ยังจำเรื่องราววันที่ไปโรงหนังครั้งแรกได้มั้ย? สำหรับตัวเรา มันเป็นวันที่คุณพ่อได้จูงมือไปดูภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องดัง ณ ขณะนั้น วันนั้นจำได้ว่าที่นั่งเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย หลายคนก็ไปพร้อมกับครอบครัว และอีกหลายคนก็ไปกับเพื่อนฝูง ผู้คนจูงมือกันเพื่อที่จะรับความบันเทิงจากจอยักษ์ที่มีขนาดใหญ่มากกว่าโทรทัศน์ และออกไปด้วยความรู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นช้างตัวสีฟ้า เคลื่อนไหวอยู่ในจอยักษ์ นับว่าเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ดีมากในวัยเด็กของตัวเรา ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเข้าถึงสื่อบันเทิงต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้คนเลือกที่จะรับชมภาพยนตร์ที่โรงฯ น้อยลง จนในที่สุดโรงหนังแห่งนี้ก็ถูกปิดตัวลงไป เป็นการปิดตำนานโรงหนังแห่งสุดท้ายของจังหวัดพะเยา และใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้มีโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์แห่งแรกของจังหวัดพะเยาเปิดให้บริการ หลังจากปิดทำการ โรงหนังพะเยารามา ก็ถูกปล่อยร้างทิ้งไว้กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าให้เด็กรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงบรรยากาศโรงหนังในรุ่นก่อน เราเองก็เป็นหนึ่งในคนที่มีความทรงจำมากมายกับที่นี่ เมื่อรู้ข่าวการปิดตัวก็ทำให้รู้สึกเศร้าและเสียดายที่จะไม่มีโรงหนังให้เราและเพื่อนได้มาดูแล้ว บทสรุปของที่แห่งนี้คือจะถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นอาคารสำนักงาน เป็นอันปิดตำนานโรงหนังที่รวมเรื่องราวและความทรงจำของชาวพะเยา แต่แล้ววันหนึ่งขณะกำลังเลื่อนหน้าฟีดเฟสบุ๊ค ก็มีกิจกรรมหนึ่งปรากฎขึ้นชื่อว่า Phayaorama ซึ่งเป็นโปรเจคต์ที่ว่าด้วยเหล่าคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแห่งนี้ได้จัดกิจกรรมส่งท้ายก่อนที่จะลาพะเยารามาจากกันอย่างถาวร เราอยู่ที่พะเยารามาตามนัดหมายกับอาจารย์ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้เริ่มต้นโปรเจ็คนี้
“ตรงนี้จะเป็นส่วนของล็อบบี้ จะมี 2 ส่วนคือพิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง ซึ่งมีเรื่องราวของหนังไทยและก็มีเครื่องฉายหนังมาจัดเป็นพร็อพให้มีเรื่องราวเป็นของหนังกลางแปลง และก็จะมีงานของนักศึกษาในวิชาศิลปะชุมชน เป็นพาร์ทของการถ่ายสัมภาษณ์ โดยเป็นบทสัมภาษณ์ที่ได้ลงพื้นที่ไปคุยกับชุมชนเกี่ยวกับพะเยารามา” อาจารย์ปวินท์เล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงานขณะที่พาเดินชมรอบ ณ ที่แห่งนี้ โรงหนังที่เต็มไปด้วยความทรงจำของชาวพะเยา
Phayaoramaอาจารย์ช่วยเล่าเรื่องของโรงหนังแห่งนี้ให้เราหน่อยได้มั้ยครับ ว่ามีประวัติความเป็นมาเป็นยังไง ?ณ ตอนนี้เรารู้แค่ว่าที่นี่ฉายหนังครั้งแรกเมื่อปี 2516 ซึ่งมันถูกสร้างก่อนหน้านั้น เรื่องแรกที่ฉายก็คือเรื่องหมอกฟ้า (ออกฉายครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2516) เราเคยสอบถามไปยังธนา ซีนีเพล็กซ์ (โรงหนังแห่งนี้เคยถูกปิดไปครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นธนาซีนีเพล็กซ์มาซื้อต่อและเปลี่ยนชื่อให้เป็น ธนา พะเยา ซีนีเพล็กซ์ – ผู้เขียน) เกี่ยวกับประวัติและตารางการฉายหนังเก่าๆ ทางนั้นบอกว่าต้องไปถามที่ศูนย์ใหญ่ แถมคนที่เคยทำที่นี่ก็ไม่อยู่แล้วเพราะพิษของโควิด-19 มันเลยทำให้เรารู้สึกตัน พอเราได้ไปคุยกับนายกเทศมนตรีจังหวัดพะเยา เราก็ได้คอนเนคชั่นมากมาย ซึ่งก็มีทั้งเจ้าของคนแรกและคนที่สอง มันน่าสนุกตรงที่ยุคที่มันเฟื่องฟู มันไม่ใช่ยุคของการถ่ายภาพ มันไม่ใช่ยุคที่อยุ่ในวัฒนธรรม มันไม่มีรูป มีแค่รูปถ่ายถนน เราเลยรู้สึกว่าทำไมพื้นที่ตรงไหนมันหายไป มีแค่รูปจาก The Southeast Asia Movie Theater Project ซึ่งเค้าก็รู้เพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นเหมือนกัน อย่างตอนนี้คนที่เขียนโปสเตอร์ให้กับโรงหนังแกก็ยังอยู่ ตอนนี้อยู่ที่เชียงคำ ปี 2562 ก็มีอาจารย์คนหนึ่งไปสัมภาษณ์ก็รู้ว่าแกยังทำงานศิลปะอยู่ ซึ่งเราก็จะได้ไปสัมภาษณ์ว่าแต่ละพื้นที่ที่มีความเกียวข้องกับโรงหนังแห่งนี้มีส่วนไหนบ้าง ข้อมูลแบบนี้เราต้องสัมภาษณ์เพราะมันไม่ถูกบันทึกไว้ก่อน เดินขึ้นมาชั้นสอง อาจารย์ได้พาเราเดินไปยังห้องต่างๆ ที่อีกไม่นานมันจะถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นที่แสดงผลงานครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นอาคารสำนักงาน “แต่ละห้องก็จะแบ่งเป็นงานของศิลปินแต่ละคน อย่างห้องนี้ก็เป็นของคนแรก โดย Concept ของพื้นที่ศิลปะคือเราจะทำความสะอาดเฉพาะตรงพื้นที่ทางเดิน ส่วนตรงงานศิลปะเราคงเดิมเพื่อรักษามันไว้ ซึ่งก็จะมีงานศิลปะอยู่ตรงนี้” อาจารย์เสริม
Beginอาจารย์ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของการทำโปรเจ็คนี้ให้เราฟังหน่อยได้มั้ยครับว่าเกิดจากอะไรพอรู้ว่าโรงหนังแห่งนี้จะถูกรีโนเวทไปเป็นอาคารสำนักงาน เราก็ได้คุยกับคนที่มาทำสถานที่ หลังจากนั้นก็ปั้น Proprosal เสร็จแล้วก็ส่งไป เค้าก็เลยช่วยประสานงาน แล้วเราก็โทรหาอาจารย์มานิตย์ วรฉัตร แห่งพิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง (ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค) ก่อนคนแรกเลย พอคิดถึงเรื่องหนังกลางแปลง เราก็เลยเชิญเค้ามาเป็นวิทยากร เราอยากดันให้ซีนนี้มากขึ้น เพราะแกทำด้วยแพสชั่นล้วนๆเลย พอมีการฉายหนัง มันก็มีตามมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็มาวางโปรแกรมเรื่องดนตรี การแสดง และพาร์ทศิลปะซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้ว เพื่อให้เด็กได้แสดงผลงาน พอหลังจากมี Proposal แล้ว นายกเทศมนตรีจังหวัดพะเยารู้ข่าวก็มาช่วย เพราะแกก็มีความทรงจำกับที่นี่เยอะมาก เราบอกเทศบาลว่าเราจะไม่เน้นยอดขาย สถานที่เค้าให้เราใช้ฟรี เค้าสนับสนุนในการฉายหนัง เราก็มีหน้าที่แค่ประสานงาน ซึ่งเกิดจากการร่วมมือการของทุกฝ่าย มันไม่ใช่เราคนเดียวอีกต่อไปซึ่งเราก็เลยกระจายงานอย่างอื่นเพื่อให้เราได้ดูงานหลักอย่างเดียว แต่ละพาร์ทก็จะมีคนคอยดูแลต่อไป ทุกอย่างมันเหมือนเราทำเล่นๆแต่จริงๆเราไม่ได้เล่น เราผ่านโปรเจคต์ศิลปะที่เค้าใช้พื้นที่รกร้างมาจัดการ ตึกร้างมาจัดงานศิลปะ เราเลยคิดว่าที่แห่งนี้มันเหมาะสำหรับทำงานกิจกรรม แล้วมันก็เอื้อกับสิ่งที่เราอยากทำในหลักสูตรของเราด้วย ลองคิดดูดิว่าเด็กสี่ชั้นปีมาช่วยกันจัดอีเว้นท์สักอีเว้นท์หนึ่ง มีรายวิชามากำกับให้แสดงในพื้นที่นี้ อันนี้คือส่วนอาร์ตที่เราจะทำนะ เราไม่รู้ว่าคนจะสนใจขนาดไหน แต่ซีนอาร์ตนี่เราทำเพราะเราอยากทำ ถ้าคนมาดูแล้วชอบก็ถือว่าโอเคก็คือผ่าน ถือว่าเป็นพร็อพของงาน มาเซลฟี่ถ่ายรูปกับงานยังไงก็พอละ เราเอาเด็กมาลงพื้นที่แล้วแบ่งออกเป็นสี่ส่วน อดีต ปัจจุบัน อนาคตรวมถึงความทรงจำเกี่ยวกับโรงหนังแห่งนี้ แล้วมาพรีเซ้นต์ในพื้นที่ เด็กมันก็อิดออดแต่พอวันที่มันเข้ามาในพื้นที่มันก็อินแหละ วันหนึ่งเราไปโพสต์ในกลุ่มคนพะเยาเกี่ยวกับเรื่องโรงหนัง ใครมีความทรงจำซึ่งทุกคนมีความทรงจำมากมายมารวบรวมเป็นซักก้อนเก็บไว้ ให้มันเป็นเรื่องราวที่ไม่ว่าคนจะเอาเรื่องราว ภาพนิ่งหรือฟุตเทจวิดิโอไปใช้เราก็ยินดี เราตั้งใจที่จะทำให้มันเป็นอย่างนั้น มันคือการสะสมความทรงจำ จริงๆ อยากให้พื้นที่นี้เป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ ดนตรีไทย โคฟเวอร์ ตีขิม แล้วเราจะบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวให้มันเป็นบันทึกความทรงจำสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้มันไม่มีความทรงจำที่มันบันทึกไว้เลย เพราะมันอยู่ในตัวทุกคนแต่มันไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกมา โดยในเวทีเสวนาวันสุดท้ายที่เราวางไว้ เพื่อให้เกิดการบันทึกความทรงจำของพะเยาในทุกด้านในเวลานั้น ไม่ใช่แค่โรงหนังอย่างเดียว มีทั้งสนามมวย ค่ายมวย และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดในพะเยาช่วงเวลานี้ ห้องนี้จะเป็นห้องฉายหนังและห้องถัดไปก็เป็นห้องเสียงในฟิล์ม เมื่อก่อนเค้าเรียกว่าเสียงพากย์ฝรั่ง ข้างล่างก็จะเป็นเสียงพากย์ไทย ซึ่งห้องนี้จะเป็นห้องที่แบ่งสำหรับฝรั่งมาดูหนัง อาจารย์คิดว่าโรงหนังแห่งนี้มีความสำคัญกับคนพะเยามากน้อยแค่ไหนครับตอนแรกเราไม่ได้มองมันพิเศษมาก เรามองมันแค่ว่าพอมันไม่มีสถานที่ให้ความบันเทิง ในยุคนั้นมันมีบาร์ขาว (เป็นบาร์กลางน้ำเท่ๆ ในจังหวัดพะเยาที่คนจะแต่งตัวเท่ๆ ไปเที่ยวกันในยุคนั้น-ผู้เขียน) ช่วงที่ยังมีโรงหนัง เราอินกับพะเยาน้อยมากเลย เราอินกับชุมชนมากกว่า เพราะตอนนี้เราลงพื้นที่อำเภอเชียงคำ ภูซาง เราอินกับการที่เห็นคุณยายจะ 90 แต่ยังทอผ้าได้ ซึ่งเราก็ไปลุยตรงนั้นมากกว่า หลังจากนั้น โรงหนังมันหลุดเข้ามาเพราะย้าย Art Space (อาจารย์เปิดแกลลอรี่ของตัวเองที่ชื่อ PYE Space-ผู้เขียน) มาอยู่ตรงหน้าโรงหนัง ซึ่งมันก็เป็นโลเคชั่นที่ดีสำหรับเรา ใช้เรียน ใช้สอน แต่พอมันมีเรื่องที่จะถูกรีโนเวตเราก็ยังไม่อินนะ จนถึงช่วงที่รู้ว่ามันกำลังจะถูกเปลี่ยนแล้ว ตอนนี้พอมีถึงช่วงทั้งโควิด ทั้งเลื่อน มันเลยทำให้เราได้มีเวลาได้ทบทวนกับความเป็นโรงหนังมากขึ้น พอเริ่มค้นเริ่มคุย เรารู้สึกว่ามันเป็นมากกว่าโรงหนัง เคยมีคนมาดูคอนเสิร์ตสายันต์ สัญญาเต็มวง 2 ชั่วโมงโชว์เต็มๆ เต็มโรงแน่นจนต้องเสริมเก้าอี้ เราคิดภาพออกเลยว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน เราเลยเก็บมันเป็นไทม์ไลน์เลย คนนี้พูดถึงอะไรในช่วงปีไหน ซึ่งมันสนุกมากเพราะสุดท้ายข้อมูลนี้จะถูกรวบรวมเป็นรูปเล่ม PDF ออนไลน์ ซึ่งประเด็นนี้มันน่าสนใจเพราะมันมีคนทีมีประสบการณ์ร่วมเยอะ มีคนที่สนใจในประเด็นนี้ในหลักพัน ห้องนี้ก็น่าจะเป็นห้องพักพนักงาน ดูจากเศษขยะหรือแม้กระทั่งโปสเตอร์หนังก็บอกถึงยุคนั้นได้ เราถึงบอกว่าเราไม่สามารถเก็บประวัติศาสตร์ของที่นี่ได้มากกว่านี้ได้แล้ว
Talesอาจารย์ช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำของคนพะเยาเกี่ยวกับโรงหนังแห่งนี้ให้ฟังเป็นบางส่วนได้มั้ยครับส่วนใหญ่เราก็ได้ข้อมูลจากคนในคอมเม้นต์นั่นแหละ บางคนเราก็ทักส่วนตัวไปหาเลย เผื่อเค้าอยากเล่าต่อก็ให้เล่าเต็มที่ ส่วนบางคนต้องการความเป็นส่วนตัวเราก็แค่ขอเอาข้อมูลมาเผยแพร่เฉยๆ ยกตัวอย่างเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าในคอมเม้นต์ “ไปครั้งแรกตอนสัก 3 ขวบได้ ผ่านมาสี่สิบกว่าเกือบห้าสิบปีแล้ว” “สมัยละอ่อนแม่ปาพายเรือข้ามกว๊าน (พะเยา) มาผ่อ ค่าตั๋วบ่กี่บาทเอง ต๋อนนี้ 50 ปีละเจ้า ” “เคยไปดูพุ่มพวง ดวงจันทร์ สมัยอยู่โรงเรียนเทศบาล 3 สมัยนั้นเดินเป็นกลุ่มๆม่วนขนาด พะเยารามามีแห่งเดียวตี่พะเยายังจำไดัเจ้าสมัยสาวน้อยเจ้า” “ดูครั้งแรก สารคดีสัตว์โลกผู้น่ารัก ครู รร.ประถม พามาดู 2518 อยู่ ป. 6 เรื่องที่ 2 ไอ้เหล็กไหล (นำแสดงโดย) กรุง ศรีวิไล (สุทินเผือก-ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคพลังประชารัฐ) ตอน ป.7 บัตรราคา 5 และ 7 บาท ตื่นเต้นขนาด” “ครั้งแรกดูบางระจัน ภาค 1 โดย รร อนุบาลพะเยาพาไปทั้งโรงเรียนเมื่อปีพศ 2543” “ตอนเด็กๆ ชอบไปวิ่งเล่นแถวนั้น ชอบการวาดภาพโปสเตอร์หน้าโรงหนัง มากๆ เลยค่ะ ชอบไปด้อมๆมองๆ ตอนเค้าวาดภาพกัน” “เกยไปดูหนังกับบ่าวครั้งแรกในชีวิตก็ที่นี่แหล่ะจ้าว ผ่อหนังบ่ฮู้เรื่องเลย และจ๋ำบ่ได้ว่าเรื่องอะหยัง เพราะสั่นกลัวบ่าวจับมือสุดขีด” “เคยไปดูหนังกับแฟนตอนจีบกันใหม่ๆเดี๋ยวนี้ลูกโตอายุยี่สิบสองแล้วทำงานแล้วค่ะ” “อยากดูหนังก้านกล้วยแต่ไม่กล้าเข้าโรงหนังเพราะเขาว่ามีผี พ่อก็เลยพาไปดู ตอนนั้นพ่อทำงานที่ปง (อำเภอหนึ่งในจังหวัดพะเยา) ก็พาขับรถมาจากที่นู่นเพื่อพอดูเสร็จก็ขับรถกลับปงเลย” – ผู้เขียน
Goodbyeอาจารย์อยากให้โปรเจคต์นี้มอบอะไรให้กับคนพะเยาครับมันก็ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นแหละ เราทำเพื่อสนองความต้องการของก่อน เราคิดโปรเจคต์นี้ขึ้นมาเพราะเสียดายที่เราจะไม่ได้ทำโปรเจ็คนี้ละ จะไม่มีคนไปถ่ายรูปกับกราฟฟิตี้ เราก็เลยคิดว่าต้องมีกิจกรรมอะไรสักอย่างที่เกิดขึ้น แล้วยิ่งพอเราลงลึกเข้าไปในข้อมูล ก็เลยทำให้ความสนุกมันเกิดขึ้น เราก็เลยปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน เลื่อนก็เลื่อน เค้าจะให้เราทำอะไรก็ตามเค้าเลยแต่ยังไงเราก็ต้องจัด เพราะเรื่องราวมันน่าเก็บบันทึก ต้องมีใครสักคนบันทึกมันไว้ แต่เราจะบันทึกมันในสิ่งที่เราอยากทำและเอื้อให้กับคนรอบตัวเรา เด็กมีที่แสดงงาน มีที่ทำกิจกรรม ได้มาดูดนตรี ดูหนังร่วมกัน และมันก็กระจายไปยังส่วนอื่นด้วย อาจารย์มานิตย์เราก็ใส่ซองวิทยากรให้แก คนฉายหนังก็มีรายได้ไปจุนเจือ ทุกอย่างมันก็หมุนไปในตัว ผมว่าในระยะยาวคือเด็กจะมีข้อมูลเป็น Reference รวมถึงงานศิลปะที่จัดในที่แห่งนี้ก็จะได้บันทึกลงใน Portfolio ของตัวเองด้วย รวมถึงได้จดจำในหลายแง่มุมด้วย อยากให้คนพะเยาได้จดจำอะไรเกี่ยวกับที่นี่บ้างจริงๆ เราว่ามันไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตเค้ามานานแล้วนะ เพราะฉะนั้นโมเมนต์โรแมนติคแบบนั้นคงไม่มีแล้ว เราแค่อยากให้มันจบตามที่เราคิด ส่วนคนพะเยาจะได้อะไรนั้น เราว่ามันเป็นหลายอย่างที่เราคิดแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง อันนี้ก็อีกอันซึ่งคุณค่าของสิ่งที่เราเก็บไว้ ณ วันนี้ มันก็เหมือนเราได้บันทึกเรืองราวไว้ หรือมันอาจต่อยอดได้ เราอยากให้มันต่อยอดในพื้นที่สาธารณะในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งควรมี Public Space ที่หลากหลายกว่านี้ที่ไม่ใช่แค่ห้างสรรพสินค้า หรือฟาร์มแกะ ตัวเลือกมันน้อยไปไง เราอยากให้มันมีสนามบอล มีสนามเด็กเล่น มีทราย มีของเล่นไม้ มีบอร์ดเกมส์ มีหนังสือเด็กให้อ่าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันควรมีให้กับคนพะเยา สุดท้ายแล้วงานเลี้ยงก็ต้องมีวันเลิกรา ที่แห่งนี้ก็จะถูกแปรเปลี่ยนไปเหลือเพียงคำบอกเล่าของผู้คนที่เคยความหลัง และก็จะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาดังสถานที่อื่นๆ แต่การที่คนกลุ่มหนึ่งได้รำลึกเรื่องราวและบันทึกมันไว้ในรูปแบบต่างๆไม่เพียงแต่จะมีหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เก็บไว้เท่านั้น แต่ในแง่ของจิตใจ ผู้คนจะยังคงจำได้เสมอว่าโรงหนังแห่งนี้เคยเป็นมากกว่าแค่อาคาร แต่เป็นอดีตที่ที่แห่งนี้เคยเต็มไปด้วยเรื่องราวอันแสนอบอุ่น ภาพเด็กผู้ชายที่คุณพ่อจูงมือเดินไปดูหนังครั้งแรก ความตื่นเต้นที่ได้เห็นภาพในจอเคลื่อนไหว ภาพของกลุ่มเพื่อนที่นัดกันไปดูหนัง คู่รักที่มาเดทกันครั้งแรก และอีกมากมายที่จะยังคงติดอยู่ในความทรงจำของผู้คนและมันจะยังคงอยู่ตลอดไป ลาก่อน “พะเยารามา” 🙂 กิจกรรมพะเยารามา ๒๕๑๖-๒๕๖๔ จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 – วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2564 ณ โรงหนังพะเยารามา ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและรายละเอียดได้ที่เพจ Facebook : Phayaorama |
Related Posts
เบื้องหลังนางสาวไทย 2020 ที่งามอย่างแตกต่างและมีคุณค่าในฉากหลังเมืองเชียงใหม่
นี่เป็นปีแรกที่เวทีการประกวดสาวงามระดับประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างเวทีนางสาวไทย ใช้ฉากหลังในการจัดการประกวดเกือบทั้งหมดที่จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวไทยถือเป็นเวทีประกวดที่ทรงคุณค่าทั้งในการเป็นเวทีประกวดสาวงามแห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งผลิตบุคลากรสาวงามคุณภาพสู่สังคมและวงการบันเทิงมากมาย ทั้งอร-อรอนงค์ ปัญญาวงค์, บุ๋ม-ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, นุ้ย-สุจิรา อรุณพิพัฒน์, หมอเจี๊ยบ-แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ หรือสาวงามปีล่าสุดที่คว้าตำแหน่งนางงามนานาชาติหรือ Miss International 2019 คนแรกของประเทศไทยมาครองอย่างบิ๊นท์-เภสัชกรหญิงสิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ จากสโลแกนงามอย่างแตกต่างและมีคุณค่าที่ทำงานทันทีเมื่ออ่านเพียงครั้งเดียว ทำให้การคัดเลือกสาวงามในปีนี้เข้มข้นอย่างมีนัยยะสำคัญจนเราได้เห็น 30 สาวงามที่มีความสวยทั้งภาย-ภายนอกต่างกันไป รวมถึงเรื่องราวที่น่าสนใจและเหตุผลที่หลากหลายในการขึ้นประกวดในปีนี้ และเพราะปีนี้สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้มอบสิทธิ์การจัดประกวดในปีนี้ให้กับทีมผู้จัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่การันตีด้วยฝีมือการจัดงานอีเวนต์สำคัญๆ ในภาคเหนือกว่า 16 ปีอย่างบริษัทเอ็มกรุ๊ป ออร์แกไนซ์ แอนด์ มีเดีย จำกัด ทำให้เราได้บัตรผ่านหลังเวทีเพื่อถอดเบื้องหลังของการประกวดนางสาวไทยในปีนี้ ซึ่งมีคุณหนุ่ม-ดร.อดิศร สุดดี ประธานกรรมการบริษัทฯ ที่นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการกองประกวด รอนั่งสนทนากับเราถึงเบื้องหลังทั้งหมด ก่อนที่เวทีนางสาวไทยจะได้ผู้ชนะคนใหม่ที่งามอย่างแตกต่างและมีคุณค่า สมกับคำขวัญของงานในวันพรุ่งนี้ นัก (จัด) กิจกรรม เราเดินทางมาที่ออฟฟิศของเอ็มกรุ๊ปฯ ตามเวลานัดหมาย คุณหนุ่มออกมาต้อนรับเราหลังจากประชุมเตรียมงานนางสาวไทยเสร็จพอดี ย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้วเมื่อครั้งคุณหนุ่มยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมตัวยงที่เขามีส่วนร่วมในงานสำคัญๆ เสมอ แต่ในยุคนั้นจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่รู้จักอาชีพอีเวนต์ ออร์กาไนเซอร์ หรือนักจัดอีเวนต์มาก่อน […]
สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์
December 11, 2020หลวงอนุสารสุนทรกิจ ช่างภาพเล่าเรื่องวิถีชีวิตอดีตเมืองเชียงใหม่
หลวงอนุสารสุนทรกิจ นามเดิม สุ่นฮี้ ชัวย่งเสง เกิดเมื่อ เดือน 12 ปีเถอะ ตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2410 ณ บ้านทุ่งกู่ช้าง นครลำพูน มณฑลพายัพ ปัจจุจันคือ หมู่บ้านไก่แก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของนายต้อย แซ่ฉั่ว กับ นางแว่น จากการให้ข้อมูลจากคุณสมยศ นิมมานเหมินท์ คุณจุมพล ชุติมา และคุณเนห์ นิมมานเหมินท์ หลวงอนุสารสุนทร ท่านเป็นคนที่รักที่จะไฝ่รู้ไฝ่เรียน ชอบทดลอง ตอนอายุ 10 ขวบ ก็สามารถปลุกพืชผักสวนครัวไว้กินเองได้ ในช่วงอายุ 12 ปี มารดาของหลวงอนุสารสุนทรถึงแก่กรรม ช่วงระยะเวลาที่ท่านและพี่น้อง อยู่กับบิดาจึงเกิดแรงบันดาลใจชอบในการค้าขายมากขึ้น เพราะหลวงอนุสารสุนทรท่านได้พบกับหญิงชราคนหนึ่ง ซึ่งยากจนมากแบบที่เรียกว่าไม่มีอันจะกิน ต้องเทียวขอน้ำแกงเปล่าๆ จากชาวบ้าน เมื่อได้มาก็เอาข้าวเหนียวจิ้มกินจนอิ่ม ประทังชีวิตไปเป็นมื้อๆ แต่ทั้งๆ […]