“นิยามสไตล์การแต่งตัวของคุณให้ฟังหน่อยได้มั้ย” “จะนิยามยังไงดีนะ” เธอตรงหน้าคิดคำตอบอยู่นาน ก่อนจะตอบคำถามของฉันว่า “มันไม่ใช่มินิมอล มันคือการแต่งโอเวอร์ไซซ์ทุกเรื่อง กับเสื้อผ้าสีๆ จริงๆ ไม่ควรมีคำนิยามอะไร แค่อยากแต่งก็แต่ง แต่งตัวให้มีความสุข ความสนุกของมันคืออยากแต่งอะไรก็แต่ง ไม่มีนิยาม” เรานัดพบกันในสถานที่ทำงานของเธอ คู่สนทนาไว้ผมบ๊อบสีธรรมชาติ ทำสีใส่ชุดกระโปรงและรองเท้าหนังหัวแหลมสีดำ คลุมด้วยสูทตัวหลวมสีครีม ฉันไม่รู้ว่าจะนิยามสิ่งที่เครื่องแต่งกายนี้ว่าอะไรดี แต่ทุกอย่างมันประกอบกันได้อย่างพอเหมาะพอดีเหลือเกิน ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ คือบรรณาธิการบทความประจำนิตยสารออนไลน์แห่งหนึ่ง ที่มีงานอดิเรกคือการลองเสื้อผ้าจนเริ่มทำเพจเฟซบุ๊กชื่อน่ารักว่าน้องนอนในห้องลองเสื้อ กว่าสองปีที่เธอผลุบโผล่ในห้องลองเสื้อ ลองชุดตามความสนใจของเธอ (ซึ่งไม่มีนิยามอย่างที่บอกไป) จนตอนนี้มีคนติดตามสไตล์การแต่งตัวของเธอกว่าหมื่นคนในระยะเวลาสองปี ย้วยบอกฉันตลอดการสนทนาว่า เธอไม่ได้ทำเพจนี้เพื่อหวังยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดการเข้าถึง แต่เธอทำด้วยพื้นฐานของการเป็นงานอดิเรก นั่นหมายความว่า เธอทำมันด้วยความสุข
01: เพราะซีดีที่วางอยู่เป็นตั้งหลายปีก่อน ย้วยเข้ามาเป็นกองบรรณาธิการให้นิตยสารแจกฟรีรายสัปดาห์แห่งหนึ่งนั่นคือ a day bulletin เธอรับผิดชอบในส่วนนิตยสารลูกแบรนด์ย่อยคือ a day bulletin LIFE ที่เล่าเรื่องไลฟ์สไตล์และชีวิตที่น่ารื่นรมย์ (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว) การเป็นกองบรรณาธิการของย้วยจึงต้องสืบเสาะหาเรื่องราวทั้งกิน ดื่ม เที่ยว ที่เหมาะสมสำหรับเล่าให้ผู้อ่านที่รออยู่ตามสถานีรถไฟฟ้าฟังทุกวันศุกร์ แต่คู่ขนานกัน a day bulletin ยังออกฉบับปกติที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว ย้วยจึงได้รับหน้าที่หนึ่งในกองบรรณาธิการหลักของ a day bulletin “ด้วยความที่ a day bulletin ช่วงที่เราอยู่มี Free Copy สองเล่มที่ต้องออกวันจันทร์กับศุกร์ หน้าที่หลักของเราคือทำวันศุกร์ แต่ก็ต้องช่วยวันจันทร์ทำคือทำคือคอลัมน์ Shopping เป็นพื้นที่เอาไว้ให้พีอาร์ของสินค้าหรือแบรนด์ต่างๆ จะส่งซีดีที่ เปิดตัวสินค้าตัวใหม่หรือสินค้าคอลเลคชั่นใหม่มาทุกวัน หรือทุกเดือน ซึ่งมันจะกองเป็นพะเนินสูงมาก หรือบางทีเขาก็ส่งของใหม่มาให้ลอง เช่น ลิปสติก เครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว หรือส่งบัตรเชิญไปอีเวนต์บ้าง “คอนเซปต์แรกของคอลัมน์มันคือ จะนำเสนออะไรให้คนออกไปช็อปปิ้ง แต่ของเราเอง เราคิดเป็นธีม เช่น ธีมหน้าฝน ก็จะเลือกของเกี่ยวกับฝนมาลง เช่น ชุดกันฝนสวยๆ ของแบรนด์ต่างๆ มั้ย ก็เลือกมา หรือร่ม มันก็สนุกขึ้นๆ บางทีมันใช้เวลาครึ่งวันหรือบางทีทั้งวันในการเลือกหาของ เปิดซีดี เข้าเว็บร้านเสื้อผ้า ในการทำคอลัมน์สำหรับ a day bulletin ทั้งเล่ม ซึ่งถ้าเทียบกับสื่อที่อื่นที่ไม่ใช่แฟชั่นนะ คอลัมน์นี้มีเนื้อหาแฟชั่นที่สุดแล้วในเล่ม คือการพูดเรื่องไอเท็ม ของกิน ของมาแรง ซึ่งสนุกนะ ซึ่งอันนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เพจน้องนอนฯ นี่แหละ” ย้วยเล่าประสบการณ์การทำงานแรกให้ฉันฟัง และนั่นคือจุดเริ่มต้นจริงๆ ของการทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อของเธอ
02: เพราะอยากเห็นของจริงบางทีการดูตัวอย่างสินค้าที่ฝ่ายพีอาร์ส่งมาให้ หรือการทดลองใช้สินค้าตัวอย่างอาจจะไม่เห็นภาพมากนัก ทำให้ย้วยเริ่มพฤติกรรมใหม่ในชีวิตที่เธอไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ นั่นคือ การเดินห้างสรรพสินค้า “พอเริ่มทำคอลัมน์ Shopping ได้สักพักจนเริ่มมีเพื่อนใหม่เข้ามาร่วมงาน เราก็ยังขอทำคอลัมน์นี้อยู่ พอเริ่มทำแล้วเราก็อยากจะเห็นของจริง ก็จะเริ่มสนุกกับการเดินห้างมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยชอบหรอก พอได้ไปเดินดูแล้วเห็นว่า Kate Spade ออกคอลเลคชั่นนี้ที่เป็นสีเขียวทั้งหมดเลยว่ะ เห็นแล้วก็อยากไปดูจริงๆ ก็จะไปดูที่ร้าน ทำให้เดินห้างเยอะขึ้น เพราะนอกจากจะได้ดูแล้ว มันช่วยเราคิดด้วยว่าเราจะทำคอลัมน์นี้ในธีมอะไรดี มันเริ่มให้เรามองหา อยากจับของจริง อยากลอง Mix and Match ดู” แล้วพอผู้หญิงต้องเข้าไปดูสินค้าเกี่ยวกับแฟชั่น ต้องทำอะไรบ้าง ใช่, ต้องลองใช้ หรือลองใส่บ้างล่ะ “บางทีพอเทียบจากที่ตัวเองเคยเขียนว่า การแต่งตัวยุค 80 กำลังฮิต ช่วงนี้เสื้อลายทางแบบสีรุ้งกำลังมา น่าจะมากับกระโปรงมินิสเกิร์ตมั้ย แล้วก็ไปลองของจริง เจอแบรนด์ไหนก็ขอเข้าไปลองในห้องลอง ก็เริ่มถ่ายรูปลงเฟซบุ๊คอัลบั้มตัวเองแล้วอัพโหลดลงอัลบั้มชื่อน้องนอนในห้องลองเสื้อ ก่อน ก็ถ่ายรูปกับกระจกแล้วก็ถ่ายๆๆๆ ทุกวันเลย จนมันเยอะขึ้น เพื่อนคงรำคาญอะ (หัวเราะ) ก็เลยทำเพจ ตอนนั้นก็มีแบบคน สิบคน ยี่สิบคน มากดไลก์ เริ่มจากเพื่อนๆ กันเองก่อน” ย้วยเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่เริ่มทำแฟนเพจลองเสื้อผ้าของตัวเอง
03: เพราะทุกอย่างมันมีอิทธิพล“แล้วคุณได้รับอิทธิพลการแต่งตัวมาจากอะไรบ้าง” ฉันถาม “เราเริ่มเสพจากหนัง ซีรีส์ เพลงแต่เป็นอีกมุมนึง มันเริ่มจากแมกกาซีนของญี่ปุ่น ย้อนกลับไปตอนที่เข้ากรุงเทพฯ แล้วต้องมาดูแมกกาซีนที่ร้านคิโนะคุนิยะ พอดูแล้วก็รู้สึกกว่า เฮ้ย ทำไมแมกกาซีนญี่ปุ่นมันแต่งตัวสนุกจัง เลยรู้สึกว่า อ๋อ เราชอบอะไรแบบนี้มาตลอด เพราะเราดูซีรีส์ญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก แล้วแฟชั่นญี่ปุ่นมันไม่ได้หวือหวามาก มันไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไหร่ จะเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่าที่เราเห็นมันหลากหลาย เพราะคนมันหลากหลาย คนแบบ ซึ่งมีแบบนึงที่เราชอบแล้วเราไม่เคยรู้ว่ามันจำกัดความแบบนี้ เราเห็นในแมกกาซีนว่ามันคือเทรนด์ มันไม่เชิงว่ามินิมอลมั้ยนะ แต่ว่ามันก็คือแปะๆๆๆ มารวมกัน แค่นี้ ไม่ได้ประโคมกับมันมาก” ย้วยตอบคำถามของฉัน อิทธิพลการแต่งตัวอีกอย่างหนึ่งที่ย้วยได้รับคือ การแต่งตัวของเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานแรกในชีวิตของเธอ หลังจบการศึกษาจากรั้วสีชมพู “หลังเรียนจบก็ไปทำงานที่ กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) มันสืบเนื่องมาจากเราเคยฝึกงานที่นั่น พูดภาษาชาวบ้านก็เหมือนเป็นองค์กร ตำรวจตลาดทุน องค์กรจะแต่งตัววินเทจทุกคน อายุเฉลี่ยของคนที่นั่นคือ 40 แต่ยังใส่เสื้อผ้าตัดแบบที่ขายในห้างฯ ไนติงเกล อยู่เลย แต่พออออกจากที่นั่นมันเหมือนเริ่มคิดว่า เฮ้ย เสื้อผ้าวินเทจ เสื้อผ้ามือสองโคตรสนุก โคตรมันส์เลย เพราะที่เปิดโลกมากๆ เลยคือตอนที่ออกกองฯ ทำคอลัมน์กับช่างภาพของ The Cloud ที่เชียงใหม่ เขาก็พาไปที่ตลาดสันป่าข่อย ไปรื้อเสื้อผ้าร้านเสื้อผ้ามือสองเสื้อผ้าที่ไม่มีตามตลาดแล้วเราก็ชอบอะไรแบบนี้ ซึ่งส่วนมากมันก็จะมาจากญี่ปุ่นไง มันก็เลยแบบ เปิดโลกมากขึ้น จากนั้นก็เดินแต่มือสองเพราะว่ามันมีไอเท็มอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้าน แล้วมันก็สวย ถูกด้วย ตัวละ 20-30 บาทเอง” ย้วยเล่า
04: เพราะทำโดยไม่คาดหวัง และอยากให้ทุกคนสนุกกับการแต่งตัวฉันแอบสงสัยนิดหน่อยว่า ที่มาของชื่อเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อ มาจากอะไร “ที่มาของชื่อเพจมันมาจากไปลองเสื้อที่ร้านหนึ่งซึ่งมันเข้ามาใหม่ คนยังไม่ฮิต แล้วเราก็ชอบเดรสของเขามาก ก็ไปลอง มันแพงเลย ตัวเป็นหมื่น แล้วก็ลองนาน หมุนตัวอยู่นั่นแหละ เพราะเราเห็นลุลาใส่ อุ้ย เหมือนลุลาเลย แต่ทำไมผ้ากูกองอยู่ข้างล่างวะ (หัวเราะ) เพราะเราตัวสั้นใช่มั้ย แล้วด้วยความที่เสื้อผ้าแพง ร้านแพง พนักงานด้วยความใส่ใจเขาก็ถามว่า คุณลูกค้าใส่ได้รึเปล่า ถามตลอดจนเราแบบ เราไม่ได้ลองนานขนาดนั้น แล้วพอดูนาฬิกาแล้วแบบ เชี่ย กูอยู่ในนั้นนานมาก ก็ไม่แปลกที่เขาจะถาม มันก็เลยคิดชื่ออัลบั้มได้ว่าน้องนอนในห้องลองเสื้อ คือ ฉันนอนอยู่ในนั้นนะ นานมาก จนจะนอนอยู่ในห้องแล้ว อย่าปลุกฉัน” ย้วยเล่าที่มาแกมหัวเราะ และนั่นทำให้ฉันอดหัวเราะตามไม่ได้ ระหว่างทางในการทำเพจที่ตัวเลขค่อยๆ ขึ้นอย่างช้าๆ เพราะอัลกอริทึ่มของเฟซบุ๊กทำให้เป็นอย่างนั้น ย้วยบอกฉันว่ามีสามอย่างที่ทำให้ไลก์เพจขึ้นหลักหมื่นโดยที่เธอไม่ได้คาดหวัง อย่างแรกคือ วิดีโอในแฟนเพจสนุกจากฟุตเทจที่รวบรวมและตัดต่อทีเดียว (ลองไปดูในเพจเถอะ สนุกจริง) อย่างที่สองคือ Refference การแต่งตัวที่เธอแชร์ลงในแฟนเพจ ทำให้ผู้ติดตามได้แนวความคิดที่อยากแต่งตัวสนุกๆ ตามบ้าง เช่น เทรนด์สีเขียว หรือเสื้อแจ๊คเก็ตแบบโอเวอร์ไซซ์ ส่วนอีกอย่างที่เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือ บางคนที่แชร์โพสต์ในเพจ ต่อคือคนที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา มือกีตาร์แห่งวง Scrubb หรือผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ยอดผู้ติดตามและกดไลก์แฟนเพจ 11,000 คนในเวลาสองปีอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กับย้วยมันกลายเป็นเรื่องใหญ่โตไปแล้ว แต่ยังไงก็ตาม ย้วยก็ยังยืนยันเสมอว่าน้องนอนในห้องลองเสื้อ คืองานอดิเรกเพื่อความสุขของเธอ “เรายึดว่ามันเป็นงานอดิเรกแต่แรก เรื่องนี้ก็เพิ่งมารู้ตอนที่ a day มาสัมภาษณ์ลงคอลัมน์คนสันปกเล่ม Theraphy จนสุดท้ายสรุปได้ว่า ทุกวันนี้ดีใจที่พอมีคนชอบเสื้อผ้าแบบเดียวกับเรา มันมีคนเอามาขายจริงๆ มันมีคนเอา Miranda July เข้ามา มูจิกับบีมส์ก็มีคนรู้จักมากขึ้น ทำให้ตลาดแฟชั่นของเรามีของหลากหลาย ให้เลือก ให้ลองไปหมด แต่ที่เมื่อก่อนน้อยมาก ทำให้เกิดความท้าทายต่อไปตอนนี้คือ มันจะมีแบรนด์แมสๆ ที่มีไอเท็มลับๆ ที่เป็นตัวเราอยู่ในนั้น มันยิ่งทำให้เรา Explore อื่นๆ ยิ่งเจอคนแต่งตัวคล้ายๆ กับเราก็ยิ่งทำให้เราไปหาอะไรใหม่ๆ หรือได้สนุกกับการเดาเทรนด์ว่าอะไรน่าจะมา น่าจะไป พอยิ่งลองถ่ายแล้วลองหา Refference มาเทียบดู แล้วคนไปแต่งตัวตาม ให้รู้สึกว่าเราเลือกเองได้นะ แต่ไม่ได้บอกว่า ให้มาดูฉันนะ ฉันจะเป็นผู้นำแฟชั่น เปล่า ฉันแค่ชอบของฉันอย่างนี้ แต่ที่ฉันลองให้ดูเพื่อให้เห็นว่าเสื้อบางตัวมันถูกแขวนอย่างเหงาๆ บนราวเสื้อผ้าไม่มีใครซื้ออะ แต่เอามันมาจับกับบางอย่างดูสิ มันอาจจะออกมาดีก็ได้นะ” ย้วยกล่าวส่งท้ายด้วยรอยยิ้ม
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ artsvisual.co | กรกฎาคม 2562 |
Related Posts
เบื้องหลังความพยายามของ Kevin Khun สู่ Projekt Now คนทำหนังที่เท่และเป็นตัวเองที่สุด
หนึ่งปีที่แล้วในเวลาเกือบทุ่ม ฉันไถโทรศัพท์ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ เพื่อเช็คข่าวอยู่หน้าบูธสำหรับจัดรายการวิทยุ ฉันพบกับโพสต์หนึ่งบนหน้าวอลล์ที่ทำให้ฉันไม่เลื่อนข้ามมันไป และอ่านจนครบทุกตัวอักษร โพสต์นั้นคือวิดีโอสำหรับส่งประกวดโครงการหนึ่ง ของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจชั้นปีที่ 2 ผู้ต้องการตามหาความฝันการเป็น Videographer (ช่างภาพวิดีโอ) อย่างเต็มตัว โดยมีเดิมพันคือ การยุติเส้นทางชีวิตตามระบบการศึกษาไทยด้วยดรอปเรียน เพื่อลุยบนเส้นทางข้างหน้า ที่เขาไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง “ให้ตายสิ วิดีโอนั่นมันคืองานระดับสากลเลยนะ” ฉันนึกอุทานในใจกับตัวเองเมื่อชมวิดีโอขนาด 3 นาทีนั้นจนจบ ก่อนจะกดแชร์ไปที่หน้าไทม์ไลน์ของฉัน และกดเพิ่มเขาเพื่อน เพื่อหวังว่าจะได้ทำความรู้จักกันในเวลาต่อมา นั่นคือข่าวสุดท้ายที่ฉันได้ยินจากเขา เพราะเขาไม่ได้ตอบรับคำขอเป็นเพื่อนของฉัน ปัจจุบันฉันทราบภายหลังจากคำบอกเล่าของรุ่นน้องที่ชอบพอกัน ว่าตอนนี้เขาไปได้ไกลมาก และน่าจะไกลสมใจด้วย เพราะเขาเดินทางทั้งในและต่างประเทศเพื่อทำงานที่เขารักอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง และเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจอย่างที่เขาได้ฝันไว้แล้ว เขาคนนั้นคือขุน-โชติพงษ์ เอกเสน หรือ Kevin Khun Videographer วัย 22 ปีจากเชียงใหม่ ถ้าพูดถึงวิดีโอที่คุณพอเคยผ่านตา น่าจะเป็นวิดีโอประมวลภาพกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกเผยแพร่บนแฟนเพจทีมมช. หรือรายการท่องเที่ยว Live Right Now! บนแฟนเพจ Projekt Now ซึ่งมียอดไลก์กว่าหมื่นไลก์ และยอดชมวิดีโอนับแสน ไม่นับรวมถึงงานจ้างที่ขุนมีอยู่ตลอดปี […]
สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์
April 2, 2021#ถ้าการเมืองดี ปังปอนด์ ส่องสื่อ ก็ไม่ต้องยื่นแถลงการณ์ตำหนิการทำงานของสื่อให้กับสื่อ
“เทปสปีด ซาวด์สปีด ผู้ชมพร้อม 5-4-3-2” (เสียงเพลงประจำรายการพร้อมเสียงปรบมือจากผู้ชมในห้องส่ง) ขอต้อนรับกลับเข้าสู่รายการ Behind The Scene ทุกเบื้องหน้า มีเบื้องหลัง ในช่วงพิเศษ #ถ้าการเมืองดี กับการสนทนนากับแขกรับเชิญมากหน้าหลายตาในทุกสาขาวิชาชีพ ที่มีคำถามร่วมกันว่า ถ้าการเมืองดี สังคมวงการที่เขาอยู่จะเป็นอย่างไร คุณผู้ชมคงคุ้นหน้าคุ้นตาแขกรับเชิญคนนี้บ้างในโลกออนไลน์ในบทบาทของกองบรรณาธิการเว็บไซต์ที่ว่าด้วยเรื่องสื่อที่ชื่อว่าส่องสื่อ ซึ่งพูดถึงความเคลื่อนไหวของสื่อในหลากหลายรูปแบบ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อใหม่ สื่อโฆษณา หรืออีเวนต์ ที่ตอนนี้ส่องสื่อเดินทางเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ songsue.co รวมกว่า 100,000 ครั้ง เขาเรียกตัวเองว่า “ผู้สังเกตการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทย” ถึงแม้ว่าสื่อทางเลือกที่เล่าเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้งเฉพาะเจาจง กำลังกลายเป็นกระแสในวงการคอนเทนต์เมืองไทย และเมื่อรวมกับสถานการณ์ในวงการสื่อที่จรรยาบรรณวิชาชีพเสื่อมถอย การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหลายสำนักและบุคลากรในวงการสื่อหลายแขนงถูกตั้งคำถามในความเหมาะสม เขาคนนี้และเพื่อนๆ ในองค์กรของเขากลับร่างแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเพื่อสะท้อนและตั้งคำถามกลับไปหาผู้ที่กล้าเรียกตัวเองว่าสื่อมวลชน ว่าพวกเขาได้ทำหน้าที่ของสื่ออย่างเต็มภาคภูมิแล้วหรือยัง ลงในเว็บไซต์และช่องทางออนไลน์ของส่องสื่อ แต่มันยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เขาคนนี้เดินทางไปพบสื่อมวลชนที่ทำข่าวการจัดกิจกรรมแฟลชม๊อบของกลุ่มประชาชนปลดแอก เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อยื่นแถลงการณ์ฉบับนี้ให้กับสื่อมวลชน เราไม่ปฎิเสธว่านี่คือวิถีแห่งประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามกับทุกความเป็นไปในสังคม แต่เมื่อมองในความจำเป็นแล้ว แถลงการณ์ฉบับนี้มีไปเพื่ออะไร และบทบาทของสื่อมวลชนจะไปในทิศทางไหนหลังแถลงการณ์ฉบับนี้อยู่ในมือผู้ที่เกี่ยวข้อง และคำถามสำคัญที่เราเชิญเขามาพูดคุยกับเราในวันนี้คือ ทำไมเขาถึงเลือกแสดงออกแบบนี้ วันนี้เขาอยู่กับเราแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เดินทางมานั่งสัมภาษณ์กับเราด้วยตัวเอง แต่ตอนนี้เขาอยู่ในสายผ่านการวิดีโอคอล […]