วัฒนธรรม สังคม ไลฟ์สไตล์: Small Narrative ประจำเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563

Small Narrative คือคอนเทนต์ย่อยบนแฟนเพจ Behind The Scene ที่เล่าเรื่อเล็กน้อยแต่มีความน่าสนใจ ซึ่งนับแต่เปิดตัว Behind The Scene: Digital Publishing ที่ว่าด้วยเบื้องหลังของทุกวงการเท่าที่เป็นไปได้ จรดถึงการมาของ behindthescene.co เรานำเสนอคอนเทนต์ย่อยในหลากหลายประเด็นตั้งแต่เรื่องเรียบง่ายไปจนถึงประเด็นใหญ่ทางสังคมที่ชวนขบคิด

เรารวบรวม 6 เนื้อหาเด่นตลอดเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมาให้คุณได้อ่านกันอีกครั้งในบทความนี้

ผ้าทอไตลื้อ: เอกลักษณ์อันโดดเด่นของเครื่องนุ่งห่มทอมือ ที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

เรื่อง: วรัญชิต แสนใจวุฒิ

 

ชาวไตลื้อเรียกตัวเองว่า “ลาวคานน้ำ” จากบริเวณตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมใกล้แม่น้ำลื้อในสิบสองปันนา โยกย้ายถิ่นฐานของไตลื้อมาตั้งบ้านเรือนในล้านนา เมื่อ 200 ปีที่แล้ว เอกลักษณ์เด่นของชาวไตลื้อคือผ้าทอที่ได้รับการยกย่องว่ามีความโดดเด่น ด้วยเทคนิคการทอผ้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการมัดหมี่ การจก การขิด และการยกดอก ที่ต้องอาศัยความชำนาญที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

แม้ในปัจจุบันผ้าไตลื้อและการแต่งกายตามประเพณีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน ของชาวไตลื้อ แต่เสื้อผ้า ผ้านุ่ง และกางเกงของไตลื้อ เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนเสมอ

ชาวไตลื้อจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องการทอผ้า โดยเฉพาะชุดไตลื้อของกลุ่มชนไตลื้ออำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงใหม่ มีอัตลักษณ์เด่นคือ ผ้าถุงลายผักแว่น น้ำไหล ผักแว่นเป็นชุดที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยลื้อเชียงคำทอด้วย หรือการทอด้วยเทคนิคเกาะ มีลายประกอบทอด้วยเทคนิคการขิด

เสื้อผ้าของชาวไตลื้อจะมีการทอลวดลายที่บอกถึงฐานะทางสังคมของผู้สวมใส่ โดยผ้าของไตลื้อแบ่งเป็นสองประเภทคือ หนึ่ง-ผ้าสำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น“ผ้าห่มต่ำก้าว” ที่ปัจจุบันหาคนทำไม่ได้แล้ว คำว่า “ต่ำก้าว” เป็นภาษาลื้อมี 2 ความหมาย นอกจากจะเป็นชื่อเป็นชื่อลาย ก็ยังเป็นวิธีการทำด้วย “ต่ำ” แปลว่า การทอ “ก้าว” แปลว่า การง้างไม้เพื่อที่จะใส่ลายขึ้นแล้วสอดให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า ผ้าห่มลายตาราง เรียกกันว่า “ผ้าห่มตาแสง” หรือ “ผ้าห่มสี่แป” เป็นผ้าฝ้ายทอยกดอก สีที่นิยมคือ สีดำแดง ขาว ทอให้เกิดเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ลวดลายมี ขนาดเล็กรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นการทอที่ยาก เนื่องด้วยลายใหญ่ซับซ้อน ทำให้มีราคาแพง ปัจจุบันไม่นิยมใช้ แต่ก็ยังคงมีการทออยู่บ้าง

สอง-ผ้าที่ใช้ในพิธีกรรม ผ้าที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ตามความเชื่อ เช่น “ผ้าเช็ดหลวง” ลักษณะคล้ายตุงมาก (ตุงจะมีลายด้านเดียว ส่วนผ้าเช็ดหลวงมีลายทั้ง 2 ด้าน) ชาวไตลื้อจะทำผ้าเช็ดหลวงเพื่อถวายเช่น เดียวกับการถวายตุง โดยแขวนไว้ในวิหาร สันนิษฐานว่าโครงสร้าง และลวดลายของผ้า สืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิม ของชาวไตลื้อก่อนที่จะมานับถือศาสนาพุทธ และได้นำมาปรับใช้ ในพิธีกรรมการถวายทานเป็นพุทธบูชาเพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษ “ผ้าจีวรพระเจ้า” หรือ “ผ้ามุณจนะ” ทอถวายเป็นพุทธบูชาใน ช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือในงานตานธรรมห่อผ้า (ตั้งธรรมเทศน์ มหาชาติ)

วิถีชีวิตของชาวไตลื้อที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ครั้งที่ยังอาศัยอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา ต่างถูกบอกเล่าผ่านผู้คน สถานที่ สิ่งของ ที่ชักชวนผู้คนอยากติดตามไปถึงหน้าประวัติศาสตร์เก่า ๆ และซึมซับกับความรู้สึกรักและหวงแหนในภูมิปัญญาของชาวไตลื้อ ที่แม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ ก็ยังสามารถร้อยเรียงเรื่องราวในอดีตให้เข้ากับปัจจุบันอย่างเป็นธรรมชาติ เนิบช้า สงบงาม

 

ปาหนัน ชัญญา: ตัวแทนเพศทางเลือกที่อยากให้การแสดงจุดยืนของทุกสิ่ง เป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้โดยไม่ถูกหยุดแบบมีอะไรมากั้น

เรื่อง: สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

 

“ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย”

คือหนึ่งในป้ายที่ถูกชูขึ้นในกิจกรรมแฟลชม็อบแสดงจุดยืนทางการเมืองของชาวเชียงใหม่ที่รวมตัวกันในเย็นวันอาทิตย์ ณ ข่วงประตูท่าแพ นอกจากเธอผู้ถือป้ายแล้ว คนหนุ่มสาวและประชาชนเรือนพันต่างรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองในแบบที่เราต่างเห็นกันบนพื้นที่สื่อแล้ว

ภาพของปาหนัน-ชัญญา รัตนธาดา ที่ถือป้ายดังกล่าว กลายเป็นหนึ่งในภาพไวรัลจากกิจกรรมแฟลชม็อบครั้งนี้ที่พูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล แต่ภาพนี้อาจไม่ทำงานมีกลุ่มคนหนึ่ง ซึ่งมีความคิดทางการเมืองซึ่งสวนทางกับเธอและผู้ร่วมกิจกรรมในวันนั้น ต่างแสดงความคิดเห็นในเชิงต่อว่า ด่าทอ และรังแกเธอด้วยคำคอมเมนต์หรือที่เราเข้าใจกันง่ายๆ ว่า Cyberbullying สื่อออนไลน์หลายสำนักอาจพูดถึงประเด็นการบุลลี่เธอซึ่งเป็นเพศทางเลือกที่แสดงออกทางการเมือง แต่เพราะเราพอรู้จักปาหนันอยู่แล้วในฐานะนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศและสังคมมาก่อน คอลัมน์ Small Narrative เลยอยากแนะนำเธอให้คุณรู้จักกันแบบเข้าใจง่ายๆ อีกสักนิดว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไร

และการถูกบุลลี่ครั้งนี้กำลังบอกอะไรเธอ

ปาหนัน-ชัญญา เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ริเริ่มกลุ่มเยาวชนเพื่อความหลากหลายทางเพศหรือ Young Pride Club ร่วมกับกลุ่มแกนนำอย่างเบส-ชิษณุพงศ์ นิธิวนา ที่ขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับเพศทางเลือกให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และเข้าใจถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ ผ่านกิจกรรมขับเคลื่อนตั้งแต่สังคมเล็กๆ อย่างมหาวิทยาลัย จนไปถึงกิจกรรมใหญ่ที่ปลดแอกความร้าวฉานของกลุ่ม LGBTQ+ ในพื้นที่ ด้วยการเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการจัดงาน Chiang Mai Pride เป็นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปีที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมพันคน

นั่นเป็นความสำเร็จหนึ่งที่ปาหนันและเพื่อนๆ ได้รับ เธอเคยกล่าวในบทสัมภาษณ์บนเว็บไซต์ Bottom Line ถึงการทำงานในกลุ่ม Young Pride Club เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศให้ผู้คนรับรู้ว่า

“การเป็น LGBT ไม่ได้น่าอายแล้วนะคะ และเราอยากแก้ความเข้าใจผิดด้วยว่า เราไม่ได้ฟินกับการแต่งหญิงหรือเป็น Drag Queen แต่เราอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนมาประกาศจุดยืนและ Movement ไปกับเราเพื่อให้สังคมตระหนักรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ Binary System หรือมีแค่สองเพศเท่านั้น”

นอกจากการเคลื่อนไหวในประเด็นทางเพศแล้ว เรายังได้เห็นเธอมีบทบาทในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในอีกหลายมิติ จนกระทั่งถึงกิจกรรม Flashmob เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เธอรับรู้แล้วว่ามีถ้อยคำเสียดแทงและดูหมิ่นเธอ แต่เธอได้พูดถึงเหตุการณ์นี้ในข้อความในสถานะส่วนตัวบนเฟซบุ๊คของเธอว่า จากที่เธอได้เขียนประโยค “ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย” เป็นการแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่า กลุ่มคน LGBTQ+ ต่างสนใจและต้องการผลักดันปัญหาเชิงโครงสร้าง สิทธิมนุษยชน และเข้าใจปัญหาทางสังคมเหมือนๆ กับผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน โดยการร่วมงานกับภาคประชาสังคมและองค์กรต่างๆ เป็นการตอกย้ำให้เธอเห็นถึงปัญหาในสังคมที่เธอและผู้คนล้วนเผชิญ และอยากทำให้สังคมดีขึ้นด้วยการใช้สิทธิการแสดงออกขึ้นพื้นฐานของเธอ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และจากการถูกกลั่นแกลงบนโลกออนไลน์ เธอจึงตอบกลับคำคอมเมนต์ทั้งหมดบนเฟซบุ๊คของเธอ ซึ่งนำไปสู่การสรุปจุดยืนและเหตุผลในการแสดงออกร่วมกับเพื่อนนับพันที่ประตูท่าแพในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า

“จากการที่ดิฉันถูกนำภาพดังกล่าวไปใช้ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรงในกลุ่มหนึ่ง ถูกลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดิฉันขอเรียนตามตรงว่าดิฉันไม่เคยถือโทษโกรธพวกท่านแต่อย่างใด เพราะดิฉันยังคงยึดมั่นในฐานคิดที่ว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร อยู่ในสถานะความหลากหลายทั้ง เชื้อชาติ เพศสภาพ สีผิว รูปลักษณ์ภายนอก และการแสดงออกผ่านตัวตนอย่างไร หากท่านมองคนให้เป็นคน บุคคลผู้นั้นล้วนมีสิทธิเสรีภาพตามอำนาจอธิปไตยทั้งทางการเมือง และอธิปไตยทางร่างกายที่ไม่มีใครจะสามารถมาพลัดพรากริดรอดสิทธิของเราไปได้”

 

Nostalgia.no5 “Wish I could turn back time, to the good old days.”

เรื่อง: วรัญชิต แสนใจวุฒิ

 

คุณเคยคิดถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในชีวิตบ้างไหม?

คุณเคยอยากย้อนเวลาไปช่วงเวลานั้นไหม?

แล้วคุณเคยคิดถึงใครจนแทบจะขาดใจไหม?

ผมว่าพวกเราหลายๆคนคงเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต เหตุการณ์ที่มนุษย์เราเรียกมันว่า “ความคิดถึง” ความคิดถึงนั้นอยู่ในทุกๆที่อยู่ในทุกๆช่วงการดำเนินชีวิตของพวกเรา บางครั้งความคิดถึงก็รุนแรงจนทำให้เราอยากเป็นบ้า บางครั้งความคิดถึงก็ทำให้เรายิ้มและหัวเราะทั้งน้ำตา

มีหลายงานวิจัยที่ทำการหาความสัมพันธ์ระหว่าง “ความคิดถึง” (nostalgia) กับ ตัวแปรทางจิตวิทยาต่างๆ ซึ่งปรากฎว่า “ความคิดถึง” นั้นมีผลดีต่อบุคคล เช่น ช่วยลดความเบื่อ (boredom) ถ้าลองนึกดูก็จะพบว่าเวลาเราเบื่อๆ บางครั้งก็มักจะคิดถึงเรื่องต่างๆในอดีตของเราที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนั้นมีคุณค่า ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราหายเบื่อได้ ความคิดถึงยังมีความสัมพันธ์กับการสนับสนุนทางสังคม (socail support) โดยความคิดถึงจะทำให้เราระลึกได้ว่าเรายังมีคนรอบข้างที่คอยให้การสนับสนุนเราอยู่ ซึ่งการระลึกนี้ก็จะช่วยให้เราคลายความเหงาและความวิตกกังวลลงได้ และบางครั้งก็ช่วยให้เราหายเครียด หดหู่ใจ หรือแม้กระทั่งช่วยให้คนที่กำลังจะตายด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ มีกำลังใจจะลุกขึ้นสู้ต่อไป

Nostalgia.no5 ตั้งอยู่บนถนนอารักษ์ ซอย 5 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่นี่ร้านกาแฟตกแต่งอารมณ์กึ่งบาร์ มีเก้าอี้สูง โทนสีเขียว มีกาแฟรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แต่สิ่งที่ทำให้สถานที่นี้น่าสนใจแตกต่างจากที่อื่นๆคงจะเพราะว่าร้านนี้มีคอนเซปต์ที่ผมของนิยามว่า “ศาลาคนเศร้า” (ใช่แล้วครับผมไม่ได้เขียนผิด)

ในร้านจะมีทุกความหลัง ความคิดถึง ความสุขและเศร้าเล็กๆ ในร้านมีตู้โชว์สิ่งของต่างๆ ซึ่งของแต่ละชิ้นที่ตั้งวางในตู้โชว์ มีเรื่องราวและสตอรี่ให้อ่าน โดยของที่โชว์จะเป็นของที่มีคนเอามาฝากทิ้งไว้ อาจจะเป็นของ ที่มีเรื่องราวให้พูดถึง แต่ไม่อยากเก็บไว้เอง (เช่น ของของแฟนเก่า) โดยจะเปลี่ยนไปในทุกๆ 3 เดือน ซึ่งถ้าใครมีของที่อยากจะโชว์หรืออยากเล่า ก็สามารถเอามาฝากทางร้านได้ ทางร้านเขาจะคืนให้เมื่อครบการแสดง (หรือถ้ามันเจ็บปวดไปทั้งหัวใจไม่อยากได้คืน ก็ให้ที่ร้านไปเลยก็ได้เหมือนกัน)

มันก็คงจะจริงอย่างที่ว่ากันว่า ความคิดถึงนั้นมีอนุภาพมากๆและอยู่กับเราในทุกๆช่วงของชีวิตจริงๆ ในบางครั้งความคิดถึงก็ทำให้เราเซ็งและก็อาจจะทำให้เราเศร้าได้ แต่ลองสังเกตดูสิครับ ว่าทุกครั้งที่เราคิดถึงภาพความทรงจำดีๆมันมักจะกลับมาหาเราอยู่เสมอ และความทรงจำนั้นก็มักจะทำให้เรามีความสุขแม้ว่าตัวเราจะร้องไห้อยู่ก็ตาม ความคิดถึงก็คงจะเป็น “ความเจ็บปวดที่งดงาม” ประเภทหนึ่งที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจเราให้รู้สึกถึงว่าเรายังมีคนรอบข้างเราที่คอยให้กำลังใจเราอยู่ ไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่อยู่กับเขาก็ตาม ดังนั้นแล้วจงอย่าหวาดกลัวความคิดถึงและจำไว้ว่า คนที่อยู่ในภาพความทรงจำแห่งความคิดถึงของคุณยังเป็นกำลังใจให้คุณเสมอ

วันที่ 25 กรกฎาคม เป็นวันครบรอบ 1 ปีของร้าน Nostalgia.no5 และทางร้านจะมีการเวียนความทรงจำใหม่เข้ามา Nostalgia.no5 จะทำหน้าที่รวบรวมทุกๆความทรงจำ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เศร้า หรือ สุข ที่อยากจะส่งผ่านจากปัจจุบันกลับสู่อดีตให้กับใครสักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า “ความคิดถึง” นั้นมีอนุภาพมากมายเพียงใด

 

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่: พื้นที่โอบอุ้มความเปราะบางของสังคมเมือง

เรื่อง: โอบเอื้อ กันธิยะ

 

‘หากจะสร้างเรือสักลำ จงอย่าชักชวนให้ผู้คนสั่งสมไม้ อย่ามอบหมายงานและหน้าที่ แต่จงทำให้พวกเขาเข้าใจ

ถึงความกว้างใหญ่อันไม่มีจุดสิ้นสุดของมหาสมุทร’

Antoine de Saint-Exupéry – นักเขียนชาวฝรั่งเศส

เรือลำเล็กขนาดพื้นที่ขนาด 3 ไร่นี้ ที่เดิมเป็นพื้นที่ทิ้งขยะก่อสร้างของเมือง กำลังกางใบออกสู่มหาสมุทรแห่งความเหลื่อมล้ำ และตั้งหน้าเผชิญกับฝนฟ้าที่แปรปรวนของระบบเศรษฐกิจ

ใช่ว่าเรือลำนี้จะสมบูรณ์พร้อมต้านความแปรปรวนได้ทุกรูปแบบ แต่เพราะถูกสร้างด้วยว่าเข้าใจความเปราะบางของไม้แต่ละแผ่น จึงทำให้ความท้าทายของการออกเรือกลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้

เป็นเวลากว่า 4 เดือนสำหรับเรือลำนี้ที่มีชื่อว่า “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่” ได้เริ่มต้นก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา โดยการนำทีมของ ‘ใจบ้าน สตูดิโอ’ ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยโจทย์ตั้งต้นของโครงการคือ การสร้างพื้นที่อาหารในเมืองสำหรับทุกคน เพื่อเผชิญสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ร่วมกัน นำมาสู่จุดมุ่งหมายหลักคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการสร้างงานให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

ในแง่ของการทำงานจะมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือและพึ่งพากันในระดับเมืองที่จะส่งผลถึงความยั่งยืนในระดับครัวเรือน

เมื่อเราไม่ได้อาศัยอยู่อาศัยเพียงลำพังในเมือง การออกแบบความสัมพันธ์ร่วมกันของผู้คน จึงเป็นความยั่งยืนที่เมืองพึงจะมี แม้กายภาพของสวนผักคนเมืองเชียงใหม่จะมีหน้าตาเป็นสวนเกษตรกึ่งพื้นที่สาธารณะ แต่ภายในแอบแฝงไปด้วยกิจกรรมอันหลายหลายที่พยายามสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในหลายกลุ่มสังคมเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มชุมชนโดยรอบ กลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มเยาวชน และผู้บริจาค เป็นต้น

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ยอมให้ทุกคนมาออกแบบเมืองร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่คอยโอบอุ้มความเปราะบางของกันและกัน แม้โครงการนี้จะเป็นเสมือนเรือลำเล็กที่เมื่อเทียบกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ แต่ก็เคลื่อนไปอย่างมีสมดุลด้วยพลังของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยทุกคน

ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

ทุกท่านสามารถติดตามและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเรือลำนี้

ได้ที่แฟนเพจ สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ – Chiangmai Urban Farm

 

Heavy Rotation : บทเพลงที่เป็นดั่งจดหมายรักที่ส่งให้แฟนคลับในวันที่เราห่างกันของ BNK48

เรื่อง: T.Thanakorn

 

หลังจากที่เราได้ทราบผลกันแล้วว่าใครได้เป็นเซ็นเตอร์ Single ที่ 9 จากการเลือกตั้ง BNK48 2nd Senbatsu General Election แฟนคลับก็ได้ตั้งตารอว่าผู้ชนะการเลือกตั้งอย่าง เจน-กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์ จะเลือกเพลงไหนมาเป็น Single

จนในที่สุดวันที่ 9 กรกฎาคม ตัวอย่างมิวสิกวิดีโอเพลง Heavy Rotation ซึ่งเป็นเพลงที่หลายๆ คนรู้จักและสร้างปรากฏการณ์หลายอย่างให้กับวงพี่สาวอย่าง AKB48 ก็ถูกปล่อยสู่สังคมออนไลน์ ด้วยท่อนฮุคที่ใช้คำง่ายแต่ติดหู ดนตรีชวนสนุกสนานและเป็นมิตรกับทุกเพศวัย ด้วยเหตุผลนี้ทำให้แฟนคลับต่างรู้สึกตื่นเต้นว่า BNK48 จะนำเสนอมันออกอกมาในทิศทางไหน

โดยเฉพาะการแปลเนื้องเพลงภาษาจากญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยจะมีความสละสลวยมากน้อยเพียงใด เพราะทุกคนต่างรับรู้กันว่ารูปแบบภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยนั้นมีความแตกต่างมาก ทำให้มีอุปสรรคในการแปลคำออกมาเพื่อให้ภาษาดูสวย ฟังง่าย ความหมายชัดเจนและไม่บิดเบือนต้นฉบับเช่นกัน รวมไปถึงมิวสิควิดีโอที่ทุกคนต่างตั้งรอคอยว่าจะมีคุณภาพที่ดีมากน้อยเพียงใด ล้วนแล้วแต่เป็นความคาดหวังจากแฟนคลับที่รักวงนี้

ในที่สุด วันที่ 26 กรกฎาคม Heavy Rotation ได้ถูกแสดงเป็นครั้งแรกในงาน BNK48 Wonderland ซึ่งมีการฉายมิวสิควิดีโอเป็นที่แรกในงาน และบริการสตรีมมิ่งหลังงานสิ้นสุดลง

หลังจากที่ได้รับฟังและรับชมไปด้วยพร้อมกันแล้วนั้น ผมสึกชอบในการแปลเพลงนี้เป็นอย่างมาก มันมีความง่าย ชัดเจนและ ติดหูในหลายท่อนอย่างท่อนฮุคที่ใช้ประโยคง่าย ๆ อย่าง

I Want You! I Need You! I Love You!

ซึ่งรับประกันได้เลยทุกคนสามารถร้องตามได้ ถึงแม้ไม่ใช้แฟนพันธุ์แท้ของ BNK48 ก็ตาม

โดยส่วนตัวของผู้เขียนนั้นชอบท่อนนี้ของเพลงมาก

“ในช่วงชีวิตของเรา มีสุขมีเหงากันไป จะตกหลุมรักได้มากเท่าไร อยากรู้จัง

แต่สิ่งที่ฉันมั่นใจ ถ้ามีคนรักสักคน เพียงได้ลองรักจะลืมไม่ลงเชื่อฉันไหม”

ในความคิดของผู้เขียนนั้นรู้สึกว่าประโยคนี้มีความแข็งแรง เห็นภาพรวมของเพลงที่ตอกย้ำความรักที่มีต่อแฟนคลับอย่างชัดเจนโดยใช้บทเพลงเป็นตัวกลางในการสื่อสารอีกเช่นกัน

อย่างที่เราทราบกันว่าในเพลงนี้มีเซ็นเตอร์อย่างเจนที่เป็นคนเลือกเพลงนี้ สิ่งที่เราสัมผัสได้นั่นก็คือเสน่ห์ที่เปล่งประกายออกมาที่ทำให้รู้สึกได้ว่า เพลงนี้เหมาะกับเธอ แถมแต่มันกลับทำให้ภาพรวมของเพลงนั้นมีเสน่ห์ มีความน่ารักที่ไม่อาจจะละสายตาจากน้องเขาไปได้แน่นอน มิหนำซ้ำคุณอาจจะตกหลุมรักแบบไม่รู้ตัวหลังจากรับชมก็เป็นไปได้

แม้ Heavy Rotation จะเป็นเพลงที่น่าจะเป็นเครื่องการันตีว่า จะดึงดูดคนที่เป็นแฟนคลับให้กลับมารักเยอะขึ้นหรืออาจจะดึงแฟนคลับหน้าใหม่เพราะด้วยเสน่ห์ของสมาชิกวง ซึ่งเราสามารเห็นกระแสตอบรับได้จากการที่ยอดวิวขึ้นสู่ 1 ล้านวิวภายใน 24 ชั่วโมง แต่มันก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะด้วยความที่เพลงนี้มีความโด่งดังเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนไม้ตายสุดท้าย หรือถ้าเปรียบเป็นดั่งอาหาร ก็เปรียบวัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่คุณต้องตกหลุมรักแน่นอน ในกรณีที่วงมีชื่อเสียงและอาจถึงจุดตกต่ำที่สุด

แต่พอมาใช้ในเวลานี้ แฟนคลับหลายๆ คนก็รู้สึกว่ามันเร็วเกินที่จะนำมาใช้ ทำให้สิ่งที่เราอาจจะคาดเดาได้คือหลังจากนี้อาจจะไม่ได้มีเพลงที่เราการันตีได้ว่าจะมีเคมี มีความดังเท่า Heavy Rotation หรือแม้กระทั่งคุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie) ที่ทำให้คนตกหลุมอย่างไม่ทันตั้งตัวนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ผู้เขียนก็เข้าใจสาเหตุที่น่าจะเลือกเพลงนี้ นั่นก็เพราะด้วยความที่วงนั้นต่อฝ่าฟันกับข่าวแง่ลบที่เกิดขึ้นมาตลอด และยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ระยะห่างของแฟนคลับและตัววงนั้นห่างกันมากกว่าเดิม บางคนอาจจะยืนอยู่จุดเดิมเพื่อรอการพบเจอกับวงที่เขารัก แต่ก็ยังมีหลายคนที่เลือกจะถอยออกมาห่างจากเดิมเช่นกัน

ท้ายที่สุด Heavy Rotation คงเหมือนจดหมายรักที่ส่งมาจากวงเพื่อให้แฟนคลับนั้นได้รับรู้ว่าพวกเขารักพวกคุณมากแค่ไหนในวันที่่ห่างกัน ซึ่งถ้าอ่านมาถีงตรงนี้และคุณย้อนกลับไปฟังอีกที คุณอาจจะได้คำตอบของตัวคุณอีกครั้งว่าคุณมีความรู้สึกวง BNK48 เหมือนวันแรกที่เรารักกันเหมือนเดิมหรือเปล่า

 

Ammy The Bottom Blues: ในวันที่ศิลปินยืนข้างประชาชน

เรื่อง: ปิยวัฒน์ แสนเงินชัย

 

“คิดแบบเบสิคเลยนะว่า การที่น้องๆ ออกมาเรียกร้องกัน เขากล้าหาญนะ อยากช่วยน้องๆ แค่นั้นเลย เรากับเพื่อนก็คุยกันว่า เฮ้ย มันเป็นพลังงานบริสุทธิ์ แล้วเขาต้องการการซัพพอร์ทอะไรไหม ถึงเราทำได้มากกว่าการพูด ก็คือการลงมือทำ หรือลงมือช่วยเหลือเขาอย่างจริงจัง”

“ข้อแรกเลยนะครับ อย่าเข้าใจผิดว่านี่ไม่ใช่ม็อบของนักศึกษา นี่คือม็อบของประชาชน ถ้าพูดจริงๆ พูดตรงๆ มีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มนักศึกษา เยาวชน ประชาชน นักคิด นักเขียน ไม่ได้แค่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เหมือนการเรียกร้องในทุกครั้ง คือการรวมกัน”

“การเมืองดี มันจะดียังไงครับ ที่แน่ๆมันดีกว่าตอนนี้แน่นอน ผมเชื่อว่า ถ้านี่เป็นครอบครัว เราไม่ควรจะมีหัวหน้าครอบครัวหรือคนที่ดูแลความปลอดภัย เป็นคนที่ปล้นภาษีของเราเอง การเมืองที่ดีคืออะไร ผมอยากให้การใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชน เป็นไปอย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วย เป็นไปอย่างถูกต้อง มีการพัฒนา กระจายความเจริญ กระจายการศึกษา ได้อย่างทั่วถึง ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม ทุกคนมีอิสระภาพในการพูด การคิด ทุกอย่างมันจะตามมา”

เราได้สนทนาสั้นๆ กับแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues ถึงการเป็นหนึ่งในศิลปิน ที่ได้ไปร่วมการชุมนมของคณะประชาชนปลดแอก

ถึงแม้ว่าเราจะได้สนทนากับปลายสายเพียงสี่นาทีเศษ แต่เชื่อเราเถอะ คำตอบทั้งหมดถูกพูดแทนประชาชน ที่เขาเลือกจะยืนอยู่เคียงข้างแล้ว

Contributors

Behind The Scene Editorial Staff

กองบรรณาธิการ Behind The Scene: ทุกเบื้องหน้า มีเบื้องหลัง