังเป็นนักศึกษาหนุ่ม เขามีวิถีชีวิตแบบบุปผาชนผู้ทำในสิ่งที่สะท้อนตัวตนและสิ่งที่ตัวเองหลงไหล เช่น งานคราฟต์อย่างเชือกถักข้อมือที่เป็นความสุขและสิ่งหาเลี้ยงชีพของเขา นอกจากนั้นพี่ช้างยังสร้างสรรค์งานคราฟต์ออกมาอย่างไดอารี่ที่ปักลวดลายบนปกด้วยผ้า กระเป๋าหนังโดยฝากขายตามร้านสายงานคราฟต์อย่างร้านสะบันงา และได้คลุกคลีกับผู้คนในวงการงานคราฟต์จนตกหลุมรักมันเข้าอย่างจัง

จริงอยู่ที่พี่ช้างรักในงานคราฟต์และการเป็นผู้สร้างสรรค์งาน แต่มีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นมาเสมอว่า เขาจะอยู่กับสิ่งที่รักต่อไปได้อย่างไร

“เรารักงานนี้ เรารู้เลยว่าเราเป็นคราฟต์แมน เราอยากอยู่กับมัน แล้วเราจะอยู่ยังไง ทางเดียวก็คือว่าเราต้องมีตังค์ แล้วก็ไปเปิดร้าน”

ทางลัดที่พี่ช้างตัดสินใจในวัยเยาว์คือการไปช่วยพี่ชายทำด้านอสังหาริมทรัพย์บ้านจัดสรรที่อุตรดิตถ์ ด้วยความตั้งใจว่าจะเร่งสะสมทุนแล้วกลับมาเปิดร้านของตัวเองที่เชียงใหม่ จึงจำใจบอกลานครพิงค์แล้วย้ายถิ่นฐานไปสู่เมืองลับแลเพื่อเริ่มต้นความฝัน แต่น่าเสียดายที่ความตั้งใจนั้นถูกพิษของวิกฤตต้มยำกุ้งกัดกิน เขาต้องดิ้นรนหาทางออกให้ตัวเองและครอบครัว จึงผันตัวไปทำงานถนัดอย่างงานแปลหนังสือ โดยเก็บสิ่งที่รักไว้เป็นงานอดิเรกแทน นั่นทำให้ความฝันของชายหนุ่มผู้รักงานคราฟต์ถูกผนึกไว้

น่าเสียดายที่ความตั้งใจในตอนนั้นถูกพิษของวิกฤตต้มยำกุ้งกัดกิน จนความฝันนั้นต้องถูกพับไว้

วันเวลาล่วงเลยไปจากการเลือกเดินทางสายนี้ สำหรับอาชีพนักเขียน/นักแปล งานที่ได้ตีพิมพ์ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในอาชีพ ผลงานของป๊าที่ออกไปมากกว่า 30 เล่มนั้น อาจบอกได้ว่าเขาเดินบนเส้นทางสายนักแปลมาไกลพอสมควรแล้วจึงเกิดความรู้สึกอิ่มตัวขึ้น แต่ยังไม่อิ่มเอมใจเมื่อมองไปยังงานอดิเรกอย่างการทำเครื่องหนังให้กับคนในครอบครัวได้ใช้ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งที่ทุ่มเทเวลาทำอย่างสุดหัวใจ

ราวกับสะกิดแผลใจในของความใฝ่ฝันที่อยากกลับไปเป็นคราฟต์แมนของเขา

“เราไม่กล้าแม้กระทั่งที่จะปรายตามองดูงานเหล่านี้เลย ไม่ใช่ว่าไม่ชอบ แต่มันเจ็บ มันตอกย้ำให้เห็นว่า ทำไมเราไม่ทำอะไรสักที”

คุณพ่อนักแปลพูดถึงครั้งที่ได้ไปเดินชมเทศกาลงานคราฟต์แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากห่างหายในฐานะคราฟต์แมนไปนาน งานคราฟต์แต่ละชิ้นที่เห็นค่อยกระตุ้นให้เขาถามตัวเองว่า เขาพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้หรือยัง

เสียงเรียกร้องในใจของป๊าที่อยากกลับไปทำงานคราฟต์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานานได้ปะทุออกมา ความรู้สึกที่คั่งค้างมาเนิ่นนานถูกระบายลงผ่านการทดลองวิธีการใหม่ ๆ กับงานคราฟต์ที่เขารักอีกครั้ง ทุกความคิด ทุกจินตนาการถูกเปิดผนึกออกมาใช้อย่างเต็มที่

ความรู้สึกนี้ได้กลายเป็นเป้าหมายของการทำงานเครื่องหนังของชายผู้เปี่ยมไปด้วยไฟฝันในที่สุด

“แก่นหลักของปาป้าคราฟต์คือการทำเพื่อที่จะสนองจิตวิญญาณของตัวเอง”

หากปาป้าคราฟต์คือผีเสื้อสักตัว ความรักในงานคราฟต์ของป๊าคือผีเสื้อที่ต้องเติมด้วยปีกแห่งไฟฝันที่ก่อตัวอยู่ภายในใจลูกชายคนเล็กของบ้าน จึงจะสามารถออกบินได้

“ตอนเด็กพี่มีความฝันอยากเป็นนักประดิษฐ์ แล้วมีอยู่ความคิดนึงที่ไม่ว่าจะกี่ปีหรือว่าจะโตแค่ไหน มันก็สลัดไม่หลุด มันเป็นความคิดที่ว่า เราอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นของเราเอง แล้วก็ทิ้งไว้ให้กับโลกใบนี้”

นั่นคือปณิธานในวัยเด็กของเด็กชายต้นฝน เพราะเขาไม่อยากให้การดำรงอยู่ของตัวเองนั้นว่างเปล่า อย่างน้อยก็ได้ทำบางสิ่งทิ้งไว้ก่อนจะจากโลกนี้ไป ปณิธานนั้นก็ยังถูกเก็บไว้อยู่ในใจเสมอมา ระหว่างผ่านช่วงวัยต่างๆ นั้นเขาไม่เคยเลิกเล้มที่จะค้นหาสิ่งที่เขาอยากจะสร้างขึ้นมา จนเมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นนักศึกษาในสาขาวิชาสถาปัตยกรรม เขาได้ค้นพบโอกาสของตัวเองคือ เครื่องหนังที่เขาเติบโตมากับมัน

“เหตุการณ์มันเริ่มต้นตั้งแต่พี่ปีสอง ตอนนั้นอยากทำแบรนด์ของตัวเอง มันก็มีเครื่องหนัง ป๊าก็เลยว่าทำเข็มขัดสิ แล้วนั่นก็คือเป็นช่วงแรกที่พี่เจอเทคนิคทำลวดลาย เริ่มต้นทำลวดลายเสร็จปุ๊บ ก็เห็นว่าสนุกดี ลายสวยดี ตอนนั้นป๊าก็บอกว่าป๊าทำมาแล้วขวัญเอาไปขาย เพราะป๊าขายไม่เป็น”

ความหลงใหลและความฝันของคนต่างวัยสองคนในบ้านหลังเดียวกันกลายเป็นจุดเริ่มต้นแบรนด์ปาป้าคราฟต์ที่มีงานเครื่องหนังฝีมือของป๊าผนวกกับความรู้และทักษะในการออกแบบของปาป้าจูเนียร์ สินค้าแรกในนามปาป้าคราฟต์ถือกำเนิดขึ้นออกมาเป็นเข็มขัด ก่อนพี่ขวัญจะห่างหายไปร่ำเรียนอีกสักพัก

“พอปีสี่เริ่มมีเวลาว่าง ตอนนั้นเหมือนมีงาน NAP (NIMMANHAEMIN ART AND DESIGN PROMENADE: กิจกรรมรวมงานฝีมือและศิลปะจากศิลปินอิสระ จัดทุกปีในช่วงเดือนธันวาคมบริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่-บรรณาธิการ) เราก็อยากไปออก อยากไปขายงานนี้ ลองสมัครดู แล้วก็ได้ พอสมัครได้เราก็ทำโปรดักต์ออกมา”

ปาป้าคราฟต์จึงกลับมาพร้อมด้วยการทดลองออกสินค้าอย่างกระเป๋าผ้าแคนวาส และจิวเวอร์ลี่เครื่องหนังที่ป๊าต่อยอดมาจากเชือกถักข้อมือ เพื่อพาไปอวดโฉมในงาน NAP จากการทดลองครั้งนี้ทำให้พวกเขารู้ว่าเชือกถักข้อมือได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในบูธเล็กๆ ของแบรนด์

เพราะการจะเดินตามความฝันและสิ่งที่รักในฐานะคราฟต์แมนนั้นจำเป็นที่จะต้องอยู่รอดให้ได้ด้วยสิ่งที่เขารัก  เมื่อนั้นเองที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจได้ว่า ปาป้าจะขอคราฟต์งานจิวเวอร์ลี่เต็มตัว

หลังจากนั้นปาป้าคร้าฟท์ได้พาเหล่าจิวเวอร์ลี่ไปโชว์ตัวในงาน Cat*Nap ปริมาณของออเดอร์หลังจากงานนี้ก็เพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณบวกที่ทำให้พวกเขาเห็นเส้นทางที่จะเดินต่อไปในเส้นทางธุรกิจงานคราฟต์ในอุดมคติของปาป้า พวกเขาจึงเลือกที่จะขยับขยายมาตั้งต้นอย่างจริงจังในเมืองลำปางแห่งนี้

“เราจะพิสูจน์ให้ดูว่าเราจะทำสิ่งที่เรารักแล้วอยู่ได้” คราฟต์แมนผู้เป็นพ่อกล่าวเช่นนั้น

‘บุปผากำลัย’ ของปาป้า

สีสันสดใส และรูปร่างที่บิดงอล้อกับความเป็นธรรมชาติของพรรณไม้ต่าง ๆ  ที่มองในแว่บแรกก็ชวนสงสัย คือสิ่งที่ทำให้งานเครื่องหนังของปาป้าคราฟต์ไม่เหมือนใคร

ด้วยความเป็นนักแปลผู้ทำงานอยู่กับคลังคำศัพท์มหาศาล พี่ช้างนำคำสองคำคือ บุปผาที่หมายถึงดอกไม้ ประกอบเข้ากับลูกผสมของกำไลและมาลัยที่แผลงมาเป็นกำลัย มาตั้งชื่อผลงานของปาป้าคร้าฟท์ว่าบุปผากำลัย

“เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มันเป็น Innovation เพราะฉะนั้นเราต้องให้เกียรติโดยตั้งชื่อให้ว่าบุปผากำลัย เราเรียกทุกอย่างว่าบุปผากำลัย ไม่ว่ามันจะเป็นแหวน เป็นสร้อย เป็นต่างหู เพราะว่ามีที่มาจากความงามของดอกไม้ เส้นสายที่อ่อนช้อยตามธรรมชาติ”

ต่อด้วยการเฉลยว่าแท้จริงแล้วไม่ได้ตั้งใจให้งานของปาป้าคร้าฟท์เป็นเครื่องหนัง ทว่าในตอนเริ่มต้นหนังคือวัสดุที่คุ้นเคย และตอบโจทย์ได้ดีกับจินตนาการที่บันดาลมาจากสวนในบ้าน ธรรมชาติรอบตัวที่ได้พบเห็น

พอตัดสินใจหยิบหนังมาเล่าเรื่องผ่านความเป็นปาป้าคร้าฟท์ก็ต้องมาเริ่มเรียนรู้ใหม่ ตั้งแต่ความต่างของหนังแต่ละชนิด พื้นผิวส่วนไหนของหนังเหมาะกับการพิมพ์ลวดลาย เทคนิคไหนที่จะใช้ได้ผล ต้องทำอย่างไรให้หนังคงสภาพสวยงาม กว่าจะพัฒนามาเป็นบุปผากำลัยของปาป้าคราฟต์แต่ละชิ้นนั้นป๊าและปาป้าจูเนียร์ต้องค้นคว้าและลองมือกันไปเยอะทีเดียว

หลังจากที่ดูแลงานส่วนของการผลิต การตลาด และงานอื่นๆ ของปาป้าคร้าฟท์ ปาป้าจูเนียร์นั้นก็เริ่มมีผลงานออกมาให้ได้ชมอย่าง Bromy Collection ที่ออกมาเป็นชุดเครื่องประดับที่ประกอบด้วยสร้อยคอ แหวน และต่างหู  หรือในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เช่นนี้ ปาป้าคร้าฟท์มองว่าคนใส่เครื่องประดับน้อยลงเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ พี่ขวัญจึงออกแบบพวงกุญแจหรือแม่เหล็กติดตู้เย็นที่คงความเป็นบุปผากำลัย แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของปาป้าจูเนียร์เอง

ส่วนการสร้างสรรค์บุปผากำลัยแต่ละชิ้นของปาป้าคราฟต์ส่วนใหญ่จะเกิดมาจากการออกความคิดและลงมือทำของพี่ช้าง ทุกชิ้นที่ออกแบบโดยป๊าจะได้ถือว่าเป็นผลงานชุดคลาสสิกของปาป้าคร้าฟท์ ซึ่งมักจะเป็นงานชิ้นเดียว โดยมีพี่ขวัญช่วยส่วนของกระบวนการผลิตที่จะช่วยปรับให้งานออกมาดูดียิ่งขึ้น

บุปผากำลัยของปาป้าคร้าฟท์แหวกขนบงานเครื่องหนังทั่วไป

Texture Simply Bracelet ผลงานชิ้นเอกของปาป้าคร้าฟท์ที่จำลองหนังจากรูปทรงของพืชฝักที่ม้วนตัวหลังจากเอาเมล็ดออก จับคู่กับ Papacrafture เทคนิคการทำลวดลายแบบพิเศษด้วยลายจากวัสดุใบไม้ดอกไม้ผสมผสานกับสีสันต่าง ๆ ก็คงพอบอกได้ว่างานชิ้นนี้ไม่ใช่งานเครื่องหนังธรรมดา

“ปาป้าคร้าฟท์ก็เป็นงานอีกสายนึง มันผสมหลาย ๆ อย่าง งานจิวเวอร์ลี่เข้ามา เทคนิคงานหนัง ถ้าเป็นเพลงสักแนวก็คงเป็น Alternative Rock” 

หรือจะเรียกว่าเป็นงาน ‘Alternative Craft’ คงไม่แปลกนัก (ศัพท์ใหม่จากนักแปลมือฉมังที่อธิบายงานลูกผสมของตัวเอง-ผู้เขียน)

รากของการออกแบบสไตล์ปาป้าของนักหัตถศิลป์หรือคราฟต์แมนทั้งสอง ฝีเย็บทุกรอยที่ทดลองและฝึกฝนมาด้วยตัวเอง ลวดลายจากใบไม้ทุกใบ ดอกไม้ทุกดอกที่ได้ศึกษาอย่างละเอียด ทุกสิ่งสะสมจนกลายเป็นว่าไม่ว่าปาป้าหยิบจับอะไรมาคราฟต์ ก็รู้ได้เลยว่างานชิ้นนี้เป็นบุปผากำลัยจากใจของพวกเขา

ความสวยงามของบุปผากำลัยได้ดึงดูดใจให้ใครหลายคนได้เลือกซื้อไปเชยชมเป็นของตัวเองมานักต่อนักแล้ว ส่วนมากมักจะเป็นคนจากแดนไกล สลับปะปนไปกับชาวไทยที่หลงใหลงานคราฟต์ ปาป้าคร้าฟท์เรียกคนเหล่านั้นว่า กำลัยมิตร อันหมายถึงมิตรภาพที่เกิดจากการชักนำของบุปผากำลัย หรือผู้มีความหลงใหลงานของปาป้าคร้าฟท์

และกำลัยมิตรที่ได้พานพบนั้นก็ได้นำพาปาป้าไปสู่เส้นทางใหม่อีกมากมาย

ผีเสื้อน้อยยังคงโบยบิน

“ปาป้าคร้าฟท์กำลังโกอินเตอร์”

พี่ช้างบอกอย่างภาคภูมิใจว่าตอนนี้บุปฝากำลัยกำลังจะเดินทางไป ‘ดัดจริต’ ไกลยังแดนมังกรและรอสัญญาณจากแดนอาทิตย์อุทัย การเดินทางครั้งนี้อาจเป็นกำลังหลักที่จะทำให้ปาป้าคร้าฟท์กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคราฟต์แมนทั้งสอง และทำให้พวกเขาต่อยอดโปรเจคที่วางแผนกันไว้อีกนับไม่ถ้วน (ป๊าแอบบอกว่าอีกหน่อยปาป้าคราฟต์อาจจะมาในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์!) นอกจากนี้พวกเขากลับยังกลับมามองตลาดในบ้านของตัวเองว่าอยากจะทำผลงานที่ตอบโจทย์กำลัยมิตรชาวไทยมากกว่านี้ ความตั้งใจที่อยากให้บุปผากำลัยได้ขจรเข้าไปอยู่ในใจผู้คนมากกว่านี้เป็นทางที่ปาป้าเลือกเดินต่อไป 

“ส่วนจุดหมายปลายทาง เรารู้สึกว่าอย่าไปถึงจุดหมายเลยดีกว่า มันมีแต่ระหว่างทางว่าเราจะทำอะไรต่อ ก็คงจะทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจ ถ้าเราได้ทำงานทุกวัน ได้ตื่นเช้าแล้วเรายังได้ไปทำงาน แล้วเรายังร้องเพลงได้ คุณไม่ต้องไปตอบแล้วว่ามันสุขหรือไม่สุข”

เมื่อถามถึงจุดหมายของการทำงานคราฟต์ในฐานะปาป้าคร้าฟท์ คำตอบนี้บอกให้รู้เลยว่าความหลงใหลในงานคราฟต์ของปาป้าจะไม่จางหายไปง่ายๆ

“งานคราฟต์เนี่ย นอกเหนือจากเราได้ทำงานสร้างสรรค์ตามจินตนาการของเราแล้ว มันเป็นงานที่เยียวยาจิตใจ มันทำให้เรากลับสู่สมดุลได้ มันทำให้เราสงบได้” ป๊าบอก

“รู้ไหมว่าทำไมถึงเป็นผีเสื้อน้อย”

ก่อนจบบทสนทนา ป๊าที่เป็นฝ่ายถูกถามมานาน ก็ถามถึงโลโก้ที่เป็นตัวแทนของปาป้าคร้าฟท์ ฉันที่เดาไม่ถูกแน่ๆ จึงขอฟังเฉลยจากคราฟต์แมนช่างฝันคนนี้

“พี่เขียนเพลงชื่อกรวดหิน ดิน และทราย มันมีท่อนนึงที่เขียนไว้ว่า ผีเสื้อน้อยเก็บเสี้ยวจันทร์มาเรียงร้อยเป็นสร้อยคอ มันเป็นท่อนที่พี่ชอบมาก พี่รู้สึกว่าผีเสื้อน้อยเนี่ยมันแทนตัวเรา เราไม่ได้ทะเยอทะยานจะเป็นผีเสื้อที่อลังการ”

เฉลยนี้ได้อธิบายความเป็นปาป้าคร้าฟท์ได้ดีที่สุดแล้ว พวกเขาคือผีเสื้อตัวน้อยที่บินด้วยกำลังของตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับความหวังและความฝันที่อยู่ภายในใจ

ตราบใดที่โลกยังหมุนไป

ผีเสื้อน้อยตัวนี้ก็ยังจะคงโบยบินอวดโฉมต่อไปดั่งใจปรารถนา

ภาพประกอบ: ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล

Contributors

สุพรรณนิการ์ เกิดโมฬี

นักฝันเฟื่องผู้ฝันว่าโลกจะน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอ และฝันว่าจะได้ไปสูดอากาศดีๆ ในประเทศอื่น สถานะปัจจุบัน: เป็นทาสแมวส้ม