หนัง-เกม-การเมือง | Small Narrative ประจำเดือนกันยายน – ตุลาคม 2563

Small Narrative คือคอนเทนต์ย่อยบนแฟนเพจ Behind The Scene ที่เล่าเรื่อเล็กน้อยแต่มีความน่าสนใจ ซึ่งนับแต่เปิดตัว Behind The Scene: Digital Publishing ที่ว่าด้วยเบื้องหลังของทุกวงการเท่าที่เป็นไปได้ จรดถึงการมาของ behindthescene.co เรานำเสนอคอนเทนต์ย่อยในหลากหลายประเด็นตั้งแต่เรื่องเรียบง่ายไปจนถึงประเด็นใหญ่ทางสังคมที่ชวนขบคิด

เรารวบรวม 4 เนื้อหาเด่นตลอดเดือนกันยายนและตุลาคมมาให้คุณได้อ่านกันอีกครั้งในบทความนี้

 

ฉลาดเกมส์โกง-เมื่อตอนจบแบบทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว อาจไม่ตอบโจทย์ผู้ชมที่หมดศรัทธาในความยุติธรรม
เรื่อง: สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

 

เราน่าจะเปรียบ “ฉลาดเกมส์โกง” ละครโทรทัศน์สุดระทึกที่ว่าด้วยเรื่องการโกงข้อสอบของแบงค์ ลิน พัฒน์ เกรซ สี่นักเรียนแห่งโรงเรียนกรุงเทพทวีปัญญาเพื่อสองจุดประสงค์คือเงินนับสิบล้าน และการต่อสู้กับระบบการศึกษาที่สุดแสนเน่าหนอน เหมือนกับการทานคอร์สอาหารที่เสิร์ฟสลัด เมนูเรียกน้ำย่อยและอาหารเมนคอร์สอย่างมีลูกเล่นแบบอาหาร Innovative หากแต่ของหวานที่เสิร์ฟปิดท้าย กลับเป็นกล้วยบวชชีธรรมดาๆ ที่มีรสชาติอร่อย แต่กลับขัดอารมณ์และธีมของชุดอาหารทั้งหมด

ทำให้หลายคนคงเซ็งกับการทานอาหารคอร์สนี้ ที่ควรเสิร์ฟเมนูที่คู่ควร แต่บางคนกลับมองว่า กล้วยบวชชีที่ปิดท้ายมื้ออาหาร กลับสร้างความลงตัว ให้อาหารมื้อพิเศษเต็มไปด้วยความอร่อยที่น่าพึงพอใจด้วยฝีมือของพ่อครัว

จากการต่อขยายตอนจบของภาพยนตร์ที่แบงก์ชวนลินเข้าแผนใหญ่ในการโกงข้อสอบ GATT และ PATT (อ้างอิงชื่อเฉพาะจากละคร) ซึ่งเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับชาติของไทย ที่จะทำเงินได้หลักสิบล้าน โดยมีพัฒน์และเกรซเป็นผู้สมคบคิดในโปรเจคต์นี้ มหากาพย์ขโมยข้อสอบจากโรงพิมพ์ในชั่วข้ามคืนที่ระทึก บีบคั้น และกดดันจากการแตกคอกันเองของเพื่อนสี่คนจนนำไปสู่การถอนตัวเพื่อสารภาพผิดของลิน ทำให้สามทหารเสือทั้ง พัฒน์ เกรซ แบงค์ ต้องถูกดำเนินคดีในที่สุด อำนาจเงินทำให้พัฒน์รอดตัวไปสบายๆ เกรซและลินก็ยังถือว่าลอยตัว แต่กับแบงค์ เขาต้องเอาอนาคตที่แทบไม่เหลือไปแลกในคุกเยาวชน

แบงค์ก็ยังเป็นเหยื่อในเรื่องนี้อยู่ดี เมื่อเทียบกับอีกสามคนที่อยู่ในแผนเดียวกันนี้

นอกจากความพยายามในการทำให้เราเห็นว่าลิน นางเอกของเรื่อง สำนึกผิดกับสิ่งที่เธอทำ และต้องการทำให้ถูกต้อง จะเด่นชัดขนาดไหน แต่ถ้าย้อนกลับไปดูสิ่งที่เธอทำกับแบงค์ ทั้งชวนมาโกงสอบ STIC จนแบงค์เสียอนาคตไปแล้วครั้งหนึ่ง มันช่างย้อนแย้งสิ้นดี

ยิ่งผู้ชมส่วนหนึ่งมองว่า มันอาจไม่ใช่การกลับตัวกลับใจของคนทำผิด แต่เป็นแค่การเอาตัวรอดและปัดสวะให้พ้นตัวไปเท่านั้นหรือไม่

หรือแบงค์ที่เชื่อในความถูกต้องจนลุกมาจัดการสิ่งที่ผิดให้ถูก ก็ถูกสังคมลงโทษ พอแบงค์หันเข้าด้านมืดที่จะโกงและโกงเท่านั้น โชคก็ไม่เข้าข้าง ทำให้แบงค์ต้องพบกับความระกำจากการโกงที่เขาทำ

ไม่รู้ว่าเขาโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ แต่นั่นก็พิสูจน์อีกค่านิยมของสังคมที่บูดเบี้ยวนี้ว่า ทำดี ไม่ได้ดี แต่ถ้าทำไม่ดี คุณก็ไม่ได้ดีเช่นกัน

และเมื่อพูดถึงฉากจบของเรื่อง ที่ทำให้ตัวละครรู้สึกผิดชอบชั่วดี ว่าการโกงไม่ใช่สิ่งที่น่าพิสมัย ต่อให้มีอะไรล่อตาล่อใจเท่าไหร่ แถมแผนการใหม่ที่จะโค่นล้มระบบด้วยวิธีที่ถูกต้องตามขนบ กลับทำให้ผู้ชมส่วนหนึ่งแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดมันถึงการเลือกจบแบบ “ตกม้าตาย” ที่แบนแสนแบน ตามกรอบค่านิยมที่สังคมไทยขีดเขียนไว้อย่างไม่สมเหตุสมผล

แต่ตอนจบแบบนี้สร้างความประทับใจและความ “กล้า” ที่จะสะท้อนสังคมของผู้ผลิตผ่านบทสนทนาของลินและแบงค์ ซึ่งลินเสนอให้แบงค์เรียนนิติศาสตร์เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เธอที่จะเรียนครู สามารถช่วยแบงค์ในการเปลี่ยนสังคม เหมือนที่เธอบอกแบงค์ในระหว่างเยี่ยมญาติว่า

“รุ่นเราต้องไม่มีการโกงเกิดขึ้นอีกแล้ว”

เหมือนจะเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของคนหนุ่มสาว แต่หลายคนกลับไม่เชื่อในมายาคติที่ละครสร้างขึ้น ท่ามกลางสังคมที่โหดร้ายโสมมเสียเหลือเกิน

มองกันในมุมการตลาด ตอนจบแบบกึ่งยิงกึ่งผ่านแบบนี้ สร้างกระแสให้ผู้คนแสดงความเห็นและถกเถียงกันเป็นวงกว้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นว่าผู้ผลิตทำถูกแน่ๆ คือ

สื่อต้องชี้นำสังคมให้เห็นว่าอะไรถูกต้อง คู่ควร ดีงาม ถึงแม้คนในสังคมจะไม่เชื่อภาพเหล่านั้นเลยก็ตามที

 

Vitamin D from The Sun จากชุดจังหวะร้องรำทำเพลงใต้คณะของกลุ่มเพื่อนสนิท สู่การทำเพลงด้วยความสุขแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เรื่อง: สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

 

เรื่องมันเริ่มจากที่เพื่อนคนหนึ่งชักชวนเพื่อนอีกคนหนึ่ง ไปถึงเพื่อนอีกคนหนึ่ง ลากยาวไปถึงเพื่อนหนึ่ง นำพาเพื่อนอีกคนหนึ่ง และเห็นเพื่อนอีกคนหนึ่งว๊ากแบบศิลปินร็อกต่อหน้าทุกคนในวันรับน้องให้มาเข้าชมรมดนตรีคณะฯ และกลายเป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาในห้องซ้อมของชมรมมากที่สุด และสุดท้ายก็รวมวงกันกลายเป็นวงดนตรีที่ทำเพลงกันแบบกิจจะลักษณะ

ถ้าเล่าเรื่องจุดกำเนิดแบบกวนๆ ของคนกลุ่มนี้ แบบที่เราคุ้นเคยและเห็นการเติบโตของพวกเขา น่าจะได้แบบนี้

Vitamin D from The Sun คือการเดินทางบนเส้นทางสายดนตรีของเทพ-ร้องนำ, โฟล์ก-กีตาร์, ซัง-กีตาร์, ก้อง-เบส, ต้น(ยักษ์)-มือกลอง และพี-ทรัมเป็ต กลุ่มเพื่อนจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่รวมกลุ่มเล่นดนตรีกันด้วยแนวเพลงแบบอัลเทอเนทีฟร็อกขับกล่อมเพื่อน-พี่-น้อง ใต้คณะในวันรับขวัญบัณฑิต ก่อนจะพาตัวเองขึ้นสู่เทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัย ที่ในขณะนั้นพวกเขาคือวงๆ เดียวที่สมาชิกเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทั้งหมด ที่ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นเล่นต่อหน้าผู้ชมเรือนสามพันชีวิต

จนเมื่อทุกคนเล็งเห็นว่าวงมีศักยภาพที่จะไปต่อได้ ประกอบกับก้อง-สมาชิกในวง อยากลองทำเพลงส่งประกวดในโครงการ Good Hope Music Academy สมาชิกทุกคนจึงเห็นด้วยและตั้งใจทำเพลงส่งประกวดกันอย่างจริงจัง โดยมีปลายทางรางวัลคือ การได้นำเพลงไปโปรดิวซ์ด้วยฝีมือของรัฐ พิฆาตไพรี มือกีตาร์วง Tattoo Colour

นั่นจึงกลายเป็น “ล้า” ซิงเกิลแรกที่พูดถึงความเหนื่อยล้าอ่อนแรงในชีวิตของคนๆ หนึ่งที่อยากพาตัวเองไปพักผ่อนและหลีกหนีจากความไม่ยุติธรรมของโลก

น่าเสียดายที่เขาไม่ถูกรับเลือกในโครงการฯ ปีแรก จึงทำให้พวกเขาปล่อยซิงเกิลแรกลงอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองก่อนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 จนเขาลองส่งเพลงนี้เข้าไปในการประกวดเวทีเดิมอีกครั้ง คราวนี้พวกเขากลายเป็นผู้ชนะของโครงการ และได้ร่วมงานกับรัฐ-หนึ่งในคนดนตรีที่พวกเขานับถือ

ผ่านเวลามาหลายปี Vitamin D from The Sun มีเพลงออกมาหลายซิงเกิลทั้ง “เวลาที่ร่ำลา” เพลงที่พูดถึงความสัมพันธ์ของเทพและคุณพ่อของเขา โดยมีวัตถุดิบที่ดีมากที่ประกอบรวมให้เพลงนี้เศร้าได้ใจพวกเราคือ เสียงสนทนาจริงๆ ของเทพและพ่อ รวมถึงเรื่องราวที่แปลงจากความทรงจำที่เทพมีต่อพ่อของเขา

“ไปสบาย” เพลงจังหวะสบายๆ ประกอบด้วยเสียงทรัมเป็ตนวลๆ ว่าด้วยเรื่องของคนๆ หนึ่งที่ต้องการใครสักคนที่ทำให้เขาสบายใจที่จะอยู่ด้วย

และ “งอแง” ซิงเกิลใหม่ของพวกเขา กับเพลงเนื้อหาจากคนผิดหวังที่อะไรก็ไม่เป็นไปดั่งใจ แต่เขาแค่ขอพักแล้วอยากเริ่มใหม่

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากงานของคนกลุ่มนี้นอกจากเสียงทรัมเป็ตในเพลงของพวกเขาที่เป็นเอกลักษณ์เด่น เสียงร้องของนักร้องที่ร้องเพลงช้าก็เพราะ เพลงเศร้าก็คมบาดใจ เพลงสบายๆ ก็ลงตัว องค์ประกอบดนตรีทั้งหมดต่างร่วมกันหล่อหลอมให้เพลงแต่ละเพลงของ Vitamin D from The Sun กลายเป็นเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจนมากๆ

เพราะวัตถุดิบส่วนหนึ่งของการทำเพลงออกมาดีขนาดนี้ เราคิดว่า น้องๆ ของเราคงทำเพลงด้วยความสุข

ติดตามข่าวสารและเพลงใหม่ๆ ของพวกเขา ได้ที่แฟนเพจ Vitamin D from The Sun

 

Call of Duty: Modern Warfare | Where do we draw the line on this?
เรื่อง: วรัญชิต แสนใจวุฒิ

 

ความเชื่อที่ว่า ความรุนแรงจากเกมนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในชีวิตจริง ยังคงเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในความคิดของคนทั่วไป แต่ความเชื่อนี้เป็นจริงแค่ไหน ยังคงเป็นคำถามอยู่ แม้จะมีงานศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า คนที่เล่นเกมรุนแรงมีความก้าวร้าว หลังจากเล่นเกมชั่วระยะหนึ่ง แต่ยังไม่พบว่ามันนำไปสู่การกระทำที่รุนแรง

มีวิดีโอเกมหลายเกมจากหลากหลายผู้พัฒนาทีนำเสนอถึงปัญหาต่างในสังคมต่าๆง อีกทั้งยังทำให้เราสามารถเข้าใจได้ถึงบทบาทอื่นๆที่สะท้อนโลกแห่งความเป็นจริง เป็นพลังของวิดีโอเกม ที่ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ความบันเทิงแขนงหนึ่ง แต่ก็มีส่วนสำคัญที่หากเราจะเปิดใจรับสารที่ผู้พัฒนาต้องการจะสื่อออกมาผ่านผลงานที่ต่างต้องการที่จะเล่าเรื่องเพื่อให้ผู้เล่นได้รู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเอง

Call of Duty : Modern Warfare (2019) นั้นคือเกมจำลองการทหาร ที่ถูกนำมาตีความใหม่และสื่อสารประเด็น ‘ฉลาด’ อย่างแหลมคม ทีมงานผู้สร้างใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี ในการสอบถามหรือศึกษาด้านกองทัพ, วัฒนธรรม กับปรึกษานักข่าวที่เคยลงพื้นที่สงครามของจริงมาก่อน เพื่อสร้างเกมให้มีการนำเสนอสงครามความขัดแย้งมีความเที่ยงตรงมากที่สุด ความสมจริงสมจังที่มากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่สร้างภาพจำแบบซูเปอร์ฮีโร่แก่ผู้เล่น และในขณะที่เกมยิงทางการทหารนั้นมักที่จะเต็มไปด้วยความรุนแรงโดยเนื้อแท้ เกมนี้ยังตั้งคำถามต่อเกมเดินยิง และตั้งคำถามต่อเราในฐานะคนเล่นว่า เราชอบเล่นเกมแนวนี้เพราะอะไรกันแน่?

ด้วยการนำเสนอที่สมจริงและสนุกบวกกับการเล่าเรื่องที่เป็น “โลกสีเทา” อันมีเนื้อหาลึกซึ้ง ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครที่ได้ถูกโยนเข้าไปในความขัดแย้ง และพวกเขาต้องหาทางแก้ไขมันให้ได้ มันก็เหมือนกับรูปแบบความบันเทิงตัวอื่น ๆ ที่ได้มอบอารมณ์และแสดงความรู้สึกของมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ Modern Warfare ไม่ได้เป็นเกมที่มีเนื้อหาชวนหดหู่ หรือสิ้นหวัง ซึ่งเราขอเรียกมันว่า “ความสนุกแบบซีเรียส” แล้วกัน

โดยในเกมจะมีภารกิจหนึ่ง มันจะเป็นฉากที่เราจะได้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของหน่วย SAS ของอังกฤษในกรุงลอนดอนนอกเขตจัตุรัสพิคคาดิลลี่ ที่ได้เกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ขึ้นบนถนนที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน หน่วยข่าวกรองการทหารได้มีการตรวจพบผู้ต้องสงสัยในบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ หน่วย SAS ได้ส่งทีมลอบเร้นเข้ายังอพาร์ตเมนท์แห่งนั้นผ่านตรอกซอยที่อยู่ด้านหลังที่ปกคลุมไปด้วยความมืดจนทำให้เหล่าทหารสมาชิกทีม SAS จำต้องใช้กล้องมองกลางคืนในการสอดส่องหาเส้นทาง ซึ่งมันเหมือนกับฉากที่เราได้เห็นในภาพยนตร์อย่างเรื่อง Zero Dark Thirty

เราจะได้เข้าไปยังห้องครัวและทำการยิงสองผู้ต้องสงสัยผู้ชายร่วงลงไปทั้งคู่ และผู้หญิงอีกหนึ่งคน แล้วค่อยๆคืบคลานขึ้นไปชั้นสองและเข้าไปยังห้องห้องหนึ่ง โดยมีชายคนหนึ่งได้จับเอาผู้หญิงไว้เป็นตัวประกัน เรายิงชายคนนั้นทิ้ง แต่แทนที่หญิงสาวคนนั้นจะขอบคุณเราและเพื่อนร่วมทีม แต่เธอกลับเลือกที่หยิบปืนไรเฟิลที่กองอยู่บนพื้นขึ้นมาและเล็งมาหาเราและสมาชิกในหน่วย ก่อนที่เราจะปลิดชีพเธอทิ้ง เหล่าผู้ต้องสงสัยที่เหลือยังคงแอบซ่อนอยู่ตามเงามืด เราและเหล่าทีม SAS ไล่กำจัดเป้าหมายในแต่ละชั้นไปเรื่อยๆ มันมีเสียงของเด็กทารกที่ร้องไห้อยู่ในเปล มีอีกหนึ่งผู้ต้องสงสัยแอบอยู่ใต้เตียง แต่ดันเผยให้เห็นลำกล้องของกระบอกปืนให้เราได้เห็น สาดกระสุนทะลุเตียงนอนและผู้ต้องสงสัยก็ตายคาใต้เตียง เมื่อขึ้นไปถึงชั้นสุดท้าย ณ ห้องใต้หลังคา เราได้พบกับหญิงสาวที่ไม่ได้ติดอาวุธ แต่ทันทีเธอเคลื่อนไหว เราและตัวละครเอกก็ลั่นไกปืนใส่แทบจะทันที เพราะเธอ “กำลังจะจุดระเบิดตัวเอง” นั่นคือหนึ่งในสิ่งที่กัปตันไพรซ์ตัวเอกของเรื่องได้ได้พูดขึ้นมา

จากเนื้อเรื่องที่กล่าวไปข้างบนนี้มันทำให้เราที่ได้สวมบทบาทเป็นหน่วย SAS อาจจะรู้สึกเต็มไปด้วยความองอาจ เก่ง เด็ดเดี่ยว ไฮเทค กล้าหาญ ที่สามารถช่วยปลิดชีพผู้ก่อการร้าย ได้อย่างเรียบร้อย นั้นตั้งคำถามว่า เราจำเป็นต้องถามคำถาม และก็ไม่ทำการจับกุมใดๆ “คน” ที่เราได้ทำการสังหารไป ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง มันเต็มไปด้วยความรุนแรงอันน่าหวาดหวั่น มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเงียบงัน มีความจริงแท้ แต่กระนั้นมันก็เต็มความคับค้องข้องใจ มันเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักในเกมยิ่งมุมมองบุคคลที่หนึ่งที่ดูเหมือนว่าผู้เล่นนั้นอาจจะเป็นคนฆ่าประชาชนทั่วไปที่เราพบเห็นได้ในทุกๆ วัน

ฉากเหล่านี้ชัดเจน และสะเทือนใจ ว่ามันเป็นการฆ่าที่ไร้เหตุผล ไร้มนุษยธรรม และไม่มีความชัดเจนด้วยซ้ำว่าเป้าหมายอยู่ไหน “คือใคร” แม้จะต้องเสี่ยงฆ่าเด็กและผู้หญิงไปบ้างก็ตาม ผู้สร้างอาจจะจงใจไม่ตัดสินที่จะนำเสนออะไรให้ชัดเจน หรือขีดคั่นทางศีลธรรมหรือความชอบธรรมให้โน้มเอียงไปทางใด ทำให้การตีความก็เป็นไปตามบริบทของผู้เล่นอย่างหลากหลายมาก ความจริงโดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าผู้สร้างต้องการสื่อให้เราเห็นว่า การไล่ล่าศัตรูของชาติที่ไม่มีเหตุผล ไร้ตรรกะหรือความชอบธรรมใดๆ อคติที่อยู่เหนือมนุษยธรรม ความชอบธรรมในการทรมานมนุษย์ และถึงที่สุดการตัดสินใจถล่มบ้านใครคนหนึ่งเพื่อหมายจะจัดการศัตรู ก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่ามันใช่ “เป้าหมาย” หรือไม่ เพียงแค่สงสัยก็สังหารไว้ก่อนแล้ว อีกทั้งยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าใช่ “เป้าหมาย”หรือไม่ นับเป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกกันเลยทีเดียว พร้อมให้เหตุผลเพราะผลลัพธ์ของคือความถูกต้องที่ได้ปกป้องโลกจากคนชั่ว ลงปักใจเชื่อว่าเรากำลังทำเพื่อ ‘ผลลัพธ์ที่ดี’ หรือ ‘เป้าหมายที่สูงส่ง’ แล้ว เราก็พร้อมจะโยนมาตรวัดทางศีลธรรมทั้งหลายออกนอกหน้าต่าง ระหว่างที่ยอมแปดเปื้อนอย่างที่กัปตันไพรซ์ได้บอกกับผู้เล่นผ่านฉากคัทซีนหนึ่งในเกมว่า

“We get dirty and the world stays clean.That’s the mission.”

พวกเราจะแปดเปื้อนไปด้วยมลทิน แต่โลกใบนี้จะยังคงสะอาด นี่คือภารกิจ

 

14 ตุลา: อรุณทอง-วิปโยค
เรื่อง: ปิยวัฒน์ แสงเงินชัย

เป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นผลเนื่องมาจากการบริหารบ้านเมืองที่ล้มเหลว และการคอรัปชั่นในระบบ “สฤษดิ์ ถนอม ประภาส” ทำให้ประชนนับแสนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านอำนาจเผด็จการของจอมพล ถนอม ในขณะนั้น

ผลลัพธ์ท้ายสุดประชาชนก็สามารถกำชัยชนะเหนือเผด็จการ ก่อให้เกิดยุครุ่งเรืองที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย หรือเรียกว่า “ยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ก่อให้เกิดกลุ่มคนที่ถูกขนานนามในภายหลังว่า “วีรชน 14 ตุลา” แต่ทั้งนั้น ความรุนแรงที่เกิดจากคนในชาติด้วยกันนั้น ก็ทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลา ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “วันมหาวิปโยค” และ 3 ปีให้หลัง ยุคฟ้าสีทองก็สิ้นสุดลง และนำไปสู่อีกเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลลึกลงไปในประวัติศาสตร์ไทย ที่รู้จักกัน ในอีกชื่อว่า “6 ตุลา”

“everythings come with a price”

เพราะทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย และชีวิตคือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้มันมา และพยายามรักษามันไว้

เรื่องตลกร้ายก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่จุดประกายประชาธิปไตยให้ประเทศใกล้เคียง อย่างเกาหลีใต้ และในอีกหลายๆประเทศในเมื่ออดีต แต่พอตัดภาพมาปัจจุบัน เรามาไกลเสียจนไม่เหลือเค้าเสือตัวที่ 5 เสียแล้วด้วยซ้ำ

14 ตุลา คือจุดเริ่มที่ต้องการ “การสานต่อ” ถึงแม้จะถูกทิ้งทวนไว้เวลาจะผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษ และในยุคนี้ที่คนต้องการเติบโตใช้ชีวิตนั้นต้องการ “แผนอนาคต” มากกว่า “แผนเกษียณ”

ถ้าหากมันจะถูกสานต่อ มันก็มี“ราคา”ที่ต้องจ่ายสำหรับครั้งนี้ เช่นที่ผ่านมา

Believe in something, even if it means sacrificing everything

จงเชื่อในบางสิ่ง แม้มันจะหมายถึงการแลกด้วยทุกสิ่ง

 

 

Contributors

Behind The Scene Editorial Staff

กองบรรณาธิการ Behind The Scene: ทุกเบื้องหน้า มีเบื้องหลัง