Small Narrative คือคอนเทนต์ย่อยบนแฟนเพจ Behind The Scene ที่เล่าเรื่อเล็กน้อยแต่มีความน่าสนใจ ซึ่งนับแต่เปิดตัว Behind The Scene: Digital Publishing ที่ว่าด้วยเบื้องหลังของทุกวงการเท่าที่เป็นไปได้ จรดถึงการมาของ behindthescene.co เรานำเสนอคอนเทนต์ย่อยในหลากหลายประเด็นตั้งแต่เรื่องเรียบง่ายไปจนถึงประเด็นใหญ่ทางสังคมที่ชวนขบคิด เรารวบรวม 4 เนื้อหาเด่นตลอดเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมมาให้คุณได้อ่านกันอีกครั้งในบทความนี้
มึงมาตบหน้ากูทำไม?-เมื่อเยาวชนขอไม่ประนีประนอมกับอำนาจนิยม
ทบทวนหมุดสำคัญของทวงสิทธิ์และลุกขึ้นสู้จากคลิปในตำนาน เรื่อง: สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์
คลิปวิดีโอขนาดไม่เกินหนึ่งนาทีที่ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์ เหตุการณ์มีแค่หญิงสูงวัยเดินชี้หน้าพร้อมตะโกน “และอีนังนี่ ด่ากูสาระแน” ก่อนจะฟาดมือลงไปบนหน้าของเด็กชายตัวใหญ่ที่ยืนพอยท์ขาเท้าสะเอวอยู่เบื้องหน้าเธอ ก่อนที่ทุกอย่างจะพลิกเมื่อเด็กคนนั้นไม่สยบยอมให้กับความรุนแรงที่เธอเพิ่งประสบ เธอเอาคืนด้วยการตบหน้า จิกหัวเธอและโยนเธอลงไปข้างม้านั่ง ก่อนจะตะโกนสุดเสียงให้ผู้คนแถวนั้นได้ยิน “มึงมาตบหน้ากูทำไม” คลิปกลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน มีกระแสถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของเด็กคนนี้และหญิงสูงวัยในคลิปในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงเกิดคำถามมากมายถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะฝั่งไหน และแน่นอน-เสียงแตกออกเป็นสองฝั่ง ทั้งฝ่ายที่ต่อว่าเด็กชายถึงพฤติกรรมรุนแรง ไม่เหมาะสม แต่อีกฝั่งก็ไม่เห็นด้วยและรุมประนามการทำร้ายร่างกายเด็กมัธยมคนนี้ เหตุการณ์จบแบบไหนเราไม่ขอทบทวน แต่ถ้ามองมาถึงการพลวัตทางสังคมที่เราเห็นเด็กวัยรุ่นตั้งแต่ขาสั้นคอซองจนถึงนักล่าปริญญาที่ต่างแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และเชื่อในสิทธิ์เสียงที่เขาเลือกแสดงออกมาอย่างไม่ประนีประนอม ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่า เด็กเหล่านี้ต่างไม่เชื่อในอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย นับแต่กฎการตัดผม ใช้ไม้เรียวตีนักเรียน การแบ่งชนชั้นวรรณะของครูกับนักเรียนที่แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ หรือการรับน้องในมหาวิทยาลัย และกฎระเบียบที่ตอกย้ำความ “อาวุโส” ซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจนิยมของโรงเรียน เหล่านี้ต่างทำให้นักเรียนและนักศึกษาเริ่มลุกขึ้นมาต่อสู้กับความบูดเบี้ยวและรากฐานที่หยั่งลึกเกินกว่าจะถอนได้ง่ายๆ ของอำนาจนิยมในสังคมการศึกษา ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังค่านิยมบางอย่างในสังคมไทย การโตมากับเทคโนโลยีและความศิวิไลซ์ของเด็กเจน Z จรด C ที่เชื่อในข้อเท็จจริง ประกอบกับการค้นคว้าหาความรู้เพื่อฉีกค่านิยมที่ใครก็ตามสร้างไว้ อีกทั้งการหมั่นตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงความไฝ่รู้ของ “เด็กสมัยนี้” ที่พวกเขาพร้อมเติบโตกลายไปเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ดังนั้น นอกจากสิ่งที่เด็กๆ หลายกลุ่มกำลังต่อสู้อยู่ อำนาจนิยมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่กำลังต่อสู้และเลือกจะ “เปลี่ยน” แบบประณีประนอม และพยายามพูดเพื่อให้ผู้ใหญ่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ อาจจะจับแพะชนแกะนิดนึงที่เราเลือกคลิปเด็กตบอาม่ามาเป็นกรณีตัวอย่าง แต่เพราะโลกทวีตภพใช้กรณีนี้เป็นสัญลักษณ์ต่อการไม่สยบยอมอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นเหมือนตัวแทนของ “เด็กสมัยนี้” ที่กำลังต่อสู้กับความเชื่อและค่านิยมบางประการ ซึ่งชาวทวิตเตอร์กดรีทวีตให้กับความคิดเห็นลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก เราก็ขอกดรีทวีต เอ้ย เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบในลักษณะนี้เช่นกัน
Spin To Change: ปั่นเพื่อเปลี่ยน ตี้เจียงใหม่เจ้า
เรื่อง:โอบเอื้อ กันธิยะ
เชียงใหม่ในยามเหมันต์มักจะคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวันอาทิตย์ แต่ช่วงนี้ที่ไม่ใช่เพียงเย็นวันอาทิตย์ที่ถนนคนเดินใจกลางเมืองเก่าเท่านั้น เช้าวันอาทิตย์บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ก็คึกคักเช่นกัน เพราะผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกทิศของเมืองต่างนำจักรยานของตัวเองมาร่วมในเทศกาล “Chiang Mai Go Green Festival ปั่นเพื่อเปลี่ยน” ปัญหาฝุ่นควันและ PM 2.5 ที่เชียงใหม่ได้รับผลกระทบทุกปี ไม่ใช่เกิดด้วยเพียงเหตุผลของการเผาไหม้จากการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากมลพิษจากเครื่องยนต์ของพาหนะต่าง ๆ ด้วย การสัญจรด้วยจักรยาน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสัญจรแบบคาร์บอนต่ำ ช่วยลดแหล่งมลพิษทางอากาศ สร้างความตระหนักถึงความจำกัดของนิเวศแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน และผลจากอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ระบายฝุ่นและอากาศเสียได้น้อยลงทุกปี เทศกาลนี้จัดขึ้นโดยสภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมกับพันธมิตร ชวนทุกคนมาปั่นและเดินเพื่อลดมลพิษในเขตเมืองเก่า และส่งเสียงว่าชาวเชียงใหม่ ต้องการอากาศสะอาด และมุ่งหวังให้เทศกาลนี้เป็นกลไกสร้างกระแสการเดินทางคาร์บอนต่ำ และเปิดพื้นที่ 12 ชุมชนในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ ให้ผู้คนได้มีโอกาสค้นพบของดีของชุมชนเวียงเก่า ใช้ความช้าช่วยให้เราสัมผัสบรรยากาศของเมืองที่ขึ้นชื่อว่า SLOW LIFE ด้วยจักรยาน หากใครสนใจร่วมกิจกรรมสามารถนำจักรยานของท่านมาเองได้เลย แต่หากใครไม่มีจักรยาน Anywheel มีจักรยานบริการที่หน้างานด้วยนะ พบกันทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.00 น. ณ ลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตั้งแต่วันอาทิตย์นี้ ถึง 31 มกราคม 2564 หรือติดตตามข่าวสารได้จากเพจปั่นเพื่อเปลี่ยน ตี้เจียงใหม่เจ้า
ความเจ็บปวดของการเติบโต, บทสนทนาขนาดสั้นที่บอกเราว่า เด็กจบใหม่ก็เจ็บได้เมื่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโบยตีพวกเขา
เรื่อง: รอย คุณะดิลก
เพราะเหตุใดการเติบโตจึงเจ็บปวด ? สิ่งหนึ่งที่เด็กน้อยหลายๆ คนมีความฝันร่วมกันคือ การได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ไวๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่คนเป็นผู้ใหญ่กว่ากำหนด หรือเพื่อจะได้ทำงานและหาเงินด้วยตนเองได้ไวๆ จะได้นำเงินมาซื้อทุกสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่ต้องแบมือขอใคร หารู้ไม่ว่า…ยิ่งเติบโต ยิ่งต้องรับผิดชอบ ยิ่งเจ็บปวด ผมได้นัดเจอกับรุ่นน้องสมัยเรียนมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง หลังจากไม่ได้นั่งคุยเรื่องชีวิตกันดีๆ มาสักระยะ โดยขอเรียกน้องคนนี้สั้น ๆ ว่า “ไอซ์” ไอซ์เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปี 2556 ก่อนการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และจบการศึกษาในปี 2560 แน่นอนว่าความเคว้งคว้างหลังการเรียนจบแล้วต้องเริ่มต้นใช้ชีวิตด้วยตนเองนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาจบใหม่แทบทุกคน ไอซ์จึงใช้เวลาพัก 1 เดือนเพื่อคิดไตร่ตรองชีวิตและรวบรวมสติเพื่อสู้ต่อไป ความเจ็บปวดที่ชาวเชียงใหม่ทราบกันดีก็คือ ฐานเงินเดือนสำหรับการใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่นั้นค่อนข้างต่ำหากเทียบกับกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ค่าครองชีพแทบไม่ต่างกันมาก เมื่อหางานที่ยังชอบไม่ได้ ไอซ์จึงเลือกเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สต็อกของร้านขายปลีกขนาดใหญ่ร้านหนึ่ง แต่ก็ทำได้เพียงสามวันก็ได้ขอลาออกจากงาน เนื่องจากรู้สึกว่างานหนักเกินไปทั้งภาระงานและผลต่อร่างกายในระยะยาว ไอซ์เริ่มต้นงานที่ 2 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เขาทำงานนี้ได้เพียง 6 เดือนก็ลาออก เนื่องจากรู้สึกเบื่อเพราะวันๆ แทบไม่ได้ทำอะไร รู้เขาสึกเหมือนนั่งหายใจทิ้งเพื่อและเงินเดือนในแต่ละเดือน ประกอบการสามารถสอบเข้าไปรษณีย์ไทยได้ จึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อเริ่มต้นต่อสู้ใหม่อีกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มเป็นพนักงานไปรษณีย์ ทุกคนต้องได้รับการเรียนในโรงเรียนไปรษณีย์ก่อนเป็นเวลาหนึ่งปี ที่แห่งนี้เองที่ไอซ์รู้สึกว่า สิ่งที่เรียนช่างต่างกับในมหาวิทยาลัยที่เคยเรียนมาเป็นอย่างยิ่ง ในมหาวิทยาลัยคุณสามารถตั้งคำถามในสิ่งที่เรียนได้ สามารถค้นคว้าหาความรู้อะไรได้ แต่ในสถาบันแห่งนี้ ไอซ์รู้สึกเหมือนโดนจำกัดกรอบทุกอย่าง เนื้อหาที่เรียนหลักๆ ก็คือการปลูกฝังให้รักองค์กรโดยแทบไม่ได้เรียนรู้เรื่องวิธีการทำงานเลย กว่าจะได้เรียนรู้จริง ๆ ก็ช่วงฝึกงานและช่วงที่ต้องทำงานจริง ๆ สิ่งที่ไอซ์คาดหวังกับงานไปรษณีย์ก็คือ ความมั่นคงจากเงินเดือนที่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ทำงาน โดยไม่ได้สนใจเรื่องสวัสดิการต่างๆ เนื่องจากไอซ์เชื่อว่าการทำประกันชีวิตกับบริษัทภายนอกจะมอบสิ่งที่ดีกว่า แต่แล้วหลังจากทำงานมาได้ 1 ปี 1 เดือน ไอซ์ก็ตัดสินยื่นเรื่องขอลาออก โดยต้องเสียเงินจำนวนเกือบหนึ่งแสนบาทเพื่อเป็นค่าปรับจากการเรียนในสถาบันแล้วขอลาออกก่อนทำงานครบ 3 ปี การลาออกครั้งนี้เกิดจากรู้สึกว่าฐานเงินเดือนโตช้า งานเป็นลักษณะ Routine ที่ต้องทำซ้ำๆ ทุกวัน โดยที่งานแบบนี้ใครทำก็ได้ รู้สึกเหมือนใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อผมถามถึงสาเหตุที่ไอซ์กล้าเอาเงินแลก เขาได้กล่าวว่า “เงินอ่ะ มันหาเมื่อไหร่ก็ได้พี่ แต่เวลาผมหาเพิ่มไม่ได้แล้ว ผมไม่อยากใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ ผมอายุใกล้สามสิบขึ้นทุกวัน ๆ ถ้าผมปล่อยให้เวลายิ่งผ่านไปโอกาสหางานใหม่ผมยิ่งน้อยลง โอกาสที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ก็น้อยลงเรื่อย” ไอซ์ต้องการกลับมาใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคงเป็นความต้องการของนักศึกษาที่เรียนจบจากเชียงใหม่หลายๆ คน เขามองว่าการใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น เงินเดือนเพียง 15,000 บาทไม่เพียงพอแก่การมีชีวิตที่ดีได้ เมื่อหักค่าที่พักอาศัยและค่าเดินทางในแต่ละเดือนไปแล้วจะเหลือเงินค่ากินอยู่แค่พอประมาณ แทบไม่มีงบเหลือเพื่อนำไปพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ ในขณะเดียวกันการใช้ชีวิตในเชียงใหม่ที่มีบ้าน มีรถ พร้อมอยู่แล้วเงิน 15,000 บาท กลับทำให้ไอซ์มีชีวิตอยู่ในเชียงใหม่ได้ดีกว่า โดยไม่ต้องมาเหนื่อยกับการเดินทางในแต่ละวันเท่ากรุงเทพฯด้วย ไอซ์วางแผนเรื่องงานว่าอยากลองเริ่มต้นทำสิ่งที่ชอบเป็นอาชีพคือ การถ่ายภาพและการทำอาหาร เพราะเขาคิดว่าการได้ทำสิ่งที่ชอบทุกวันจะมีความสุข โดยเทียบกับสิ่งที่ต้องเจออยู่ทุกวันในขณะนี้ ผมตั้งคำถามกับไอซ์ว่า ถ้าหากวันหนึ่งเพราะการที่เรานำสิ่งที่เราชอบมาทำเป็นงาน มันทำให้เราเบื่อทั้งงานและหมดไฟในสิ่งที่ชอบไปด้วยจะทำอย่างไร? ไอซ์มีความคิดเห็นว่า “ไอ้เรื่องทำแล้วหมดไฟหรือเจอจุดอิ่มตัวผมคิดว่าทุกงานต้องเจอเหมือนกันหมด ถ้าหมดไฟอย่างน้อยก็ถือว่าสิ่งนี้เราเลือกจะทำมันเอง ต้องลองสู้ดู ตอนแรกที่เราเริ่มทำอาจจะลำบากแต่ถ้างานของเรามันมีคุณค่าจริงๆ เอาจริงๆ ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรนะ แต่ผมเชื่อว่ามันจะดีกว่าที่ต้องทนทำสิ่งที่ไม่ชอบทุกวันแน่นอน” การต่อสู้ครั้งใหม่ของไอซ์จะเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2564 สุดท้ายนี้ไอซ์ฝากบอกแก่ทุกท่านที่กำลังต่อสู้อยู่ว่าให้สู้ต่อไป ขอให้ทุกท่านมีพลังและสติปัญญาที่เฉียบคมพร้อมเผชิญหน้ากับทุกปัญหาที่จะซัดกระแทกเข้ามาเหมือนเกลียวคลื่นของท้องทะเลลึก โดยหวังว่าทุกท่านจะได้พบความสุข ความสำเร็จในเร็ววัน
จาก #นักเรียนเลว สู่ #นักศึกษาแพทย์เลว ศีลธรมอันกลับกลอกในสังคมหน้าบาง
เรื่อง: วัศวีร์ ฉิมพลีย์
จากกระแสการเคลื่อนไหวของม๊อบนักเรียนสู่ การ Speak Out ของนักศึกษาแพทย์ต่อระบอบอำนาจนิยมของการศึกษาที่ผู้มีอำนาจนิยามคุณค่าและความหมายของคำว่า ‘ดี’ ในบรรดาปัญหามากมายก่ายกองของระบบการศึกษาไทย นอกจากเรื่องหลักสูตรและเนื้อหาของการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพทั้ งยังไม่ตอบโจทย์ของผู้เรียนจนถึงการไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นหาถึงตัวตนหรือความสนใจของตนเองผ่านการศึกษา หรือไม่ก็มีทางเลือกน้อยเกินที่จะเลือกทางเดินของตนในระบบการศึกษาเช่นนี้ ทำให้การศึกษาไม่ใช่เครื่องมือที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้เรียน กลับกันการศึกษาต่างหากที่ทำการครอบงำผู้เรียนเอาไว้ให้ดำเนินไปตามทิศทางที่การศึกษาที่ผู้มีอำนาจตีกรอบเอาไว้ ผู้สำเร็จการศึกษาจึงกลายเป็นเพียงผลผลิตของสถาบันการศึกษาที่หล่อหลอมให้ผู้เรียนเป็นไปตามที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจต้องการ การศึกษาโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อที่หลอกล่อให้ปัจเจกเข้ามาถูกทำให้กลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่เรียกว่า แรงงานเข้าสู่ระบบตลาด โดยที่มีทั้งวัตุดิบที่ดีและวัตถุดิบที่ ’เลว’ วัตถุดิบที่ดีก็จะได้รับการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าชั้นดี ส่วนวัตถุดิบที่ ‘เลว’ ก็จะตกหล่นไปในตระแกรงที่คอยทำหน้าที่คัดแยกผ่านการตรวจสอบและจัดระดับการวัดผล วัตถุดิบชั้น ‘เลว’ ที่หลุดลอดผ่านช่องว่างของระบบวัดคะแนนนั้นไม่ได้รับการรองรับและอุ้มชูโดยสถาบันการศึกษา ด้วยเหตุที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นวัตถุดิบที่ไม่สามารถถูกทำให้แปรเปลี่ยนให้เป็นสินค้าชั้นดีได้ ทำให้สถาบันการศึกษาเหล่านั้นเสื่อมเสียมาตรฐานในการเป็นสถาบันที่จะส่งออกแรงงานชั้นดีให้กับภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรภาครัฐ วัตถุดิบชั้น ‘เลว’ เหล่านั้นจึงไม่มีทางเลือกมากนักที่นำพาตัวเองไปสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกทำให้กลายเป็นเป้าหมายในวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม ปัจเจกเหล่านั้นจึงแทบจะไม่มีความฝันอย่างอื่น นอกเหนือไปจากการกลายเป็นแรงงานให้กับรัฐและเอกชน ดังนั้นคำว่า ‘ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ’ ก็สะท้อนถึงปัญหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว หมายถึงการที่สถาบันการศึกษามิได้จัดวางตนเองในตำแหน่งแห่งที่ในการเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทาทในการขับเคลื่อนประเทศแต่ลดบทบาทของตนเองเป็นเพียงโรงงานผลิตแรงงานแบบสำเร็จรูปที่สามารถฉีกซองแล้วใช้งานได้เลย แล้วสิ่งใดที่เป็นตัวตัดสินว่าปัจเจกหนึ่งนั้นเป็นวัตถุดิบชั้น ‘เลว’ ในระบอบการศึกษา แน่นอนที่จริยศาสตร์จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตีความคำว่า ‘ดี’ ‘เลว’ ในระบบศีลธรรมทางการศึกษาที่มีเพียงผู้ที่มีอำนาจเท่านั้นที่จะสามารถนิยามได้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี และสิ่งใดเป็นสิ่งที่เลว หลักศีลธรรมของผู้มีอำนาจในระบบการศึกษานั้นก็สะท้อนออกมาผ่านระเบียบวินัย และหลักการปฏิบัติภายในสถานศึกษาที่ออกมากำกับร่างกายและระบอบอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกเอาไว้ไม่ให้ออกไปจากแนวทางของความ ‘ดี’ ที่เหล่าผู้ที่มีอำนาจนั้นได้ใช้โลกทัศน์ของตนวางทับหลักการ และขีดเขียนให้มันกลายเป็นหลักศีลธรรมทางสังคม ผู้มีอำนาจเหล่านั้นมิได้มีอำนาจเหนือการกำหนดความรู้ของปัจเจกเพียงอย่างเดียว แต่กลับตีความหมายของการมีอำนาจในการกำหนดคุณค่าทางศีลธรรมไปมีอำนาจเหนือร่างกายของปัจเจกอีกด้วย กลายเป็นว่าผู้ที่ยึดถือหลักศีลธรรมนั้นกระทำตัวเป็นดังผู้ที่มีอาญาสิทธิ์และใบอนุญาติในการละเมิดสิทธิบนเรือนร่างและคุกคามเรือนร่างที่อยู่นอกกรอบศีลธรรมที่ถูกทำให้เป็นเรือนร่างที่ต่ำกว่าสมควรที่จะถูกอบรมสั่งสอนด้วยวิธีการใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าสมควรเพื่อพัฒนาให้ร่างกายเหล่านั้นกลายเป็นร่างที่ที่ถูกที่ควรตามคติของพวกเขา จากสภาวะที่ปัจเจกถูกทาทับไปด้วยคุณค่าของความเป็นอื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เจกเหล่านั้นจะค้นพบความเป็นตัวเองผ่านกรอบศีลธรรมของความเป็นอื่นที่มองความแตกต่างเป็นความเลวทราม ในสังคมที่มองโลกเป็นสองขั้วถ้าไม่เป็นขาวก็ดำพวกเขาที่ถูกศีลธรรมของผู้ที่มีอำนาจกดทับนอกจากจะกลายเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักศีลธรรมของ ‘คนดี’เหล่านั้นโดยการกลายเป็น ‘คนเลว’ ในสายตาของผู้ที่มีอำนาจ คำถามคือพวกเขาเป็น ‘คนเลว’ โดยสารถะหรือไม่ คำตอบก็คือไม่พวกเขาเป็นเพียง ‘คนเลว’ หากคุณมองผ่านสายตาของหลักศีลธรรมของสังคมที่พยายามบงการพวกเขาอยู่ ในเมื่อสังคมไทยไม่มีพื้นที่กลางๆ สีเทาๆ ให้กับจุดยืนที่พวกเขาดำรงอยู่ การออกมาตอบโต้โดยการจัดวางตำแหน่งของตนเองบนพื้นที่ตรงกันข้ามกับความดีที่เขามองว่าเป็นความดีที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการหรือความเป็นสากลเป็นเพียงความพึงพอใจของผู้ที่มีอำนาจที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับเป็นภาชนะที่จะต้องบรรจุเจตจำนงของผู้ที่มีอำนาจเท่านั้นและผลิตซ้ำอุดมการณ์นั้นส่งต่อไปเพื่อเป็นรากฐานของสังคมที่ค้ำจุนผู้ที่มีอำนาจไว้ ดังนั้น ชุดอุดมการณ์ศีลธรรมแบบคนดีมันจึงถูกผลิตซ้ำขึ้นมาและส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นผ่านพิธีกรรมการศึกษาที่ทำการหล่อหลอมให้ผู้ที่ผ่านพิธีกรรมนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตซ้ำและส่งต่อชุดคุณค่าทางศีลธรรมนี้ ซึ่งรูปแบบของพิธีกรรมนี้มิได้จำกัดแต่พื้นที่ทางความรู้เพียงเท่านั้น หากยังรุกล้ำเข้าไปควบคุมระบบอารมณ์ความรู้สึกและเรือนร่างของปัจเจกอีกด้วย ดังนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของร่างกายนี้คือผู้ที่มีอำนาจ และด้วยสำนึกนี้การที่ผู้มีอำนาจจะทำการอันใดเพื่อเป็นการทำให้ร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบศีลธรรมนี้เป็นเรื่องปกติและสามารถยอมรับได้ แม้การกระทำนั้นจำเป็นที่จะต้องละเมิดหลักศีลธรรมอื่นๆ ก็ตาม ในกรอบของศีลธรรมการศึกษานี้ ไม่มีการจำกัดขอบเขตในการบังคับใช้อำนาจ เป็นเพียงความพึ่งพอใจขอผู้ที่มีอำนาจที่เห็น ‘ตามสมควรแก่เหตุ’ เช่นการตัดผมนักเรียนที่ผิดระเบียบทิ้งโดยปราศจากการยินยอมของเจ้าตัว การใช้ความรุนแรงทางกายภาพอย่างการเฆี่ยนตี และทางจิตใจอย่างการข่มขู่คุกคาม ดูถูกเหยียดหยามนักเรียนนักศึกษาที่ไม่สามารถตอบสนองได้ดั่งใจผู้สอน หนำซ้ำการใช้อำนาจเข้าคุกคามกลับยิ่งเข้มข้นขึ้นตามลับดับชั้นของการศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียนแพทย์ที่มีความเข้มข้นของการใช้อำนาจสูงตามความจริงจังของเนื้อหาหารเรียนการสอน การมาของกระแสเคลื่อนไหวภายใต้ Hashtag #นักศึกษาแพทย์เลว ได้เปิดเผยเบื้องหลังของพิธีกรรมการศึกษาของโรงเรียนแพทย์ที่กระทำต่อนักศึกษาภายใต้สังกัดของตน จนถึงการปิดข่าวและบิดเบือนข้อมูลปัญหาทางสุขภาพจิต ผลักให้เป็นเพียงปัญหาในระดับปัจเจกที่ทางสถาบันการศึกษาและบุคลากรไม่ได้มีส่วนในการรับผิดชอบ และลอยนวลพ้นผิดไปเพื่อ ‘ปกป้องชื่อเสียงของสถาบัน’ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้กระทำผิดไม่จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบผลของการกระทำนั้น ยิ่งสะท้อนถึงศักดิ์ศรีที่เปราะบางของผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรที่โยนความผิดไปให้กับเหยื่อของการใช้อำนาจนั้นแทน จากการพังทลายลงของเพดานทางความคิดที่อุปถัมภ์ค้ำชูระบอบนี้ไว้ผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา เสียงตะโกนที่หมดความอดทนอดกลั้นต่อระบอบศีลธรรมการศึกษาก็ไปสะกิดให้โดมิโนอีกตัวลัมลงไปกระแทกกำแพงห้องของผู้ที่มีอำนาจในระบบการศึกษาที่เคยมั่นคงมานาน จนเกิดรอยร้าวของคำถามที่จะคอยขัดแข้งขัดขาเหล่าผู้ที่มีอำนาจ และเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตแก่ศีลธรรมในระบบการศึกษาที่ยึดมั่นกันมานานว่า คุณค่านี้จะสามารถมอบความเป็นมนุษย์ให้แก่นักเรียนนักศึกษาได้หรือไม่ หรือเพียงแค่ต้องการให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นสินค้าที่ตรายี่ห้อของสถาบันการศึกษาไว้ และมีหลักศีลธรรมการศึกษาเป็นฉลากไว้ให้อ่านก่อนที่จะใช้งาน |