Chiang Mai ART for AIR โครงการศิลปะเพื่อลมหายใจ เพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและมลพิษจาก PM2.5

หลายครั้งที่เราได้เห็นศิลปะทำหน้าที่ในการจรรโลงสังคม ไม่ว่าทางตรงที่ทางที่งานศิลปะนั้นสื่อสารกับคนในสังคมโดยตรง หรือแม้แต่ทางอ้อมอย่างการระดมทุนประมูลงานศิลปะเพื่อนำเงินสมทบทุนแก้ไขหรือเยียวยาปัญหาในสังคม

Chiang Mai ART for AIR จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เยียวยาสังคมในทางอ้อม โดยเน้นไปที่เรื่องปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ 

ปัญหาฝุ่นควันของเชียงใหม่เป้นที่ทราบกันดีว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและแก้ไขยากที่สุดอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งรูปธรรมของปัญหาที่เห็นได้ชัดและเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้คือ เหตุการณ์ไฟไหม้ดอยสุเทพเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้สภาลมหายใจเชียงใหม่และหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่นั้นลุกขึ้นมาจับมือกัน สรรค์สร้างโครงการ Chiang Mai ART for AIR รวบรวมความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์จากหลายภาคส่วนมาจัดแสดงผลงานและให้ผุ้ที่สนใจมาประมูลผลงานนั้นไป โดยนำรายได้ครึ่งหนึ่งได้สมทบให้กับสภาลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อใช้สร้างกิจกรรมเพื่อซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า สนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ และอีกส่วนหนึ่งนำมาใช้ในโครงการปฏิบัติการทางศิลปะ ที่มุ่งเน้นด้านการศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ต่อปัญหาและข้อมูลสู่ประชาชนผ่านกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรม

กิจกรรมแรกเริ่มต้นไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 และได้ผลตอบรับที่ดี คณะผู้จัดงานในปีที่แล้วจึงเห็นควรว่า ในปีนี้ควรจะจัดกิจกรรมต่อ โดยใช้รายได้จากการจัดโครงการครั้งที่แล้วมาดำเนินงานต่อโดย ครั้งนี้จะรวบรวมความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์ จากแขนงต่าง ๆ โดยไม่จำกัดการนำเสนอผลงาน เพื่อร่วมโครงการศิลปะในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ภายในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นนิทรรศการศิลปะแบบพื้นที่เฉพาะ (site-specific art) 

นิทรรศการจะเริ่มต้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จนถึง วันที่ 30 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งจะรวบรวมศิลปินและนักสร้างสรรค์ต่าง ๆ มาจัดแสดงผลงานร่วมกันทั่วเมืองเชียงใหม่ อาทิ พรชัย ใจมา, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข, อุดม แต้พานิช, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ และเป็นเอก รัตนเรือง เป็นต้น

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มละคร กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ นักกิจกรรม NGOs นักวิชาการ นักดนตรีพื้นเมือง หรือศิลปินร่วมสมัยที่สนใจเข้าร่วมแสดงผลงาน โดยไม่จำกัดวิธีการหรือรูปแบบใด ๆ เพียงแต่ถ่ายทอดในเนื้อหาของผลกระทบของฝุ่นและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม วิพากษ์ และสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือที่เป็นองค์ความรู้และข้อเสนอที่ด้วยงานศิลปะร่วมสมัย เพราะหากเรามองให้ดี ปัญหา PM2.5 เป็นเรื่องของทุกคน ที่เกิดจากเราทุกคนเช่นกัน เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการเริ่มจากตัวเราเอง แต่เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลยหากเราไม่เข้าใจมัน

BECAUSE WE BREATHE IN THE SAME AIR  – เพราะเราคือลมหายใจเดียวกัน

Contributors

โอบเอื้อ กันธิยะ

สถาปนิกชาวเชียงใหม่ที่ถนัดเขียนมากกว่าวาด ถนัดเล่าบอกมากกว่าร่างแบบ