ประเด็นการมีตัวตนและยอมรับความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นเรื่องที่ค่อยๆ ขยายตัวกว้างขึ้นมากในสังคมไทย จนกลายเป็นหนึ่งในเรื่องป๊อปที่ผู้คนจำนวนมากตื่นตัวและสนใจกันมากขึ้น ในช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่ตอกย้ำการยอมรับตัวตนของ LGBTIQ+ ในสังคมไทย ทั้งการมีผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรที่เป็นเพศทางเลือกคนแรกในประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งให้เข้าสภา การบรรจุเรื่องความหลากหลายทางเพศลงในหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน หรือกฎหมายคุ้มครองคู่สมรสเพศเดียวกัน (พรบ. คู่ชีวิต) ที่กำลังผลักดันให้เป็นกฎหมายที่ใช้งานจริง ในพลังการเรียกร้องสิทธิดังกล่าว Young Pride Club คือกลุ่มนักศึกษาผู้มีความหลากหลายทางเพศ (และชายจริงหญิงแท้บางส่วน) จากรั้วสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศที่มีจุดยืนเหมือนกับนักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศหลายๆ กลุ่ม แต่คนเหล่านี้มองว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเท่านั้น แต่ LGBTIQ+ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องใดๆ ก็ได้ แกนนำ Young Pride ทั้งสี่คนคือ เบส-ชิษณุพงษ์ นิธิวนา, ปาหนัน-ชัญญา รัตนธาดา, ขิม-จิระดา เหลืองจินดา และแมกซ์-ธรรมปพน ต่อทรัพย์สิน ทั้งสี่คนคือแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจ สร้างการยอมรับและมีตัวตน จนถึงเปลี่ยนแปลงภาพเหมารวมต่อ LGBTIQ+ ต่อคนเชียงใหม่ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เสียงเล็กๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยYoung Pride เริ่มต้นจากเบสที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี เริ่มเคลื่อนไหวกับเพื่อนของเธอในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งคือ การอนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตรงกับเพศสภาพในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร “เรื่องนี้มันเป็นประเด็นที่ทุกๆ ปี เพราะว่าคนที่เป็นกะเทยหรือคนที่ข้ามเพศ เขาไม่สามารถแต่งตัวตามเพศที่ต้องการได้ เลยมีการขับเคลื่อน เริ่มโดยเพื่อนของเราคนหนึ่งที่เขาส่งเรื่องนี้ไปให้หน่วยงานที่ช่วยเหลือ LGBTIQ+ เช่น สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย มูลนิธิเอ็มพลัส แล้วเขาก็ช่วยจนทำให้การเปลี่ยนแปลงได้ เราก็เป็นหนึ่งคนที่ช่วยกันรวบรวมรายชื่อเพื่อนๆ ทุกคน เพื่อจะทำให้กลไกนี้มันเกิดขึ้น มันก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่พี่ๆ ของเราทำมาตลอดสิบปี ยี่สิบปี จากที่ไม่เคยได้ผลเลย จนมาทำได้ที่รุ่นเรา “เราเลยรู้สึกว่า นี่แหละ คือการขับเคลื่อน แล้วเราควรทำต่อ เพราะว่ามันไม่ได้ส่งผลแค่รุ่นเรา มันส่งผลกับน้องอีกสิบปี ยี่สิบปี ที่เขาจะสามารถเลือกอัตลักษณ์ตัวเองได้” เบสเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการเริ่มต้นขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ ต่อมา เบสในฐานะนักศึกษาปริญญาโทได้ก่อตั้งกลุ่ม Pride CMU ขึ้นมาเพื่อแสดงจุดยืนและทำความเข้าใจกลุ่มคน LGBTIQ+ ในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะตอนนั้นความเข้าใจของกลุ่มคนนี้ รวมถึงสิทธิ-เสรีภาพ ผ่านการแสดงออกต่างๆ ยังไม่เท่าเทียมเท่ากับชายจริงหญิงแท้มากนัก Pride CMU จึงทำหน้าที่นี้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจในความแตกต่างเพื่อสร้างความเท่าเทียม “เราเริ่มจากการปลุกประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในมหาวิทยาลัย ก็จะเล่าประมาณว่ากลุ่มแบบเราเจอปัญหาอะไรบ้าง ตอนนั้นเราจัดเป็นเวทีย่อมๆ เวทีแรกที่แต่ละคนมาพูดถึงเรื่องปัญหาที่เจอ แต่ตอนนั้นคนก็ยังเข้าร่วมน้อย เพราะด้วยตัวกิจกรรมอาจจะเครียดไปด้วย” เบสเล่าถึงผลตอบรับของการจัดกิจกรรมครั้งแรก เมื่อเจอปัญหา Pride CMU จึงต้องปรับกลยุทธด้วยการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เข้าถึงนักศึกษากลุ่มใหญ่ได้มากขึ้น เช่น การจัดฉายภาพยนตร์พร้อมเสวนา หรือการจัดประกวดพูด Gender Contest ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และได้เรี่ยวแรงสำคัญจากปาหนันและขิมเข้ามาร่วมเดินหน้ากิจกรรมให้ลุล่วง Pride CMU มีผลงานที่โดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มไปเตะตานักศึกษาที่ขับเคลื่อนเรื่องเดียวกันนี้ในมหาวิทยาลัยอื่นและเริ่มสนใจที่จะเป็นทีมงาน ซึ่งแม็กซ์ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือหนึ่งในนั้น “ส่วนของผมเองเริ่มจากที่เขาจัดงาน Gender Contest ครั้งแรกครับ ผมก็เข้าร่วมแล้วพูดเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการศึกษาไทย ที่สอนเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ไม่ถูกต้องอ แต่ว่าตอนนี้เค้าได้เปลี่ยนระบบการศึกษาแล้วครับ คือมีการใส่เรื่อง LGBT ในการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถม ก็จะทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้น พอผมเข้าร่วมงานนั้นเสร็จก็คือได้คุยกับทางกลุ่มแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ เลยร่วมเป็นส่วนหนึ่งครับ พอเขาจัดกิจกรรมแล้วถ้าว่างก็จะมาช่วยตลอดครับ” แม็กซ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นส่วนหนึ่งของชมรม “เราต้องการที่จะสนับสนุนให้ว่า ถึงแม้ว่าคุณไม่ได้เป็น LGBT คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ ก็คือเราต้องการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้” ขิมเสริม สุดท้าย Pride CMU ได้รับความสนใจจากนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัยมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อชมรมเป็น Young Pride ในที่สุด
ก้าวใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเมื่อ Young Pride เปิดตัวชมรมอีกครั้งอย่างเป็นทางการ ทั้งสี่ยังคงทำกิจกรรมเดิมตามพันธกิจที่มี โดยการจัดกิจกรรมแบบออฟไลน์อย่างที่เคยทำ จนเข้าสู่กระบวนการรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรมคือ การเดินขบวนเฉพาะกลุ่ม Young Pride โดยมีทั้งกลุ่มคน LGBTIQ+ และบุคคลทั่วไป เพื่อร่วมเดินขบวนในประเพณีรับน้องขึ้นดอย ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหมือนจะเป็นการรณรงค์ที่ชัดเจน แต่สุดท้าย เจตนาดีของ Young Pride กลับถูกตั้งคำถาม “ตอนที่เราเดินขึ้นดอยก็เป็นดราม่าเลย เพราะว่าเราเป็นกลุ่มนักศึกษาในสาขาสตรีศึกษา (คณะสังคมศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เป็นแค่กลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่ง เราอยากจะแสดงจุดยืนก็เลยถือธงสีรุ้งขึ้นดอย ตอนนั้นมีประเด็นว่า ทำไมต้องถือธงสีรุ้งขึ้น ทำไมไม่รู้จักกาละเทศะ มันไม่เหมาะสม เวลานั้นก็ถือว่าเป็นบทเรียนอันนึง แต่มันก็เป็นการสร้างความเข้าใจกับสังคมนั่นแหละว่า เวลา LGBTIQ+ จะแสดงจุดยืน ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวโป๊หรือแต่งตัวเยอะเสมอไป” เบสกล่าวถึงช่วงหนึ่งของการทำกิจกรรมของชมรม ถึงแม้ว่าบางกิจกรรมจะก่อให้เกิดตั้งคำถามกับสังคม Young Pride ยังคงดำเนินกิจกรรมการรณรงค์ในบนพื้นที่โลกออนไลน์บนแฟนเพจของกลุ่ม โดยมีทั้งการแชร์ข่าวและคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่โดยเฉพาะ การรณรงค์ครั้งนี้ได้ผลทั้งในแง่ของยอดผู้เข้าถึงโพสต์ และได้รางวัลชมเชยจากสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในโครงการ Social Media Smart Page “การทำเพจเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจาก Pride CMU อยู่แล้วค่ะ ซึ่งทางคณะทำงานต้องเพิ่มทักษะและศักยภาพให้มากขึ้นทั้งการทำคอนเทนต์และความรู้ทางโซเชียลมีเดีย โดยได้รับการสนับสนุนจากทาง TCIJ (ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง) เพื่อให้เจาะกลุ่มคนใช้โซเชียลมีเดีย ให้คนรู้จักเรามากขึ้นด้วยค่ะ” ปาหนันกล่าวถึงการรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ Young Pride มีการจัดนิทรรศาการเพื่อการรณรงค์ในชื่อ Love is Love ที่จัดไปแล้วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า การรณรงค์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของการเดินขบวนหรือการอ่านปาฐกถาเพียงอย่างเดียว
เดินจนเป็นปรากฎการณ์นอกจากกิจกรรมเชิงรุกที่ Young Pride พยายามรณรงค์อย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่ Young Pride ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อปลุกความตระหนักในความเท่าเทียมทางเพศคือ การร่วมเป็นแกนนำสำคัญและทำให้เกิดขึ้น คือกิจกรรม Chiang Mai Pride 2019 หรือขบวนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากความพยายามในการจัดงานเมื่อ 10 ปีที่แล้วล้มเหลว “เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยค่านิยมที่ยังไม่ยอมรับกลุ่ม LGBT และการถูกต่อต้านจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงจากกลุ่มรักษ์เชียงใหม่’52 ซึ่งเป็นกลุ่มคนทางการเมือง ทำให้ Chiang Mai Pride ไม่ได้รับการยอมรับและจัดกิจกรรมสู่สาธารณชนได้มากเท่าไหร่ จำเป็นจะต้องยุติการเดินรณรงค์เหล่านั้นไป” ขิมเล่าถึงเหตุการณ์ของงาน Chiang Mai Pride เมื่อสิบปีที่แล้ว “คือคนในพื้นที่และกลุ่มคนพวกนั้นเขาบอกเลยค่ะ ว่าพวกกะเทยเป็นพวกผิดเพศ ทำลายวัฒนธรรม ขึดบ้านขึดเมือง (เป็นกาลกิณีต่อบ้านเมือง) ซึ่งตอนนั้นโดนหนักมาก เราโดนข้อเสนอห้ามจัดงาน 1,500 ปีค่ะ ผ่านเวลามา 10 ปี พี่ๆ คนรุ่นเก่าก็ภูมิใจมาก มันเป็นกระบอกเสียงที่ดีที่เราได้แสดงจุดยืนตรงนี้” ปาหนันเสริม “พวกเราช่วยกันทำงานในเกือบทุกภาคส่วน ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังครับ การติดต่อขออนุญาตจากทางภาครัฐที่ต้องจัดงานให้อยู่ในกฎหมายและขนบประเพณี การประชาสัมพันธ์ ประสานงาน ช่วยดูงานในวันจริง ช่วยลงทะเบียน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ดูแลขบวนตั้งแต่ต้นจนจบครับ” แมกซ์เล่าถึงการเตรียมและจัดงาน Chiang Mai Pride ในวันจริง Chiang Mai Pride จาก Young Pride ที่เป็นแรงขับส่วนหนึ่งของงาน พยายามสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและผู้คนทั่วไปในหลายประเด็น โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จคือ จำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่าหนึ่งพันคน และบรรยากาศในวันงานเต็มไปด้วยความภูมิใจ และความชื่นมื่น ทั้งจากเสียงปรบมือตลอดสองข้างทางที่ผู้คนในขบวนได้รับ การได้พื้นที่สื่อ หรือคำวิจารณ์เชิงบวกจากแบบสอบถามหลังจบงาน “การเป็น LGBT ไม่ได้น่าอายแล้วนะคะ และเราอยากแก้ความเข้าใจผิดด้วยว่า เราไม่ได้ฟินกับการแต่งหญิงหรือเป็น Drag Queen แต่เราอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนมาประกาศจุดยืนและ Movement ไปกับเราเพื่อให้สังคมตระหนักรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ Binary System หรือมีแค่สองเพศเท่านั้น” ปาหนันกล่าวถึงความหมายของ Chiang Mai Pride อย่างแท้จริง
หลากสีแต่เท่าเทียมสำหรับแผนการในอนาคตของ Young Pride คือต้องการให้ชมรมเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นผ่านการจัดกิจกรรมที่หลากหลายรูปแบบ ต่อยอดกิจกรรมที่ได้รับความนิยม เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของชมรมบรรลุจุดประสงค์แรกให้เร็วที่สุด นั่นคือ ทุกคนมีความเข้าใจ และยอมรับในความหลากหลายทางเพศ “การร่วมงานกับ Young Pride ตอบโจทย์ผมในทุกๆ ด้านครับ เลยอยากขยายเข้าไปในกรุงเทพฯ เพราะมีเพื่อนๆ หลายคนที่ได้ยินข่าวเขาสนใจ แต่อาจไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกที่จะเดินทางมาที่เชียงใหม่ ถ้ามีโอกาสได้ขยายมาที่กรุงเทพฯ เราอาจจะได้ทำอะไรที่ดีและสร้างสรรค์เพื่อภาคประชาสังคมมากขึ้น” แมกซ์กล่าวถึงการขยายฐานชมรม Young Pride ในอนาคต “เราอาจจะจัดกิจกรรมให้บ่อยขึ้น และที่สำคัญเราอยากช่วยเครือข่ายประชาสังคมอื่นๆ ด้วย เราจะได้เป็นที่รู้จักในเครือข่ายที่หลากหลายมากขึ้น” ปาหนันกล่าว “เราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในระยะยาว เราหวังผลอยู่ไม่กี่ข้อ คือเราอยากให้มันดัง (หัวเราะ) ถ้าพอมันดัง เราสามารถเชื่อมต่อและได้คอนเนคชั่นกับอีกหลายภาคส่วน เราไม่ได้อยากเป็นนักกิจกรรมที่ PC (Political Corretness- การตัดสินทางสังคม) อยู่ตลอดเวลา ความเป็นไปได้เราอยากให้เป็นอัตลักษณ์ของชมรมเราจน Branding ชมรมแข็งแรง เราก็สามารถจัดกิจกรรมในนามชมรมต่อไปได้” เบสกล่าวสรุป
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ bottomlineis.co | กรกฎาคม 2562 |