สิบความพิเศษของ Starbucks ดินแดนอาทิตย์อุทัยที่ไม่น่าเหมือนกับประเทศไหนในโลก

ประเทศญี่ปุ่นมีสตาร์บักส์กว่า 1,434 สาขา ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับไทยที่มีแค่ 343 สาขาเท่านั้น ที่สำคัญ สตาร์บักส์ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเชนร้านกาแฟระดับโลกที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกด้วย

สตาร์บักส์ที่ญี่ปุ่นมีเรื่องสนุกๆ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจและต่างจากเมืองไทยอยู่ค่อนข้างมาก ลองมาดูกันว่าหลายๆ เรื่องที่สตาร์บักส์ญี่ปุ่นแตกต่างจากไทยเหลือเกินนั้นมีอะไรบ้าง

1 บาริสต้าในร้านร้อยละ 80 พูดภาษาอังกฤษไม่ได้

เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนมากไม่พูดภาษาที่สอง ทำให้การสื่อสารด้วยภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น สตาร์บักส์ญี่ปุ่นจะเตรียมเมนูแบบเล่มให้ไว้ลูกค้าจิ้มสั่งได้เลย

2 สตาร์บักส์ญี่ปุ่นไม่มีชาเขียวเย็น

ที่สตาร์บักส์ญี่ปุ่นมีเมนูชาเย็นแค่ 2 รายการเท่านั้นคือ ชา (ดำ) เย็น และชาส้มยูสุเย็น (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมนู Teavana) ส่วนที่เหลือจะเป็นชาร้อนทั้งสิ้น ทั้งชาเขียวมัจฉะลาเต้ (ถ้าสั่งว่า Green Tea บาริสต้าจะไม่เข้าใจ) โฮจิฉะลาเต้ และอื่นๆ และสตาร์บักส์ที่ญี่ปุ่น ไม่มีเมนูชามะนาวเย็น แต่ถ้าอยากกินชาเขียวเย็นแบบไทยจริงๆ คุณหาซื้อได้ที่ร้านสะดวกซื้อทั่วไปในรูปแบบแก้วเพียง 100 เยนเท่านั้น

3 วิธีจัดการคิวที่เสียเวลาน้อยกว่า แต่เป็นระเบียบมากกว่า

ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก (ส่วนมากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์) สตาร์บักส์ญี่ปุ่นมีวิธีจัดการคิวคือ ให้ลูกค้าต่อแถวเป็นสองแถว แถวแรกเป็นแถวสั่งเมนู ถ้าสั่งและชำระเงินแล้วให้เก็บใบเสร็จไว้ จึงไปต่อแถวที่สองเพื่อรอรับออเดอร์ตามลำดับการชำระเงิน

4 สตาร์บักส์ญี่ปุ่นไม่มีการถามชื่อลูกค้าเพื่อเขียนลงแก้วแบบในประเทศไทย (และอีกหลายประเทศ)

เพราะอย่าลืมว่าชื่อคนญี่ปุ่นมีส่วนผสมระหว่างตัวอักษระฮิระกะนะ และตัวอักษรคันจิที่หนึ่งการออกเสียงสามารถเขียนออกมาเป็นตัวคันจิได้หลายตัวมาก ดังนั้นจึงลืมปัญหาการเขียนชื่อผิดไปได้เลย เพราะสตาร์บักส์ญี่ปุ่นไม่เขียนชื่อลงแก้วอยู่แล้ว แต่จะเรียกลูกค้าด้วยชื่อเมนูแทน

5 ราคาระหว่างนั่งดื่มที่ร้านและซื้อกลับบ้านไม่เท่ากัน

เพราะจากการปรับภาษีเพิ่มจาก 8 เป็น 10 เปอร์เซนต์เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลกับสตาร์บักส์เช่นกัน ทำให้ราคาเครื่องที่บอกในเมนูไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถ้านั่งดื่มที่ร้านจะบวกภาษีเพิ่ม 10 เปอร์เซนต์ แต่ถ้าซื้อกลับบ้านเพื่อไปกินข้างนอกจะบวกเพิ่ม 8 เปอร์เซนต์ สตาร์บักส์ญี่ปุ่นจึงมีแคมเปญเล็กๆ ชื่อว่า Starbucks to go. โดยวางถุงกระดาษให้ลูกค้านำเครื่องดื่มใส่ถุงไปดื่มนอกร้าน เพื่อจูงใจให้ลูกค้าใช้บริการนอกร้าน ลูกค้าจะได้ชำระค่าเครื่องดื่มน้อยลง

6 สตาร์บักส์ไทยไม่มีเครื่องดื่มโกโก้ แต่มีเครื่องดื่มช็อคโกแลต

ในขณะเดียวกัน สตาร์บักส์ญี่ปุ่นไม่มีเมนูเครื่องดื่มช็อคโกแลต มีแต่เครื่องดื่มโกโก้

7 สตาร์บักส์ญี่ปุ่นมีเมนูเด็ก คือ นมเย็น และน้ำผลไม้กล่องน้อยๆ

8 แม้แต่สตาร์บักส์ก็แยกขยะ

ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการแยกขยะที่เข้มงวดและเข้มข้นมาก ซึ่งกับเชนกาแฟระดับโลกก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ถ้าจะทิ้งแก้วเครื่องดื่มในร้าน สตาร์บักส์ญี่ปุ่นมีช่องแยกให้ตั้งแต่แก้วกระดาษ แก้วพลาสติก น้ำแข็ง ของเหลว หรือแม้กระทั่งหลอดดูดและช้อนคนเครื่องดื่ม

9 สตาร์บักส์ญี่ปุ่นมีเมนูพิเศษ

ยกตัวอย่างเมนูที่ออกขายในเทศกาลคริสต์มาส สตาร์บักส์ไทยกับญี่ปุ่นจะมีเมนูให้ไม่เหมือนกัน และค่อยๆ ออกเมนูใหม่ทุกๆ 2-3 สัปดาห์ ต่างกับที่ไทยซึ่งออกพร้อมกัน 3 เมนู และขายถึงประมาณสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม

10 บัตร Starbucks Card ที่สมัครและเปิดใช้งานในญี่ปุ่น ใช้งานที่ไทยและประเทศอื่นไม่ได้

และเช่นกัน บัตร Starbucks Card ที่สมัครและเปิดใช้งานในประเทศไทย ก็ใช้งานกับประเทศอื่นไม่ได้

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ bottomlineis.co | มกราคม 2563

Contributors

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

นักเล่าเรื่องที่ใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือและศรัทธาในพลังของงานเขียน ผู้ชอบตัวเองตอนนั่งสัมภาษณ์ผู้คนที่สุด