เราสนทนากับธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ในวันที่เราได้ยินข่าวการปิดตัวของ Bangkok Screening Room พื้นที่ฉายภาพยนตร์อิสระซึ่งอยู่กับคนกรุงมานาน และการจากไปของพื้นที่แห่งนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความ “น่าเป็นห่วง” ในวงการหนังไทยที่กำลังเป็นอยู่ และบทสัมภาษณ์นี้ก็ถูกเผยแพร่ในวันที่ธิดาและ Documentary Club ตัดสินใจเช่าพื้นที่ตึก Woof Pack อันเป็นฐานที่ตั้งเดิมต่อจาก Bangkok Screening Room ซึ่งหลายคนคงรู้จัก Documentary Club ในฐานะกลุ่มผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์สารคดีที่ทำให้เราได้ชมภาพยนตร์ทั้งในและนอกกระแสที่มีความหลากหลาย แถมยังเปิดโลกใบใหม่ในการเสพสื่อให้กับคนไทย ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้กับคนรักภาพยนตร์สารคดีและหนังทางเลือกและได้มากขึ้น นับแต่วันแรกที่เธอพาตัวเองเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นนักวิจารณ์ ต่อมาจนเป็นคนทำนิตยสารเรื่องภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลกับคนรักหนังมาจนถึงทุกวันนี้อย่าง Bioscope และการเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปในวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งเราเชื่อว่าทุกทรรศนะของเธอในเรื่องหนังไทยมีผลกับความคิดของผู้ชมจำนวนมาก เพราะทุกความเคลื่อนไหวตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาในวงการภาพยนตร์ของเธอ สร้างคุณูปการและความเปลี่ยนแปลงต่อวงการภาพยนตร์ไทย แม้ว่าโรคระบาดจะทำวงการหนังไทยสั่นคลอนจนเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนกว่าวิกฤตครั้งไหน และต่อให้ใครจะแปะป้ายว่าหนังไทยไม่เซ็กซี่อีกต่อไป รวมถึงการมาของบริการสตรีมมิ่งและรสนิยมของผู้ชมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คน “ไม่รักหนังไทย” แต่จากบทสนทนาทั้งหมดเกือบสองชั่วโมงมันบอกในความเชื่อของธิดาที่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงว่า วงการหนังไทยจะดีขึ้นได้
ทำไมต้องดูภาพยนตร์สารคดีความจริงมันอาจจะไม่ต้องดูหนังสารคดีก็ได้ แต่พี่เชื่อว่าคนเราจำเป็นต้องรู้จักโลกรู้จักสิ่งอื่นๆ ที่มากกว่าวงจรประจำทุกวันนี้ และยิ่งโลกยุคนี้ที่มันมีสิ่งที่เชื่อมต่อเราสู่ภายนอก โซเชียลมีเดียใดๆ การรู้จักคนอื่นๆ มันโคตรสำคัญเลย เพราะว่าเราจะติดอยู่กับที่ว่าโลกเรามีอยู่แค่นี้ ใช้ชีวิตไปวันๆ แค่นี้หรือประเทศไทยดีที่สุด รู้สึกว่าเราจมอยู่เท่าที่เราเห็น แต่สารคดีคือการย่อย มันย่อยการเป็นไปของโลกหรือมนุษย์อื่นๆ โดยการนำเสนอแบบภาพยนตร์ในระยะเวลาที่จำกัด มันทำให้เรา มันเป็นเหมือนประตูที่ง่ายที่จะเชื่อมเราไป หาสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าอยากดูเพิ่มแล้วไปหาอ่านมันก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจากงานก่อนหน้าที่คุณทำนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์มา คุณคิดว่าประสบการณ์ที่ได้จากการทำนิตยสารมันส่งผลต่อการคัดเลือกภาพยนตร์เข้ามาจัดจำหน่ายรึเปล่าจริงๆ คอนเซ็ปต์การทำงานมันก็ต่อเนื่องกัน เพราะมันก็เป็นความคิดเราตั้งแต่ต้น คือเหตุผลที่เราทำ Documentary Club เพราะตอนทำ Bioscope เราสนใจเรื่องพวกนี้แหละ เรื่องที่ว่าตลาดมันไม่มีอะไร ตลาดในไทยมันขาดอะไร เราไม่เห็นความหลากหลาย ตลาดในไทยมันไม่มีอะไรแบบนี้ อันนั้นคือคอนเซ็ปต์หลักของการทำงานอยู่แล้ว อย่างที่สองคืออย่างที่ว่าเมื่อกี้คือส่วนตัวพี่เป็นคนชอบดูหนังสารคดี เราก็จะมีคำถามเรื่อยๆ ว่าทำไมหนังเรื่องนี้มันไม่มาฉาย อันที่สามคือตอนทำ Bioscope อาจเพราะเนื้อหามันเกี่ยวกับสังคมตามความสนใจของคนทำ ตอนที่ทำ Bioscope เราก็เอาเรื่องหนังเนี่ยไปเชื่อมกับคนรู้จักที่ทำงานประเด็นเชิงสังคม NGO หรือองค์กรใดๆ ที่มีประเด็นทางสังคม ทำให้ Bioscope มีโอกาสไปทำงานกับเขาบ่อย เช่น หาหนังไปฉายเพื่อขยายประเด็นหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เราก็รู้สึกว่ามีหนังสารคดีเยอะแยะเลยที่มันขับเคลื่อนประเด็นบางอย่างได้ มันก็มีคนที่ต้องการใช้สื่อแบบนี้เพื่อทำงานเชิงประเด็น หรือแม้แต่ไม่มีองค์กรใดรองรับ แต่เมื่อเอามาฉายเมืองไทย มันโครตจะสร้างบnสนทนาเลย เราก็จะรู้สึกอยู่เรื่อยๆว่า ทำยังไงให้มีช่องทางให้หนังสารคดีมันเข้ามามากกว่านี้ Documentary Club ก็เลยทดลองทำด้วยโจทย์พวกนี้ พอมองรายชื่อสารคดีที่คุณเลือกนำมาฉายมันช่วยเปิดความคิดของผู้คนในสังคมได้เยอะมาก และมันก็คือ Soft Power ที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้เรารู้สึกว่านี่ก็คือบทบาทของหนังสารคดีเลย คือหนังสารคดีเกิดขึ้นมาจากว่าคนทำเนี่ยมีคำถามกับความเป็นจริงอะไรบางอย่าง เราว่าไอ้การที่หนังสารคดีมันเกิดขึ้นแบบนี้ มันสำคัญ เพราะว่าหนัง Fiction จำนวนมากมันไม่ได้เกิดจากคำถาม มันเกิดจากโจทย์อื่นๆ แต่สารคดีมันเกิดจากคนทำต้องการหาคำตอบในความจริงอะไรบ้างอย่างกับที่เค้าได้พบเจอ เราคิดว่าการที่ธรรมชาติของหนังสารคดีมันเป็นแบบนี้มันก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว มีการตั้งคำถามกับคนดูด้วยแล้วร่วมกันค้นหาคำตอบไปกับคนทำหรือให้มันพ้นจากหน้านั้น เราก็คิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำ มันก็คือทำหน้าที่นี้ให้เต็มที่ ดังนั้นเวลาที่เอามาฉายเนี่ย หลายๆ เรื่องมันจะไม่จบที่การฉาย ก็เลยพยายามจะให้ทำหน้าที่ของมันต่อ มีวงเสวนาต่อ หรือ พามันไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเรื่องประเด็นนู่นนั่นนี่ คนนั้นกิจกรรมประเด็นนู่นนั้นนี่ มีคนเอาหนังเราไปฉายมั้ย เราก็แน่นอนคิดว่ามันคือ Soft Power ของมันอยู่แล้วที่จะค่อยๆ สร้างความสนใจคนต่อประเด็นบางอย่างที่เค้าอาจจะไม่ได้สนใจมาก่อน หรือว่าสนใจแต่ว่าไม่ได้มาเห็นเรื่องราวแบบนี้มาก่อน ก็คาดหวังว่ามันจะทำหน้าที่แบบนี้แหละ เหมือนว่าสิ่งที่คุณเชื่อมั่นจะไปได้ดี แต่พอวิกฤตโควิด-19 เข้ามา คุณในฐานะผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์รับมือกับเรื่องนี้ยังไงเอาจริงๆ คือช่วงก่อนโควิดเราก็โฟกัสกับการฉายโรงใหญ่ๆ น้อยลง เพราะปกติเราก็ไม่ได้ฉายกว้างอยู่แล้ว อย่างแรกคือ เราเอาหนังลงฉายแค่เครือเดียว อย่างมากที่สุดก็ได้แค่ 6 สาขาก็เก่งแล้ว ซึ่งเราอยู่กับอะไรที่มันเล็กมากมาตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นคือพอพื้นที่โรงหนังหายไป มันกระทบมั้ย มันก็กระทบในระดับหนึ่งเพราะว่าจริงๆ แล้วรายได้ที่มาจากโรงก็ 80% คือเราพึ่งพิงรายได้จากโรงเป็นหลัก แต่ว่าถ้าบอกว่าตัวเลยนั้นมันมากมายซะจนแบบพอเราไม่มี เราเจ๊งทันทีก็ไม่ขนาดนั้น มันก็พอจะมีช่องทางอื่นให้เราประคองตัวเองไป ความรู้สึกของเราที่จะหาช่องทางมันมีมาเรื่อยๆอยู่แล้ว แล้วพอช่วง Lockdown จากโควิดไปเนี่ย มันก็เหมือนช่วงเวลาที่เราปรับตัวมองหาทางอื่นพอดี Doc club On Demand ก็เป็นอันหนึ่ง แต่มันก็ไม่ได้เป็นรายได้หล่อเลี้ยง ก็ต้องทดลองดู มันเป็น Platform ที่ยังไงต้องทำ แล้วเดี๋ยวพัฒนาให้มันดีขึ้น กับอีกอันหนึ่งในแง่ธุรกิจคือ โชคดีที่พี่ขายหนังให้ Thai PBS ได้พอดี มันก็เลยเป็นแหล่งรายได้ก้อนหนึ่งที่อุดหนุนบริษัทให้ไปรอดได้ ก็โชคดีที่ในที่สุดก็มีคนซื้อหนังสารคดีแบบนี้ไปฉายสักที แล้วที่ผ่านมามันไม่ได้ทำเฉพาะการเอาหนังฉายโรง แต่เราก็ทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็เป็นรายได้อีกก้อนหนึ่ง เช่น คนนั้นคนนี้เอาหนังไปฉายแล้วเอาเงินมาแบ่งกัน หรือเราทำเทศกาลหนังไต้หวันโดยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการค้าไทเป หรือการทำเทศกาลหนังสารคดีอเมริกันโดยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตฯ โดยที่เราก็มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เข้ามา มันไม่ได้เป็นโฟกัสแรกหรืออันเดียวในแง่การฉายโรง ก็ต้องปรับตัว เพียงแต่ว่าหลังจากนี้เองยังไม่แน่ใจว่า การฉายโรงถ้ามันปกติ เราอาจจะต้องค่อยๆ กลับไปใต่สู้ตรงนั้นอีก และอีกอย่างคือการเกิดขึ้นของโรงหนังอิสระที่มันเหมาะกับเรามากกว่า โดยเฉพาะ House Samyarn เนี่ย ทั้งกลุ่มคนดู ทั้งแนวทางหนังมันตรงจริตกัน แปลว่าแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่ดูหนังสารคดีหรือหนังนอกกระแสมันมีมากขึ้นใช่มั้ยเราก็เชื่อว่ามันเยอะขึ้น แต่ว่าเป็นตัวเลขเท่าไรก็อาจจะเทียบไม่ได้หรอกกับหนังกระแสปกติ แต่มันเยอะขึ้น ไม่ใช่เหงาหงอยฉายอะไรไปก็เจ๊ง และก็อิมแพ็คของมันก็ทำงานมากขึ้นด้วย ถ้าหนังมันมีอิมแพ็คซึ่งอันนี้พี่ถ้าวัดจากหนังของเราเองมันก็อิมแพ็คโครตๆเลย ตอนฉายมันก็ฉายแค่ไม่กี่โรง เพราะมันหลังล็อคดาวน์นิดเดียวเอง คือคนที่พูดถึงในทวิตเตอร์ซึ่งเป็นคนที่เราไม่รู้จัก แต่ก็น่าจะเป็นเด็กๆ ที่สนใจกระแสสังคมทางการเมืองพอดี มันก็ทำงานสุดๆ คนพูดถึงกันเยอะมากๆ คือเราก็รู้สึกว่ากระแสความสนใจต่อหนังพวกนี้มันเป็นกอบเป็นกำ มันเห็นชัด มันไม่ได้เหงานะ เพียงแต่ว่ามันดีพอมั้ยมันก็ดีไม่พอหรอก ต้องอาศัยการผลักดันอีก อย่างที่เห็นชัดๆ ว่าคุณก็ส่งหนังในมือไปให้ฉายเรื่อยๆ ล่าสุดก็คือเดินทะลุฟ้าแน่นอนว่ามันคือเจตนาของเราอยู่แล้ว เพราะเรามองว่าจุดเด่นของหนังสารดคีแต่ละเรื่องก็เล่นถึงประเด็นต่างๆ แล้วความจริงคือ ตอนนี้โลกมันใกล้ชิดกันมาก ประเด็นต่างๆ ที่เป็นประเด็นที่ถูกสนใจในระดับโลกก็เป็นประเด็นที่คนไทยเก็ทได้ง่ายๆ เช่น ประเด็นการเมือง เล่าเรื่องการเมืองฟิลิปปินส์แท้ๆ แต่ก็กลับมาคิดว่านี่การเมืองไทยรึเปล่านะ คือความเข้าใจประเด็นมันขยับขึ้น ดังนั้นหนังสารคดีมันก็จุดเด่นก็คือแต่ละเรื่องมันมีประเด็นหลากหลาย เราก็รู้สึกอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ทรีทกับมันแค่หนังเรืองหนึ่งที่เข้าฉาย โปรโมทเหมือนหนังทั่วๆ ไปแล้วก็จบ แต่ว่าประเด็นของมันคือมันทำงานในพื้นที่อื่นอีก แต่มันก็มีคนอื่นๆ ที่เค้าอาจไม่ได้สนใจไปดูหนังเหล่านี้เลย แต่ว่าเค้าเป็นคนที่ทำงานประเด็นบางอย่างอยู่ แล้วเค้าก็ต้องการเครื่องมือบางอย่างไปช่วยเค้า เช่นสมมุติว่า พี่เคยฉายหนังกับกลุ่มที่ทำงานเรื่องสารเคมีอันตรายที่ใช้ปราบศัตรูพืช เรามีหนังที่พูดถึงเรื่องนี้พอดี เราก็ชวนเค้ามาจัดด้วยกันแล้วก็ทอล์ค เราก็รู้สึกว่าคนที่มาดูก็เป็นคนอยากดูหนัง คนที่มาดูก็เป็นคนที่สนใจเรื่องนี้พอดี อย่างนี้มันก็ได้หลายกลุ่มซึ่งเราก็รู้สึกว่าเวลาเอาหนังสารคดีเรื่องหนึ่งมาแล้วเอามาทำแบบนี้มันค่อยคุ้มหน่อย เพราะหนังมันได้ทำงาน ไม่ใช่หนังแบบเข้าโรงเฉยๆ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเชื่อมโยงกับคนนู้นคนนี้ มันก็อาจจะเพราะเราเชื่อมเค้า เค้าเชื่อมเรา อีกอย่างหนึ่งคือ เราก็ไปเจอว่า จริงๆ แล้วในหลายพื้นที่ชอบการฉายหนัง อยากมีหนังไปฉาย ทำร้านกาแฟอยากมีหนังฉาย แต่การหาหนังมาถ้าไม่ใช่แนวโหลดเถื่อนเองหรือหาแผ่นมาฉายเองเนี่ย การจะหาหนังที่มันมีผู้จัดจำหน่ายจริงๆ ในระบบของตลาดจัดจำหน่ายมันไม่เอื้อ เช่นอย่างเราไปขอหนังจัดจำหน่ายของสตูดิโอมา มันไม่ได้เพราะว่าเมืองนอกจะคุมมาก ไม่ให้ไฟล์ ไปขอหนังค่ายใหญ่เค้าก็ไม่ให้ แต่เราไม่ได้กลัว เพราะว่าคือเราก็ไม่รู้จะกลัวไปทำไม และอีกอย่างหนังสารคดีมันจะมีสักกี่คนที่ไปโหลดมาดู มันคงไม่มีใครสนใจเท่าไรหรอกมั้ง (หัวเราะ) เราเลยรู้ว่าโอเค เราก็ให้ยืมหนังง่ายๆ เพื่อที่คุณจะได้ไปฉาย มันดีกับเค้า แล้วก็ดีกับเราด้วย มันก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่า ดี๊ดีที่หนัง Documentary Club ใครจะเอาไปฉายก็ได้ แต่เพราะว่าไม่รู้จะเอาหนังใคร มีแต่หนังพวกนี้ที่เราจะเอาไปได้ นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ย้อนกลับไปครั้งคุณทำนิตยสาร Bioscope มันคือหนึ่งในนิตยสารที่มีอิทธิพลต่อโลกภาพยนตร์ไทยและนักอ่าน คุณคิดว่าความสนุกในการทำนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์คืออะไรก่อนหน้าที่เราทำไบโอเราก็ทำอย่างอื่นมา อย่างแฟนพี่เนี่ย ก่อนหน้าเค้าก็ทำหนังสือภาพยนตร์และวิดิโอฟิล์มวิว ซึ่งเป็นนิตยสารที่โตและซีเรียส ฉะนั้นเราจึงมีความชอบคล้ายๆ กันว่าเวลาสื่ออื่นๆ ทั่วไปที่อยู้ในตลาดเนี่ย เวลาพูดถึงหนังที่จะเข้าฉาย เราจะรู้จักหนังที่เลือกมาแล้วด้วยกลไกทางการตลาด ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่าในโลกนี้มีหนังสารพัดสารเพ หนังของชาติประหลาดๆ ที่เราคงไม่มีโอกาสได้ดูหรอกชาตินี้ แต่ว่ารู้จักไว้แล้วมันโครตเปิดโลกเลย สองคือเรารู้สึกว่าความจริงแล้วขอบเขตเรื่องหนังของสื่อเนี่ย เวลาพูดถึงหนังมันก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องของหนัง แต่ว่าเวลาเราดูมันจะเชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่นๆ เช่น เราดูเรื่องนี้เสร็จ เราก็อยากรู้ว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าในหนังเนี่ย ในความเป็นจริงมันคืออะไร หรือแม้กระทั่งเพลงที่พระเอกในเรื่องมันฟังบ่อยๆ เนี่ย เป็นเพลงของใคร สำหรับเราหนังมันสนุกตรงนี้ มันเชื่อมเราไปหาโลกอื่น นั่นคือเจตนาเริ่มต้นของ Bioscope ในจุดพีคที่สุดของ Bioscope คือเรารู้สึกว่ามันทำหน้าที่พวกนี้ดีที่สุด ในช่วงที่เรามีความสนุกในการครีเอท เพิ่มบทความ เพิ่มคอลัมน์หนังมั้ย อะไรที่มันเชื่อมโยงหนังเหมือนกับว่านิตยสารอื่นๆ พาคนเข้าไปสู่หนัง แต่เราทำอยากทำหนังสือที่หนังพาคนไปสู่อย่างอื่น เรารู้สึกว่าเวลาดูหนังแล้วเป็นเนิร์ดหนังเนี่ยมันไม่มีความหมาย แต่ดูหนังแล้วทำมันทำให้เรารู้จึกโลกมากขึ้นเนี่ย เราชอบอะไรแบบนี้ อันนี้คือความสนุกของการทำไบโอฯ ก็คือแบบนี้ ในจุดยืนที่คุณบอกว่า อยากให้คนสนุกกับโลกของหนัง ถ้าให้สรุปทั้งหมดแล้วคุณคิดว่า Bioscope ประสบความสำเร็จในจุดยืนนั้นแล้วหรือยังเอาจริงพอพี่ย้อนคิดถึงไบโอฯ มันก็บรรลุในสิ่งที่เราอยากทำประมาณหนึ่งเหมือนกันนะ อาจจะเพราะว่าหนึ่งเราก็ทำมันมานาน เราทำมันเกิน 10 ปี สองก็คือมันเป็นการลงทุนของเราเองทั้งนั้น อยากทำอะไรก็ทำเลย คิดในแง่การอยู่รอดของธุรกิจก็คิดกันน้อย ไม่ใช่เพราะว่าเจ๋งนะ แต่เพราะไม่มีความรู้ตรงนั้นมากพอ ดังนั้นเวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการคิดคอนเท้นต์ เมื่อมองย้อนไป Bioscope ก็ทำในสิ่งที่เราต้องการ มันมีคอลัมน์ที่เรามาย้อนดูแล้วเราภูมิใจที่เราทำสิ่งนี้สิ่งนี้ แล้วพูดถึงสิ่งนี้ ผลตอบรับในการทำนิตยสารของคุณมันพอสะท้อนรสนิยม วิธีการเสพภาพยนตร์ของผู้คนในเวลานั้นได้ยังไงบ้างจริงๆ พี่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนอ่าน Bioscope เนี่ย มันคลอบคลุมกลุ่มไหนบ้าง เรารู้สึกว่าเนื้อหาเรามันตอบสนองเฉพาะคนดูหนังจริงจังรึเปล่านะ เพราะว่าเค้ามีรสนิยมในการดูหนังแบบหนึ่งซึ่งมีความเปิดกว้างอยู่แล้ว ซึ่งดูหนังได้ทุกแบบ แต่ตอนหลังเราก็ได้เจอว่ากลุ่มคนอ่านของเราจริงๆเนี่ย ครอบคลุมหลายกลุ่ม อย่างกลุ่มหมอที่เป็นคนอ่าน Bioscope เป็นปึกแผ่นสุดๆ จะเพราะว่าหนังสือของเรามันเนิร์ดหรืออย่างไรไม่รู้นะ แต่ยังไงก็ตามเมื่อเราเจอว่ากลุ่มคนอ่านของเราค่อนข้างหลากหลาย เราก็เลยเจอกระแสหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจก็คือ จริงๆ แล้วคนทั่วๆ ไปไม่ว่าจะมีพฤติกรรมการดูหนังประจำหรือไม่ประจำ แต่หนึ่งก็คือว่าหนังเป็นหนังใกล้ชิดชีวิตคนก็มีจำนวนมาก อย่างหมอที่ว่าเนี่ย เชื่อว่าเวลาจริงๆไม่มีเวลาเข้าโรงหนังมากมายเนี่ย แต่ก็ยังมีเวลาติดตามไบโอสโคป แล้วก็เขียนจดหมาย ทำคอนเท้นต์นั่นนี่ ส่งอีเมลล์มา เราว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราค้นพบคือพื้นฐานของคนทั่วไปมีความสนใจความหลากหลายในคอนเทนต์ภาพยนตร์อยู่ แต่ว่าตลาดที่มันเป็นเนี่ยมันสวนทางกับสิ่งเหล่านี้ แล้วมันก็ไม่มีใครที่เห็นภาพเหล่านี้แล้วสร้างความหลากหลายให้กับวงการหนัง เราเชื่อว่าคนดูหนังต้องการบางอย่าง แต่ตลาดที่มันเป็นมันไม่ตอบสนอง เราคิดว่ามันสวนทางกัน แล้วก็เป็นจุดหนึ่งที่คอนเทนต์ใน Bioscope ต้องการพูดเรื่องพวกนี้ พูดเรื่องความหลากหลายในโลกและพูดถึงความไม่หลากหลายในวงการหนังไทย ไม่ใช่เพราะหนังไทยนะ แต่ว่าความไม่หลากหลายในวงการหนังประเทศไทย ซึ่งพอเวลาผ่านมา มันก็เป็นข้อสังเกตที่ใช้ได้นะ ไอ้ปรากฎการณ์ที่เป็นปัญหาเนี่ยของตลาดหนังไทย มันก็สะท้อนมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วมันก็สาหัสขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มันก็เลยทำให้เราเห็นว่าในช่วง 10-20 ปีนี้ นายทุนหรือคนทำหนังก็เลือกก็จะทำหนังที่ทำยังไงก็ได้ตังค์ ในความเห็นของคุณ คิดว่ามันคือยุคมืดของหนังไทยรึเปล่าหนังไทยมันผ่านภาวะแบบนี้มาหลายรอบ แค่อย่างช่วงที่พี่ทำงานก็รอบที่สามแล้วนะที่มีคำถามที่ว่าหนังไทยตายรึยัง ไม่ใช่ครั้งแรกเพียงแค่บริบทมันเปลี่ยน อย่างช่วงที่พี่โตขึ้นมาเนี่ยก็เป็นช่วงที่ฮิตหนังวัยรุ่น ทำหนังก้อนหนึ่งละได้เงิน ค่ายก็เลยทำแต่หนังพวกนี้จนมีล้น เละเทะ ไม่คุมคุณภาพมีแต่ปริมาณ คนก็เบื่อ ไม่ไปดูหนัง คนก็หาความแปลกใหม่เลยปัดข้ามไปช่วงๆ ในช่วงที่หนังวัยรุ่นยุคสองปั่นป่วนมากๆ จนตลาดพัง ก็เกิด 2499 อันธพาลครองเมืองขึ้นมา เกิดนางนาก ขึ้นมา เกิดพี่ต้อม เป็นเอก (รัตนเรือง) เกิดพี่วิสิทธิ์ (ศาสนเที่ยง) เป็นลูปแบบนี้มาเรื่อยๆ บริบทที่เปลี่ยนก็คือ ผู้เล่นที่หลากหลายที่หายไป นับวันมันยิ่งผูกขาดเป็นทุนใหญ่เนี่ย มันก็กลายเป็นนายทุนรายใหม่ๆ ที่อยากทำหนังแปลกๆ อาจจะเพราะรักหนัง อาจเพราะวงการนี้น่าลงทุน มันก็ค่อยๆ หายไป เพราะการต่อรองหรือเข้าถึงโอกาสลดลง อย่างเมือก่อนทำหนังเรื่องหนึ่งเนี่ยเช่นไฟว์สตาร์ ทำหมานครขึ้นมา หนังแปลกหายาก แต่ไฟว์สตาร์ยังมีความผูกพันกับสายหนัง มีโรงหนังในเครือ มีช่องทางให้เผยแพร่หนังพวกนี้ แต่พอตลาดปัจจุบันพอคุณทำหนังมาแล้วโรงใหญ่บอกว่าหนังไม่น่าสนใจเลย ไม่ให้ฉายคือจบ ใครจะกล้าทำหนังมาแล้วฉายโรงเดียว มันคือตลาดมันเปลี่ยน คนที่กล้าทำหนังที่ทดลองดู มันก็ไม่มี ยิ่งวันมันก็ยิ่งลด เพราะเงื่อนไขของตลาดมันก็ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนตอนที่หนังไทยห่วยๆ เนี่ย มีหนังไทยไมต่ำกว่าปีละ 50 เรื่องเป็นเรื่องปกติ แล้วตอนนี้มีกี่เรื่อง ถึงแม้ไม่พูดถึงช่วงโควิด ช่วงก่อนโควิดปีหนึ่งมีไม่ถึง 10 กว่าเรื่องเท่านั้น แล้วที่ถูกพูดถึงจริงก็มีไม่ถึงครึ่ง เพราะว่าตลาดมีเงือนไขที่จำกัดความหลากหลายไปหมดเลย ซึ่งในวงการนี้คนทำหนังไทยก็มีคนทำหนังอิสระที่มีฝีมือแฝงตัวอยู่ แล้วก็มีไอเดียมากมายที่อยากทำเป็นหนังอยู่ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องเงิน ถ้าเทียบกับต่างประเทศที่มีเงินทุนสนับสนุนมากมาย คุณคิดยังไงกับวิธีคิดที่ว่า คนทำหนังเก่ง แต่ว่าไม่มีทุนจริงๆ พี่ว่าหนังนอกกระแสมีปัญหาทุกที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนนี่มันยากอยู่แล้วเพราะคุณไม่ได้อยู่ในตลาด คนที่พร้อมจะลงทุนและคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุดจะไม่เจ็บตัว แล้วคาดหวังว่าจะได้อะไรบ้าง มันก็เป็นส่วนน้อยอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่ในประเทศแบบบ้านเรามีปัญหาเป็นพิเศษคือ มันไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำมาเพื่อคนที่ทำงานครีเอทีฟเลย ไม่ใช่แค่เฉพาะหนัง มันรวมถึงงานศิลปะอื่นๆด้วย อย่างในต่างประเทศยังมี พี่ว่าหลักๆ ในความยากก็คือแบบนี้ สุดท้ายเราก็ต้องไปเฝ้ารอกองทุนจากรัฐบาลที่มาทำกองทุนสื่อปลอดภัยฯ หรือกองทุนภาพยนตร์ที่ก็เอาเงินไปให้หนังปลุกใจรักชาติซะส่วนใหญ่ นี่แหละมันก็คือปัญหา คนทำหนังอิสระไทยถึงน่าสงสาร เพราะถ้าคุณไม่สามารถคอนเน็คตัวเองกับกองทุนต่างประเทศได้เหมือนอภิชาติพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) หรือใหม่ อโนชา (สุวิชากรพงศ์) ถ้าคุณไม่ไปถึงระดับนั้น คุณเป็นแค่คนทำหนังอิสระทั่วๆ ไปแบบนึกไม่ออก ก็ไม่รู้จะดิ้นรนไปทางไหน อย่างที่เราพูดกันว่า วงการหนังจะรุ่งเรืองได้ มันก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย อย่างกรณีของ Parasite มันคือการวางแผนจากภาครัฐที่จะทำให้วัฒนธรรมของตัวเองถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ ตัดภาพมาที่ไทยที่ไม่มีการสนับสนุนเลย ด้วยเหตุผลนี้รึเปล่าที่แม้บ้านเราจะมีทุกอย่างพร้อม แต่เพราะการไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้วงการหนังไทยไม่ไปไหนสำหรับพี่มันใช่เลย พี่ไม่โทษเอกชนเลย เพราะว่าเอกชนมันต้องคำนึงถึงการอยู่รอด ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากภาครัฐแน่นอน เพราะว่าอะไรก็ตามที่ต้องลงทุน ผลักดัน หวังผลระยะยาวไกลๆ สร้างคน สร้างบุคลาการ มันเป็นการลงทุนที่มหาศาล คุณจะหวังให้เอกชนมาลงทุนสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง เอกชนก็ลงทุนเฉพาะกิจการตัวเองก็แย่แล้ว นี่มันคือหน้าที่ของภาครัฐล้วนๆ เราต้องไม่ใช่คำว่าภาครัฐควรจะช่วย แต่มันคือหน้าที่ที่คุณควรจะทำด้วยซ้ำ ซึ่งจริงๆของไทย มันถูกพูดเป็นระยะ อย่างตอนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ที่มีการตั้งอภิรักษ์ (โกษะโยธิน) ขึ้นมาเป็นคนดูแลโครงการ Creative Economy พี่ยังเคยไปสัมภาษณ์เค้าเลย ซึ่งก็มันเหมือนเป็นเทรนด์ตอนนั้นที่คนมองว่าสินค้าวัฒนธรรมมันควรเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ มันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว มิติลี้ลับอะไร มันเป็นสินค้าที่สร้างรายได้และตลาดต่อยอดอย่างที่เราพูดถึงกัน มันก็เป็นสิ่งที่เค้าพูดถึงขึ้นมา แต่มันไม่ได้เป็นนโยบายที่จริงจัง พอรัฐบาลนี้หาย รัฐบาลใหม่เอาออก มาพูดถึง Soft Power ไปไม่ถึงไหน ถูกรัฐประหารก็หายไป รัฐบาลปัจจุบันกลับมาพูดถึง Soft Power อีกครั้ง แต่ไม่รู้เรื่องว่าต้องทำอะไรกันแน่ มันไม่เกิดเพราะมันไม่ได้มาจากโร้ดแมป พี่ว่าประเทศไทยมันมีปัญหาเรื่องการเมืองเยอะ เพราะมันเป็นการขับเคี่ยวของขั้วอำนาจเสียจนมันไม่ได้มองในแง่ของการพัฒนา มองแค่ว่าคนนี้คิดนโยบาย คนต่อมาล้มทิ้ง แต่เกาหลีนี่มันเป็นโร้ดแมปที่ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนไปกี่รัฐบาล นโยบาลที่ถูกวางไว้จะต้องถูกสานต่อ อย่างเกาหลีเนี่ย หลังจากที่ประเทศตั้งตัวได้ ก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาพร้อมๆ กับสินค้าอุตสาหกรรม รัฐบาลมองว่าอะไรบ้างที่จะเป็นตัวสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงของความเป็นเกาหลีในเวทีโลก สินค้าวัฒนธรรมเลยโตเร็ว ย้อนไปสัก 20 กว่าปีตอนพี่ทำงานในวงการหนังใหม่ๆ ตอนนั้นหนังเกาหลีไม่รู้จักเลยนะ ไม่มีใครรู้จักเลยว่าหนังเกาหลีคืออะไร เวลาพูดถึงหนังเกาหลีที่รู้จักอย่างเดียวคือรู้จักผู้กำกับที่ชื่อ Im-Kwon-Taek คือทำหนังแบบประมาณท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) มันแตกต่างกับปัจจุบัน เพราะเกาหลีเนี่ยวางโร้ดแมปมาว่า ภายใน 15 – 20 ปี วัฒนธรรมของเราที่ต้องส่งออกมีอะไรบ้าง พอวางแบบนี้ปุ๊บมันก็จะมีนโยบายตามมาใช่มั้ย เช่น สนับสนุน K-POP แล้ว K-POP เกิดจากอะไร ภาพยนตร์จะแข็งแรงได้จากอะไร ต้องให้ทุนใครบ้าง ต้องมีนโยบายช่วยอะไรบ้าง มันก็ก่อร่างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา อันที่สองสำคัญอีกอย่างคือว่า บ้านเรานอกจากจะไม่สนับสนุนให้เกิดแล้ว รากฐานทรัพยากรคนก็ไม่มี อันนี้ก็เป็นประเด็นที่วงการหนังไทยก็กำลังพูดถึงตอนนี้ เพราะโครงสร้างเรื่องสหภาพแรงงานในไทย มันถูกทำลายไปแล้ว ทุกวันนี้สหภาพแรงงานไม่ว่ากลุ่มไหนก็ต่อรองกับรัฐไม่ได้ คือเรามีสมาพันธ์ภาพยนตร์ สมาคมผู้กำกับ แต่มันเป็นการรวมกันหลวมๆ ที่ไม่รู้มีไว้ทำอะไร มันไม่ได้เป็นการรวมตัวเพื่อที่จะต่อรองกับรัฐเพื่อที่จะเรียกร้องนโยบายที่จะผลักดันให้วิชาชีพเราแข็งแรง พอมันไม่มีการรวมตัวเรียกร้อง มันก็ยาก ต่างคนต่างอยู่ อยู่ที่รัฐจะประทานอะไรให้ช่วงไหนก็รับๆ กันไป มันไม่สามารถที่จะรวมกันได้ แต่เกาหลีนี่มันแข็งแรงเพราะว่านอกจากรัฐจะวางนโยบายแล้วเนี่ย ไอ้รากฐานคนในวิชาชีพก็สู้นะ เกาหลีไม่ใช่ว่ารัฐดีตลอดเวลา หลายๆ คนรัฐก็บิดเบือนเช่น คนนี้ขึ้นมาแล้วก็ให้ทุนสนับสนุนแต่ก็ขณะเดียวกันก็โกงคนทำหนังบางคนที่ออกมาด่ารัฐบาล ซึ่งคนเกาหลีไม่ยอม พอผู้กำกับโดนแบนปุ๊บก็รวมตัวกันประท้วงเลย มันคือการผลักดันวิชาชีพจากทั้งรัฐและเอกชนที่สู้กันและทำงานร่วมกันตลอดเวลา ซึ่งเหล่านี้ประเทศไทยมันไม่มี ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกว่าเรามี Parasite เราทำหนังยังไงที่ได้ออสการ์ มันไม่ได้เกิดปีสองปี แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐทำงานฝั่งเดียวด้วย คือโครงสร้างทางสังคมเราก็ยังไม่สุดตรงนี้ มีคนจำนวนมากอยากให้หนังไทยไปออสการ์ให้ได้สักที สำหรับคุณแล้ว หนังไทยจะไปออสการ์ได้ก็ต่อเมื่อ ….อย่างแรกถามก่อนเลยว่าประเด็นปัจจัยที่ทำให้หนังไปถึงออสการ์ได้มันมีอะไรบ้าง มันไม่ใช่แค่หนังดี มันไม่ใช่แค่หนังทำออกมาแล้วถูกใจคนต่างชาติหรือคนอเมริกันซึ่งเป็นเจ้าของรางวัล แต่มันมีปัจจัยอย่างอื่นเยอะแยะเต็มไปหมด นอกเหนือจากตัวภาพยนตร์ก็คือพลังที่จะผลักมันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู อย่าง Parasite เนี่ย ทีมงานต้องย้ายบ้านจากเกาหลีไปอยู่อเมริกาครึ่งปี เพื่อที่จะเดินสายโปรโมท ทำ PR เพื่อที่จะให้ฉันมีตัวตน มันไม่ใช่แค่หนังดีแล้วได้ไป ต้องรื้อวิธีคิดต่อเรื่องภาพยนตร์ใหม่ทั้งหมด แม้กระทั่งรื้อไปถึงรากที่ว่าภาพยนตร์คือสิ่งที่เป็นภัย อันนี้ต้องรื้อทิ้ง เริ่มต้นจากศูนย์ใหม่หมดว่าภาพยนตร์คือสิ่งที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ เชิงศิลปะ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่คุณบ่มร่างสร้างขึ้นมา ต้องมีโร้ดแมป สุดท้ายว่ามันจะไปประสบความสำเร็จขนาดไหน มันจะทำหน้าที่อะไรให้กับประเทศเชิงส่งเสริม คือรื้อโครงสร้างใหม่หมดให้เป็นโครงสร้างเชิงส่งเสริม สนับสนุนซึ่งต้องรื้อโครงสร้างหลายอย่างมาก แล้วถ้าดูจากความเคลื่อนไหวของวงการหนังไทยตอนนี้ คุณว่าวงการหนังไทยยังมีความหวังอยู่มั้ยมันก็ต้องมีแหละ จริงๆ ภาวะที่เราคิดว่าหนังไทยตกต่ำมันไม่ได้เพิ่งเกิด มันมีมาเรื่อยๆ แต่เพียงว่าช่วงนี้อาจจะดูตกต่ำมากหน่อย เพราะว่ามันดันมีปัจจัยต่างๆ ที่เหนือการควบคุมที่เราก็นึกไม่ออกว่าจะฟื้นขึ้นมายังไง โดยเฉพาะหลังโควิดมันก็ทำลายโอกาสในการฉายไปเยอะ และมันก็ไม่มีผู้เล่นใหม่ๆ แต่พี่ก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันเป็นเรื่องธรรมชาติอะ พอมันตกแล้วมันก็ต้องขึ้น พอมันขึ้นถึงจุดสูงสุดมันก็ต้องตก มันก็มีช่วงของมัน แล้วเราคิดว่าตราบใดที่หนังยังมีพลังดึงดูดคน ในเชิงการลงทุน ในเชิงศิลปะ มันต้องมีคนที่อยากจะเข้ามา เพียงแต่ว่ามันอาจจะคาดหวังว่ามันจะกลับมารุ่งไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้องค์ประกอบที่เป็นปัญหามันเยอะขึ้นเรื่อยๆ มันจะต้องรอบางอย่างมันร่มสลายและปัญหานี้จะต้องถูกทิ้ง เช่น โรงหนังมัลติเพลกซ์ไม่อาจจะมีอิทธิพลเท่าเดิมได้แล้ว เกิดการปิดสาขาเยอะแยะ เจ้าที่ใหญ่มากๆ ลดไซซ์ลง เกิดผู้เล่นใหม่ๆ เมื่อมันเกิดพลวัตบางอย่างขึ้น มันก็จะเปิดความเปลี่ยนแปลง หรือถ้ารัฐบาลใหม่เห็นขึ้นว่าเครื่องมือที่จะส่งตัวเองกลับไปอยู่ต่างประเทศได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศมันถูกมองย่ำจากความรุนแรง เราเชื่อว่ามันยังไปได้ แต่มันต้องการเหตุปัจจัยในการผลักดันของคนในวงการเยอะเลย จากคนทำสื่อเกี่ยวกับภาพยนตร์มาถึงการเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ และเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการหนังไทยทุกอย่าง คุณมีอะไรอยากพูดเกี่ยวกับวงการนี้มั้ยเอาจริงๆ ตอนนี้ไม่ค่อยมีแบบความในใจเท่าไร เพราะพี่รู้สึกว่าเมื่อต้องพูดว่าอยากจะพูดอะไรให้คนทำหนังไทย มันนึกถึงหน้าคนทำหนังไทยออกแค่ไม่กี่คน เพราะตอนนี้มันเหลือน้อยราย เราก็รู้สึกว่า ณ ช่วงนี้อาจจะไปตั้งความคาดหวังหรือคาดคั้นได้ยาก เพราะพี่เข้าใจคนทำหนังไทยก็มีสถานะน่าสงสารเนาะ คือ ณ ช่วงนี้มันไม่มีงาน ช่วงนี้ก็อีกเป็นปีกว่าเค้าจะผลักดันโปรเจ็คที่อยากทำ หรือจะหาทุนได้มั้ย แต่ถ้าจะให้พูดถึงระดับคนทำหนังด้วยกัน พี่ก็รู้สึกว่าจริงๆ สิ่งที่เราหวังอยากเห็นก็คือการรวมตัวกันเพื่อที่จะสร้างข้อต่อรองในเชิงวิชาชีพ รวมกันเพื่อที่จะส่งเสียงต่อรัฐได้จริงๆ แล้วความจริงเนี่ยในส่วนตัวเราก็จะคาดหวังถึงจุดยืนทางการเมืองที่เข้มแข็ง เพราะเราคิดว่ามันก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้การเรียกร้องหรือต่อรองไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะรวมกันไม่ได้ จุดยืนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะว่าคุณยังต้องแอบอิงความช่วยเหลือของรัฐ มันก็เลยทำให้จุดยืนที่เค้าจะลุกขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นฝ่ายที่เรียกร้องจากรัฐมันไม่เกิด เราก็รู้สึกว่าความไม่เข้มแข็งทั้งในเชิงกายภาพ ทั้งในเชิงท่าที มันก็เป็นปัญหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องอาศัยการจัดตั้งรวมตัวเป็นสหภาพการพูดคุย แต่ ณ ตอนนี้คงคาดขั้นอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นช่วงที่ทุกคนเหนื่อยหมด แต่เราก็ได้ยินมาว่ามันก็มีความพยายาม ไม่ใช่ไม่มีนะ โดยเฉพาะจากการผลักดันของกลุ่มคนทำหนังอิสระค่อนข้างจะมีความเข้มแข็งและก็เข้าใจว่าก็มีความพยายามในการรวมตัวกัน จัดตั้งกลุ่มรับทำภาพยนตร์ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่น่าติดตาม |